ยื่นหมื่นชื่อถึงสภาแก้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ผู้ประกอบการคราฟท์เบียร์ยื่นรายชื่อแก้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หวังให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลส่วนประกอบที่จำเป็นเพื่อตัดสินใจและระมัดระวังจากอาการแพ้ และแสดงความเห็นความชอบของสิ่งที่ตนกินได้ 

1 มี.ค.2564 เวลา 10.00 น. ประชาชนเบียร์รายงานว่า กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยคราฟต์เบียร์ไทยในนามของสมาคมคราฟต์เบียร์ และเพจสุราไทย และประชาชนเบียร์ได้นำรายชื่อจำนวน 11,169 คนเข้าสู่สภาเพื่อขอแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งทั้งหมดใช้เวลานับตั้งแต่เดือน กรกฎาคม- ธันวาคม ตลอดระยะเวลา 4 เดือน ได้มีการนำเสนอข้อมูลแก่ประชาชน และล่ารายชื่อจนได้ครบตามจำนวนที่ต้องการวันนี้จึงนำรายชื่อทั้งหมดไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และวันที่ 17 มี.ค.2564 จะมีการมอบเอกสารรับเรื่องจากรัฐสภาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

กลุ่มผู้ประกอบการระบุว่า เป้าหมายที่ต้องการแก้ไข เนื่องจากกฎหมายตัวนี้ทำให้ผู้ผลิตรายย่อย ลำบากในการสื่อสารให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลส่วนประกอบของเบียร์คราฟท์ ซึ่งบางข้อมูลเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคควรต้องทราบ เช่น การใส่ส่วนผสมพิเศษบางชนิดลงไป อย่างเช่น ถั่ว หรือ พืชบางตัวหรือ ผลไม้บางชนิด ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงควรพูดได้เพื่อประกอบตัดสินใจในการบริโภค และช่วยให้ผู้บริโภคระมัดระวังตนเองจากอาการแพ้ส่วนประกอบบางชนิดด้วย

อีกมุมหนึ่งยังหมายถึงการที่ผู้ผลิตรายย่อยไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม ทำให้เบียร์รายย่อยที่ผลิตขึ้นมา ไม่มีช่องทางในการสื่อสารไปยังผู้บริโภคได้ การทำให้ประชาชนรับรู้แบรนด์ใหม่ๆ จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะกฎหมายตัวนี้กีดขวางอยู่ และที่สำคัญการห้ามโฆษณายังกินความหมายกว้าง ซึ่งให้อำนาจดุลยพินิจเจ้าหน้าที่ค่อนข้างมาก ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการตัดสิน และมีระบบที่เรียกว่าสินบนนำจับ โดยเงินค่าปรับจะถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ คนแจ้งซึ่งสามารถเป็นใครก็ได้ ส่วนที่แบ่งเข้ารัฐ นอกจากนี้ยังมีส่วนที่แบ่งให้เจ้าหน้าที่ด้วยเช่นกัน

ในมุมของผู้บริโภคกฎหมายตัวนี้ยังเป็นการห้ามประชาชนแสดงความคิดเห็น พูดถึงสิ่งที่ตนเองชอบ ซึ่งจริงๆ แล้วควรเป็นไปได้ตามสิทธิเสรีภาพของตนเองได้ ซึ่งกรณีนี้มีตัวอย่างจากผู้หญิงคนหนึ่งที่โพสต์ภาพ พร้อมบอกความรู้สึก ความชอบของตนเองที่มีต่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละตัวในเฟซบุ๊กส่วนตัว แต่มีคนแจ้งไปทางหน่วยงาน ทางสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอกลอฮอล์จึงมีหมายเรียกไปสอบสวนความผิดตามมาตรา 32 โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้ขึ้นมายังสำนักงานที่จังหวัดนนทบุรี เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจปรับ 1 ใน 3 เป็นจำนวนเงิน 17,000 บาท จากค่าปรับสูงสุด 50,000 บาท ทั้งที่ผู้หญิงคนนี้ไม่ได้ทำการค้าขายแต่อย่างใด แต่ตีความเป็นการโฆษณาร่วมไปด้วย

แม้ว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้จะให้เหตุผลว่าเป็นการป้องกันการเข้าถึงของนักดื่มหน้าใหม่ แต่ปัจจุบันก็มีกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีอยู่แล้ว แต่ถูกใช้อย่างจริงจังแต่รัฐกลับใช้กฎหมายตัวนี้แทนซึ่งให้อำนาจจับ ปรับกับประชาชนได้ตามดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท