กลุ่มหนุนอุทยานฯ แจ้งความปชช. #Saveบางกลอย 4 ราย-ร้องภาครัฐยกเลิก MOU

ประธานองค์กรอนาคตเพชรบุรีแจ้งความภาคประชาชน 4 รายที่เคลื่อนไหว #Saveบางกลอย ฐานยุยงให้บุกรุกป่าและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้านประธานคณะอนุกรรมการสมาคมอุทยานแห่งชาติ สาขาภาคเหนือ ร้องเรียนสำนักนายกรัฐมนตรีให้ตรวจสอบประชาชนบางกลอยว่าอาจเป็นผู้อพยพจากเมียนมา และยกเลิก MOU ที่ตัวแทนรัฐบาลลงนามร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ขณะที่ประชาชนบางกลอยกังวลความปลอดภัย หลัง จนท. สนธิกำลังเข้าพื้นที่บางกลอยบน

แจ้งความ 4 ภาคประชาชนเคลื่อนไหว #Saveบางกลอย

28 ก.พ. 2564 77 ข่าวเด็ด รายงานว่า เวลา 15.30 น. สุรพล นาคนคร ประธานองค์กรอนาคตเพชรบุรี นำหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศการบุกรุกแผ้วถางป่าต้นน้ำแก่งกระจาน และหลักฐานสำคัญอื่นๆ เข้าแจ้งความกับ พ.ต.ท.ปุณธพัฒน์ คุณอาสาสิริสกุล สารวัตรสอบสวน สภ.แก่งกระจาน เพื่อแจ้งความกล่าวโทษกับบุคคลทั้ง 4 ราย ประกอบด้วย ประยงค์ ดอกลำใย, สุรพงษ์ กองจันทึก, สุนี ไชยรส, และพชร คำชำนาญ ในข้อหาเป็นตัวการร่วม/สนับสนุนหรือยุยงให้มีการบุกรุกแผ้วถางป่าแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี  และข้อหานำความเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

หลักฐานที่สุรพล นำมาแจ้งความสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564  พบภาพและข่าวปรากฏทางโทรทัศน์และสื่อสังคมออนไลน์ว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ใช้เฮลิคอปเตอร์ บินตรวจสภาพป่า ห้วงวันที่ 23–24 ม.ค. 2564 ในบริเวณพื้นที่ป่าห้วยสามแพร่ง บางกลอยบน และใจแผ่นดิน ประกอบกับการปฏิบัติของชุดเดินลาดตระเวน  ผลการปฏิบัติพบว่ามีพื้นที่ถูกบุกรุกลักษณะเตียนโล่งมีร่องรอยการปลูกข้าว ปลูกพริก ยาสูบ ที่เก็บผลผลิตไปแล้ว เนื้อที่ 10 ไร่ พบเพิงพักร้าง 3 หลัง ไม่ปรากฏพบตัวผู้กระทำผิดอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุแต่อย่างใด พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้รวบรวม พยานหลักฐานเพื่อจัดทำบันทึกตรวจยึดพื้นที่ นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน

สุรพล เปิดเผยว่า ภายหลังทราบว่าเหตุกาณ์การบุกรุกยึดถือครอบครองป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานข้างต้น มีมูลเหตุจากการที่มีกลุ่มบุคคลได้ให้ข้อมูลกับชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอยว่า ประชาชนสามารถกลับไปอยู่ในพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดินได้ โดยอ้างว่าเป็นชุมชนดั้งเดิม และยังมีการบิดเบือนคำพิพากษาศาลปกครองกลาง-ในคดีหมายเลขดำที่ อส. 77/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อส. 4/2561 รวมทั้งอ้างมติคณะคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยระบุว่าสามารถเดินทางกลับไปยังที่อยู่อาศัยเดิมของชุมชนเมื่อใดก็ได้ ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนและยุยงให้ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว ขึ้นไปบุกรุกแผ้วถางป่าอีกทั้งยังเป็นการกระทำความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฐานเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จอีกด้วย จึงได้เข้าแจ้งความดังกล่าวที่ สภ.แก่งกระจาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ร้องสำนักนายกรัฐมนตรีตรวจสอบสัญชาติชาวบางกลอยและยกเลิก MOU

