Skip to main content
sharethis

รายงานสัมภาษณ์ 'แสนแสบ' แอ็กเคานต์การเมืองที่มียอดผู้ติดตามในทวิตเตอร์พุ่งขึ้น 10 เท่าชั่วข้ามคืนเพราะเหตุอภิปรายนอกสภาของรังสิมันต์ โรม พร้อมประเมินข้อดี-ข้อเสียของทวิตเตอร์ รวมทั้งพลังของมันในรอบปีที่ผ่านมาและแนวโน้มในอนาคต

  • ผู้สรุปข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่อง "ป่ารอยต่อ" จนกลายเป็นแฮชแท็กดังบนทวิตเตอร์
  • การถกเรื่องการเมืองในทวิตเตอร์ทำให้เข้าใจว่าจริงๆ แล้วการเมืองไม่ได้อยู่แค่ในรัฐสภา
  • การพูดคุยในทวิตเตอร์ช่วยให้เรามองเฉพาะความคิดของคู่สนทนา ไม่ได้นำปัจจัยแวดล้อมมาตัดสินความคิดเหล่านั้น

'แสนแสบ (lll)' (@nefj94) เป็นหนึ่งในแอ็กเคานต์ดาวเด่นด้านการเมืองที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์พูดถึงมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา ผู้ริเริ่มทวีตสรุปข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภาเมื่อปีก่อน สู่แอ็กเคานต์การเมืองบนทวิตเตอร์ที่มีผู้ติดตามทะลุ 100,000 คน ประชาไทจึงชวนเจ้าของแอ็กเคานต์ 'แสนแสบ (lll)' มาพูดคุยเปิดมุมมองด้านการเมืองและตัวตนบนโลกทวิตเตอร์

จุดเริ่มต้นในการพูดเรื่องการเมืองผ่านทวิตเตอร์

แสนแสบ เผยว่า ตนเป็นผู้ใช้งานทวิตเตอร์มาหลายปี จึงคุ้นเคยกับการใช้แพลตฟอร์มนี้พูดคุยประเด็นต่างๆ เป็นทุนเดิม

"เล่นทวิตเตอร์เป็นโซเชียลหลักอยู่แล้ว และคอยติดตามข่าวสารการเมืองเรื่อยๆ ซึ่งพอเวลาที่มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจหรือน่าพูดถึง ก็จะเอามาทวีต แล้วก็พอเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่คนพูดถึงหรือถกเถียงกันเยอะ ก็ทำให้ได้เห็นความคิดที่หลากหลายของคนอื่นๆ ซึ่งตรงนี้เป็นความน่าสนใจ ที่ทำให้เราพูดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้เรื่อยๆ"

ข้อดี-ข้อเสียของทวิตเตอร์ เปรียบเทียบกับโซเชียลมีเดียอื่นๆ

แสนแสบ บอกว่า ทวิตเตอร์มีจุดเด่น คือ แฮชแท็ก กับ ฟังก์ชันรีทวีต ซึ่งเป็นเครื่องมือชั้นดีในการกระจายข้อมูลข่าวสาร และดึงดูดคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันให้มาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุย

"การที่เราทวีตข้อความแล้วติดแฮชแท็กเรื่องที่สนใจ มันเหมือนเป็นการจัดหมวดหมู่ว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องอะไร จึงสามารถรวมกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องนั้นๆ ให้เข้ามาคุยกันได้ ส่วนการรีทวีตทำให้ข่าวสารกระจายไปอย่างรวดเร็วมาก สมมติถ้ามีคนหนึ่งรีทวีตในเรื่องที่เขาสนใจ ทวีตนั้นก็จะไปแสดงให้ผู้ติดตามของคนๆ นั้นเห็นด้วย แม้ว่าผู้ติดตามของคนๆ นั้นจะไม่ได้สนใจหรือรู้เรื่องราวในแฮชแท็กเหล่านั้นมาก่อน แสดงผลให้เห็นต่อกันเป็นทอดๆ คือ ถ้าเราเห็นคนที่เราติดตามรีทวีตข้อความอะไรมา มันก็เป็นปกติใช่ไหมที่เราจะเข้าไปดูว่าเขากำลังพูดถึงเรื่องอะไรกันอยู่ (หัวเราะ)"

"อีกอย่าง ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถพูดคุยและถกเถียงกันได้ โดยไม่ต้องรู้จักกันมาก่อน ส่วนใหญ่แล้วคนที่เล่นทวิตเตอร์มักใช้รูปโปรไฟล์ที่เป็นอวตาร ไม่ระบุข้อมูลส่วนตัวเอาไว้มากมายว่าเป็นใคร มาจากไหน ทำอาชีพอะไร เขียนไว้ในไบโอ (ช่องอธิบายตนเองอย่างย่อที่หน้าโปรไฟล์) แค่ว่าเราสนใจเรื่องอะไรบ้าง ทำให้เวลาถกเถียงหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันสามารถทำได้อย่างตรงไปตรงมา"

"เวลาเราคุยกับคนในทวิตเตอร์ เราสนใจแค่ความคิดและเนื้อหาที่กำลังพูดอยู่ ไม่ได้มองไปถึงเรื่องอื่นๆ แล้วก็ด้วยความที่มันเป็นแพลตฟอร์มแห่งการอวตาร ไม่ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวเยอะ ทำให้เราสามารถพูดถึงประเด็นอ่อนไหวที่ไม่สามารถพูดออกไปในที่สาธารณะได้อย่างโจ่งแจ้ง เราสามารถนำประเด็นเหล่านั้นมาพูดคุยในทวิตเตอร์ได้โดยที่เรารู้สึกปลอดภัย เวลามีคนเข้ามาพูดคุยในประเด็นเดียวกันก็ไม่ทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ได้คิดว่าตัวเองเจ็บปวดหรืออึดอัดกับเรื่องเหล่านี้เพียงลำพัง ยังมีคนอื่นที่คิดแบบเดียวกับเรา ซึ่งตรงนี้คือเป็นจุดเด่นของแพลตฟอร์มทวิตเตอร์"

"ส่วนข้อเสีย เราคิดว่าเหมือนกับโซเชียลมีเดียอื่นๆ บางทีเราอาจจะไปเจอเนื้อหาบางอย่างหรือผู้ใช้บางคนที่ไม่เป็นมิตร ที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ปลอดภัย แต่ว่าก็สามารถจัดการได้ด้วยการบล็อก หรือซ่อนพวกเนื้อหาและบัญชีผู้ใช้งานเหล่านั้น"

#ป่ารอยต่อ สร้างชื่อ

แสนแสบ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ตนทวีตเรื่องการเมืองเป็นปกติ แต่ช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พ.ศ. 2563 มีเหตุการณ์ที่ทำให้คนในทวิตเตอร์รู้จักตนมากขึ้น จากที่เคยมีผู้ติดตามเพียง 800 กว่าคนก็เพิ่มมาเป็น 8,000 คนภายในคืนเดียว

"เรื่องแรกที่ทำให้คนรู้จัก คือ ช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อปี 2563 ที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกลอภิปรายเรื่องป่ารอยต่อ เราตามดูการอภิปรายทุกวัน จนมาถึงวันสุดท้าย ตอนนั้นหมดเวลาการอภิปรายในสภาไปก่อน แล้วประธานสภาไม่ยอมขยายเวลาการประชุม ทำให้ต้องปิดสภาไปโดยที่รังสิมันต์ไม่มีโอกาสได้อภิปรายในสภา จนต้องออกมาพูดนอกสภาแทน ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นก็ไม่ได้ถูกเผยแพร่ผ่านการถ่ายทอดสดในสื่อหลัก พอเป็นอย่างนั้น ก็จะไม่ค่อยมีคนพูดถึง แม้กระทั่งในทวิตเตอร์ เราไม่ค่อยเห็นคนพูดถึงเลยด้วยซ้ำ เราเลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนสนใจมากขึ้น ก็เลยนำเนื้อหาตรงนั้นมาทวีตแล้วติดแฮชแท็ก #ป่ารอยต่อ ให้คนอื่นๆ มาอ่านกัน ก็ไม่คิดเหมือนกันว่าคนจะสนใจเยอะและได้รับผลตอบรับมากมายขนาดนี้"

 

 

"พอเราได้ยอดการมีส่วนร่วม (engagement) จากแพลตฟอร์มไปแล้ว ก็จะมีคนเข้ามาพูดคุย เข้ามาขอบคุณที่ทำให้รับรู้ข้อมูลส่วนนี้ เพราะเขาก็ไม่มีเวลาตาม ไม่ได้ดูถ่ายทอดสด เราเลยคิดว่าถ้าใช้พื้นที่ในทวิตเตอร์พูดถึงประเด็นการเมืองหรือประเด็นปัญหาที่เราอยากให้คนอื่นสนใจหรือรับรู้ร่วมกัน ถ้าเป็นแบบนั้นก็คงจะดี เพราะเราก็มีผู้ติดตามมากขึ้นจากการทวีตเรื่องการเมือง"

"ปีที่แล้ว การเมืองไทยระอุมากเพราะเพิ่งผ่านเลือกตั้งมาครบ 1 ปี และเราไม่ได้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนานถึง 6 ปี ปัจจัยนี้คงทำให้คนยิ่งหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น จึงตามมาด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ เช่น การประท้วงลงถนน ซึ่งไม่มีมานานหลายปีมาก เพราะโดนห้ามในสมัย คสช. เราในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่ติดตามข่าวสารการเมืองอยู่ตลอด ก็คอยอัปเดตทุกอย่างในทวิตเตอร์เลยยิ่งทำให้คนรู้จักแอ็กเคานต์ของเรามากขึ้น"

ชีวิตหลังจากทวีตเรื่องการเมือง

"สิ่งที่เปลี่ยนไปในชีวิตประจำวันของเรา คือ เราเลิกเข้าร้านค้าของนายทุน (หัวเราะ) เลิกกิน หรือลดการซื้ออาหารจากร้านอาหารบางเจ้า แม้ว่าจะเคยชอบแค่ไหนก็ตาม หรือว่าเลิกใช้ของใช้บางยี่ห้อไปเลย นอกนั้นก็เหมือนเดิม"

"ส่วนชีวิตในโลกออนไลน์ เพราะมีคนติดตามเรามากขึ้น เราก็ต้องคิดให้รอบคอบก่อนจะทวีตข้อความอะไร เลือกใช้คำให้ชัดเจน ไม่ให้ถูกนำไปตีความแบบผิดๆ หรือบางเนื้อที่ค่อนข้างหนัก ก็ต้องติดคำเตือนก่อน เพราะมีคนเห็นเยอะแน่ๆ อีกอย่างหนึ่ง คือ เวลาที่เราไปร่วมกิจกรรมหรือเห็นข่าวอะไรก็ตาม เราต้องเช็กข้อมูลให้ดีก่อน เพราะแค่ 10 วินาทีที่กดทวีตข้อความไป คนก็รีทวีตต่อไปเป็น 200-300 ครั้งแล้ว ซึ่งข้อมูลมันถูกส่งต่อไปอย่างรวดเร็วมาก เราก็เคยพลาดอยู่บ่อยๆ นะ เลยต้องย้ำกับตัวเองเสมอว่าเราจะต้องคิดให้ดี เช็กข้อมูลให้เรียบร้อยก่อน ถึงจะเอามาลงให้คนเผยแพร่กันต่อ"

พลังของทวิตเตอร์ในรอบปีที่ผ่านมา

"ตอนแรกไม่คิดว่าทวิตเตอร์จะมีพลังจนสามารถขับเคลื่อนสังคมอะไรได้ขนาดนั้น (หัวเราะ) แต่ในรอบปีที่ผ่านมา มันทำให้เราคิดว่าทวิตเตอร์ คือ การเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ที่ทำให้เกิดการถกเถียงและยกระดับประเด็นเหล่านั้นให้ออกไปสู่โลกแห่งความเป็นจริง เช่น เรื่องข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก หรือ CPTPP มันเริ่มจากการพูดคุย การดันแฮชแท็กในทวิตเตอร์ จนเป็นประเด็นต่อในโซเชียลมีเดียอื่นๆ แล้วพอมีคนสนใจเรื่องนี้มากๆ สื่อโทรทัศน์ก็นำไปเสนอต่อให้คนรับรู้ในวงกว้าง และกลายเป็นเรื่องที่สังคมพูดถึงกันอย่างปกติ ซึ่งประชาชนหลายคนเห็นตรงกันว่าการเข้าร่วมโครงการมีข้อเสียมากกว่าข้อดี ทำให้รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษากฎเกณฑ์และทบทวนการเข้าร่วมโครงการนี้ใหม่อีกรอบ"

 

 

"นอกจากนี้ยังมีประเด็นทางสังคมอื่นๆ อย่างพวกวัฒนธรรมแย่ๆ เช่น การกดขี่ การกลั่นแกล้ง การล้อเลียน ประเด็นเหล่านี้ก็ถูกนำมาพูดถึงในสังคมทวิตเตอร์อย่างกว้างขวาง สมมติว่าในชีวิตเราโดนทักว่า 'ทำไมอ้วนจัง' 'ทำไมดำจัง' เราคงไม่อาจพูดสวนออกไปได้ในทันทีว่า 'การทักคนอื่นแบบนี้มันไม่มีมารยาท และไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ' แต่แค่เราบ่นลงในทวิตเตอร์ คนที่เห็นทวีตเราและคิดเหมือนกันกับเราก็นำไปแชร์ต่อหรือมาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ บางทีเราอาจไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ แต่เป็นผู้กระทำเสียเอง การได้เห็นความคิดในมุมมองใหม่ๆ ก็ทำให้เราตระหนักถึงความไม่เหมาะสมตรงนี้มากขึ้น และนำมุมมองเหล่านี้ไปคิดไตร่ตรองก่อนจะทำอะไรในชีวิตจริง"

 

 

แสนแสบ บอกว่า ตนให้คะแนนสถานการณ์พลังของทวิตเตอร์ในรอบปีที่ผ่านมา 9 เต็ม 10 คะแนน เพราะกระแสขับเคลื่อนสังคมของไทยก้าวหน้าไปอย่างก้าวกระโดด

"ปีที่แล้วพูดได้เลยว่าการที่คนออกไปชุมนุมเยอะๆ การแสดงออกถึงพลังประชาชนทั้งหลายมันมาจากทวิตเตอร์ทั้งนั้นเลย เพราะในชีวิตจริงเราก็ไม่เห็นใครพูดชวนกันโต้งๆ นะว่าจะออกไปม็อบ เห็นแต่ในทวิตเตอร์นี่แหละ (หัวเราะ) คือทุกคนชวนกันในทวิตเตอร์ แล้วออกไปเจอกันในโลกความเป็นจริง"

อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติม

คุยกับ ‘ซาแซงประชารัฐ’ แอคฯใหญ่ทวิตการเมืองสุดแซ่บ พ.ศ. นี้

แนวโน้มในอนาคตของการใช้ทวิตเตอร์พูดคุยเรื่องการเมืองหรือประเด็นทางสังคม

แสนแสบมองว่าทวิตเตอร์เปรียบเสมือนแพลตฟอร์มหลักที่ใช้พูดเรื่องประเด็นการเมืองและประเด็นทางสังคมต่างๆ ในปัจจุบัน และคาดว่าชุมชนผู้ใช้งานทวิตเตอร์จะขยายใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ แสนแสบยังมองว่าทวิตเตอร์จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่พาการเมืองในโลกออนไลน์ให้ออกไปสู่โลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้น

"ทวิตเตอร์มีแฮชแท็กที่ขึ้นเทรนด์ (อันดับยอดนิยม) เช่น แฮชแท็กการเมืองบางอัน มีคนทวีตข้อความเป็นหลักแสน หลักล้าน มีการถกเถียงและผลักดันกันอย่างเข้มข้น ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้เรารู้สึกว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ ประมาณว่า 'เห้ย เรื่องนี้ก็พูดได้หนิ' 'ไม่ใช่ว่าจะพูดถึงไม่ได้หนิ' เพราะเห็นว่าคนในโลกออนไลน์ก็คุยกันอย่างเป็นเหตุเป็นผล ก็เลยทำให้เรามีพลัง มีความกล้า ที่จะนำเรื่องเหล่านี้ออกไปพูดคุยต่อกับเพื่อนข้างนอกได้"

แสนแสบ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทวิตเตอร์ทำให้ตระหนักได้ว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องที่จำกัดอยู่แต่ในรัฐสภา แต่เป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นทุกย่างก้าวในชีวิต

"พอเรามองอะไรในโลกภายนอก เราก็จะตระหนักได้เลยว่ามันคือเรื่องการเมือง เช่น แต่ก่อนเวลาฝนตก ถนนพัง เราอาจจะคิดแค่ว่าก็เพราะฝนตกไง แต่จริงๆ ที่ถนนพังมันเกิดจากโครงสร้างการจัดการมันไม่ดีตั้งแต่แรก การจัดสรรงบประมาณที่ผิดพลาด แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็เป็นการเมือง ซึ่งมีผลพวงมาจากการดูแลของรัฐบาลทั้งสิ้น"

ในโลกทวิตเตอร์ยังมีดาวเด่นด้านการเมืองอีกหลายบัญชีที่พูดคุยเรื่องการเมืองอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา โปรดติดตามบทสัมภาษณ์คนดังในโลกทวิตเตอร์ฉบับต่อไปได้กับทีมข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net