หมอกควัน (3): มายาคติ PM2.5 ภาคเหนือกับการแก้ไขปัญหาแบบ ‘ลองผิดลองถูก’

สื่อมักหยิบการวัดค่าจากแอปพลิเคชันยอดฮิตมานำเสนอ 'ฝุ่นควันเชียงใหม่สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก/ประเทศไทย' ซึ่งแอปพลิเคชันยังมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ครอบคลุม ส่วนข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบหลายปีที่ผ่านมา อ.แม่สาย จ.เชียงราย อาจจะเป็นพื้นที่ที่เผชิญปัญหาหมอกควันหนักที่สุด และแม้ จ.เชียงใหม่ จะมี 'จุดความร้อน' มากที่สุด แต่พบว่าไม่สอดคล้องกับ ‘พื้นที่เผาไหม้จริง’ โดย จ.แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มี 'พื้นที่และสัดส่วนเผาไหม้' มากที่สุด - ฤดูฝุ่นควัน 2564 นี้เชียงใหม่จะมีการสนับสนุนงบประมาณแก้ปัญหาในระดับชุมชน รวมทั้งนำการ ‘บริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบ’ มาใช้ ชวนจับตาว่าจะเป็นการ ‘ลองผิดลองถูก’ อีกหนึ่งปีหรือไม่?

หมอกควัน (1) PM2.5 ในภาคเหนือมาจากไหน?
หมอกควัน (2) PM2.5 ในภาคเหนือบอกอะไรเรา?
หมอกควัน (3): มายาคติ PM2.5 ภาคเหนือกับการแก้ไขปัญหาแบบ ‘ลองผิดลองถูก’

มายาคติ ‘ฝุ่นควันเชียงใหม่สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก’ ปัญหาจากแอปพลิเคชัน IQAir AirVisual

แหล่งข้อมูลที่สื่อไทยมักนำมาอ้างอิงในการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาปัญหาฝุ่น PM2.5 คือข้อมูลจากเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ‘IQAir AirVisual’ ซึ่งสื่อมักจะหยิบการวัดค่าจากแอปพลิเคชันนี้ในบางช่วงเวลาที่ จ.เชียงใหม่ เผชิญกับปัญหาฝุ่นควันอย่างหนัก (ช่วง ม.ค.-เม.ย.) มาพาดหัวข่าวและนำเสนอว่า ‘ฝุ่นควันเชียงใหม่สูงเป็นอันดับ 1 ของโลก’ หรือ ‘สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ’ [ดูตัวอย่างข่าวได้ เช่น A B C D เป็นต้น] การนำเสนอข่าวแบบนี้เป็นเพียงการดึงข้อมูล ณ ช่วงเวลาหนึ่งจากเมืองหลัก ๆ ในแต่ละประเทศมานำเสนอ (ไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่ประเทศนั้น ๆ ทั้งหมด) โดย IQAir AirVisual นั้นเก็บข้อมูลเพียง 60,000 พื้นที่เท่านั้น

ใน รายงาน 2019 World air quality report ของ IQAir AirVisual ได้จัดอันดับ ‘เมืองที่คุณภาพอากาศเฉลี่ยแย่ที่สุด’ ในอาเซียนปี 2562 ซึ่ง 15 อันดับแรกในอาเซียนอยู่ในประเทศไทย 7 แห่ง ซึ่งอันดับสูงสุดในอาเซียนหรือในประเทศไทยก็ไม่ใช่ จ.เชียงใหม่ ด้วย โดยเมืองที่คุณภาพอากาศเฉลี่ยแย่ที่สุดในอาเซียนปี 2562 ทั้ง 15 อันดับ ได้แก่ 1.เซาธ์ ตังเกรัง (อินโดนีเซีย) 2. เบกาซิ (อินโดนีเซีย) 3. เปกันบารู (อินโดนีเซีย) 4. ปอนเตียนัค (อินโดนีเซีย) 5. จาการ์ตา (อินโดนีเซีย) 6. ฮานอย (เวียดนาม) 7. ทาลาวี (อินโดนีเซีย) 8. จ.นครราชสีมา 9. อ.สารภี จ.เชียงใหม่ 10. สุราบายา (อินโดนีเซีย) 11. อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน 12. อ.หางดง จ.เชียงใหม่ 13. จ.เชียงราย 14. อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และ 15. อ.เมือง จ.ลำพูนi

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเฉพาะประเทศไทยในปี 2562 พบว่า IQAir AirVisual มีการเก็บข้อมูลเพียง 68 พื้นที่ในประเทศไทย (ในระดับจังหวัดและอำเภอ) ซึ่งใน 68 พื้นที่นี้มีเพียง 42 พื้นที่เท่านั้นที่เก็บข้อมูลครบทั้ง 12 เดือน (ม.ค.-ธ.ค.) และใน 68 พื้นที่นี้ก็ยังไม่ครอบคลุมทุกจังหวัดทุกอำเภอในประเทศไทย บางจังหวัดมีแค่ข้อมูลจังหวัด เช่น กรุงเทพ นครราชสีมา เป็นต้น และหลายจังหวัดที่มีข้อมูลในระดับอำเภอ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการเก็บข้อมูลใน จ.เชียงใหม่มากที่สุด คือ 8 พื้นที่ ประกอบไปด้วย อ.เมืองเชียงใหม่ อ.สารภี อ.หางดง อ.แม่ริม อ.พร้าว (ต.บ้านโป่ง) อ.สันกำแพง อ.สันทราย อ.ดอยสะเก็ดii

ตาราง 1 ข้อมูลค่า PM2.5 สูงสุด 5 ปีย้อนหลัง เทียบเชียงใหม่-จังหวัดภาคเหนือ iii

เมื่อพิจารณาข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี 2556 ที่เริ่มมีการเก็บข้อมูล PM2.5 และค่อย ๆ กระจายเครื่องวัดออกไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่ใน จ.เชียงใหม่เหมือนในช่วงแรก พบว่าหลายปีให้หลัง ตัวเลขค่า PM2.5 สูงสุด และจำนวนวันที่ค่า PM2.5 เกินวันมาตรฐานของพื้นที่อื่นในภาคเหนือมีความรุนแรงมากกว่า จ.เชียงใหม่ (ย้อนอ่าน: หมอกควัน (2) PM2.5 ในภาคเหนือบอกอะไรเรา?)

เชียงใหม่จึงไม่ได้เป็นจังหวัดที่คุณภาพอากาศแย่ที่สุดในภาคเหนืออย่างที่สื่อทั่วไปชอบย้ำ

ภาพบรรยากาศสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2563 | ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ช่วงปี 2562 ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่าสถานการณ์หมอกควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือในช่วง 1 ม.ค.-31 พ.ค. พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM 10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุด 394 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 31 มี.ค. 2562 ณ อ.แม่สาย จ.เชียงราย และจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน (120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) จำนวน 59 วัน สำหรับปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบค่าสูงสุดเท่ากับ 366 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 31 มี.ค. 2562 ณ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เช่นกัน และจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) มีจำนวน 109 วันiv

ต่อมาในช่วงเดือน มี.ค. 2563 ก็มีรายงานข่าวว่าพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดในประเทศด้วยเช่นกัน โดยความรุนแรงอยู่ในระดับสีแดงพุ่งสูงเกินค่ามาตรฐานกระทบสุขภาพประชาชน ทั้งนี้ในครั้งนั้น PM2.5 ใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีปริมาณที่สูงสุดในประเทศติดต่อกันหลายวัน เพราะฝุ่นควันที่สะสมตัวอยู่ไม่สามารถระบายออกจากพื้นที่ได้เนื่องจากอากาศไม่ยกตัว ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ต่างหากที่เป็นพื้นที่ประสบปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 หนักที่สุดในประเทศไทยv

ปัญหา Hot Spot ไม่สอดคล้องกับพื้นที่เผาไหม้จริง

ข้อมูล 5 เดือนแรกของปี 2563 แม้ จ.เชียงใหม่ จะมี 'จุดเผาไหม้' หรือ ‘จุดความร้อน’ (Hot Spot) มากที่สุดในภาคเหนือ แต่พบว่าไม่สอดคล้องกับพื้นที่เผาไหม้จริง โดย จ.แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เผาไหม้มากที่สุดและสัดส่วนพื้นที่เผาไหม้ต่อพื้นที่จังหวัดสูงสุดอีกด้วย

ข้อมูลที่เรียบเรียงโดย WEVO สื่ออาสา ระบุว่าปัญหาของการใช้ 'จุดความร้อน' หรือ Hot Spot มาเป็นตัวชี้วัดปัญหาไฟป่าการเผาและมลพิษฝุ่นควัน PM2.5 เพียงปัจจัยเดียว ยังไม่สามารถบ่งชี้สภาพปัญหาที่แท้จริงได้ เนื่องจากดาวเทียมมีข้อจำกัดที่สามารถถ่ายภาพจุดความร้อนได้แค่วันละ 2 รอบ รอบดึกประมาณ 1.00 น.-2.00 น. และรอบเที่ยงประมาณ 13.00 น.-14.00 น. ดังนั้นหากมีการเผาในช่วงเวลาที่เหลือและดับไปก่อน ดาวเทียมก็ไม่สามารถนับเป็นจุดความร้อน ในทางปฏิบัติตลอดหลายปีมานี้ ผู้เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนและเกษตรกรทราบถึงข้อจำกัดของดาวเทียม หลายแห่งจึงเลือกที่จะเผาแปลงเกษตรหรือเผาป่าโซนที่ต้องการในช่วงประมาณบ่าย 15.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งหากมีการจัดการที่ดีดับสนิทก่อนค่ำ พื้นที่เผาจุดดังกล่าวจะไม่มีในรายงาน ไม่เพียงเท่านั้นการเผาในป่าบางแห่งเป็นการลุกลามกินพื้นที่ไปเรื่อย ๆ หากเป็นป่าทึบมีไม้ใหญ่อาจไม่มีเปลวไฟขนาดใหญ่เพียงพอให้ดาวเทียมตรวจจับ โดยที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐใช้มาตรการประกาศวันห้ามเผา และใช้สถิติจุดความร้อนเป็นเป้าหมายความสำเร็จ ในทางสถิติตัวเลขบางจังหวัดสามารถควบคุมจุดความร้อนได้ดี แต่ข้อเท็จจริงในระดับพื้นที่ยังมีการเผาและขนาดของมลพิษเกินมาตรฐานอยู่เช่นเดิม

ข้อมูลจากจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบว่าจังหวัดในภาคเหนือตอนบนมีการเผาไหม้ในที่โล่งทั้งที่ป่าที่โล่งและที่เกษตรกรรมมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ โดยจากข้อมูลดาวเทียม Terra/Aqua ระบบ MODIS พบจุดความร้อนสะสมทั้งประเทศไทย ในช่วง ม.ค.-พ.ค. 2563 จำนวนทั้งสิ้น 26,308 จุด โดยส่วนใหญ่เกิดจุดความร้อนสะสมสูงสุดในพื้นที่ ภาคเหนือตอนบน จำนวน 7,779 จุด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6,678 จุด ภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 6,331 จุด ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาสถิติจุดความร้อนสะสม (Hot Spot) ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน (รวม จ.ตาก) ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2563 โดยพิจารณาจากดาวเทียมสองระบบ ระหว่างดาวเทียม Terra/Aqua ระบบ MODIS เปรียบเทียบกับระบบ VIIRS ที่มีความละเอียดกว่า เรียงจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้

 

ตาราง 2 จำนวนจุดความร้อนที่พบในจังหวัดภาคเหนือตอนบน เปรียบเทียบระหว่างดาวเทียมระบบ MODIS กับ VIIRS และพื้นที่เผาจริง (Burnt Scars)vi

พบว่าอันดับการเกิดจุดความร้อนของแต่ละจังหวัดเทียบระหว่างดาวเทียมทั้งสองระบบแล้วไม่แตกต่างกันนัก มีเพียงลำปางกับเชียงรายที่สลับตำแหน่งกัน แต่ในแง่ของจำนวนแตกต่างกันมาก ระบบ VIIRS ตรวจจับจุดความร้อนได้มากกว่านับสิบเท่าตัว ส่วนข้อมูลร่องรอยการเผาไหม้จากดาวเทียม (Burnt Scars) โดย GISTDA ที่ได้วิเคราะห์การเผาไหม้ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ตรวจจับระหว่าง 1 ม.ค.-31 พ.ค. 2563 จากข้อมูลดาวเทียม Landsat-8 พบมีพื้นที่ถูกเผาไหม้รวมทั้งสิ้น 8,615,470 ไร่ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนมีการเผาไหม้กินบริเวณกว้างกว่า 8.6 ล้านไร่ เนื้อที่ขนาดนี้ใหญ่กว่าหลาย ๆ จังหวัดด้วยซ้ำvii ทั้งนี้พบว่าพื้นที่เผาไหม้ใน จ.เชียงใหม่ ไม่ได้สูงที่สุดในภาคเหนือ แต่กลับเป็น จ.แม่ฮ่องสอน

 