1 มี.ค. 2564 ข่าวเพชรบุรี 24ชั่วโมง รายงานว่า เวลา 09.40 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องเรียน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ก.พ.) วัฒนา วชิโรดม ประธานคณะอนุกรรมการสมาคมอุทยานแห่งชาติ สาขาภาคเหนือ และเลขาธิการเครือข่ายอนุรักษ์ป่าและน้ำ คนเพชรบุรีรักษ์ผืนแก่งกระจาน กลุ่มพิทักษ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกป่าต้นน้ำเพชรบุรี ใจกลางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ของกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย เพื่อปกป้องป่าแก่งกระจาน และดำเนินการตามกฎหมาย โดยห้ามมิให้บุคคลอื่นเข้าไปในบริเวณที่มีการบุกรุกและล่าสัตว์ป่า

วัฒนากล่าวว่า สิ่งที่เรียกร้องในวันนี้เพื่อขอให้นายกฯ ตรวจสอบ หากเป็นชาวบ้านบางกลอยล่างจริง ควรมีบัตรประชาชนและพูดภาษาไทยได้ ลูกหลานที่เกิดในประเทศควรได้รับการศึกษาขั้นต้น จึงมีข้อสังเกตว่ากลุ่มที่เข้าไปบุกรุกเปิดป่าใหม่ที่ป่าห้วยเต่าดำ น่าจะเป็นผู้อพยพจากเมียนมาโดยไม่ได้ขึ้นไปถึงบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ทั้งนี้ หากพบว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นผู้อพยพเข้ามาใหม่ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ใช้ประเทศเป็นการเคลื่อนย้ายชาวกะเหรี่ยงจากนอกประเทศเข้ามาชายแดนฝั่งไทย และกระทำการผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ขอให้รัฐบาลยกเลิกบันทึกข้อตกลง (MOU) ที่มีตัวแทนรัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ เมื่อวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล เพราะเนื้อหาข้อตกลงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเนื้อหาของบันทึกข้อตกลงอาจทำให้ชาวบ้านบางกลอยใช้เป็นใบเบิกทางว่ารัฐบาลอนุญาตให้กลุ่มที่อ้างว่าเป็นกลุ่มชาวบ้านบางกลอยกลับขึ้นไปทำกินและมีการบุกรุกป่าได้

ชาวบางกลอยกังวลความปลอดภัยหลัง จนท. สนธิกำลังเข้าพื้นที่บางกลอยบน

ด้านไทยโพสต์รายงานว่า อภิสิทธิ์ เจริญสุข ประชาชนชาวบางกลอยเปิดเผยว่า ช่วงสายวันนี้เจ้าหน้าที่ทางการหลายหน่วยงาน อาทิ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน กอ.รมน. รวมทั้งแพทย์และพยาบาล สนธิกำลังกันเดินทางขึ้นไปบ้านบางกลอยใจแผ่นดิน บริเวณจุดพักที่ประชาชนอพยพกลับขึ้นไปอยู่ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ประมาณ 5 เที่ยว จนกระทั่งประมาณ 13.30 น. จึงเดินทางกลับ

อภิสิทธิ์กล่าวว่า ญาติพี่น้องซึ่งยังอยู่ที่บ้านบางกลอยล่างรู้สึกกังวลใจในความปลอดภัยของชาวบ้านที่กลับขึ้นไปอยู่ด้านบน เพราะไม่แน่ใจว่าทำไมครั้งนี้ถึงมีการนำแพทย์และพยาบาลไปด้วย ชาวบ้านจึงต้องไปรอดูเหตารณ์อยู่ที่หน่วยพิทักษ์ กจ.10  ซึ่งเป็นลานจอดเฮลิคอปเตอร์ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ถอนกำลัง ที่สำคัญคือไม่เคยมีเจ้าหน้าที่แจ้งหรือประสานให้ชาวบ้านบางกลอยล่างได้รับทราบว่ากำลังปฎิบัติการอะไร ทำให้ต้องคาดการณ์กันไปต่างๆ นานา ที่สำคัญคือทุกคนต่างงุนงงที่ได้มีการนำแพทย์และพยาบาลขึ้นเพราะข้างบนไม่มีใครเจ็บป่วย

“ถ้าเป็นความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขก็ไม่น่าสนธิกำลังกันขนาดนี้ พวกเราต่างรู้สึกเป็นห่วงพะตีหน่อแอะกันมาก หากแกถูกบังคับให้ลง แกคงไม่ยอมไม่แน่ แกได้ยื่นคำขาดไว้แล้วจะไม่ลง ถ้าใครเอาแกลงมา แกจะผูกกคอตาย” อภิสิทธิ์ กล่าว

อภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่รู้พรุ่งนี้เจ้าหน้าที่จะมีปฎิบัติการหรือไม่ ชาวบ้านต่างกังวลใจมาก ยิ่งตอนนี้มีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เดินถือปืนลาดตระเวนในหมู่บ้านตั้งแต่เมื่อเช้า ขณะนี้เจ้าหน้าที่อุทยานฯ พยายามปิดกั้นเส้นทางที่ชาวบ้านใช้เดินขึ้นไปบางกลอยบน อย่างไรก็ตามใน 1-2 วันที่ผ่านมา ยังคงมีชาวบ้านเดินขึ้น-ลงอยู่เสมอ

ปลุ๊ จีบ้ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบางกลอย กล่าวว่าตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามคณะขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังบางกลอยบนในวันนี้ โดย กอ.รมน. และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ชวนไปคุยเพื่อเกลี้ยกล่อมชาวบ้านกลับลงมาโดยเฉพาะพะตีหน่อแอะ แต่ชาวบ้านยังยืนยันเช่นเดิมคือไม่ยอมลงมา ขณะเดียวกัน แพทย์และพยาบาลที่เดินทางไปด้วยได้ทำการตรวจร่างกายทุกคนเพราะเห็นว่าอยู่ในป่าหลายวันแล้ว แต่ก็ไม่พบว่ามีใครป่วยไข้อะไร  

“ที่เขาให้ผมขึ้นไปด้วยเพราะคงเห็นว่าเป็นคนหมู่บ้านบางกลอยแท้ๆ ผมเติบโตที่บ้านบางกลอยบนมาจนอายุ 20 ปี จึงได้ถูกอพยพลงมา ผมเห็นพวกเขาอยู่กันแล้วก็ทำให้นึกถึงสมัยผมอยู่ที่นั่น ดูแล้วก็น่าอยู่ เมื่อก่อนตอนผมเป็นเด็กอยู่อย่างนั้นก็สนุก ผมไม่แปลกใจว่าทำไมเขาถึงยืนยันว่าไม่กลับลงมา” ปลุ๊กล่าว

ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกล่าวว่า เฮลิคอปเตอร์ไปจอดในพื้นที่ไร่ซึ่งชาวบ้านเตรียมทำไร่หมุนเวียน พื้นที่ดังกล่าวยังพบต้นนุ่นขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านปลูกไว้ในอดีต เนื่องจากเคยเป็นไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีการให้ข้อมูลว่าชาวบางกลอยจำนวนไม่น้อยอพยพข้ามมาจากฝั่งพม่า ปลุ๊กล่าวว่า สิ่งเหล่านี้เคยได้ยินทางอุทยานฯ พูดมานานแล้ว ตนขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่คือลูกหลานของชาวบางกลอย

ด้านสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมและนักกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหายุยงให้ชาวบ้านบางกลอยบุกรุกป่าแก่งกระจานว่า เราทำตามหน้าที่ของเรา โดยตนทำงานเกี่ยวกับชาวเขามากว่า 40 ปี และที่นี่ก็เป็นพื้นที่ทำงานเก่าที่เคยสำรวจตั้งแต่ปี 2528 สมัยเป็นเจ้าหน้าที่วิจัยของกองสงเคราะห์ชาวเขา แต่หน้าที่ครั้งนี้ของเราอาจทำให้บางคนเสียผลประโยชน์ เมื่อมีชาวบ้านมาร้องเรียนว่าถูกเผาบ้าน ตนในฐานะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความในตอนนั้นจึงต้องช่วยเหลือ และทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ

“ความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายแตกต่างกันได้ แต่ทั้งหมดต้องอยู่บนความฐานความจริง ที่ผ่านมาชาวบ้านกลุ่มนี้ ได้รับการกล่าวหาว่าเป็นคนต่างด้าวตลอดมา แต่ผมยืนยันตลอดว่าเขาเกิดและอยู่หมู่บ้านบางกลอย แม้แต่กระทั่งนายบิลลี่ที่ถูกอุ้มไปก็เช่นกัน ผมเชื่อว่าสุดท้ายความจริงก็จะปรากฏ ใครที่กล่าวเท็จ ในที่สุดความจริงก็ปรากฎ” สุรพงษ์ กล่าว

ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมกล่าวว่า การที่เจ้าหน้าที่ทางการขึ้นไปเกลี้ยกล่อมชาวบ้านให้ลงมาเป็นครั้งที่ 3 ตามข้อตกลงที่ลงนามร่วมกันของรัฐมนตรีและตัวแทนชาวบ้านในครั้งก่อน ที่ให้ถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกมา และให้มีคณะทำงานเข้าไปหาข้อเท็จจริงเป็นเรื่องดีและถูกต้อง ดังนั้น ควรรับฟังผลจากคณะทำงานที่เข้าไปทำงานร่วมกันก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท