มองปัญหาลิขสิทธิ์-เศรษฐกิจ-สาธารณประโยชน์ ผ่านการ "ดูเถื่อน"

*หมายเหตุ : มีการใช้นามสมมติในการรายงานเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของแหล่งข่าว

  • การ “ดูเถื่อน” เป็นการ “ละเมิดลิขสิทธิ์” ที่พบได้ไม่น้อยในวงการงานสร้างสรรค์ สาเหตุเพราะไม่มีกำลังซื้อ กำแพงภาษา หรือไม่สามารถเข้าถึงผลงานเก่าๆ ได้ ฯลฯ
  • แต่ลิขสิทธิ์ก็มีปัญหาในตัวเอง โดยการเอื้อให้ทุนใหญ่แสวงหาผลประโยชน์จากทั้งผู้สร้างและผู้เสพ และเลือก “ปิดตาข้างหนึ่ง” เมื่อผลงานที่ละเมิดเพิ่มพื้นที่สื่อให้ผลงานต้นฉบับ
  • “การดูเถื่อนก็สำคัญกับการทำงานศิลปะ” เพราะถ้าไม่มีของเถื่อน อาชีพเหล่านี้จะกลายเป็นของคนมีเงินอย่างเดียว
  • รายได้จากงานศิลปะที่น้อยมากเมื่อเทียบกับแรงที่ลงไป สวัสดิการที่ไม่ครอบคลุม การกระจายรายได้ที่ไม่ทั่วถึง ทำให้คนทำงานสร้างสรรค์ต้องเผชิญความกลัวหลายอย่าง และศิลปะไม่เติบโต
  • การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในปัจจุบันไม่คำนึงถึง “สาธารณประโยชน์” หลักประกันในวัยชราของคนทำงานศิลปะคือสวัสดิการ ไม่ใช่การขยายอายุทรัพย์สินทางปัญญา เพราะคนที่เสียประโยชน์คือสาธารณชน 
 

การ “ดูเถื่อน” เช่น ดูหนังบนเว็บเถื่อน อ่านการ์ตูนแปลเถื่อน นับเป็นการ “ละเมิดลิขสิทธิ์” ที่พบได้ไม่น้อยทั้งวงการเพลง ภาพยนตร์ ซีรีส์ อนิเม หรือหนังสือการ์ตูน หรืองานสร้างสรรค์อื่นๆ แม้คนจำนวนมากจะเข้าใจว่าการสนับสนุนของผิดลิขสิทธิ์ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ปัจจัยเชิงเศรษฐกิจและวัฒนธรรมก็มีส่วนไม่น้อยกับการสนับสนุนผลงานผิดลิขสิทธิ์ และในความเป็นจริง กฎหมายลิขสิทธิ์  การกระจายรายได้ รัฐสวัสดิการ และประโยชน์ของสาธารณะ ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นเบื้องหลังการดูเถื่อนและวงการศิลปะทั้งสิ้น

 

ถ้าผิดกฎหมาย แล้วทำไมถึงยัง  “ดูเถื่อน” ?

“ในฐานะผู้บริโภค คิดว่าทุกๆ คนรวมถึงตัวเราต้องเคยมีประสบการณ์ดูเถื่อนหรือละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งแน่นอน แม้กระทั่งบุคคลที่มี privilege (อภิสิทธิ์ทางสังคม) เองก็เช่นกัน” ซัน (นามสมมติ) เล่าถึงประสบการณ์ในฐานะผู้ติดตามอนิเมและมังงะ ทั้งผลงานจากเจ้าของลิขสิทธิ์และงานที่ผลิตในแฟนดอม (Fandom)

เมื่อถามถึงสาเหตุการดูเถื่อน นอกเหนือจากความไม่เข้าใจในเบื้องต้นว่า พฤติกรรมดังกล่าวคือการ “ละเมิดลิขสิทธิ์” แล้ว ซันมองว่า การเข้าถึงของถูกลิขสิทธิ์ในปัจจุบันยังคงเป็นเรื่องยาก ทำให้ผู้บริโภคงานศิลปะจำนวนหนึ่งทั้งที่มีกำลังและไม่มีกำลังจ่ายไม่มีทางเลือกในการเสพงาน

ข้อโต้แย้งที่ว่า “ถ้าไม่มีทางเลือกก็ไม่ต้องดูสิ” ก็ไม่อาจอ้างได้เต็มที่นัก เพราะในความเป็นจริง มีอีกหลายเหตุปัจจัยที่ทำให้ผู้ชมไม่สามารถเข้าถึงงานอย่างถูกกฎหมายได้ ซันอธิบายเพิ่มว่า “ยกตัวอย่างเช่น การไม่มีกำลังพอซื้อ ทำให้ต้องเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่าของเถื่อนแทน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบออนไลน์หรือซื้อแผ่นก็ตาม หรือแม้กระทั่งเรื่องกำแพงภาษาที่ทำให้ต้องไปพึ่งช่องทางที่มีซับ (Subtitle) เถื่อน ปัญหานี้มีไปจนถึงการที่ไม่มีช่องทางที่สามารถเข้าถึงสิ่งที่ต้องการได้ เช่น หนังเก่าๆ หลายเรื่อง” 

 
 