แม่ฮ่องสอนพื้นที่เผาและสัดส่วนพื้นที่เผาต่อพื้นที่รวมของจังหวัดสูงที่สุด

แม้ จ.แม่ฮ่องสอน จะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมากนักเมื่อเกิดปัญหาหมอกควัน PM2.5 ในพื้นที่ แต่ จ.แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่เผชิญปัญหานี้หนักสุดจังหวัดหนึ่ง โดยข้อมูลร่องรอยการเผาไหม้จากดาวเทียม (Burnt Scars) โดย GISTDA พบว่าภาพรวมในระดับจังหวัดนั้น จังหวัดที่มีพื้นที่เผาไหม้สูงสุด คือ จ.แม่ฮ่องสอน 1,786,194 ไร่ ตามด้วย จ.ตาก 1,454,741 ไร่ จ.เชียงใหม่ 1,384,078 ไร่ และ จ.ลำปาง 1,340,402 ไร่ อยู่ในกลุ่มนำที่มีพื้นที่ไหม้เกิน 1 ล้านไร่viii

WEVO สื่ออาสา ยังวิเคราะห์ภาพถ่ายพื้นที่เผาไหม้ (Burnt Scars) ของ GISTDA เทียบกับสัดส่วนพื้นที่รวมของจังหวัด เมื่อเรียงลำดับจากมากไปน้อยจะได้ดังนี้ 1. จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 1,786,194 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.36 ต่อพื้นที่รวมทั้งจังหวัด 2. จ.ตาก จำนวน 1,454,741 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.45 ต่อพื้นที่รวมทั้งจังหวัด 3. จ.เชียงใหม่ จำนวน 1,384,078 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.05 ต่อพื้นที่รวมทั้งจังหวัด 4. จ.ลำปาง 1,340,402 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.17 ต่อพื้นที่รวมทั้งจังหวัด 5. จ.น่าน จำนวน 827,926 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.89 ต่อพื้นที่รวมทั้งจังหวัด 6. จ.ลำพูน 561,461 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.06 ต่อพื้นที่รวมทั้งจังหวัด 7. จ.เชียงราย 473151 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.54 ต่อพื้นที่รวมทั้งจังหวัด 8. จ.แพร่ 423,133 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนต่อร้อยละ 10.44 พื้นที่รวมทั้งจังหวัด และ 9. จ.พะเยา 364,385 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.42 ต่อพื้นที่รวมทั้งจังหวัดix

จากข้อมูลที่ยกมาจะเห็นได้ว่า จ.แม่ฮ่องสอน มีพื้นที่เผาและสัดส่วนพื้นที่เผาต่อพื้นที่รวมของจังหวัดสูงที่ในภาคเหนือ (และประเทศไทย) สาเหตุมาจากการเกิดไฟป่าและการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ทางการเกษตร รวมทั้งหลักฐานจากภาพถ่ายดาวเทียมจะเห็นว่ามีการเกิดไฟป่าและฝุ่นควันที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับสภาพภูมิประเทศของ จ.แม่ฮ่องสอน เป็นแอ่งกระทะและสภาวะความกดอากาศสูง ทำให้กลุ่มฝุ่นควันไม่สามารถลอยตัวขึ้นสูงได้ เกิดการสะสมของควันไฟหนาแน่นถึงขั้นทำให้ค่าดัชนีคุณภาพอากาศสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานมาก แม่ฮ่องสอนจึงเป็นอีกหนึ่งจังหวัดในภาคเหนือที่ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างหนัก

ในด้านผลกระทบ ชัดเจนที่สุดคือด้านสุขภาพของชาวแม่ฮ่องสอน โดยสถิติจำนวนผู้ป่วยสะสม 13 กลุ่มโรค ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค. 2562-31 พ.ค. 2563 มีจำนวนผู้ป่วย 2 กลุ่มโรคหลัก (กลุ่มโรคทางเดินหายใจรวม และกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด) รวม 23,261 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยกลุ่มโรคทางเดินหายใจรวม ถึง 14,089 รายx

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ บ่อยครั้งต้องมีการยกเลิกเที่ยวบินสู่ จ.แม่ฮ่องสอน ในช่วงปัญหาฝุ่นควันเข้าขั้นวิกฤต เนื่องจากทัศนวิสัยต่ำกว่าเกณฑ์ปลอดภัย ซึ่งส่งผลต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดโดยตรง ตัวอย่างเช่นเมื่อช่วงต้นปี 2562 มีการประเมินกันว่าระหว่างเดือน มี.ค.-เม.ย. 2562 ที่มีการยกเลิกเที่ยวบินกว่า 80 เที่ยวบิน จากปัญหาวิกฤตฝุ่นควันในขณะนั้น ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยัง จ.แม่ฮ่องสอน หายไปกว่า 6,000 คนxi

จ.เชียงราย เผชิญฝุ่นควันข้ามแดนหนักสุด

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษพบว่าในปี 2562 พื้นที่หนึ่งใน จ.เชียงราย คือ อ.แม่สาย มีคุณภาพอากาศแย่สุดในภาคเหนือและประเทศ ทั้งจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานยาวนานสุด และสถิติ PM2.5 พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 24 ชั่วโมง

นอกเหนือจากปัญหาฝุ่นควันอันเกิดจากการเผาในพื้นที่แล้ว ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ จ.เชียงราย จึงได้รับผลกระทบมลภาวะฝุ่นควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจากพม่าและลาว โดยเฉพาะอิทธิพลจากลมตะวันตกที่ได้พัดพาฝุ่นควันจากประเทศพม่ามาสู่ จ.เชียงราย

ความเห็นจากอาจารย์สืบสกุล กิจนุกร สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นักวิชาการที่เกาะติดปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ใน จ.เชียงราย อย่างใกล้ชิด (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564) ระบุว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงรายแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าถึงแม้จะมีมาตรการห้ามเผาในจังหวัดแต่ก็ไม่เพียงพอในการแก้ไขปัญหาได้อีกต่อไป เนื่องจากฝุ่นควันลอยข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันกับประเทศไทย ในขณะเดียวกันผลกระทบก็เกิดขึ้นกับประชาชนในท้องถิ่นของประเทศอื่นด้วยเช่นกัน เช่นในกรณีจังหวัดท่าขี้เหล็กที่อยู่ติดกับอำเภอแม่สาย เป็นต้น”

ในการบรรยายหัวข้อ ‘ฝุ่นควันข้ามแดนและเงื่อนไขทางภูมิอากาศ’ โดย ผศ.ดร.อริศรา เจริญปัญญาเนตร อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการประชุมวิชาการไทใหญ่ศึกษานานาชาติ ครั้งที่ 2 ที่วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน เมื่อเดือนกันยายน 2563 ระบุว่าจากการวิเคราะห์ร่องรอยการเผาไหม้จากดาวเทียม Terra/Aqua ระบบ MODIS เมื่อพิจารณาแผนที่รายเดือนของพื้นที่ปลูกข้าวโพด จุดความร้อน และร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ในช่วงระหว่างปี 2558-2562 ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ภาคเหนือตอนบนของไทย ตอนบนของ สปป.ลาว และรัฐฉานของพม่า) พบว่าในช่วงเดือน เม.ย. จะเป็นช่วงที่ทั้ง 3 ประเทศมีการปลูกข้าวโพดพร้อมกัน โดยพื้นที่ที่ปลูกมากที่สุดคือรัฐฉาน ประเทศพม่า พบมากในเดือน เม.ย.-พ.ค. เนื้อที่ประมาณ 8,440,800 ไร่ ตามมาด้วย สปป.ลาว พบมากในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. เนื้อที่ประมาณ 7,266,400 ไร่ และพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือของไทย พบมากในช่วงเดือน เม.ย. เนื้อที่ประมาณ 3,889,100 ไร่

ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ปลูกข้าวโพด จุดความร้อน และร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ในตอนบนของประเทศไทย รัฐฉานของพม่า และพื้นที่ใน สปป.ลาว พบว่าพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทยพบจุดความร้อนที่อยู่ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดประมาณ 4,000 จุด/เดือน ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. สลับกันไปในช่วง 5 ปี (2558-2562) ในรัฐฉานของพม่า ช่วงเดือน เม.ย. ประมาณ 7,000 จุด/เดือน และในพื้นที่ สปป.ลาว ช่วงเดือน เม.ย. ประมาณ 10,000 จุด/เดือน อย่างไรก็ตาม ปริมาณจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 ประเทศนั้น เป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพียง 30% แต่อีก 70% คือพื้นที่ป่าและเกษตรกรรมอื่น ๆxii

นอกจากนี้เมื่อต้นเดือน ก.พ.2563 ทีมข่าว The Exit ของ Thai PBS ได้ลงพื้นที่ สปป.ลาว พบว่านอกจากการปลูกข้าวโพดแล้ว ยังพบการขยายพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ เช่น การปลูกอ้อย ในเขตเมืองสิงห์ แขวงหลวงน้ำทา และพบการทำเกษตรแปลงใหญ่จากกลุ่มทุนจีนในแขวงบ่อแก้วและหลวงน้ำทา เพื่อส่งกลับไปขายยังจีนตามเส้นทางถนน R3A ทั้งยังพบร่องรอยการเผาในพื้นที่แปลงเกษตรก่อนปลูก ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2563 พบว่าที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่มีพรมแดนติดกับรัฐฉาน และใกล้กับ สปป.ลาว สามารถวัดฝุ่น PM2.5 ได้มากถึง 366 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่การรายงานสถานการณ์ฝุ่นควันของ GISDA ภาคเหนือในวันเดียวกันพบสาเหตุของฝุ่นควันเกิดขึ้นจำนวนมากในภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้านxiii ซึ่งในช่วงเดือน มี.ค. 2563 พื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย แทบที่จะไม่มีจุดความร้อนเกิดขึ้นเลยxiv

ผู้ว่าฯ ลำปางรับสภาพ ปัญหาแก้ไขยากจริง

จังหวัดลำปางเป็นอีกพื้นที่หนึ่งในภาคเหนือที่ต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 โดยเมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. 2563 ค่า PM2.5 เคยพุ่งไปที่ระดับเกือบถึงระดับ 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในครั้งนั้นนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนถึงการแก้ปัญหาหมอกควันไฟและการเผาป่าที่กำลังเป็นวิกฤตของ จ.ลำปาง ว่าได้ตั้งเป้าจากสถิติปี 2562 ที่ผ่านมา ด้านสุขภาพมีผู้ป่วยที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ ต้องให้คนป่วยน้อยลง 70% จุดความร้อนหรือ Hot Spot ต้องลดลง 50% ส่วนวันที่ค่า PM2.5 เกินกี่วันในปีที่ผ่านมาต้องลดให้ได้ครึ่งหนึ่ง ซึ่งถ้าหากทำได้ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายของจังหวัดที่ตั้งไว้ แต่ตอนนี้ตนยอมรับเลยว่าการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าของ จ.ลำปาง ยากกว่า จ.เชียงราย และ จ.พะเยา (จังหวัดที่เขาเคยเป็นผู้ว่าราชการมาก่อน) ด้วยบริบทหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน จึงทำให้การแก้ปัญหาไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ทั้งจุดความร้อน จำนวนการเผาป่า หรือแม้แต่ผู้ที่เจ็บป่วยที่ตั้งเป้าให้ลดลงทั้งหมด ก็ยังทำได้ไม่ดี

ณรงค์ศักดิ์ระบุว่าด้านงบประมาณแม้ไม่ได้ถือว่าเป็นศูนย์ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดกลับไม่ได้รับงบประมาณมาดำเนินการแม้แต่บาทเดียว การที่เคยวางแผนว่าจะนำเงินจ้างคนที่อยู่รอบป่าให้มาเป็นผู้ดูแลและดับไฟเมื่อเกิดเหตุเหมือนที่เคยทำที่ จ.เชียงราย ก็ทำไม่ได้ เพราะไม่มีงบประมาณ การดำเนินการแต่ละอำเภอก็ยังอ่อน เรื่องนี้ตนเองจะต้องเร่งขันน็อตนายอำเภอทั้ง 13 อำเภอ ให้ทำงานเชิงรุกให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ และอีกอย่างที่ จ.ลำปาง ไม่เหมือนจังหวัดอื่นที่บริบทความร่วมมือของประชาชน ส่วนใหญ่รอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเพราะเห็นว่าเสียภาษีให้รัฐแล้ว ดังนั้นจึงจะเห็นว่าเมื่อมีการขอความร่วมมือกับประชาชนโดยรอบจะยากกว่าที่ตนเคยทำงานมา ซึ่งปัญหาเหล่านี้ต้องนำมาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขต่อไปxv

ความเห็นจาก รศ.ดร.ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง นักวิชาการที่ติดตามปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ใน จ.ลำปาง (สัมภาษณ์เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. 2564) ได้อธิบายว่าภาพที่ออกเป็นข่าวส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ไขปัญหาแบบสั่งการจากบนลงล่างที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ปัญหาคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีทรัพยากรเป็นของตัวเอง และมีวาระการดำรงตำแหน่งที่ไม่แน่นอน หมายความว่า ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะดำรงตำแหน่งอีกกี่ปี หรือบางคนเหลือเวลาอีกไม่กี่ปีจะเกษียณ ทำให้ความต่อเนื่องของการแก้ไขปัญหานั้นขาดตอน ไม่อาจเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาวได้

นอกจากนี้ จ.ลำปาง ยังมีภาคประชาชนที่ทำกิจกรรมคู่ขนานไปกับส่วนภูมิภาคของกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่ชื่อว่า “We love The King นครลำปาง” ตรงกันข้ามกับที่ระบบราชการ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เกาะติดกับปัญหา และทุ่มเทแม้จะไม่ได้มีสิ่งตอบแทน พึ่งพาการรับบริจาค และความช่วยเหลือจากประชาชน ที่สำคัญกลุ่มนี้นอกจากจะเป็นการปฏิบัติการหน้างานอย่างการดับไฟเมื่อเกิดไฟป่าขึ้นแล้ว ยังได้สร้างเครือข่ายอาสาดับไฟของชาวบ้านในชุมชนต่าง ๆ ไปด้วย ส่วนงานอีกด้านหนึ่งของเครือข่ายเหล่านี้ คือ การให้ความสำคัญกับป่าและแหล่งน้ำโดยเน้นไปที่การสร้างฝายชะลอน้ำ ซึ่งภิญญพันธุ์มองว่ายังเป็นข้อจำกัดของกลุ่ม

"กระนั้นข้อจำกัดของพวกเขาคือ ความสามารถในการเชื่อมโยงสู่พื้นที่ที่ใหญ่กว่าได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ขณะที่การสร้างฝายชะลอน้ำนั้นเริ่มถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นว่า ไม่ได้มีเพียงผลดีอย่างเดียว แต่อาจต้องคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย" ภิญญพันธุ์กล่าว

ภิญญพันธุ์ระบุต่อไปว่าจากภาพตัวแทนที่อยู่ตรงกันข้ามกัน อาจกล่าวได้ว่ากลไกดังกล่าวไม่อาจจะแก้ไขปัญหาได้ครอบคลุมมากนัก เนื่องจากยังมีช่องว่างที่ควรเติมเต็มอยู่ ดังนั้นในอนาคตควรจะคิดกันใหม่ นั่นคือควรเน้นการกระจายอำนาจให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นเจ้าภาพในฐานะที่มีทรัพยากรและงบประมาณในการดูแล ไม่ว่าจะเป็นเชิงวิชาการ การศึกษาและวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาระดับท้องถิ่น หรือการเสริมพลังความรู้เกี่ยวกับการจัดการไฟป่า การวิเคราะห์ผลกระทบจากการสร้างฝายชะลอน้ำ การศึกษาและการส่งเสริมการลดขยะหรือกำจัดขยะที่เกี่ยวกับผลิตผลทางการเกษตร การสนับสนุนการทำงานระดับพื้นที่ทั้งทรัพยากรบุคคลและงบประมาณที่จำเป็น รวมถึงการติดตั้งเครื่องวัดค่าอากาศให้ครอบคลุมในจังหวัดมากที่สุด

"อาจรวมถึงการติดตั้งเครื่องวัดค่าอากาศที่มีอยู่น้อยมากในระดับจังหวัด อาจเพิ่มในระดับเทศบาล หรือ อบต.ที่เป็นพื้นที่ที่ใช้ในการอ้างอิงเพื่อต่อภาพจิ๊กซอว์มลพิษทางอากาศได้ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เช่นเดียวกันกับเทศบาล หรือ อบจ.ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกับชุมชนหรือหมู่บ้านที่อาจได้รับประสบการณ์การเรียนรู้จากกลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ ขึ้นมาได้" ภิญญพันธุ์ทิ้งท้าย

ปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่จังหวัดตาก

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ของ จ.ตาก ส่วนหนึ่งเกิดจากไฟป่าในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดน ของ จ.ตาก ที่นอกเหนือการดับไฟป่าในเขตพื้นที่ฝั่งไทยเองแล้ว ก็ยังต้องขอความร่วมมือประสานงานกับฝั่งพม่าในการดับไฟป่า ผ่านกลไกของคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-พม่า โดยเฉพาะพื้นที่ อ.แม่สอด ของไทย และ จ.เมียวดี ของพม่า (TBC)xvi

นอกจากนี้ จ.ตาก ยังเผชิญกับปัญหาไฟป่ามากที่สุดในพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก ซึ่งเป็นผืนป่าต้นน้ำของแม่น้ำปิง โดยมีเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าเพียง 82 นาย (เจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าแม่ตื่นสนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น) ต้องดูแลพื้นที่ป่าในความรับผิดชอบประมาณ 700,000 ไร่ การดับไฟป่าก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะจุดเกิดไฟป่านั้นอยู่ในป่าลึก ต้องเดินเท้าลัดเลาะไปตามไหล่เขาที่สูงชัน บางจุดเป็นหน้าผา ทำได้แค่ทำแนวกันไฟสกัดกั้นการลุกลามของไฟป่าเท่านั้นxvii

ฤดูฝุ่นควัน 64 มท.จี้ภาคเหนือใช้วิธี '4 พื้นที่ 5 มาตรการ' จ.เชียงใหม่ หนุนงบฯ ระดับชุมชนครั้งแรก-บริหารเชื้อเพลิงด้วยการชิงเผา

ช่วงเดือน ธ.ค. 2563 พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยถึงการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ช่วงปลายปี 2563 ต้นปี 2564 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563 โดยในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และพื้นที่จังหวัดภาคอื่นที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ให้ปฏิบัติตามมาตรการ "4 พื้นที่ 5 มาตรการบริหารจัดการ" โดยในส่วน 4 พื้นที่ ได้แก่ 1) พื้นที่ป่าสงวน/ป่าอนุรักษ์ โดยดำเนินการควบคุมไฟป่า จัดทำแนวป้องกันไฟ จัดกำลังลาดตระเวน บังคับใช้กฎหมาย ปิดป่าในช่วงประกาศห้ามเผา การทำป่าเปียก/ป่าชื้น ฯลฯ และการให้ผู้นำท้องที่ตั้งกฎกติกาการห้ามเผาป่าในหมู่บ้าน/ชุมชน และจัดทำบัญชีผู้มีพฤติกรรมเข้าป่าเพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ 2) พื้นที่เกษตรกรรม โดยควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตร จัดระเบียบบริหารเชื้อเพลิง รณรงค์การใช้สารย่อยสลายหรือไถกลบตอซังข้าว/ข้าวโพด/ซากวัชพืช ส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและการแปรวัสดุการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า และจัดอาสาสมัครเฝ้าระวังไม่ให้เกษตรกรลักลอบเผา 3) พื้นที่ชุมชน/เมือง ให้จังหวัด อำเภอ และ อปท. กำหนดกติการ่วมกันของชุมชน โดยใช้กลไกประชารัฐ เฝ้าระวัง ป้องกัน การเผาในพื้นที่ชุมชน/เมือง การฟอกอากาศ/การสร้างเมืองต้นไม้ การกำหนดพื้นที่ปลอดมลพิษ (Safety Zone) และจัดชุดปฏิบัติการประจำตำบล/หมู่บ้าน ประชุมชี้แจงกับประชาชนในพื้นที่ให้ทราบมาตรการและแนวทางภาครัฐ 4) พื้นที่ริมทาง โดยจัดกำลังอาสาสมัครภาคประชาชนลาดตระเวน เฝ้าระวัง และกำจัดเศษวัสดุ ขยะ ใบไม้แห้ง ที่เป็นเชื้อเพลิงในพื้นที่ริมทาง เพื่อไม่ให้มีเชื้อไฟและใช้เป็นแนวกันไฟ

ในส่วนมาตรการบริหารจัดการ 5 มาตรการ ได้แก่ 1) ระบบบัญชาการเหตุการณ์ โดยให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดและอำเภอ เป็นองค์กรหลักในการอำนวยการ สั่งการ ระดมสรรพกำลัง ทรัพยากร และประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ มีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ 2) สร้างความตระหนัก สร้างการรับรู้กับประชาชนทราบถึงมาตรการการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน และการส่งเสริมให้ประชาชน นักเรียน เยาวชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า 3) ลดปริมาณเชื้อเพลิง โดยให้จัดทำแนวกันไฟ การควบคุมการเผา ส่งเสริมการใช้สารหมักชีวภาพเพื่อย่อยสลายตอซัง และการนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาทำอาหารสัตว์ และกำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อปท. คณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน สอดส่อง ตักเตือน ห้ามปราม ผู้ที่จุดไฟเผาเศษวัสดุทางการเกษตร โดยเฉพาะตามเขตรอยต่อระหว่างชุมชนกับเขตป่าไม้ 4) การบังคับใช้กฎหมาย ให้กำชับเจ้าพนักงานตามกฎหมายบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และจับกุมผู้กระทำความผิดที่ลักลอบเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชน/เมือง และพื้นที่ริมทาง 5) ทีมประชารัฐ โดยบูรณาการทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและกำหนดแนวทาง มาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันxviii

เมื่อโฟกัสที่ จ.เชียงใหม่ พบว่ามีความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 มาแล้ว โดยฤดูฝุ่นควันในปี 2564 จังหวัดเชียงใหม่ระบุว่าจะมีการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างจริงจังและเข้มข้น โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างเต็มที่จากหลายส่วน ทั้งงบประมาณปกติของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง งบประมาณของ อปท. และงบประมาณจากหน่วยงานภาคเอกชน จะนำลงสู่ชุมชนแต่ละพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนการมีส่วนในการแก้ปัญหาฝุ่นควันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถือว่าในปี 2564 นี้ถือเป็นปีแรกที่หน่วยงานภาครัฐทั้งระดับจังหวัดและ อปท.จะสนับสนุนงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาระดับชุมชนใน จ.เชียงใหม่xix

'โครงการสนับสนุนหมู่บ้านปลอดการเผา' ใช้แนวคิดให้รางวัล (Reward based) และพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมในการจัดการชุมชนป้องกันปัญหาฝุ่นควันจากการเผาอย่างยั่งยืน | ที่มาภาพ: hazefreereward.com

นอกจากนี้บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ร่วมกับภาคเอกชน และชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ เปิดตัว 'โครงการสนับสนุนหมู่บ้านปลอดการเผา' ซึ่งมีแนวคิดพื้นฐานคือการให้รางวัลกับคนที่ทำดี (Reward based) ขึ้นเป็นโครงการแบบบูรณาการเพื่อลดปัญหาฝุ่นควัน พัฒนากลไกการมีส่วนร่วมในการจัดการชุมชนป้องกันปัญหาฝุ่นควันจากการเผาอย่างยั่งยืน

ข้อมูล ณ วันที่ 9 ม.ค. 2564 มีหมู่บ้านสมัครเข้าร่วมโครงการสนับสนุนหมู่บ้านปลอดการเผาแล้วรวม 14 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนาฮ่องใต้ ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม, บ้านห้วยตอง ต.แม่วิน อ.แม่วาง, หย่อมบ้านแม่ราจี ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม, หมู่บ้านวิเวก ต.หนองหาร อ.สันทราย, หมู่บ้านปางมะกล้วย ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง, หมู่บ้านห้วยเป้า ต.ทุ่งข้าวพวง อ.เชียงดาว,หย่อมบ้านปางแดงใน ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว, หมู่บ้านแม่ซ้าย ต.แม่นะ อ.เชียงดาว, บ้านแม่สายนาเลา ต.โหล่งขอด อ.พร้าว, บ้านแม่วาก ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม, บ้านปางหินฝน ต.ปางหินฝน อ.แม่แจ่ม, หย่อมบ้านแม่สายป่าเมี่ยง ต.โหล่งขอด อ.พร้าว, หย่อมบ้านบูแมะ ต.สบโขง อ.อมก๋อย และ หย่อมบ้านห้วยปูหลวง ต.บางเปียง อ.อมก๋อย โดยหมู่บ้านที่สมัครเข้าร่วมโครงการและไม่มีจุดความร้อนตั้งแต่ระยะเวลา 15 ม.ค.-30 มิ.ย. 2564 จากข้อมูลดาวเทียม VIIRS (ลดจุดความร้อนในพื้นที่ได้ 100%) จะได้รับรางวัลโดยเป็นของรางวัลเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนอาชีพ อาทิ ธนาคารน้ำสำหรับการเกษตร การทำปุ๋ยอินทรีย์ เชื้อเพาะเห็ด ระบบจัดการขยะในชุมชน เป็นต้น ตามความต้องการที่หมู่บ้านเสนอมา รวมมูลค่า 50,000 บาท โดยอาจเลือกเป็นของรางวัลเพื่อการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนอาชีพเพื่อลดการพึ่งพาไฟ หรือของรางวัลเพื่อสนับสนุนและต่อยอดโครงการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการไฟ ถือเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพในชุมชน ต่อยอดสู่การเป็นหมู่บ้านต้นแบบต่อไปxx

ด้านสภาลมหายใจเชียงใหม่ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่เอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ได้ระบุเมื่อช่วงต้นเดือน ม.ค. 2564 ว่าหนึ่งในภารกิจปี 2564 ของสภาลมหายใจเชียงใหม่ คือการเข้าไปเตรียมความพร้อมให้กับชุมชน ผ่านการทำแผนบริหารจัดการฯ ทั้งการป้องกันและแก้ไขเชิงคุณภาพ โดยที่ชัดเจนตอนนี้ มีจำนวนกว่า 35 ตำบล สนับสนุนการขับเคลื่อนของสภาองค์กรชุมชนในการประสานและเชื่อมโยงการทำงานกับทางท้องถิ่นในแต่ละตำบล ขณะที่การทำงานเชิงป้องกัน ทางคณะกรรมการของมูลนิธิเพื่อลมหายใจได้อนุมัติงบประมาณราว 2.3 ล้านบาท ในการจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันและดับไฟป่า เพื่อส่งมอบให้กับชุมชนที่มีความพร้อม 300 กว่าหมู่บ้าน ใน 19 อำเภอ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับชุมชนก่อนไฟมา ซึ่งตั้งเป้าว่าจะทำให้แล้วเสร็จทั้งหมดในเดือน ม.ค. 2564xxi

ด้านสวัสดิการความปลอดภัยของอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า สืบเนื่องจากเมื่อปีที่ผ่านมา (2563) ปรากฏเป็นข่าวต่อเนื่องว่ามีผู้ที่ต้องสังเวยชีวิตขณะออกปฏิบัติหน้าที่ดับไฟป่าถึง 7 รายในช่วงเวลาแค่ 3 เดือน (ระหว่างกุมภาพันธ์-เมษายน) ทั้งเจ้าหน้าที่ (อบต., ผู้ใหญ่บ้าน) และอาสาสมัคร (คนชาติพันธุ์, เยาวชน) เหตุเกิดที่เชียงใหม่กับแม่ฮ่องสอนจังหวัดละ 3 รายเท่ากัน ส่วนอีกรายนั้นเป็นที่เชียงราย ด้วยเหตุนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงได้สนับสนุนกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุ รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,200,000 บาท จากบริษัทประกันวินาศภัยจำนวน 5 บริษัท ให้เข้ามาเป็นผู้รับประกันกลุ่มอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าเชียงใหม่กว่า 34,000 กรมธรรม์ ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.-10 พ.ค. 2564 รวมไปถึงคุ้มครองการขับขี่ การเดินทางด้วยในวงเงิน 1 แสนบาท และกรณีขาดรายได้จะได้รับการชดเชย 200 บาทต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 20 วัน ทั้งนี้อาสาสมัครหรือเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าจะต้องมีหนังสือรับรองจากทางจังหวัดxxii

ชิงเผาหรือห้ามเผา? ฤาจะต้องลองผิดลองถูกอีกปี

ส่วนมาตรการที่ถูกจับตามากที่สุดในฤดูฝุ่นควันในปี 2564 นี้ที่ จ.เชียงใหม่ คือจะ 'ไม่มีการประกาศห้ามเผา' แต่เน้นการเรื่อง ‘บริหารจัดการเชื้อเพลิง’ เป็นหลัก โดยเมื่อต้นเดือน ม.ค. 2564 ได้มีการเปิดศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของ จ.เชียงใหม่ รวมทั้งการประชุมคณะกรรมการศูนย์ฯ ครั้งแรกเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในฤดูกาล 2564

ข้อมูลจากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 เชียงใหม่ (ณ ช่วงปลายเดือน ม.ค. 2564) กรมป่าไม้มีพื้นที่ป่าในเชียงใหม่ที่ต้องดูแล 25 ป่าเนื้อที่ 7.9 ล้านไร่ เป็นป่าสมบูรณ์ 6.3 ล้านไร่และอีก 1.7 ล้านไร่ที่เป็นป่าเสื่อมโทรมและเป็นพื้นที่ที่ประชาชนเข้าไปทำกินและอยู่อาศัย ซึ่งมีการตั้งเครือข่ายป้องกันไฟป่าฯ 200 กว่าเครือข่าย โดยให้มีการเก็บเชื้อเพลิงลดเผาซึ่งนำออกนอกพื้นที่ไปแล้ว 60 ตัน และอีกส่วนมีการจัดเก็บใส่เสวียนไว้ร่วม 7 พันแห่งสามารถลดเชื้อเพลิงได้ 350 ตัน ซึ่งปีที่ผ่านมาเชื้อเพลิงเหล่านี้จะถูกเผาไหม้ แต่ปี 2564 นี้มีการจัดเก็บเพื่อลดการเผา ส่วนข้อมูลจากเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ (ณ ช่วงปลายเดือน ม.ค. 2564) ระบุว่ากรมส่งเสริมการเกษตรได้รณรงค์หยุดเผาในพื้นที่เกษตรมากว่า 5 ปี ซึ่งปี 2564 นี้มีวัสดุเหลือใช้กว่า 7 แสนตัน จากพื้นที่กว่า 1 ล้านไร่ ซึ่งจะไม่มีการเผา โดยมีการบริหารจัดการแยกเป็นเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ 583,780 ตัน บริหารจัดการเผา 115,458 ตัน และปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ แยกเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มี 405,000 ไร่ โดยจะมีการเผาเพียง 73,500 ตัน โดยร้อยละ 56 จะนำไปเพิ่มมูลค่าและร้อยละ 21 ที่ปล่อยให้ย่อยสลายเอง ส่วนพื้นที่นาที่ปลูกข้าวมีพื้นที่ 489,000 ไร่ โดยส่วนใหญ่จะนำวัสดุไปเพิ่มมูลค่าถึงร้อยละ 89 ซึ่งจะมีการเผาเพียงร้อยละ 8 และอีกร้อยละ 3 หรือ 9,530 ตัน จะปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติสำหรับพื้นที่ปลูกลำไย 200,854 ไร่ นั้นร้อยละ 91 หรือ 14,598 ตัน จะนำไปเพิ่มมูลค่าจะมีการเผาเพียง 16,508 ตัน และปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ 3,730 ตันxxiii

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่าที่ผ่านมามีการทำงานเตรียมการของแต่ละภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและ PM2.5 มาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2563 ซึ่งไฟป่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่นอกเมืองและอยู่ในเขตป่าและการเผาในพื้นที่เกษตร ซึ่งในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติจะต้องมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยขณะนี้แต่ละพื้นที่ได้มีแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงออกมาแล้ว แต่ในเมืองจะเป็นเรื่องของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ซึ่งต้องแสวงหามาตรการควบคุม แต่ก็ยังมีปัจจัยภายนอกที่เป็นตัวแปรด้วยเช่นสภาพภูมิอากาศซึ่งทำให้ยากต่อการควบคุม แต่จะมีวิธีบริหารจัดการอย่างไรเพื่อลดหรือบรรเทาปัญหาลง สิ่งสำคัญคือจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นxxiv

สำหรับการปรับแผนในปี 2564 นี้จะไม่มีการบังคับใช้กฎหมายห้ามเผาเหมือนทุกปีที่ผ่านมา แต่ จ.เชียงใหม่ จะใช้วิธีขอความร่วมมือประชาชนและจัดแบ่งโซนเพื่อบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยการชิงเผาโดยได้แบ่งเป็น 2 โซน โซนเหนือ (ประกอบไปด้วย อ.แม่อาย อ.ฝาง อ.ไชยปราการ อ.เชียงดาว อ.พร้าว อ.เวียงแหง อ.แม่แตง อ.แม่ริม อ.กัลยานิวัฒนา อ.สะเมิง อ.ดอยสะเก็ด อ.สันทราย อ.สันกำแพง) และโซนใต้ (ประกอบไปด้วย อ.เมืองเชียงใหม่ อ.แม่ออน อ.สารภี อ.หางดง อ.สันป่าตอง อ.แม่วาง อ.ดอยหล่อ อ.จอมทอง อ.ดอยเต่า อ.แม่แจ่ม อ.ฮอด อ.อมก๋อย) โดยตั้งเป้าจัดการเชื้อเพลิงทั้งหมด 5 แสนไร่ เริ่มจากโซนใต้ ดำเนินการระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ. 2564 ส่วนโซนเหนือระหว่างเดือน มี.ค.-เม.ย. 2564 รวมระยะเวลาทั้งหมด 4 เดือน ขณะที่พื้นป่าที่สูงเกินกว่า 500 เมตรจากระดับน้ำทะเลและป่าต้นน้ำจะไม่สามารถจัดการเชื้อเพลิงได้ จึงต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดxxv

ในระหว่างใช้มาตรการบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยการชิงเผานั้น เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2564 ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีคำสั่งระงับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงทุกชนิด (ด้วยวิธีชิงการเผา) ในทุกพื้นที่ของ จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 19-20 ก.พ. 2564 เนื่องจากมีการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าการระบายอากาศในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในระดับที่ไม่ดีxxvi

ต่อมาช่วงปลายเดือน ก.พ. 2564 ในการประชุมของศูนย์บัญชาการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่น PM2.5 จ.เชียงใหม่ มีการถกเถียงกันว่าการบริหารจัดการเชื้อเพลิงได้กำหนดห้วงเวลาในการบริหารจัดการไว้ในระหว่างเวลา 09.00-16.00 น.โดยใช้ระบบการจองล่วงหน้า 3 วัน เพื่อให้ทางวอร์รูมพิจารณาโดยดูจากปัจจัยสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศทิศทางลมเป็นหลักนั้น ซึ่งเป็นการบริหารจัดการตามหลักวิชาการ แต่ระหว่างการดำเนินการพบว่าค่าคุณภาพอากาศที่ตรวจวัดได้ในบางพื้นที่ดูจะไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริง นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาการบริหารจัดการเชื้อเพลิงล่วงหน้าของพื้นที่โซนใต้โดยเร่งให้บริหารเชื้อเพลิงอำเภอโซนใต้ให้จบก่อนจะสิ้นสุดในวันที่ 28 ก.พ. 2564 แต่กระนั้นยังเหลือพื้นที่รอเผาอีกกว่า 5 หมื่นไร่ (ข้อมูล ณ 22 ก.พ. 2564) ซึ่งหากบริหารเชื้อเพลิงไม่ทัน ก็ให้ยกยอดไปปีหน้าxxvii

สำหรับมาตรการในห้วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2564 นั้น นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ ระบุว่าขอให้ร่วมกันพิจารณาว่าป่าทั้งที่อยู่ในส่วนรับผิดชอบของกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ ก็ขอให้มีการประกาศปิดป่า เพื่อการป้องกันในการที่จะมีการเข้าไปเก็บของป่า ในส่วนของศูนย์บัญชาการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่น PM2.5 จ.เชียงใหม่ ระดับตำบล ก็ต้องพิจารณาถึงความเดือนร้อนของราษฎรในพื้นที่หลังจากที่มีประกาศปิดป่า ก็หามาตรการเยียวยาให้อย่าง เช่น การนำมาช่วยการลาดตระเวนในพื้นที่ป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่แล้วจัดหาเบี้ยเลี้ยงให้ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติไว้ก่อนแล้ว ซึ่งจะต้องบูรณาการร่วมกันทุกหน่วยงานในระดับพื้นที่ที่จะต้องช่วยเยียวยากลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ในการที่จะไม่ให้เข้าป่าxxviii

ต่อมาในวันที่ 26 ก.พ. 2564 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกประกาศห้ามการเผาทุกชนิด 60 วัน ยกเว้นพื้นที่ตามแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ตั้งแต่ 1 มี.ค.-30 เม.ย. 2564 สำหรับผู้ใดที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศจังหวัดเชียงใหม่ จะมีโทษความผิดตามมาตรา 74 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับxxix ทั้งนี้ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2564 เป็นช่วงบริหารจัดการการเผาของอำเภอโซนเหนือ ได้แก่ อ.แม่อาย อ.ฝาง อ.ไชยปราการ อ.เชียงดาว อ.พร้าว อ.เวียงแหง อ.แม่แตง อ.แม่ริม อ.กัลยานิวัฒนา อ.สะเมิง อ.ดอยสะเก็ด อ.สันทราย อ.สันกำแพง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เมืองมาก แต่จะมีการกำหนดพื้นที่ไม่ให้เผามากเกินไปในแต่ละวัน และประเมินสภาพอากาศเป็นรายวันไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนxxx

เหล่านี้คือความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในฤดูฝุ่นควัน 2564 พื้นที่จังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ที่ใช้ในปีนี้จะประสบความสำเร็จหรือจะยังคงเป็นการลองผิดลองถูกอีกหนึ่งปีหรือไม่ ก็ยังเป็นคำตอบที่จะเฝ้าต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด.

(รายงานชิ้นนี้เพิ่มเติมข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2564)

 

เชิงอรรถ/อ้างอิง

iii ประมวลจากรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทยที่เผยแพร่ใน http://air4thai.pcd.go.th/webV2/download.php

xii เอกสารการบรรยายหัวข้อ ‘ฝุ่นควันข้ามแดนและเงื่อนไขทางภูมิอากาศ’ โดย ผศ.ดร.อริศรา เจริญปัญญาเนตร อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการประชุมวิชาการไทใหญ่ศึกษานานาชาติ ครั้งที่ 2 ที่วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน 4-6 กันยายน 2563

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท