Skip to main content
sharethis

รายงานเสวนา 1 เดือนหลังรัฐประหารพม่า 'ชาญวิทย์' ชี้สถานการณ์ปัจจุบันแม้รุนแรงแต่ไม่สิ้นหวัง ระบุแตกต่างจากเมื่อ 33 ปีที่แล้ว ด้านผู้เชี่ยวชาญพิเศษเรื่องพม่าเห็นแย้ง มองคล้ายรัฐประหาร 31 สิ่งที่ต่างมีเพียงเทคโนโลยี 'ดุลยภาค' ชี้ 7 ฐานอำนาจที่แข็งแกร่งของ พล.อ.มินอ่องหล่าย 'ธเนศ' ประเมินการคว่ำบาตรของชาติตตะวันตกไม่ส่งผลกระทบต่อกองทัพพม่ามากนัก แต่ก็อยู่ร่วมกับประชาคมโลกลำบาก

1 มี.ค. 2564 วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาวิชาการ PBIC PINTO TALK 1 เดือนหลังรัฐประหารพม่า (One Month after Myanmar Coup d’etat) “พม่า จีน ไทย ใช่ไกลอื่น” โดยมีอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านพม่าร่วมพูดคุยในงานเสวนาครั้งนี้

งานเสวนาวิชาการ PBIC PINTO TALK 1 เดือนหลังรัฐประหารพม่า
(One Month after Myanmar Coup d’etat) "พม่า จีน ไทย ใช่ไกลอื่น"

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ศาสตราจารย์พิเศษผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองในพม่ายังคงมีหวัง เพราะกองทัพพม่า หรือทัตมาดอว์ไม่สามารถเข้าควบคุมอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จอย่างครั้งที่ผ่านๆ มา เนื่องจากประชาชนออกมาต่อต้านอย่างเป็นระบบด้วยวิธีอาระยะขัดขืน เช่น การกระท้วงหยุดงานของแรงงานในภาคเอกชน รวมถึงข้าราชการ ซึ่งทำให้การยึดอำนาจของกองทัพครั้งนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด

ชาญวิทย์ บอกว่า สถานการณ์การเมืองของพม่าในปัจจุบันแตกต่างจากเมื่อ 33 ปีที่แล้ว เพราะกองทัพพม่าทุกวันนี้ไม่หลงเหลืออุดมการณ์เช่นในอดีต มีเพียงผลประโยชน์เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับยุคนายพลเนวิน ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็นนักสังคมนิยม และเข้ามาด้วยอุดมการณ์ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับสถานการณ์การเมืองของจีน ที่ในปัจจุบัน ไม่มีคนสนใจแนวคิดของเหมาเจ๋อตุง ไม่มีคนพูดถึงขงจื๊อ มีเพียงแนวคิดทุนนิยมเท่านั้น

"สถานการณ์ในพม่านั้นรุนแรงแต่ไม่สิ้นหวัง ผมคิดว่าคณะรัฐประหารจะไม่ชนะ แต่ประชาชนก็จะไม่แพ้ เพราะความคิดของประชาชนพม่านั้นเปลี่ยนไปจากเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ดูจากสถานการณ์ที่ยืดเยื้อมากว่า 1 เดือน กองทัพยังคุมไม่ได้ เพราะวิธีการอารยะขัดขืนของคนพม่านั้นสร้างสรรค์และเป็นสัญลักษณ์ในระดับสากล รวมถึงกลุ่ม ส.ส. ที่ไม่ถูกจับกุมยังมีความพยายามตั้งกลุ่มรัฐบาลพลเรือนขึ้นมาให้ได้ ไหนจะกลุ่มชาติพันธุ์อีก ดังนั้นจึงมองว่ายังพอมีความหวัง

ถ้าประชาชนพม่าไม่แพ้ แรงกระเพื่อมต่อการต่อสู้ในเมืองไทยนั้นจะมีแน่ๆ อย่างกรณีเมื่อวานที่พันธมิตรชานมมาประท้วงพร้อมกัน น่าสนใจ แม้ดูเผินๆ ไม่น่าจะชนะ แต่ถ้าดูลึกๆ ใครทนคนนั้นชนะ ยิ่งอารยะขัดขืน ฝ่ายนั้นชนะ" ชาญวิทย์กล่าว

ชาญวิทย์ยกคำพูดของนักวิชาการต่างชาติคนหนึ่งซึ่งเคยกล่าวไว้ว่า 'กองทัพพม่าควบคุมการเมือง ส่วนกองทัพไทยเล่นการเมือง' ดังนั้นการเมืองของทั้ง 2 ประเทศจึงต้องมองในเชิงเปรียบเทียบอย่างเป็นระดับ (Spectrum of Comparison) เช่น การลุกฮือต้านรัฐประหารของประชาชนชาวพม่าใน พ.ศ.2531 ตรงกับปีสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งส่วนตัวเขามองว่า เมื่อประเมินสถานการณ์ที่ผ่านๆ มา อาจกล่าวได้ว่า "อะไรที่กำลังเกิดในพม่า อาจจะเร็วกว่าในเมืองไทยอีก ปัญหาของเค้าอาจจะไม่ยุ่งยากซับซ้อนเท่าของไทย"

สุภัตรา ภูมิประภาส นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญพิเศษเรื่องพม่า หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา กล่าวว่า ตนมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป โดยตนไม่คิดว่าการเมืองพม่าจะมีหวังตามที่ชาญวิทย์กล่าว เพราะจากประสบการณ์ของตน มองว่าการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมานั้นมีรูปแบบคล้ายกับการรัฐประหารใน พ.ศ.2531 สิ่งเดียวที่แตกต่างคือเทคโนโลยี คนทั่วโลกมีโอกาสได้เห็นภาพที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าในอดีต นอกจากนี้ สุภัตรายังมองว่ารัฐบาลทหารพม่าไม่สนใจโลกตะวันตก เพราะผลประโยชน์ของกองทัพพม่านั้นไม่ได้ยึดโยงกับชาติตะวันตก

"ทหารพม่าไม่มีเหตุผลที่จะถอย ไม่ต้องแคร์เลย แม้ว่าชาติตะวันตกจะบอยคอตเพราะไม่มีทรัพย์สมบัติอยู่ในชาติตะวันตก ดูจากกรณีโรฮิงญา ที่ไม่แคร์จริงๆ การบอยคอตของตะวันตกไม่ได้กระทบกับทัตมาดอว์เลย" สุภัตรากล่าว

ด้าน ดุลยภาค ปรีชารัชช รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่าการเมืองพม่าเป็นระบบไฮบริดที่สลับขั้วไปมาระหว่างระบอบประชาธิปไตยและเผด็จการ ซึ่งทหารต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญตามโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ

"แนวคิดประชาธิปไตยของประชาชนชาวพม่านั้นไม่แตกต่างจากประชาคมโลก แต่ประชาธิปไตยของทหารพม่า คือ ประชาธิปไตยแบบมีระเบียบวินัย ซึ่งมินอ่องหล่ายพูดชัดเจนแล้วว่าไม่ให้พรรคการเมืองเด่นอยู่คนเดียว ต้องยินยอมให้ทหารมีบทบาททางการเมืองด้วย แต่จุดเปลี่ยนคือปี 2558 และ 2563 ที่พรรค NLD ชนะมากขึ้นเรื่อยๆ ทหารจึงกลัวว่าถ้าปล่อยไปนานๆ จะส่งผลเสียต่อกองทัพ และการทำรัฐประหารในช่วงนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมเพราะเป็นช่วงสุญญากาศทางการเมือง ยังไม่มีการรับรอง ส.ส. และไม่ได้จัดตั้งตั้งคณะรัฐมนตรี ถ้าปล่อยให้พรรค NLD ตั้งรัฐบาลได้ กองทัพก็จะไม่มีบทบาทใดๆ เลยในอีก 5 ปีข้างหน้า" ดุลยภาคกล่าว

ดุลยภาคระบุว่า พล.อ.มินอ่องหล่าย สร้างฐานอำนาจที่แข็งแกร่งของตนไว้แล้ว 7 ฐานด้วยกัน คือ 1.จัดตั้งสภาบริหารปกครองรัฐ และมุขมนตรีระดับมลรัฐ ซึ่งมีทหารและพลเรือนที่ภักดีต่อกองทัพเข้าไปนั่งประจำตำแหน่ง 2.ควบลคุมสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจในการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน 3.ขยายอำนาจกองกำลังพม่าในระดับใหญ่และระดับย่อย รวมถึงตำรวจ โดยให้อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้บัญชาการทหารสุงสุดแต่เพียงผู้เดียว ทำให้สามารถสร้างรัฐทหารที่สมบูรณ์ก่อนเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย ซึ่งกองกำลังพม่าจะคอยควบไม่ให้ประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้าน 4.สร้างยุทธศาสตร์เชิงภูมิประเทศ เพื่อป้องกันการรุกรานจากต่างชาติด้วยการย้ายศูนย์กลางอำนาจทหารไปที่กรุงเนปิดอว์ และสร้างเมืองปราการสำคัญรายล้อม ซึ่งเป็นบทเรียนที่กองทัพพม่าเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต 5.สร้างมวลชนภาครัฐที่สนับสนุนกองทัพเพื่อมาต่อสู้กับประชาชนที่ต่อต้านกองทัพ 6.สร้างพันธมิตรกับกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีกองกำลังติดอาวุธ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้กลุ่มชาติพันธุ์ไปร่วมมือกับพรรค NLD 7.สร้างสัมพันธ์กับชุมชนนานาชาติและประชาคมโลก โดยเฉพาะจีนกับรัสเซีย ซึ่งพร้อมช่วยเหลือกองทัพพม่าในเวทีโลก เพราะทั้ง 2 ประเทศต้องพึ่งพาพม่า เช่น ข้อตกลงด้านการค้าและทรัพยากรธรรมชาติ

ดุลยภาคกล่าวเสริมว่าการกดดันกองทัพพม่าของชาติตะวันตกนั้นอาจไม่ส่งผลกระทบอะไรมากนัก เพราะกองทัพพม่าเล่นการเมืองด้วยกลยุทธทางภูมิศาสตร์ หากชาติใดกดดันมากๆ เป็นไปได้ว่ารัฐบาลทหารพม่าจะยกประโยชน์ที่ตนมีให้กับประเทศที่สนับสนุนตน

ส่วน ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตธรรมศาสตราภิชานแห่งวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า การที่สหรัฐอเมริกาประกาศคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่านั้นเป็นท่าทีปกติ และตอบได้ยากว่าสหรัฐฯ จะเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายในของพม่าหรือไม่ เพราะรัฐบาลของโจ ไบเดน กำลังยุ่งอยู่กับปัญหาภายในประเทศ อีกทั้งพม่าไม่ได้มีผลประโยชน์โดยตรงกับสหรัฐฯ ธเนศ จึงคิดว่าสหรัฐฯ ไม่น่าจะมีท่าทีที่รุนแรงไปมากกว่านี้ เว้นเสียแต่ว่าสหรัฐฯ ต้องการใช้พม่าเป็นยุทธศาสตร์เพื่อการคานอำนาจจีน จึงจะแสดงออกด้วยท่าทีที่รุนแรงมากขึ้น

ธเนศมองว่าการคว่ำบาตรของชาติตตะวันตกไม่ส่งผลกระทบต่อกองทัพพม่ามากนัก แต่ในยุคนี้ที่ประชาธิปไตยกำลังฟื้นฟู หากรัฐบาลมาด้วยอำนาจที่ไม่ชอบธรรมก็จะอยู่ร่วมกับประชาคมโลกได้ลำบากมากขึ้น

ภายหลังการเสวนา ผู้สื่อข่าวสอบถาม ดุลยภาค ว่าการเมืองพม่าจะเป็นอย่างไร หากนานาชาติรับรองสภาคู่ขนาน หรือ CRPH ซึ่ง ส.ส. ที่ชนะการเลือกตั้งบางส่วนพยายามจัดตั้งขึ้น โดยดุลยภาคตอบว่าขึ้นอยู่กับว่าประเทศใดคือผู้รับรอง

"ตอบยากครับ คือ ต้องถามว่า หนึ่ง ชาติไหนจะเข้ามารับรอง จะเป็นชาติตะวันตกหรือบางประเทศ ซึ่งมันก็มีบางประเทศที่รับรอง พล.อ.มินอ่องหล่ายอยู่แล้ว แต่บางประเทศก็ไม่รับรอง สอง คือ ใครจะเป็นหัว หมายถึงใครจะเป็นผู้นำของสภานี้ (CRPH) เพราะกองทัพพม่าไม่ปล่อยอองซานซูจีออกมา จับดำเนินคดีว่าความกันไป ซึ่งมันขาดหัว ขาด ผู้นำ ถึงแม้จะเป็นคนอื่นที่ขึ้นมานำ ถึงแม้ว่าจะไปช่วยเหลืออองซานซูจีหรือประธานาธิบดีทั่ถูกจับกุมแน่ๆ แต่จะได้รับการสนับสนุนหรือเปล่า ผมก็ไม่แน่ใตในข้อนี้เหมือนกัน แต่ถ้าเกิดต่างประเทศรับรองสภา CRPH ขึ้นมาจริงๆ ก็ต้องดูว่าใครมีอำนาจเหนือกว่าในการปกครองประเทศ อย่างตอนนี้มันก็คือ SAC หรือสภาบริหารของกองทัพ สื่อและกิจกรรมต่างๆ ถูกสภาตัวนี้ของมินอ่องหล่ายควบคุมไว้ทั้งหมด เพราะตอนนี้มินอ่องหล่ายคือรัฏฐาธิปัตย์ แต่ถ้าเกิดการรับรองขึ้นมาจริงๆ ก็คงจะมีอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารที่ขึ้นมาเคียงคู่สภา SAC ซึ่งผมมองว่ากองทัพควจะไม่ปล่อยให้เป็นอย่างนั้น" ดุลยภาคกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net