ลิขสิทธิ์กับการปิดตาข้างเดียวของนายทุน

ซันเห็นว่า แม้กฎหมายลิขสิทธิ์จะคุ้มครองเจ้าของผลงานตัวจริงได้หากผู้สร้างงานเป็นฝ่ายลงทุนด้วยตนเอง แต่ในทางกลับกัน ช่องโหว่ของกฎหมายก็เอื้อให้ “นายทุน” แสวงหาผลประโยชน์จากทั้งผู้สร้างและผู้เสพงานศิลปะได้เช่นกัน 

การแสวงหาผลประโยชน์ในที่นี้ เกิดขึ้นกับงานประเภทแฟนฟิคชั่น แฟนอาร์ต โดจิน หรือคอสเพลย์ ฯลฯ  ผลงานเหล่านี้เรียกรวมๆ ว่า ผลงานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง (Derivative works) ซึ่งตามนิยามที่ปรากฏในอนุสัญญากรุงเบิร์น (Berne Convention) หมายถึง การแปล การดัดแปลง การเรียบเรียงผลงานดนตรีหรือการปรับเปลี่ยนผลงานวรรณกรรม หรืองานศิลปะอื่นๆ  

ถึงผลงานสร้างสรรค์ต่อเนื่องเหล่านี้จะแยกขาดจากต้นฉบับ และอาจเข้ารับความคุ้มครองทางลิขสิทธิ์ได้ แต่ก็ต้องผ่านการอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ต้นฉบับก่อน หากไม่ได้รับอนุญาตจะถือว่าผลงานนั้นเป็นสมบัติของสาธารณะ (Public domain)

และแม้จะมีหลัก การใช้โดยชอบธรรม (Fair use) เพื่อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ในผลงานดัดแปลง (Transformative works) ซึ่งหมายถึงผลงานที่นำงานต้นฉบับมาดัดแปลงขั้นสูง ขัดเกลา เพิ่มเติม หรือปรับเปลี่ยนจนเกิดความแตกต่างชัดเจน เช่น หนังสือ The Wind Done Gone (2001) โดย Alex Randall ที่ดัดแปลงมาจาก Gone with the Wind (1936) โดย Margaret Mitchell แต่ในกฎหมายลิขสิทธิ์ไทย แนวทางพิจารณาว่าการใช้ผลงานติดลิขสิทธิ์แบบใด ‘ชอบธรรม’ หรือ ‘ขัดต่อประโยชน์เจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร’ หรือไม่นั้น ก็ยังขาดความชัดเจนอยู่มาก

 

ดูกรณีศึกษาเพิ่มเติมจาก ‘มานีมีแชร์’ ที่ 

ถกลิขสิทธิ์ กรณีแปลงานโดยไม่ขออนุญาต และแปลงภาพในมานีมีแชร์ 

การคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานดัดแปลง และปัญหาเรื่องการใช้โดยชอบธรรมในสื่อออนไลน์

เหตุที่ทำให้ผลงานต่างๆ ในลักษณะแฟนเมดสามารถอยู่ได้ ซันมองว่าเป็นเพราะเจ้าของลิขสิทธิ์ที่เป็นทุนใหญ่เลือกจะ “ปิดตาข้างหนึ่ง” เพราะผลงานเหล่านั้นก็เป็นการสนับสนุนและเพิ่มพื้นที่สื่อให้ผลงานต้นฉบับ

“ตัวอย่างเช่นกรณีที่มีนักวาดคนหนึ่งผลิตงานประเภท ‘แฟนอาร์ต’ ขึ้นมา แต่จู่ๆ กลับโดน ‘เจ้าของลิขสิทธิ์’ ที่เป็นนายทุนนำงานนั้นไปต่อยอดผลิตเป็นสินค้าโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ในจุดนี้ตัวผู้เสพงานเองก็เป็นทั้งผู้สร้างงานด้วยเช่นกัน แต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะโต้แย้งในจุดนั้นเหตุด้วยสิ่งที่วาดมีต้นแบบมาจากงานที่ ‘เจ้าของลิขสิทธิ์’ ครอบครองอยู่ เป็นเหตุทำให้รู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมเท่าที่ควรเป็น” ซันกล่าว

กรณีคล้ายกันนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ รายงานจาก The Kingdom Insider ระบุว่า ร้านขายสินค้าแฮนด์เมดออนไลน์ Etsy ก็ถูกบริษัทแอนิเมชันยักษ์ใหญ่อย่างดิสนีย์เล่นงาน หลังผู้ขายจำนวนหนึ่งผลิตตุ๊กตา “เบบี้โยดา (Baby Yoda)” ออกขาย ก่อนจะถูกดิสนีย์ส่งคำเตือนให้ผู้ผลิตนำสินค้านั้นออกจากรายขาย และภายหลังดิสนีย์ก็ผลิตตุ๊กตาเบบี้โยดาและของเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกันออกจำหน่ายเสียเอง

“แน่นอนว่าถ้าเขาเสียประโยชน์จะไม่มีทางอยู่เฉยๆ อยู่แล้ว อีกอย่างเขาอาจจะนำไปต่อยอดได้ทีหลัง หรือมันผิดกฎหมายก็จริง แต่นายทุนไม่เอาเรื่องก็เพราะเขาใช้ประโยชน์จากมันได้เต็มที่ ถ้าตรงไหนเสียประโยชน์ก็ฟ้อง ตรงไหนได้ประโยชน์หรือได้เปรียบก็ไม่พลาดที่จะคว้าไว้ด้วย” ซันอธิบาย

 

ข้อเสนอในการสนับสนุนคนทำงานสร้างสรรค์

เพราะปัญหาด้านทุนทรัพย์ ทำให้นักเขียนน้อยคนเลือกจะพิมพ์งานออกมาเอง แต่ในกรณีที่เจ้าของผลงานอยู่ภายใต้สังกัดหรือมีคนกลางในการเจรจาธุรกิจ ซันเห็นว่าจะมีเป็นปัญหาเรื่องสัญญาแน่นอน การสนับสนุนมังงะจึงอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับผลงานอื่นๆ อย่างกู๊ดส์ (สินค้าอื่นๆ ที่ต่อยอดจากงานสร้างสรรค์ เช่น หุ่นฟิกเกอร์) ซึ่งจะมีบริษัทอื่นมาเป็นตัวหารส่วนแบ่งจากยอดขาย และการสนับสนุนผ่านโซเชียลมีเดียของผู้ผลิตก็ทำให้พวกเขามีชื่อเสียงมากขึ้น ช่วยกระตุ้นยอดขายและผลตอบแทนได้มากขึ้น

“ส่วนเรื่องรายได้คิดว่าถ้ากฎหมายยังไม่ปรับเปลี่ยนและนายทุนยังเอาเปรียบก็ไม่ง่ายเลย” ซันเสริม 

ในกรณีที่เจ้าของผลงานเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เอง ซันเสนอว่า “ส่วนถ้าเป็นสายผลิตที่มีการขายสินค้าตัวเองก็สนับสนุนโดยตรง อย่าไปสนับสนุนเถื่อนหรือกดราคางานของเขาจะดีที่สุด” 

ปัญหาที่พบในวงการคนทำงานศิลปะคงไม่พ้นเรื่องค่าจ้าง และค่านิยมที่ว่าศิลปะเป็น ‘งานสบาย’ สะอาด (Sa-aard) นักเขียนการ์ตูนอิสระ กล่าวว่า ตามเรทปกตินักเขียนจะได้รายได้ 10% จากราคาปก ซึ่งนับว่าเป็นค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลทางธุรกิจ แต่ถ้าตอบในมุมคนทำงาน เมื่อเทียบกับแรงที่ลงไปในงานก็ถือว่าน้อยมาก 

ส่วนรายได้ที่นำมาจุนเจือความฝันในการทำงานสร้างสรรค์ สะอาดเล่าว่า คนทำงานก็มีโมเดลดำรงชีวิตต่างกัน บางคนยอมลดรายจ่าย กินน้อยอยู่น้อยเพื่อความฝันนี้ก็มี หรือรับจ้างงานประจำ แม้จะไม่ใช่งานที่ชอบ เพื่อมาผลิตงานที่เป็นทรัพย์สินของตัวเองจริงๆ 

 
 

เสียงจากคนทำงานสร้างสรรค์ : “การดูเถื่อนมันก็สำคัญกับการทำงานศิลปะเหมือนกัน”

“อันนี้ตัดศีลธรรมออกไปนะ การที่ผลงานศิลปะดีๆ มันแพง ถ้าตอนเราเด็กๆ การ์ตูนญี่ปุ่นราคาเล่มละ 100-200 เหมือนทุกวันนี้ เราก็อาจจะไม่ได้เป็นนักเขียนการ์ตูนในตอนนี้ก็ได้” สะอาดเล่าว่า ที่เขากลายมาเป็นนักเขียนการ์ตูนได้ในทุกวันนี้เป็นเพราะในวัยเด็ก หนังสือเล่มหนึ่งราคาอยู่ที่ราวๆ 30 บาท อีกทั้งร้านเช่าการ์ตูนก็เอื้อให้เข้าถึงผลงานดีๆ จำวนวนมากในราคาเล่มละ 3-5 บาทเท่านั้น “การอ่าน การเสพงานดีๆ เยอะๆ ระดับร้อยเล่มพันเล่มมันสำคัญมาก”

สะอาดอธิบายเพิ่มเติมว่า ถ้าสมมติวันนี้ประเทศไทยตัดของเถื่อนออกไปหมด แล้วร้านหนังสือการ์ตูนมีแต่หนังสือราคาร้อยบาทขึ้นไป สำหรับเด็กที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยนักคงไม่มีแม้แต่ไอเดียที่จะมาเป็นนักเขียนการ์ตูนด้วยซ้ำ “ถ้าในยุคนี้ไม่มีของเถื่อน จินตนาการถึงอาชีพนักเขียนการ์ตูนมันก็จะกลายเป็นคนที่มีตังค์อย่างเดียว”

ราคาอุปกรณ์ศิลปะก็ไม่อาจเรียกว่าจับต้องได้เท่าไรนัก สะอาดพูดถึงการใช้ของเถื่อนและความเหลื่อมล้ำในวงการศิลปะว่า “สมมติว่าทุกวันนี้ไม่มีโฟโต้ช็อปเถื่อน เราว่าโอกาสของคนจนที่จะเข้าถึงโฟโต้ช็อปที่แพงแล้วสามารถทำงานศิลปะเลี้ยงชีพหรือเลี้ยงครอบครัวได้ มันยิ่งยากมหาศาลเข้าไปอีก ในแง่หนึ่งการที่ผลงานศิลปะหรือว่าเครื่องมือในการสร้างศิลปะมันแพง มันก็ยิ่งฉีกให้วงการนี้สร้างความเหลื่อมล้ำเข้าไปมากขึ้น”

แม้ไม่ได้อยากสนับสนุนการใช้ของเถื่อน เพราะท้ายสุดแล้วตัวผู้สร้างเองก็อาจอยู่ไม่ได้หากผู้บริโภคเลือกสนับสนุนสินค้าเถื่อนแทนเจ้าของผลงานโดยตรง แต่ปัญหาที่คนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดูเถื่อนยังได้รับความนิยมอยู่ สะอาดเห็นว่า “คนที่แปลเถื่อนแล้วได้ค่าโฆษณาจากการแปลเถื่อนมันผิดไหม มันก็ผิดอยู่แล้ว แต่เราว่ามายเซ็ตเรื่องลิขสิทธิ์ของคนทุกวันนี้ มันมีคนจำนวนมากที่ไปขอบคุณคนแปลเถื่อนที่ทำให้เข้าถึงผลงานเหล่านี้ด้วยราคาที่ฟรี แม้ว่าบางคนจะได้ประโยชน์จากการแปลเถื่อน”

 

เศรษฐกิจและรายได้คือปัจจัยที่มองไม่เห็นในการสร้างงานศิลปะ

ศิลปะและวัฒนธรรมการอ่านผูกโยงอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจและการกระจายรายได้มากกว่าที่สังคมพูดถึง สะอาดเล่าว่า ถ้าย้อนกลับไปราว 20 ปีที่แล้ว วงการหนังสือจะเห็นนักเขียนการ์ตูนไทยเยอะมาก มีเนื้อหาเกี่ยวกับต่างจังหวัดเยอะ อย่างการ์ตูนผีเล่มละบาทที่เป็นเรื่องราวของชาวบ้านสู้กับผีก็มีผู้เขียนและผู้อ่านทั่วทั้งประเทศ ขณะที่ปัจจุบัน เนื้อหาการ์ตูนที่เราเห็นกลับปรากฏ “ความเป็นเมือง” แทบจะทั้งหมด จนทำให้ความรู้สึกหรือเนื้อเรื่องไม่หลากหลายเท่าที่ควร

นอกจากเงินทุนที่สูงจะนำไปสู่คุณภาพของงานสร้างสรรค์ที่มากขึ้น การกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจจะนำไปสู่ความหลากหลายของเนื้อหาในงานเหล่านั้นด้วย สะอาดยกตัวอย่างวงการการ์ตูนในญี่ปุ่นว่า “ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ Localized (มีความเป็นท้องถิ่น) มากๆ ในแง่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ แง่เศรษฐกิจ หรือแง่การปกครอง เวลาเราเดินทางไปพื้นที่ท้องถิ่นต่างๆ นอกเหนือจากโตเกียว มันก็จะมีจุดขายจุดเด่นหรือความเจริญในแบบของพื้นที่นั้นๆ อยู่ สิ่งเหล่านี้พอมันไม่เกิดที่ไทย ไปกระจุกที่กรุงเทพมากๆ เลยทำให้โอกาสในการฝันถึงอาชีพนี้ โอกาสในการเผชิญความเป็นไปได้ในอาชีพนี้ ยิ่งยากกว่าในประเทศที่เศรษฐกิจมันกระจายไปมากๆ”

ส่วนคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับต่างจังหวัด สะอาดกล่าวว่า ถ้ารายได้ของประเทศไม่ถูกกระจาย วัฒนธรรมการอ่านการ์ตูนในพื้นที่ต่างจังหวัดก็จะยังไม่เกิดเท่ากรุงเทพฯ การ์ตูนที่พยายามแทรกเนื้อหาต่างจังหวัดก็มีโอกาสล้มเหลวได้ง่ายกว่าการ์ตูนที่เกี่ยวกับกรุงเทพฯ “เพราะเขาไม่ได้มีตังซื้อขนาดนั้น เพราะตลาดไม่ได้สนองต่อความเป็นท้องถิ่นขนาดนั้น มันก็เลยเหมือนงูกินหางประมาณนึง เพราะถ้าวัฒนธรรมการอ่านคอมมิกไม่เกิดในพื้นที่นั้น มันก็จะไม่ค่อยมีคอนเทนต์เกี่ยวกับพื้นที่นั้น”

 

สวัสดิการปัจจุบันทำให้คนทำงานสร้างสรรค์อยู่ยาก

“เราว่ามันเป็นประเด็นเรื่องความกลัว ความกังวลทุกอย่างมันเกิดจากความกลัวในอนาคตแหละ” สะอาดเล่าว่า สวัสดิการสำหรับคนทำงานสร้างสรรค์เป็นแบบเดียวกับคนทำงานฟรีแลนซ์ ซึ่งหมายถึงประกันตนเองและสิทธิ์บัตรทองเท่านั้น คุณภาพชีวิตที่น่าเป็นห่วงและสวัสดิการที่ไม่ครอบคลุมก็ทำให้ผู้ผลิตงานศิลปะหวาดกลัวต่อความไม่แน่นอนในชีวิตอย่างเลี่ยงไม่ได้ 

อย่างไรก็ตาม สวัสดิการเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงได้รับและรัฐมีหน้าที่จัดหาให้ ถ้าคุณภาพชีวิตของคนในประเทศดีขึ้น ความกลัวในอนาคตหายไป ศิลปะก็จะเติบโตขึ้นตามไปด้วย สะอาดกล่าวว่า “เรารู้สึกว่าอัตลักษณ์ศิลปินมันใกล้กับทุกอาชีพ ถ้าจะเรียกร้อง เราเรียกร้องรัฐสวัสดิการไปเลยดีกว่า คือให้เพื่อทุกคน การทำงานศิลปะโดยสุดท้ายแล้วก็ไม่ควรกระจุกอยู่ในศิลปินมันควรกระจายไปสู่คนทุกคน ศิลปะมันควรจะเป็นใครก็ได้ที่มีความคิดสร้างสรรค์และกล้าวาดรูป หรือว่าสามารถเล่าเรื่องและทำงานออกมา มันก็ควรจะเป็นรัฐสวัสดิการสำหรับเรา”

 

ไอเดียของลิขสิทธิ์จะเติบโตได้บนโครงสร้างพื้นฐานที่ดี

“ไอเดียที่จะสนใจ (Concern) เรื่องลิขสิทธิ์มันจะโตนะ คนจะให้ความสำคัญมากขึ้น แต่จะอยู่ในกลุ่มคนที่มีตังค์ซื้อ ถ้าประเทศมันยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่” สะอาดกล่าวว่า ถ้าปริมาณคนที่สามารถจับจ่ายใช้สอยกับศิลปะยังคงมีน้อย ไอเดียที่จะเคารพสิทธิ์ก็จะยังน้อย ยกเว้นแต่ว่ารัฐจะสามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือ “พื้นที่สาธารณะ” ที่ทำให้คนเข้าถึงผลงานศิลปะได้ แม้จะไม่ได้เป็นคนมีเงินมากมายก็ตาม

“เราว่ามันเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจ จริงๆ มันมีความใกล้กันอย่างหนึ่ง ประเทศที่ใส่ใจกับศิลปะ ประเทศที่ใส่ใจเรื่องลิขสิทธิ์ ก็จะเป็นประเทศที่มีตังค์พอ เหมือนกับว่าสามอย่างนี้มันจะมาควบคู่กัน” สะอาดกล่าว

 

ห้องสมุด : ไอเดียเพื่อสาธารณประโยชน์

สะอาดกล่าวว่า ทุกวันนี้วงการหนังสือมีราคาแพงมาก ในงานเสวนาหนังสือมักจะเป็นการคุยกันระหว่างคนที่มีเงินซื้อ และหากหนังสือหรืองานสร้างสรรค์สักชิ้นหนึ่งมีความสำคัญกับสาธารณะมาก ก็ควรเป็นของที่ทุกคนจับต้องได้ หรือมีราคาถูกลงได้มากกว่านี้ และข้อเสนอที่ดูเป็นไปได้มากที่สุดในเวลานี้คือ “ห้องสมุด” ที่มีประสิทธิภาพและคนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้ง่าย

สะอาดเล่าให้ฟังถึงห้องสมุดเพื่อสาธารณะว่า “ที่ต่างประเทศมันมี ตอนที่เราไปจนอยู่ที่ออสเตรเลีย เราได้อ่านหนังสือดีๆ เยอะมากๆ ทั้งๆ ที่เราเป็นแรงงงานต่างชาติ เราสามารถเข้าถึงการ์ตูนราคาเล่มละพันที่เราหาที่ประเทศไทยไม่ได้เลย เราคิดว่าอันนี้สำคัญที่จะให้ผลงานดีๆ สามารถเข้าถึงคนโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายหรือไม่แพงได้”

แม้ว่าทางเลือกนี้จะดูเป็นไปได้มากที่สุด แต่สะอาดก็เห็นว่าสังคมไทยยังคุยเรื่องห้องสมุดเพื่อสาธารณประโยชน์ไม่มากพอ “พอพูดถึงห้องสมุด มันก็จะมาพร้อมกับการพยายามจะสร้างวัฒนธรรมการอ่านด้วย ซึ่งมันก็ยังไม่ได้เกิด หรือยังไม่มีความพยายามจะทำให้มันเกิดชัดๆ ในประเทศไทย”

ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่งคือ “สาธารณประโยชน์” เอง ก็เป็นรากฐานของทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งหมายรวมถึงกฎหมายลิขสิทธิ์ด้วยเช่นกัน แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ดั้งเดิม ทำให้เกิดปัญหาการ “ละเมิด” ไปจนถึงการจ่าย “ค่าลิขสิทธิ์” ให้นายทุนผู้เป็นเจ้าของอย่างที่เห็นทุกวันนี้ 

 

ทรัพย์สินทางปัญญามาจากไหน? (ฉบับย่อยง่าย)

อธิป จิตต์ฤกษ์ นักวิชาการอิสระด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและศิลปวัฒนธรรม อธิบายว่า  “ทรัพย์สินทางปัญญา” คือสิ่งที่มีรากฐานมาจากอำนาจผูกขาดสิทธิในการทำกิจกรรมบางอย่างที่ออกโดยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราช (รัฐรวมศูนย์หลังยุคกลาง) เพื่อเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่มผูกขาดในการทำกิจกรรมบางอย่าง 

Statute of Anne (1710) ที่ถูกเรียกว่าเป็นกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลกนี้เองคือสิ่งที่อธิปอ้างถึง กฎหมายนี้คือการให้อำนาจควบคุมในการพิมพ์หนังสือกับนักเขียน โดยวิธีจัดการคือ สิทธิ์ผูกขาดในการพิมพ์จะตกเป็นของสมาคมพ่อค้า (Guild) จะมีแต่สมาชิกกิลด์เท่านั้นที่พิมพ์หนังสือได้ และตกลงกันเองว่าจะพิมพ์หนังสือเล่มใดได้บ้าง “ดั้งเดิมมันคือ ‘สิทธิผูกขาด’ ในการพิมพ์หนังสือ มันไม่ใช่ ‘ทรัพย์สิน’ แบบที่เราเข้าใจ จริงๆ คำภาษาอังกฤษมันก็ชัด (Copyright) มันคือสิทธิ์ในการก็อป” อธิปกล่าว


Statute of Anne (1710) กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกของโลก

ก่อนสมาคมพ่อค้าจะถือกำเนิดขึ้น วิธีจัดการการพิมพ์ของนักเขียนคือการยื่นขออนุญาตจากรัฐทีละเล่ม อธิปสรุปว่า “ต้นกำเนิดลิขสิทธิ์และการเซ็นเซอร์มันคือสิ่งเดียวกัน คืออำนาจการอนุญาตของรัฐที่มากับระบบเซ็นเซอร์ เกิดขึ้นเพระการปฏิรูปศาสนาหลังการปฏิรูปการพิพม์ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่รัฐต้อง ‘โมเดอร์เรตคอนเทนต์’ (จัดการเนื้อหา) และผลผลิตของมันคือระบบเซ็นเซอร์และต้นทางของกฎหมายลิขสิทธิ์”

หลังศตวรรษที่ 18 ระบบเซ็นเซอร์หมดไป แต่ธุรกิจหนังสือยังคงอยู่ นักเขียนที่คุ้นชินกับการผูกขาดจึงเสนอให้รัฐออกกฎหมายคุ้มครองนักเขียน แต่อธิปกล่าวว่า ในความเป็นจริงไม่มีนักเขียนคนใดถือลิขสิทธิ์ในงานเขียนตนเอง แต่สิทธิ์เหล่านี้ถูกขายต่อไปให้สำนักพิมพ์ เพื่อสำนักพิมพ์จะได้คงสิทธิผูกขาดในการพิมพ์หนังสือ

ต่อมาในศตวรรษที่ 19 คนทำงานศิลปะด้านอื่นๆ เห็นว่าการคุ้มครองเฉพาะหนังสือไม่เป็นธรรม จึงเริ่มเรียกร้องเข้ามาอยู่ในระบบลิขสิทธิ์ด้วย อธิปอธิบายว่า “สิทธิ์ในการผูกขาดที่ดั้งเดิมคุมแต่ ‘การก็อป’ ก็เริ่มขยาย เช่น สิทธิ์ในการดัดแปลงงาน ก็เกิดจากพวกปฏิมากรไม่พอใจที่คนจะเอารูปปั้นตัวเองไปทำรูปปั้นเล็กๆ ขาย เป็นต้น ซึ่งสิทธิ์มันก็ลามมาเรื่อยๆ จนเป็นอย่างทุกวันนี้”

 
 

ลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ : ใครได้-ใครเสีย?

อธิปกล่าวว่า โดยพื้นฐานแล้ว ลิขสิทธิ์ย่อมเอื้อประโยชน์ให้ “คนสร้างสรรค์” อย่างแน่นอน แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นเมื่อเราเอา “งานสร้างสรรค์” ของผู้อื่นไปใช้สร้างงานอีกทอด เช่น นักวาดการ์ตูนและนักออกแบบกราฟิกที่ต้องจ่ายเงินค่าเช่าโปรแกรมให้ Adobe หรือผู้สร้างภาพยนตร์จากหนังสือหรือการ์ตูนที่ต้องจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ให้กับนักเขียนหรือนักวาด

แม้จะดูเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อระบบลิขสิทธิ์โดยรวมถูกปรับเปลี่ยนแก้ไข ก็จะเกิดข้อถกเถียงขึ้น อธิปยกตัวอย่าง “เช่นที่รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนจะบอกว่าการคอสเพลย์คือการ ‘ละเมิดลิขสิทธิ์’ ซึ่งภาษาที่เป็นมิตรก็คือจะบอกว่าคอสเพลเยอร์ต้องแบ่งรายได้ให้เจ้าของการ์ตูน”

ในกรณีคอสเพลย์ The Matter รายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังหารือเพื่อแก้ไขความกำกวมของกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งอาจมีผลกับนักแต่งคอสเพลย์ที่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากการกิจกรรมคอสเพลย์ เช่น คนที่ได้ค่าจ้างจากการขายรูปหรือออกงาน แต่อธิปเห็นว่า กรณีนี้ยังมีข้อถกเถียงอยู่ “มันก้ำกึ่งมากว่าละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ กฎหมายมันพูดไม่ชัด (ฝั่งที่จะฟ้องคงบอกว่าพูดชัด) แต่รวมๆ มันเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ เลยไม่มีการจับให้มั่นคั้นให้ตายว่ากรณีนี้เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่มาตลอด วันดีคืนดีถ้าเจ้าของลิขสิทธิ์จะโวยขึ้นมาก็อย่างที่เห็น”

 

อุตสาหกรรมงานสร้างสรรค์ต้องปรับตัวต่อการ “ดูเถื่อน”

“ทุกวันนี้ไม่ใช่คำถามแล้ว เพราะในทางธุรกิจพิสูจน์แล้วว่าอุตสาหกรรมต้องปรับตัว” อธิปยกตัวอย่างอุตสาหกรรมดนตรีที่ต้องปรับตัวเข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่ซื้อแผ่นและไม่ได้โหลด Mp3 อย่างที่เคยเป็น แต่อาศัยการสตรีมเพลงทางแพลตฟอร์มออนไลน์ อุตสาหกรรมจึงผันตัวไปเก็บเงินจาก Youtube, Spotify, Tidal หรือช่องทางอื่นๆ แทน

อุตสาหกรรมการ์ตูนก็ไม่มีข้อยกเว้น อธิปให้เหตุผลว่า แท้จริงแล้วคนอ่านการ์ตูนเถื่อนไม่ได้อยากอ่านของเถื่อน เพียงแต่ของเถื่อนเป็นแหล่งเดียวที่หาได้เร็วที่สุด ผลของการปรับตัวนี้ เห็นได้จากเว็บไซต์ Manga Plus โดยสำนักพิมพ์ Shueisha ซึ่งมีเป้าหมายให้คนทั่วโลกได้อ่านการ์ตูนออกใหม่จำนวนหนึ่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ ส่วนเว็บแปลเถื่อนก็จะแปลเรื่องที่ไม่ดัง กล่าวคือ “ไม่แย่งตลาด” ของสำนักพิมพ์

 


MANGA Plus โดยสำนักพิมพ์ Shueisha ที่ให้บริการการ์ตูนถูกลิขสิทธิ์ฟรีบางส่วน

“ผลคือถ้าอ่านแบบ ‘ถูกลิขสิทธิ์’ นั้นฟรีและเร็ว มันก็ไม่มีใครอยากอ่าน ‘แปลเถื่อน’ ” อธิปสรุป

 

“ประโยชน์สาธารณะ” : จิตวิญญาณทางกฎหมายที่หายไปจากลิขสิทธิ์ในปัจจุบัน

อธิปเห็นว่า ลิขสิทธิ์ในปัจจุบันไม่ได้มีจิตวิญญาณทางกฎหมายที่คำนึงประโยชน์สาธารณะ อันเป็นรากฐานสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนแนวทางการปรับแก้ไขกฎหมายนั้น มองว่า “มันต้องกลับไปที่รากฐานของทรัพย์สินทางปัญญา คือมันเป็นเรื่องของการ ‘สร้างสมดุล’ ระหว่างการผูกขาดของเอกชนกับการใช้ประโยชน์ของสาธารณชน” 

ตัวอย่างข้อเสนอในการจัดการงานสร้างสรรค์อย่าง “สิทธิบัตร” ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง อธิปมองว่า การคุ้มครองแบบสิทธิบัตร รวมถึงเครื่องหมายการค้านั้น มีโครงสร้างที่ดีอยู่แล้ว หลักการสำคัญคือ ถ้าผู้สร้างต้องการคุ้มครองผลงานก็ต้องนำงานชิ้นนั้นไปขึ้นทะเบียนโดยมีค่าใช้จ่าย และต้องต่ออายุเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการสืบค้นว่าลิขสิทธิ์เหนืองานนั้นเป็นของใคร ต้องขออนุญาตจากใครหากต้องการนำงานไปใช้ต่อ และเมื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่อาจหาประโยชน์จากงานนั้นได้ ก็จะทำให้งานเป็นของสาธารณะได้อย่างต่อเนื่อง

ข้อเสนอในการปรับแก้กฎหมายนั้นมีหลายรูปแบบ แต่สังคมยังไม่มีการพูดคุยอย่างจริงจัง อธิปย้ำว่า สำหรับการคุ้มครองงานสร้างสรรค์ด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์แล้ว “ถ้าคิดถึง ‘ประโยชน์สาธารณชน’ เป็นฐาน มันไม่ได้ยากอะไรขนาดนั้น”

 

ข้อเสนอในการแก้ขอบเขตการคุ้มครองของลิขสิทธิ์

ทุกวันนี้ขอบเขตของกฎหมายลิขสิทธิ์กว้างมากจนไม่อาจคุ้มครองงานสร้างสรรค์ได้ทั่วถึง อธิปเสนอว่า “สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือขอบเขตการคุ้มครองที่แคบลง ยุติธรรมขึ้นกับสาธารณชน และเหมาะสมกับยุคสมัย ซึ่งการคุ้มครอบที่แคบลงจะทำให้คุ้มครองได้ทั่วถึงขึ้นด้วย บนฐานว่าเจ้าหน้าที่รัฐก็มีปริมาณเท่าเดิม”

ส่วนการ “สร้างสมดุล” ระหว่างสิทธิผูกขาดและสารณประโยชน์ อธิปเสนอแนวทางที่เป็นไปได้ 2 แนวทางด้วยกัน

ถ้ามองแบบ “ขวา”  ก็ต้องย้อนกลับไปเรื่องการปรับตัวของธุรกิจ ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีในการจับการละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ อธิปขยายความว่า “สุดท้ายมันต้องเกิดแพลตฟอร์มที่ ‘แทร็ค’ การใช้ฟรีของผู้บริโภค สร้างรายได้จากตรงนั้น และเอาเงินมาให้เจ้าของลิขสิทธิ์ได้ และนี่ก็ไม่ใช่เรื่องประหลาด แต่มันคือโมเดลธุรกิจของ YouTube และ Spotify”

“แต่ถ้ามองแบบ ‘ซ้าย’ ก็อาจต้องมองว่า ‘คลังทรัพย์สินทางปัญญาของทุกคน’ หรือ Public Domain มันต้องขยายมากกว่านี้” อธิปกล่าวว่าการปรับแก้ต้องทำผ่านตัวกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการลดขอบเขตความคุ้มครองหรือเพิ่มข้อยกเว้นในการละเมิดก็ตาม เพราะงานสร้างสรรค์ในปัจจุบัน เช่น วัฒนธรรมมีม (Meme) แม้โดยพื้นฐานจะดูเป็นการ “ละเมิดลิขสิทธิ์” เพราะเป็นการเอารูปผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ก็เป็นความสร้างสรรค์อย่างหนึ่งที่มีการเล่นล้อระหว่างกัน จนเกิดความหมายใหม่ขึ้นในบทสนทนา

 


ตัวอย่างวัฒนธรรมมีมที่นำไปสู่การเล่นล้อและสร้างความหมายใหม่

ความสัมพันธ์ระหว่างลิขสิทธิ์-โครงสร้างเศรษฐกิจ-สาธารณประโยชน์กับงานสร้างสรรค์

การคุ้มครองผลงานสร้างสรรค์ที่มีปัญหาอย่างทุกวันนี้ เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาเศรษฐกิจ การจัดการกับทรัพย์สินทางปัญญาอย่างผิดฝาผิดตัวและสวัสดิการแห่งรัฐที่ไม่สามารถรับรองความเสี่ยงให้คนทำงานศิลปะได้ นอกจากจะไม่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนทำงานศิลปะแล้ว คนในสังคมก็ไม่อาจรับประโยชน์จากงานสร้างสรรค์ได้เท่าที่ควรเป็นอีกด้วย

“สิ่งที่ผมอยากจะพูดก็คือ จริงๆ คนใช้ทรัพย์สินทางปัญญากันแบบ ‘ผิดวัตถุประสงค์’ มาก ทุกวันนี้หลายคนคิดว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างยาวนานคือหลักประกันในวัยชราของคนทำงานสร้างสรรค์ แต่ประเด็นคือถ้าคุณต้องการหลักประกันในวัยชรา คุณก็ต้องไปจัดการบำนาญสังคมของคนแก่ ไม่ใช่ขยายอายุทรัพย์สินทางปัญญาไปเรื่อย เพราะคนที่เสียคือสาธารณชน” อธิปสรุป

 

คำอธิบายศัพท์

แฟนดอม (Fandom) หมายถึง กลุ่มแฟนคลับของงานสร้างสรรค์หนึ่งๆ เช่น แฟนอนิเมะ มังงะ วรรณกรรม ฯลฯ

ลิขสิทธิ์ (Copyright) หมายถึง สิทธิแต่ผู้เดียวที่กฎหมายรับรองให้ผู้สร้างสรรค์กระทำการใดๆ เกี่ยวกับงานที่ตนได้ทำขึ้น

การใช้โดยชอบธรรม (Fair use) คือ หลักการที่อนุญาตให้การนำเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์อยู่แล้วไปใช้ในงานของผู้อื่นได้โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ บนเงื่อนไขบางประการ เช่น ใช้ในการวิจารณ์ การวิจัย การรายงานข่าว เป็นต้น

ผลงานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง (Derivative works)  หมายถึง ผลงานที่ผ่านการแปล การดัดแปลง การเรียบเรียงผลงานดนตรี การปรับเปลี่ยนผลงานวรรณกรรม หรืองานศิลปะอื่นๆ โดยยังคงองค์ประกอบเดิมของต้นฉบับไว้เป็นสำคัญ เช่น แฟนฟิคชัน (นิยายที่ดัดแปลงจากผลงานอื่นและเขียนโดยแฟนคลับ)

ผลงานดัดแปลง (Transformative works) หมายถึง ผลงานที่ถูกดัดแปลงขั้นสูง ขัดเกลา เพิ่มเติม หรือปรับเปลี่ยนจนเกิดความแตกต่างชัดเจน *แหล่งสืบค้นบางแห่งระบุว่าเป็นซับเซ็ตของผลงานสร้างสรรค์ต่อเนื่อง

สมบัติของสาธารณะ (Public domain) หมายถึง ผลงานหรือทรัพย์สินที่ไม่มีใครสามารถอ้างตัวเป็นเจ้าของได้ รวมถึงผลงานที่พ้นจากอายุการคุ้มครองของทรัพย์สินทางปัญญาด้วย

ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property) หมายถึง สิทธิทางกฎหมายที่ให้เจ้าของสิทธิมีเหนือผลงานอันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์

 

อ้างอิง

Copyright: Forever Less One Day โดย CGP Grey

Derivative work โดย Wikipedia

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2537 กรมทรัพย์สินทางปัญญา

อธิป จิตตฤกษ์: กฎหมายลิขสิทธิ์ที่บังคับใช้ ณ ปัจจุบัน โดย ประชาไท

Disney Goes After Etsy Small Shops โดย The Kingdom Insider

รัฐบาลญี่ปุ่นหารือเพื่อพิจารณาการร่างกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อเก็บค่าลิขสิทธิ์กับผู้ที่มีรายได้จากการแต่งคอสเพลย์ โดย The Matter

MANGA Plus โดย สำนักพิมพ์ Shueisha

 

สำหรับ ธนพร เกาะแก้ว ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้เป็นนิสิตภาควิชาวารสารสนเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 4 โดยระหว่างเขียนงานเป็นผู้ฝึกงานประจำกองบรรณาธิการประชาไท

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท