ปานามาอนุญาตให้หญิงข้ามเพศประกวดเวที 'มิสยูนิเวิร์ส' ได้

ไม่กี่วันหลังจากศาลสหรัฐฯ ตัดสินอนุญาตให้กรรมการกีดกันหญิงข้ามเพศจากเป็นตัวแทนส่งเข้าประกวดนางงาม ประเทศปานามาที่อยู่รอยต่อระหว่างอเมริกากลางกับใต้ก็ประกาศอนุญาตให้หญิงข้ามเพศสามารถเข้าลงแข่งประกวดมิสยูนิเวิร์สได้ แต่ก็ยังมีกำแพงปิดกั้นในเรื่องอื่นๆ คือจะให้อนุญาตกับคนที่ผ่านกระบวนการรับรองเพศทางกฎหมายและทางการแพทย์แล้วเท่านั้น

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมาสื่อรายงานว่าผู้จัดงานประกวดความงามมิสยูนิเวิร์สอนุญาตให้เข้าร่วมการแข่งขันได้ในปีนี้ หลังจากที่ เมื่อ สัปดาห์ที่แล้วศาลกลางสหรัฐฯ ตัดสินให้คณะกรรมการงานประกวดกีดกันคนข้ามเพศออกจากพื้นที่การประกวดได้

องค์กรจัดการประกวดมิสยูนิเวิร์สของปานามาที่ชื่อ "ซินญอริตาปานามา" ประกาศว่าพวกเขาจะอนุญาตให้หญิงข้ามเพศที่ได้รับการรับรองทางกฎหมายและทางการแพทย์แล้วเท่านั้นในการเข้าประกวด โดยระบุว่าเพราะองค์กรของพวกเขา "การันตีว่าจะเป็นองค์กรที่มีการเปิดกว้างให้เข้าถึงจากทุกกลุ่มคน (inclusive) พวกเราจึงอนุมัติการตัดสินใจนี้ตามแนวทางกฎหมายที่เคร่งครัดและเป็นไปตามข้อตกลงของนานาชาติที่มีอยู่ก่อน"

องค์กรซินญอริตาปานามาเป็นองค์กรที่ส่งผู้เข้าร่วมแข่งขันมิสยูนิเวิร์สจากปานามาเข้าประกวดทุกปี พวกเขาบอกว่ามีการตัดสินใจในครั้งนี้หลังจากที่มี "การพูดคุยหารือเกิดขึ้นมาก" ในเรื่องนี้และมองว่ามันเป็นไปตามกฎขององค์กรประกวดมิสยูนิเวิร์ส

นั่นทำให้ปานามาเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ยอมรับให้หญิงข้ามเพศเข้าประกวดเวทีความงามระดับโลกได้ ประเทศอื่นๆ ก่อนหน้านี้ที่เคยสนับสนุนแบบเดียวกันคือ สเปน, แคนาดา, เนปาล

องค์กรประกวดมิสยูนิเวิร์สระดับสากลยกเลิกการสั่งห้ามคนข้ามเพศเข้าร่วมงานประกวดมาตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมาและมีหญิงข้ามเพศเข้าประกวดคนแรกในปี 2561 คือ แองเจลา พอนซ์

ในแง่ของสิทธิทางกฎหมายสำหรับ LGBTQ+ หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศในปานามาแล้ว 57 ถึงแม้จะมีการผ่านร่างกฎหมายรับรองการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันในสภาขั้นต้นแต่กำลังอยู่ในชั้นตอนพิจารณาในส่วนอื่นๆ ของภาครัฐอีกทั้งยังมีการต่อต้านจากกลุ่มศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกในประเทศ

ในแง่ของเพศสภาพอย่างการข้ามเพศ (Transgender) นั้นปานามาก็ยังไม่จัดว่าก้าวหน้า พวกเขามีกฎหมายคุ้มครองการห้ามการกีดกันเลือกปฏิบัติในการจ้างงานแต่กับเพศวิถี (เกย์, เลสเบียน, ไบ เป็นต้น) เท่านั้น แต่ไม่ได้คุ้มครองครอบคลุมถึงคนข้ามเพศ (Transgender) นอกจากนี้ยังไม่กฎหมายคุ้มครองการกีดกันเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ+ โดยทั่วไปในสังคม

นอกจากนี้แล้วในแง่ของการรับรองเพศสภาพทางกฎหมาย (Gender recognition) นั้น ถึงแม้ว่าปานามาจะมีการรับรองเพศสภาพของบุคคลข้ามเพศ แต่ก็ยังระบุให้ต้องมีการแปลงเพศด้วยการผ่าตัดก่อนถึงจะให้มีการเปลี่ยนเพศทางกฎหมายได้ ต่างจากประเทศที่ก้าวหน้ากว่าในเรื่องนี้อย่างไต้หวันที่คนข้ามเพศสามารถเปลี่ยนเพศได้โดยไม่ต้องผ่านการผ่าตัดก่อน

ทั้งนี้การประกาศยอมรับให้คนข้ามเพศให้เป็นตัวแทนประกวดนางงามได้ในปานามายังเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ศาลกลางสหรัฐฯ ตัดสินระงับการพิจารณาคำร้องคดีของหญิงข้ามเพศ แอนิตา โนเอลล์ กรีน ที่ยื่นเรื่องขอให้คณะกรรมการมิสยูนิเวิร์สของสหรัฐฯ อนุญาตให้หญิงข้ามเพศเข้าประกวดนางงามได้โดยระบุถึงเรื่องเกี่ยวกับการกีดกันเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศจากกรณีที่กรีนถูกถอดถอนออกจากการเข้าแข่งขันเพราะพบว่าไม่ใช่ผู้ที่ถูกระบุให้เป็นเพศหญิงตอนกำเนิด (assigned female at birth)

แต่ในวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา ผู้พิพากษา ไมเคิล ดับเบิลยู มอสแมน จากศาลแขวงแห่งโอเรกอนก็ตัดสินให้องค์กรที่จัดการประกวดนางนามสามารถกีดกันเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศได้ เรื่องนี้เป็นเหมือนตลกร้ายย้อนแย้งเพราะในวันเดียวกันนั้นเอง สภาผู้แทนฯ สหรัฐฯ เพิ่งโหวตผ่านร่างกฎหมายความเสมอภาคที่เป็นกฎหมายสิทธิพลเมืองชิ้นสำคัญที่จะให้การคุ้มครองคนข้ามเพศไม่ให้ถูกกีดกันเลือกปฏิบัติในชีวิตประจำวันด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเช่าที่พักอาศัย, การเข้าถึงบริการสุขภาพ, การศึกษา และการเดินทางขนส่งมวลชน

นอกจากเรื่องการปล่อยให้กีดกันเลือกปฏิบัติแล้ว ศาลกลางสหรัฐฯ ยังละเมิดสิทธิคนข้ามเพศด้วยการเรียกเพศผิด (misgender) กรีน ซ้ำๆ แทนที่จะเรียกกรีนว่าเป็นผู้หญิงหรือหญิงข้ามเพศ แต่กลับใช้วลีเช่น "ผู้ชายทางชีวภาพที่ระบุตนเป็นผู้หญิง" และอ้างสาเหตุที่ตัดสินเช่นนี้ว่าเพราะไม่อยากให้เป็นการลดทอน "การส่งสารในเชิงเสริมพลังให้กับผู้หญิงทางชีวภาพ"

เรื่องนี้นอกจากจะทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ตามมาในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศตามโซเชียมีเดียแล้วมันก็ยังไม่ทำให้กรีนย่อท้อ เธอบอกว่าเธอรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ต่อสู้เพื่อเปิดให้คนเห็นการต่อสู้ดิ้นรนที่หญิงข้ามเพศต้องเผชิญ "คดีนี้ทำให้คนเกิดความตระหนักรู้ในประเด็นที่คนจำนวนมากยังไม่เคยรู้มาก่อน" กรีนกล่าว

"แล้วประเด็นแบบนี้เองก็เป็นเรื่องการกีดกันเลือกปฏิบัติต่อคนข้ามเพศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังคงเกิดขึ้นทั้งในภาคส่วนของรัฐและเอกชน แม้กระทั่งในวงการประกวดความงาม" กรีนกล่าว

เรียบเรียงจาก

  • Panama allows transgender women to compete in beauty pageant, DW, 03-03-2021 https://www.dw.com/en/panama-allows-transgender-women-to-compete-in-beauty-pageant/a-56752761
  • Court Rules Pageant Has Right to Ban Trans Women From Competing, them., 26-02-2021 https://www.them.us/story/miss-usa-pageant-transgender-discrimination-ruling
  • Courts finally move on with same-sex marriage cases in Panama, Gay Star News, 06-10-2020 https://www.gaystarnews.com/article/courts-finally-move-on-with-same-sex-marriage-cases-in-panama/
  • LGBT Rights in Panama, Equaldex, เข้าดูเมื่อ 3 มี.ค. 2564 https://www.equaldex.com/region/panama
  • LGBT rights in Panama, Wikipedia, เข้าดูเมื่อ 3 มี.ค. 2564 https://en.wikipedia.org/wiki/LGBT_rights_in_Panama

 

 

Tags : ข่าว, ต่างประเทศ, วัฒนธรรม, สิทธิมนุษยชน, ความหลากหลายทางเพศ, LGBTQ+, การกีดกัน, การเลือกปฏิบัติ, นางงามจักรวาล, มิสยูนิเวิร์ส, การประกวดความงาม, คนข้ามเพศ, แอนิตา โนเอลล์ กรีน, สหรัฐอเมริกา, ปานามา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท