Skip to main content
sharethis

Google ยอมจ่าย 2.5 ล้านดอลลาร์ฯ ยุติข้อกล่าวหาเลือกปฏิบัติในการจ่ายค่าแรงและการจ้างงาน

Google ยอมจ่าย 2.5 ล้านดอลลาร์ฯให้พนักงานที่ได้รับผลกระทบคือผู้หญิง และคนเอเชียรวมแล้วกว่า 5,500 คน  เพื่อแก้ไขข้อกล่าวหาที่ว่าบริษัทฯ มีพฤติกรรมเลือกปฏิบัติในการจ่ายค่าตอบแทนพนักงานตามรายงานของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ

ในส่วนหนึ่งของการบรรลุข้อตกลง Google จะจ่าย 1,353,052 ดอลลาร์ให้กับวิศวกรหญิง 2,565 คน และจะจ่ายเงินคืนและดอกเบี้ยจำนวน 1,232,000 ดอลลาร์ให้กับผู้สมัครในตำแหน่งวิศวกรรมหญิง 1,757 คน และผู้สมัครด้านวิศวกรรมในคนเอเชีย 1,219 คนที่ไม่ได้รับการว่าจ้าง

ที่มา: The Verge, 1/2/2021

พิษ COVID-19 ทำมนุษย์เงินเดือนในไต้หวันรับอั่งเปาน้อยที่สุดในรอบ 8 ปี

พิษ COVID-19 ทำมนุษย์เงินเดือนในไต้หวันรับอั่งเปาน้อยที่สุดในรอบ 8 ปี

ผลการสำรวจล่าสุดพบว่า ปีนี้ภาคธุรกิจไต้หวันจ่ายโบนัสตรุษจีนเฉลี่ย 1.18 เดือน ซึ่งจัดว่าต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี นอกจากนี้ยังพบสภาพการณ์จ่ายเงินโบนัสของภาคธุรกิจแบ่งเป็นสองขั้ว ได้แก่ กิจการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างรุนแรง อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการบริการที่จ่ายโบนัสน้อยที่สุดคือไม่ถึง 1 เดือน ส่วนกิจการที่ไม่ได้รับผลกระทบ อาทิ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที (information technology : IT) สถาบันการเงินและบริษัทประกันภัย ในปีนี้จ่ายโบนัสค่อนข้างสูง โดยเฉพาะบริษัทประกันภัยซึ่งได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์โควิด ผู้คนแห่ซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพเป็นจำนวนมาก

Winnie พนักงานขายประกันกล่าวว่า ปีที่แล้วยอดขายเพิ่มขึ้นทุกคน แต่อาจจะมากน้อยแตกต่างกันไป สำหรับฉันเพิ่มขึ้น 2 เท่า ดังนั้นเงินโบนัสของพวกเราก็จะมากกว่ากิจการประเภทอื่นประมาณ 2 เดือน ปีนี้ได้โบนัสเพิ่มเป็น 4 เดือน

นอกจากนี้อุตสาหกรรมไอทีซึ่งก็ได้รับอานิสงส์จากการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากผู้คนต้องปรับเปลี่ยนเป็นการทำงานที่บ้านหรือ Work from Home รวมถึงสถานศึกษาที่ได้จัดการเรียนการสอนผ่านเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ปีนี้อุตสาหกรรมไอทีจ่ายโบนัสเฉลี่ย 1.42 เดือน สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการบริการซึ่งปีนี้จ่ายโบนัสน้อยที่สุดคือเฉลี่ย 0.9 เดือนและบางกิจการก็แย่ไปกว่านั้น

พนักงานตัวแทนจำหน่ายบัตรแบบครบวงจรผู้หนึ่งกล่าวว่า ปีที่แล้วต้องหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างและถูกลดเงินเดือน แม้ว่าทางบริษัทจะยังไม่ได้ประกาศแต่คาดว่าตรุษจีนปีนี้คงไม่ได้โบนัสอย่างแน่นอน

ธนาคารแรงงาน 1111 เว็บไซต์จัดหางานซึ่งทำการสำรวจในครั้งนี้เปิดเผยว่ากิจการจำนวนไม่น้อยนิยมจ่ายโบนัสก่อนวันตรุษจีนเพียง 1 วัน ทำให้จนถึงขณะนี้ยังมีมนุษย์เงินเดือนประมาณ 80 % ที่ยังต้องรอลุ้นเงินโบนัสกันอีกหลายวัน

ที่มา: Radio Taiwan International, 3/2/2021

ผลสำรวจระบุว่าชาวต่างชาติในญี่ปุ่นยังขาดการเข้าถึงข้อมูลเรื่องโรค COVID-19

ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ชาวต่างชาติจำนวนมากในญี่ปุ่นไม่สามารถเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งข้อมูลนี้จัดทำเป็นภาษาญี่ปุ่นโดยทางการท้องถิ่น และพวกเขากำลังหันไปหาคำแนะนำจากสื่อสังคมออนไลน์และคนรู้จัก

ผลสำรวจดังกล่าวจัดทำโดยกลุ่มที่ประกอบด้วยเมืองน้อยใหญ่ 13 แห่งทั่วญี่ปุ่นที่มีประชากรชาวต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก มีผู้ตอบแบบสำรวจซึ่งดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนปีที่แล้วจำนวน 1,220 คน ที่ชั้นเรียนภาษาญี่ปุ่น, สถานที่ของทางการท้องถิ่น ตลอดจนทางอินเทอร์เน็ต

ต่อคำถามที่ว่าแหล่งข้อมูลใดที่ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์มากที่สุด ผู้ตอบแบบสำรวจ 704 คนระบุว่าเฟซบุ๊ก โดยพวกเขาสามารถตอบได้หลายตัวเลือก

ส่วน 509 คนตอบว่าโทรทัศน์ และ 493 คนตอบว่าเพื่อนสนิทและคนรู้จัก ขณะที่ 346 คนตอบว่าหน้าโฮมเพจของทางการท้องถิ่นและรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยเนื่องจากหน้าโฮมเพจเหล่านี้ให้ข้อมูลเป็นภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น ชาวต่างชาติจึงอ่านไม่เข้าใจ

ต่อคำถามที่ว่าข้อมูลใดที่จำเป็นมากที่สุดแต่กลับไม่ได้รับข้อมูลเหล่านี้ ผู้ตอบแบบสำรวจ 479 คนระบุว่าข้อมูลเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ ขณะที่ 427 คนตอบว่าพวกเขาอยากทราบว่าต้องรับมืออย่างไรเมื่อสงสัยว่าติดเชื้อ และ 359 คนตอบว่าข้อมูลเกี่ยวกับการมอบเงินสดและมาตรการช่วยเหลือทางการเงินอื่น ๆ จากทางการ

กลุ่มที่ดำเนินการสำรวจนี้กล่าวว่าจะดำเนินความพยายามมากขึ้นเพื่อให้ข้อมูลหลายภาษา ตลอดจนเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นสำหรับชาวต่างชาติ

ที่มา: NHK World-Japan, 3/2/2021

American Airlines เตรียมพักงานชั่วคราวพนักงาน 13,000 คน

American Airlines สายการบินที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ส่งจดหมายแจ้งพนักงานสายการบิน 13,000 คน ว่าจะมีการพักงานชั่วคราว สืบเนื่องจากนโยบายเยียวยาสายการบินที่กำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 1 เม.ย. 2021 ก่อนหน้านี้ American Airlines บอกว่าเตรียมปลดพนักงานสายการบินกว่า 25,000 คน เนื่องจากชุดนโยบายช่วยเหลือสายการบินรอบก่อน หมดอายุลงในเดือน ต.ค. 2020

ที่มา: ABC News, 4/2/2021

พรรคแรงงานออสเตรเลียมีแผนปราบปรามการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน Gig Economy

พรรคแรงงานของสหพันธรัฐ ได้เผยแผนปฏิรูปนโยบาย ที่จะท้าทายคำจำกัดความปัจจุบันของ คู่สัญญาอิสระ (Independent Contractor) ซึ่งหากทำสำเร็จจะรับรองข้อกำหนดและเงื่อนไขการทำงานพื้นฐาน เช่น การรับประกันค่าแรงขั้นต่ำสำหรับพนักงานในธุรกิจรับจ้างเป็นครั้งคราว (Gig Economy) ผู้เป็นกระบอกเสียงในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นห่วงว่าพนักงานเหล่านี้กำลัง “ถูกเอารัดเอาเปรียบเป็นรายวัน” ได้เรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำอีกให้มีกฎระเบียบที่ดีขึ้นเพื่อกำกับดูแลธุรกิจรับจ้างเป็นครั้งคราว

ในออสเตรเลีย ผู้ที่ทำงานในธุรกิจรับจ้างเป็นครั้งคราว ถูกจัดให้เป็นคู่สัญญาอิสระ (Independent Contractor) ไม่ใช่ลูกจ้าง (employee) ซึ่งหมายความว่า พวกเขาไม่มีสิทธิ์ได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น การได้ค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำ การได้รับเงินสะสมหลังเกษียณหรือเงินซูเปอร์แอนนูเอชัน และการได้รับเงินชดเชยสำหรับลูกจ้าง ขณะที่บริษัทให้บริการส่งอาหารตามบ้านบางแห่ง เสนอให้ความคุ้มครองระดับหนึ่งแก่ผู้ทำงานเหล่านี้ แต่ไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมายใด ๆ ให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องทำ

ที่มา: SBS, 5/2/2021

พบการเลือกปฏิบัติต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับมือกับ COVID-19 ในญี่ปุ่น

แบบสำรวจหนึ่งในญี่ปุ่นได้รายงานการกลั่นแกล้งและเลือกปฏิบัติเกือบ 700 กรณี ต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังรับมือกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และครอบครัวของพวกเขา

สมาคมการแพทย์แห่งญี่ปุ่นได้รวบรวมข้อมูลจากสาขาในจังหวัดต่าง ๆ ในช่วง 3 เดือนตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค. 2021

จากการรายงานทั้งหมด 698 กรณี บางรายรายงานว่าถูกปฏิเสธไม่ให้จองบริการตัดผมและอื่น ๆ เนื่องจากทำงานในสถานพยาบาล

บางรายระบุว่าได้รับโทรศัพท์กลั่นแกล้งจากเพื่อนบ้านเมื่อเพื่อนร่วมงานมีผลตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นบวก

สถาบันทางการแพทย์แห่งหนึ่งระบุว่ามีการนำข้อความเท็จเกี่ยวกับพนักงานของทางสถาบันมาเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ และบางรายถูกข่มขู่ให้เปิดเผยที่อยู่ของเพื่อนร่วมงานหรือไม่ให้ปล่อยพนักงานออกไปข้างนอก

ทางสมาคมระบุว่ามีรายงานกรณีที่คล้ายกันทั่วทั้งญี่ปุ่นและว่ากรณีต่าง ๆ นี้ก็เกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติอย่างไม่มีมูลความจริงที่อาจทำร้ายสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ได้

ทางสมาคมระบุว่าจะเผยแพร่ข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อยกระดับความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ที่มา: NHK WORLD-JAPAN, 7/2/2021

Heineken เตรียมปรับโครงสร้างบริษัท ปรับลดพนักงานราว 8,000 คนทั่วโลก

Heineken ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ ระบุว่าบริษัทจะดำเนินการปรับโครงสร้างโดยรวมด้วยการปรับลดพนักงานราว 8,000 คนทั่วโลก รวมถึงพนักงานในสำนักงานใหญ่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ในขณะที่การปลดพนักงานในประเทศอื่น ๆ จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ในปี 2020 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 204 ล้านยูโร เนื่องจากผลกระทบจาก COVID-19

ที่มา: CNN, 10/2/2021

Etihad Airways เผยเป็นสายการบินแรกของโลกที่นักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทุกคนฉีดวัคซีน COVID-19

วันที่ 11 ก.พ. 2021 เว็บไซต์ของ Etihad Airways สายการบินแห่งชาติของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระบุว่า Etihad Airways เป็นสายการบินแรกที่นักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินทุกคนของบริษัท ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 แล้วอย่างน้อย 1 โดส

ทั้งนี้ Etihad Airways ได้ร่วมมือกับหน่วยกำกับดูแลของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการจัดโครงการวัคซีน Protected Together สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ให้กับนักบินและพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของบริษัทโดยเฉพาะ

ที่มา: etihad.com, 10/2/2021

รายงาน ILO แนะสร้างตลาดแรงงานดิจิทัลให้ครอบคลุมคนพิการ

ที่มาภาพ: ILO Global Business and Disability Network

12 ก.พ. 2564 ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้ขยายตัวขึ้นอย่างมาก จากการระบาดของ COVID-19 อาจจะสร้างโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนในการสร้างโลกแห่งการทำงานที่ครอบคลุมมากขึ้นสำหรับคนพิการกว่า 1 พันล้านคนทั่วโลก ตามรายงานฉบับใหม่ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อย่างไรก็ตามอุปสรรคทางดิจิทัลสำหรับคนพิการก็อาจจะดำรงอยู่ต่อไป หากภาครัฐและเอกชนยังไม่มีการสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพและตรงเป้าหมายแก่คนพิการ

รายงานเรื่อง An inclusive digital economy for people with disabilities ที่จัดทำโดย ILO Global Business and Disability Network (GBDN) และ Spanish Disability NGO Fundación (ONCE) ที่ได้ศึกษาถึงผลกระทบของการปฏิวัติดิจิทัลที่มีต่อการสร้างงานใหม่ การเปลี่ยนแปลงบทบาทและรูปแบบการทำงานที่มีอยู่ ตลอดจนกระบวนการสรรหาบุคลากรทางออนไลน์ นอกจากนี้ยังเน้นประเด็นสำคัญสำหรับการดำเนินการโดยกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล สถาบันการศึกษา รัฐบาล แรงงาน นายจ้าง รวมทั้งคนพิการเอง โดยรายงานฉบับนี้ ILO เสนอให้รัฐบาลและภาคเอกชนทั่วโลกดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าโลกหลังการทำงานของ COVID-19 นั้นครอบคลุมถึงคนพิการด้วย

ที่มา: ILO, 11/2/2021

ส.ส.-ภาคธุรกิจไต้หวัน เรียกร้องรื้อฟื้นดันกฎหมายคนเข้าเมืองและเศรษฐกิจใหม่ หวังรั้งแรงงานต่างชาติที่มีทักษะให้อยู่ทำงานในไต้หวันต่อไป แก้วิกฤตขาดแคลนแรงงานกึ่งฝีมือ

ส.ส.-ภาคธุรกิจไต้หวัน เรียกร้องรื้อฟื้นดันกฎหมายคนเข้าเมืองและเศรษฐกิจใหม่ หวังรั้งแรงงานต่างชาติที่มีทักษะให้อยู่ทำงานในไต้หวันต่อไป แก้วิกฤตขาดแคลนแรงงานกึ่งฝีมือ

ไต้หวันกำลังเข้าสู่ช่วงวิกฤตประชากรติดลบ โดยปี ค.ศ. 2020 ไต้หวันมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 165,249 คน ขณะที่มีจำนวนคนตาย 173,156 คน ตายมากกว่าคนเกิด 7,907 คน ทำให้อัตราการเพิ่มของประชากรติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ขณะที่ปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงแทบทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการผลิตขาดแคลนแรงงานกึ่งฝีมือกว่า 100,000 คน หากไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและศักยภาพการแข่งขันของไต้หวันในตลาดโลก

นายชิวจวี้หย่วน ส.ส. พรรคประชาชนไต้หวัน (TPP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านกล่าวว่า ไต้หวันป้องกันการระบาดของโควิด-19 ได้ดี ง่ายต่อการดึงดูดบุคลากรต่างชาติมาทำงานที่ไต้หวัน ดังนั้น ขณะนี้เป็นโอกาสเหมาะสมที่จะดันกฎหมายคนเข้าเมืองและเศรษฐกิจใหม่ ขณะที่นายกัวกั๋วเหวิน ส.ส.พรรคดีพีพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล อดีต รมช. กระทรวงแรงงานก็กล่าวว่า ควรจะผ่อนคลายกฎหมายคนเข้าเมือง แม้ว่าปัจจุบัน การเคลื่อนย้ายข้ามประเทศจะหยุดชะงัก อันเป็นผลจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ไต้หวันควรเตรียมการล่วงหน้า รื้อฟื้นผลักดันกฎหมายคนเข้าเมืองและเศรษฐกิจใหม่ เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย จึงจะสามารถดึงดูดแรงงานมีฝีมือมาทำงานที่ไต้หวันได้มากขึ้น

ด้านสภาหอการค้าไต้หวัน ซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนภาคธุรกิจ เรียกร้องให้รื้อฟื้นผลักดันกฎหมายคนเข้าเมืองและเศรษฐกิจใหม่ ปรับลดภาษีเงินได้ของชาวต่างชาติ เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติมาทำงานและตั้งถิ่นฐานในไต้หวันมากขึ้น ขณะเดียวกันยกเลิกข้อจำกัดระยะเวลาทำงานของแรงงานต่างชาติที่มีทักษะฝีมือ ด้วยการยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือ ทั้งนี้ นายไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดี สมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเคยผลักดันร่างกฎหมายคนเข้าเมืองและเศรษฐกิจใหม่ นอกจากดึงดูดผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติแล้ว ยังเน้นไปที่ยกระดับแรงงานต่างชาติในไต้หวันที่มีจำนวนกว่า 700,000 คน ให้ผู้ที่คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน มีทักษะฝีมือและสามารถสื่อสารกับนายจ้างได้ดี ยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือ สามารถอยู่ทำงานในไต้หวันได้ต่อไป โดยไม่ถูกจำกัดระยะเวลาอีกต่อไป

ก่อนหน้านี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติสังกัดพรรคก๊กมินตั๋ง ได้เสนอญัตติขยายระยะเวลาทำงานของผู้อนุบาลต่างชาติ ซึ่งปัจจุบัน กำหนดให้ผู้อนุบาลต่างชาติทำงานในไต้หวันได้ รวมสะสมแล้วไม่เกิน 14 ปี ส.ส. เหล่านี้ให้เหตุผลว่า ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซียและฮ่องกง ไม่มีการจำกัดระยะเวลาการทำงาน ประกอบกับงานอนุบาลดูแลผู้ป่วย จะต้องมีทักษะความรู้และผ่านการฝึกอบรมเทคนิคการดูแลมาเป็นอย่างดี รวมทั้งจะต้องใช้เวลาในการสร้างความไว้วางใจและความผูกพันกับผู้ป่วย หากไม่สามารถทำงานดูแลผู้ป่วยได้ต่อไป เพียงเพราะครบกำหนดระยะเวลาทำงาน ผู้อนุบาลต่างชาติเหล่านี้ ต้องเดินทางไปทำงานที่อื่นต่อ เท่ากับว่าไต้หวันเป็นสถานฝึกอบรมผู้อนุบาลให้กับประเทศต่างๆ ขณะที่ครอบครัวผู้ป่วย จะต้องนำเข้าผู้อนุบาลคนใหม่มาฝึกฝนและหาทางให้ปรับตัวเข้ากับผู้ป่วยต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อสิทธิประโยชน์และสุขภาพจิตของผู้ป่วยอย่างใหญ่หลวง

ส่วนภาคการผลิตก็เช่นเดียวกัน เสียงเรียกร้องจากเหล่าผู้ประกอบการให้รัฐบาลทบทวนนโยบายจำกัดระยะเวลาการทำงานในไต้หวันของแรงงานต่างชาติห้ามเกิน 12 ปี กำลังกลายเป็นประเด็นสำคัญที่มีการกล่าวถึงกันมากในวงการอุตสาหกรรม เกี่ยวกับเรื่องนี้ นางหวางเหมยฮัว รมว. กระทรวงเศรษฐการของไต้หวัน เคยกล่าวกับเหล่านักธุรกิจไต้หวันในงานสัมมนาแห่งหนึ่งก่อนหน้านี้ว่า ปัญหาที่เหล่านักลงทุนสะท้อนมากที่สุด ได้แก่ประเด็นขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง ประกอบกับเศรษฐกิจฟื้นตัว และโครงการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมเริ่มการก่อสร้าง ทำให้เกิดภาวะแย่งชิงแรงงานกันภายในประเทศ ผู้ประกอบการจำนวนมากบ่นว่า แรงงานต่างชาติของตนถูกฝึกฝนจนกลายเป็นแรงงานมีทักษะฝีมือดี แต่ไม่สามารถอยู่ทำงานในไต้หวันต่อไปได้ ต้องเดินทางไปทำงานประเทศอื่น เพราะกฎหมายไต้หวันจำกัดให้พวกเขาทำงานได้ รวมสะสมแล้วไม่เกิน 12 ปี ทำให้ประเทศคู่แข่งอย่างเกาหลี และญี่ปุ่นได้รับประโยชน์ รมว. กระทรวงเศรษฐการผู้นี้เน้นว่า เสียงสะท้อนของผู้ประกอบการ รัฐบาลได้รับทราบและไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะเป็นปัญหาสำคัญ แต่นโยบายขยายระยะเวลาทำงานของแรงงานต่างชาติ เป็นอำนาจของกระทรวงแรงงาน ขณะนี้กระทรวงที่เกี่ยวข้องกำลังอยู่ระหว่างหารือเพื่อแก้ไขปัญหา กระทรวงเศรษฐการจะเป็นตัวแทนผู้ประกอบการสะท้อนปัญหาให้กระทรวงแรงงานได้รับทราบ เพื่อให้แรงงานต่างชาติสามารถทำงานในไต้หวันได้มากกว่า 12 ปี แต่ ณ ขณะนี้ ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะขยายหรือไม่? เมื่อไหร่? และขยายในรูปแบบใด?

ที่มา: Radio Taiwan International, 19/2/2021

ศาลสูงอังกฤษชี้คนขับ Uber เป็นพนักงานต้องได้รับค่าแรงขั้นต่ำ

ศาลสูงสุดของอังกฤษตัดสินว่า Uber แอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่จะต้องจัดให้คนขับเป็นพนักงาน ไม่ได้ทำงานอาชีพส่วนตัว (self-employed) ซึ่งหมายความว่าคนขับ Uber หลายหมื่นคนจะต้องได้รับการรับรองค่าแรงขั้นต่ำและวันลาหยุด และอูเบอร์ต้องจ่ายค่าชดเชยจำนวนมหาศาลให้กับคนขับ Uber

ศาลสูงสุดระบุว่า Uber ต้องจัดให้คนขับเป็นพนักงานตั้งแต่เวลาที่พวกเขาเข้าแอปฯ จนกระทั่งออกจากแอปฯ รวมถึงช่วงที่พวกเขานั่งรอลูกค้าเรียกใช้บริการด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้ Uber โต้แย้งว่า หากจะนับคนขับ Uber เป็นพนักงานก็เฉพาะช่วงที่มีผู้โดยสารอยู่ในรถเท่านั้น นอกจากนี้ศาลให้เหตุผลที่ตัดสินให้คนขับ Uber เป็นพนักงานเพราะ Uber เป็นผู้ควบคุมอัตราค่าเดินทาง คนขับไม่สามารถเรียกเงินเพิ่ม คนขับต้องเซ็นยอมรับเงื่อนไขในสัญญากับ Uber ไม่ได้ต่อรอง คนขับจะได้รับโทษ หากรับลูกค้าได้ไม่ถึงระดับที่กำหนด หรือหากถูกยกเลิกมากเกินไป Uber สามารถควบคุมบริการด้วยการใช้ระบบเรตติ้ง Uber จำกัดการสื่อสารระหว่างคนขับและผู้โดยสาร เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาไปติดต่อกันเองในภายหลัง

ที่มา: CNN, 19/2/2021

คนทำงานภาคสาธารณสุขในยุโรปปฏิเสธวัคซีน AstraZeneca เพราะกังวลเรื่องประสิทธิภาพ

มีรายงานข่าวระบุว่าคนทำงานภาคสาธารณสุขในยุโรปหลายพันคนปฏิเสธที่จะรับวัคซีน Oxford-AstraZeneca เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงและประสิทธิภาพ โดยมีบางคนโต้แย้งว่าควรจัดลำดับความสำคัญให้คนทำงานภาคสาธารณสุขได้รับวัคซีนของ Pfizer/BioNTech และ Moderna ก่อน

โดยในอิตาลี กลุ่มที่เป็นตัวแทนของแพทย์ 3,000 คน เขียนจดหมายถึงรัฐบาลอิตาลีเรียกร้องให้แพทย์และทันตแพทย์เอกชน ได้รับวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีแบบ mRNA ที่พัฒนาโดย Moderna และ Pfizer/BioNTech ที่มีหลักฐานระบุว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าวัคซีน Oxford-AstraZeneca ส่วนในเยอรมนีและฝรั่งเศสต่างรายงานว่าวัคซีน AstraZeneca หลายแสนขวดที่ไม่ได้นำไปใช้ด้วยเช่นกัน

ที่มา: Forbes, 22/2/2021

HSBC เผยแผนลดพื้นที่สำนักงานครึ่งหนึ่งทั่วโลก

ธนาคาร HSBC เปิดเผยแผนลดจำนวนพื้นที่สำนักงานสาขาทั่วโลกลงเกือบครึ่งหนึ่งในระยะยาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนลดต้นทุน รวมทั้งรองรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานในอนาคตหลังการระบาดของ COVID-19

ธนาคาร HSBC ระบุในแผนวิเคราะห์เป้าหมายระยะยาว โดยตั้งเป้าลดพื้นที่สำนักงานราว 40% ซึ่งรวมถึงการไม่ต่อสัญญาเช่าที่หมดอายุลง และปรับพื้นที่สำนักงานที่มีอยู่ให้สามารถใช้งานได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งนี้อาคารสำนักงานใหญ่ของ HSBC ในกรุงลอนดอนจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด แต่พื้นที่บางส่วนอาจถูกดัดแปลงไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นเพื่อรองรับลักษณะงานที่เปลี่ยนแปลงหลังจากการระบาดใหญ่

นอกจากนี้รัฐบาลอังกฤษระบุว่ากำลังวางแผนผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด แต่การทำงานจากบ้านควรดำเนินต่อไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ซึ่งหมายความว่าสำนักงานจำนวนมากจะยังคงว่างเปล่าต่อไปอีกหลายเดือน

ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งรวมทั้ง Standard Chartered ต่างปรับโครงสร้างการทำงานให้พนักงานสามารถทำงานจากบ้านได้มากขึ้นทั้งในช่วงที่กำลังเกิดการระบาดและในอนาคต อย่างไรก็ตามผู้บริหารของธนาคารบางแห่ง เช่น Barclays และ JPMorgan ยืนยันว่าจะยังไม่ขยายการทำงานจากบ้านสำหรับพนักงานของตน เพราะเชื่อว่าในระยะยาวจะไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิตและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเหล่านั้น

ที่มา: VOA, 23/2/2021

แรงงานข้ามชาติเสียชีวิตในกาตาร์มากกว่า 6,500 ราย จากการเตรียมเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022

มีรายงานข่าวว่าแรงงานข้ามชาติจาก 5 ประเทศเอเชียใต้เสียชีวิตในกาตาร์มากกว่า 6,500 ราย ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลังกาตาร์เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในแถบภูมิภาคเดียวกันอย่างซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศกาตาร์มักจะต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นคนที่มาจากเอเชียและส่วนหนึ่งของแอฟริกา ในกรณีของกาตาร์นั้น ประชากร 2.6 ล้านคนในปี 2017 จำนวน 2.3 ล้านคนเป็นแรงงานข้ามชาติ ขณะที่อีก 313,000 คนเป็นพลเมืองชาวกาตาร์

อย่างไรก็ตาม กาตาร์เป็นประเทศที่ถูกกล่าวหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดสิทธิแรงงานมานานหลายปี จากรายงานขององค์กรนานาชาติระบุถึงเรื่องที่แรงงานข้ามชาติถูกกดขี่อย่างหนัก กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริการะบุว่าแรงงานข้ามชาติในกาตาร์ต้องเผชิญกับสภาพการทำงานที่เทียบได้กับแรงงานทาสแบบไม่สมัครใจ มีการละเมิดสิทธิแรงงาน ทั้งการทุบตี การประทุษร้ายทางเพศ การจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง รวมถึงการไม่จ่ายเงินเดือนให้

ทั้งนี้ จากการสืบสวนของเดอะการ์เดียนระบุว่าช่วงที่เข้าใกล้การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022  มีแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตแล้วมากกว่า 6,500 ราย ระหว่างปี 2011-2020 หรือเฉลี่ยแล้วมีแรงงานเสียชีวิต 12 รายต่อสัปดาห์ แรงงานเหล่านี้มาจากประเทศอินเดีย, ปากีสถาน, เนปาล, บังกลาเทศ, และศรีลังกา มีความเป็นไปได้ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจจะมากกว่านี้ เพราะการวิเคราะห์ครั้งนี้ไม่ได้นำตัวเลขผู้เสียชีวิตของแรงงานที่มาจากประเทศอื่นเข้ามานับรวมด้วย นอกจากกลุ่มประเทศเอเชียใต้แล้ว ในกาตาร์ยังมีแรงงานข้ามชาติที่มาจากเคนยาและฟิลิปปินส์เป็นจำนวนมาก

ที่มา: The Wire, 25/02/2021

สหภาพแรงงานครูแอฟริกาใต้เผยครูชั่วคราวยังไม่ได้รับเงินเดือน

สหภาพครูประชาธิปไตยแห่งแอฟริกาใต้ (Sadtu) กล่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการของแอฟริกาใต้ดูเหมือนจะไม่ให้ความสำคัญกับครู ตามที่เคยระบุไว้ เพราะพบว่าครูชั่วคราวและผู้ปฏิบัติงานระดับล่างบางคนยังไม่ได้รับเงินเดือน ในขณะที่สัญญาจ้างของครูเหล่านี้กำลังจะหมดลงในวันที่ 31 มี.ค. 2021 นี้

ที่มา: mpumalanganews.co.za, 26/2/2021

รายงาน ILO ชี้ตลาดแรงงานยุคดิจิทัล มีทั้งโอกาสและความท้าทาย

รายงานที่มีชื่อว่า World Employment and Social Outlook 2021 ระบุว่าแพลตฟอร์มสำหรับแรงงานธุรกิจดิจิทัลทั่วโลกนั้นขยายตัวถึง 5 เท่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยตลาดที่มีความหนาแน่นของแรงงานกลุ่มนี้กระจุกตัวอยู่ในสหรัฐฯ เป็นหลัก ตามมาด้วย อินเดีย และ อังกฤษ

กาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ILO กล่าวว่า 96% ของการลงทุนในแพลตฟอร์มเหล่านี้ มีความหนาแน่นมากใน 3 ทวีป ได้แก่ อเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล หรือ การเข้าถึงสารสนเทศและความรู้ (Digital Divide) ที่ขยายตัวมากขึ้นระหว่างผู้คนในซีกโลกเหนือและในซีกโลกใต้ และอาจทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมรุนแรงขึ้นได้ด้วย

นอกจากนั้นไรเดอร์ กล่าวเสริมว่าในปี ค.ศ. 2019 ราว 70% ของรายได้ที่เกิดขึ้นในแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหลาย กระจุกตัวอยู่ในเพียง 2 ประเทศเท่านั้น ซึ่งก็คือ สหรัฐฯ (49%) และจีน (22%) ทั้งนี้รายงานล่าสุดของ ILO ซึ่งรวบรวมข้อมูลผ่านการสำรวจความคิดเห็นและการสัมภาษณ์บุคลากรและตัวแทนธุรกิจ 85 แห่งจำนวนราว 12,000 คนจากทั่วโลก พบว่าตลาดแรงงานดิจิทัลนั้น สร้างโอกาสการทำงานใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย ทั้งยังนำเสนอรูปแบบการทำงานที่มีความยืดหยุ่นกว่าเคย อันเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับแรงงานผู้หญิง แรงงานที่เป็นผู้พิการ และแรงงานเยาวชน

แต่ในทางกลับกัน รูปแบบการทำงานใหม่ ๆ นี้ มาพร้อมกับประเด็นปัญหาบางอย่าง เช่น การที่ลูกจ้างบางรายต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อให้เข้าถึงตลาดแรงงานดิจิทัล และหลายครั้ง ที่หลายคนไม่สามารถหางานที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมากพอเพื่อเลี้ยงชีพ รวมทั้งไม่มีโอกาสเข้าถึงระบบการคุ้มครองทางสังคม ที่เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่มีภาวการณ์ระบาดใหญ่ของโควิด-19 ดังเช่นในปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้นผู้จัดทำรายงานยังพบว่าแรงงานบางส่วนต้องทำงานเป็นเวลานานหลายชั่วโมง หรือทำงานโดยไม่ทราบว่าจะต้องทำนานเพียงใด และระดับของรายได้ของผู้หญิงและผู้ที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนานั้นน้อยกว่าผู้ที่ทำงานประเภทเดียวกันในประเทศพัฒนาแล้วถึง 40% ด้วย

ที่มา: VOA, 25/2/2021

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net