Skip to main content
sharethis

เมื่อวันอาทิตย์นี้ รัฐบาลทหารพม่าปราบปรามผู้ประท้วงหนักที่สุดนับตั้งแต่ทำรัฐประหาร วันเดียวมีผู้เสียชีวิต 18 รายจากเหตุสลายชุมนุมที่ย่างกุ้ง ทวาย มัณฑะเลย์ พะโค ฯลฯ และมีสื่อมวลชนถูกจับกุมวันเดียว 6 ราย ด้านนายตำรวจมัณฑะเลย์แถลงอยู่ข้างผู้ชุมนุม

ผู้ประท้วงเผชิญหน้ากับตำรวจที่แยกเหล่ดัน นครย่างกุ้ง ก่อนเกิดเหตุสลายชุมนุมเมื่อ 28 ก.พ. 64 (ที่มา: สำนักข่าวท่าขี้เหล็ก)

ผู้ประท้วงที่ย่างกุ้งช่วยกันนำร่างผู้บาดเจ็บออกจากจุดปะทะ ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา เมื่อ 28 ก.พ. 64 (ที่มา: Myanmar Now)

เมื่อวันอาทิตย์นี้ (28 ก.พ.) มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 ราย มีผู้บาดเจ็บและถูกจับกุมหลายสิบราย ในการต่อต้านรัฐประหารของกองทัพพม่าที่นำโดย พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย นับเป็นการใช้ความรุนแรงปราบปรามการประท้วงต้านรัฐประหารอย่างสันติที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ และเป็นวันที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด นับตั้งแต่เกิดการต่อต้านรัฐประหาร 1 ก.พ. 64 ทั้งนี้มีรายงานการโจมตีของตำรวจและทหารพม่าต่อผู้ชุมนุมที่ย่างกุ้ง ทวาย มัณฑะเลย์ พะโค และเมืองใหญ่อื่นๆ ที่มีผู้ชุมนุมออกมาเดินขบวน

ทั้งนี้เมียนมานาว ระบุชื่อผู้เสียชีวิตได้ 10 ราย ในขณะที่โฆษกของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ราวินา ชาดานานี ระบุในแถลงการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิต 18 ราย "มีรายงานผู้เสียชีวิต หลังการใช้กระสุนจริงยิงใส่ฝูงชนที่ย่างกุ้ง ทวาย มัณฑะเลย์ มะริด พะโค และปะโคะกู่" แถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้มีผู้ประท้วงหลายพันคนรวมตัวกันที่แยกเหล่ดัน แยกสำคัญที่เป็นจุดรวมตัวชุมนุมในย่างกุ้งเมื่อเวลา 09.00 น. ผู้ชุมนุมแถวหน้ามีแว่นตาและหน้ากากกันแก๊สน้ำตา และไม่กี่นาทีตำรวจก็สลายการชุมนุมด้วยระเบิดเสียง และเริ่มยิงปืน ทั้งนี้มีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 2 คนที่ถูกยิงบริเวณนี้ ทราบชื่อคือญีญีอ่าวง์เต็ดหน่าย (Nyi Nyi Aung Htet Naing) และ ซินลินเต็ด (Zin Lin Htet)

นอกจากนี้มีรายงานสื่อมวลชนถูกจับกุม 6 รายในวันนี้ รายหนึ่งชื่อ ชินโมมยิน อายุ 23 ปี เป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ก่อนถูกควบคุมตัว ถูกตำรวจทำร้ายร่างกายด้วย มีรายงานว่ามีผู้สื่อข่าวรายหนึ่งจาก Myay Latt Voice ที่เมืองแปร ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง ก่อนถูกตำรวจจับกุมตัว

ขณะเดียวกันเมื่อวันเสาร์ (27 ก.พ.) มีผู้สื่อข่าว 7 ราย ถูกจับกุมตัวทั่วประเทศ ในจำนวนนี้มีผู้สื่อข่าวมัลติมีเดียของเมียนมานาว กายซงนเว ถูกจับกุมตัวด้วย ทั้งนี้มีผู้สื่อข่าว 2 รายถูกควบคุมตัวเป็นเวลาสั้นๆ ก่อนได้รับการปล่อยตัว ขณะที่ผู้สื่อข่าวอีกรายจาก 7Day หายตัวไปในช่วงบ่ายวันเสาร์ ก่อนจะพบว่าถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวในเวลาต่อมา

พม่าแห่ถอนเงิน-จอดรถทิ้งกลางถนน กองทัพแถลงอีกรอบไม่ได้ทำรัฐประหาร, 18 ก.พ. 64

ดาราดังพม่าถูกจับกลางดึก-10 กลุ่มชาติพันธุ์ระงับเจรจาสันติภาพกับกองทัพพม่า, 21 ก.พ. 64

พม่านัดหยุดงาน ‘22222’-ทางการพม่าไล่ปราบ จนท.รัฐที่ผละงานประท้วง, 22 ก.พ. 64

แพทย์-พยาบาลเมียนมานับร้อยต้องหนีหลังรัฐบาลทหารไล่ปราบ, 22 ก.พ. 64

ทูตพม่าที่สหประชาชาติขอประชาคมโลกต่อต้านรัฐประหารพม่า, 27 ก.พ. 64

นายตำรวจมัณฑะเลย์ร่วมขบวนต้านรัฐประหาร

วันเดียวกัน (28 ก.พ.) สำนักข่าวท่าขี้เหล็ก รายงานว่า ทุนวิน รองผู้กำกับสถานีตำรวจมัณฑะเลย์ หมายเลข 5 ได้เข้าร่วมต้านรัฐประหารกับประชาชนที่มัณฑะเลย์ด้วย "เราจะสู้จนกว่าเผด็จการจะสิ้นสุดลง" ท่อนหนึ่งที่เขาเขียนไว้ในจดหมาย ทั้งนี้สำนักข่าวท่าขี้เหล็กลงภาพจดหมาย และภาพที่เขาเข้าร่วมกับประชาชนด้วย

ทั้งนี้แม้จะมีรายงานเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารที่ดำเนินมาตลอดเดือนกุมภาพันธ์ แต่ก็มีรายงานตำรวจในหลายเมืองที่ประกาศอยู่ข้างฝ่ายต้านรัฐประหาร โดยก่อนหน้านี้ตำรวจที่ตำรวจที่เมืองพะสิม ภาคอิระวดี เปิดทางให้ผู้ชุมนุมเดินขบวนผ่านเมื่อ 9 ก.พ. ตำรวจที่เมืองลอยก่อ เมืองหลวงรัฐกะเรนนี หรือรัฐกะยาห์ ออกมาเดินขบวนต้านรัฐประหาร เมื่อ 10 ก.พ. หรือกรณีตำรวจ 1 ราย ที่เมืองหลวงเนปิดอว์ คือ ขุนอ่องโกโก ยศร้อยตำรวจโท ปราศรัยต้านรัฐประหาร และตำรวจอีก 4 ราย ที่เมืองมะกเว ภาคมะกเว ผละออกจากแถวแล้วมาเข้าร่วมกับผู้ชุมนุมเพื่อป้องกันรถฉีดน้ำยิงใส่ผู้ประท้วง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง [1], [2])

ขบวนการอารยขัดขืนในพม่า หรือที่ในพม่าย่อว่า "CDM" เริ่มครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 สองวันหลังกองทัพพม่ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยกลุ่มอาชีพแรกที่เป็นผู้จุดประกายการทำอารยขัดขืน คือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์นำโดย นพ.เตซา ซาน ที่เมืองมัณฑะเลย์ ก่อนขยายไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐภาคส่วนอื่นๆ ทั่วประเทศ

ขบวนการดังกล่าวส่งผลต่อการทำงานในหน่วยงานของรัฐต้องหยุดชะงักทันที เนื่องจากขาดแคลนบุคลากร จน พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย หัวหน้าคณะรัฐประหาร ถึงกับต้องออกมาย้ำเตือนเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าร่วมขบวนการอารยขัดขืน (Civil Disobedience Movement หรือ CDM) หยุดงานประท้วงต้านรัฐประหาร ให้กลับไปทำงาน และขู่จะดำเนินมาตรการบางอย่างหากยังขัดขืน

"กลุ่มเพื่อนต่อต้านเผด็จการ (FAD)" ประณามเผด็จการพม่าสังหารโหด

วันเดียวกันนี้ (28 ก.พ.) "กลุ่มเพื่อนต่อต้านเผด็จการ (FAD)" ได้ออกแถลงการณ์ "ประณามเผด็จการทหารเมียนมาที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ประณามรัฐบาลไทยที่ให้การต้อนรับรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา เรียกร้องต่อไทย อาเซียน และประชาคมโลก ไม่ให้รับรองรัฐบาลทหารพม่า" มีรายละเอียดดังนี้

"นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารล้มล้างผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ประชาชนชาวเมียนมาทั้งในประเทศเมียนมา ประเทศไทยและต่างประเทศได้ออกมาใช้สิทธิทางการเมืองประท้วงไม่ยอมรับการรัฐประหาร เรียกร้องให้กองทัพยอมรับผลการเลือกตั้ง และดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน

เป็นระยะร่วม 1 เดือนเต็ม ที่ประชาชนชาวเมียนมายังคงประท้วง และคณะผู้นำรัฐประหารได้ใช้อำนาจจับกุมดำเนินคดีผู้ประท้วง มีการบุกเข้าไปจับกุมในบ้านพักและสถานที่ส่วนบุคคล มีการยิงแก๊สน้ำตา ใช้กระสุนยาง และกระสุนจริงยิงเข้าใส่กลุ่มผู้ประท้วงในหลายพื้นที่ เช่น เนปิดอว์ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ มิตจีนา ทวาย และที่อื่น ๆ เป็นเหตุให้มีผู้ได้บาดเจ็บและเสียชีวิต ตามการรายงานของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ( Assistance Association for Political Prisoners :AAPP) ณ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมไปแล้วทั้งสิ้น 728 คน และวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 มีผู้เสียชีวิตรวม 8 คน หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนปืนจริงที่ศีรษะ มีผู้ได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุมอีกเป็นจำนวนมาก การปราบปรามคงเกิดขึ้นต่อเนื่องและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ล่าสุด วันที่ 27 ปรากฎภาพข่าวใน The Irrawaddy - Burmese Edition ว่า ตำรวจได้เล็งปลายกระบอกปืนในระยะประชิดใส่เจ้าหน้าที่แพทย์อาสาในพื้นที่ชุมชนที่ย่างกุ้ง

ด้วยสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการกระทำอุกอาจของเจ้าหน้าที่ทางการเมียนมาในขณะนี้ กลุ่มเพื่อนต่อต้านเผด็จการ (Friends Against Dictatorship: FAD) จึงขอประณามกองทัพพม่าที่ทำรัฐประหารปล้นอำนาจประชาชนและใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วง และประมาณรัฐบาลไทยที่เมินเฉยต่อการรัฐประหารและการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงในเมียนมา โดยเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไทยเป็นชาติแรกในโลกที่เชิญและให้การต้อนรับตัวแทนทางการทูตของคณะรัฐประหารเมียนมาในนามสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council: SAC) ที่ปล้นอำนาจประชาชนไป

ประชาคมโลกไม่ควรยอมรับการรัฐประหาร และไม่ควรอดทนต่อความรุนแรงที่รัฐบาลทหารทำต่อประชาชน กลุ่มเพื่อนต่อต้านเผด็จการ (FAD) มีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1. รัฐบาลไทย ประชาคมอาเซียน และประชาคมโลก ควรประณามรัฐบาลทหาร และแสวงหาความร่วมมือทุกวิถีทางเพื่อหยุดยั้งการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงในเมียนมา
2. รัฐบาลไทยต้องไม่รับรองรัฐบาลทหารพม่า ยุติการลงทุนหรือการร่วมทุนกับรัฐบาลทหาร และสนับสนุนการฟื้นฟูประชาธิปไตยในเมียนมาโดยเร็ว
3. ประชาคมอาเซียนต้องไม่รับรองรัฐบาลทหารพม่า แสดงจุดยืนร่วมกันจะสนับสนุนการฟื้นฟูประชาธิปไตยในเมียนมาโดยเร็ว การที่ประชาคมอาเซียนมีนโยบายการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกนั้น ไม่ได้หมายความว่า ต้องให้การรับรองการรัฐประหาร และไม่มีความจำเป็นต้องเปิดบ้านต้อนรับผู้แทนเผด็จการทหารเมียนมา 
4. เรียกร้องต่อประชาคมโลก ไม่ควรมีชาติใดให้การรับรองรัฐบาลทหารเมียนมา ทุกประเทศควรแสวงหาความร่วมมือในการดำเนินมาตรการทุกวิถีทางเพื่อกดดันประเทศที่แสดงท่าทีจะให้การรับรองรัฐบาลทหารพม่า และร่วมกันสนับสนุนให้เกิดการฟื้นฟูประชาธิปไตยในเมียนมาโดยเร็ว
5. คณะรัฐประหารในนามสภาบริหารแห่งรัฐจะต้องยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต่อประชาชน และรับฟังความต้องการของประชาชนอย่างทั่วถึง

#สู้ไปด้วยกัน #พอกันทีกับการรัฐประหาร #พอกันทีกับการใช้อำนาจนอกระบบ
#สนับสนุนประชาชนเมียนมาบนเส้นทางประชาธิปไตย #พันธมิตรชานม"

แถลงการณ์ของกลุ่มระบุ

สำหรับรายชื่อคณะกรรมการและองค์กรแนวร่วม กลุ่มเพื่อนต่อต้านเผด็จการ (FAD) ประกอบด้วย 1. ชยันต์  วรรธนภูติ 2. นฤมล ทับจุมพล 3. อวยพร เขื่อนแก้ว 4. สุภาวดี  เพชรรัตน์ 5. พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ 6. อดิศร เกิดมงคล 7. คอรีเยาะ มานุแช  8. สมบูรณ์ จึงเปรมปรีดิ์ 9. เพียรพร ดีเทศน์ 10. ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร 11. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) 12. เสมสิกขาลัย-พม่า (SEM) และ 13. Mekong Peace Journey (MPJ)

แปลและเรียบเรียงจาก

Myanmar sees deadliest day since uprising began as junta intensifies attacks on peaceful protesters, Myanmar Now, 28 February 2021

Tachileik News Agency, 1 March 2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net