ใบตองแห้ง: ส.ว.จุดชนวนคว่ำ รธน.

รัฐมนตรีว่าง 3 ตำแหน่ง ประยุทธ์ให้รอถึงปลายมีนาต้นเมษา ฟังก็รู้ว่าไม่ลงตัว เพราะถ้าจัดการง่าย ประชุมพรรคพลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ ส่งชื่อ ไม่เกิน 10 วันก็ทูลเกล้าฯ ได้

เดือนมีนาไม่ใช่แค่สถานการณ์ชุมนุมกลับมาร้อนแรง ยังมีเงื่อนไขจุดไฟ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องผ่าน 2 ด่าน ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้เลือก สสร.มาแก้ทั้งฉบับหรือไม่ และ 250 ส.ว.จะยอมให้ร่างแก้ไขมาตรา 256 ผ่านรัฐสภาวาระ 3 หรือไม่

เพราะวาระ 3 ต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คนเป็นอย่างน้อย แต่ในการพิจารณาวาระ 2 ส.ว.กลับแท็กทีมเรียกร้องให้กำหนดด้วยว่า 38 มาตราเกี่ยวกับ “พระราชอำนาจ” ห้ามแก้ แต่ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านรัฐบาลไม่เห็นด้วย ฝ่าย ส.ว.จึงแพ้ 349-200 แต่ถือไพ่ตายคือโหวตให้ไม่ถึง 84 คนก็ไม่ผ่าน

อะไรคือ “พระราชอำนาจ” ทั้งที่ร่างของกรรมาธิการก็ห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 อยู่แล้ว พวก ส.ว.อ้างว่าเป็นมาตราที่เขียนถึงอำนาจพระมหากษัตริย์ ซึ่งอันที่จริงคืออำนาจลงพระปรมาภิไธย โปรดเกล้าฯ ตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือประธานรัฐสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และเป็นผู้รับผิดชอบตามหลัก The King Can Do No Wrong

มาตราเหล่านี้บางส่วนไม่ต้องแก้ เช่น “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร…” รัฐธรรมนูญก็เขียนเช่นนี้ทุกฉบับ แต่ผู้รับผิดชอบในการยุบสภาคือนายกฯ ผู้รับสนองฯ

บางส่วนก็แก้ไขมาทุกฉบับ ในองค์ประกอบอื่น เช่น มาตรา 200 “ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนเก้าคนที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคล ดังต่อไปนี้….” (5 ข้อ) คนมีสติย่อมเข้าใจว่า สสร.อาจแก้ไขจำนวนและที่มาของตุลาการ แต่ไม่มีใครแก้ไขคำว่า “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง” เพราะตุลาการต้องได้รับโปรดเกล้าฯ

ทำไม 250 ส.ว.ยังดันทุรังบอกว่าห้ามแก้ทั้ง 38 มาตรา ทั้งที่รู้แก่ใจ เพื่ออะไร เห็นชัด ๆ ว่าตีรวน

น่าสังเกตว่า 38 มาตรายังอ้างรวมถึงบทเฉพาะกาล มาตรา 269 “ในวาระเริ่มแรก ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยห้าสิบคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ…” ฮั่นแน่ ไม่ยอมให้ยกเลิก 250 ส.ว. โดยตอนอภิปรายบางคนยังพ่วงห้ามแก้มาตรา 272 อำนาจเลือกนายกฯ

ท่าที ส.ว. มองลึกลงไปก็ประหลาด เพราะเหมือนร่วมมือมาดี ๆ กลับอ้างปกป้อง “พระราชอำนาจ” ล้มโต๊ะในขั้นตอนสุดท้าย โดย ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่รู้เรื่อง ไม่ยักนัดแนะกัน

ไม่แยแสสนใจว่าจะจุดไฟสร้างเงื่อนไขให้ม็อบ ทั้งที่การแก้ไขมาตรา 256 เลือก สสร.มายกร่างใหม่ เอาเข้าจริงก็เป็นปาหี่ ถ่วงเวลาให้รัฐบาลประยุทธ์อยู่ได้อีกหลายปี

ส.ว.เหล่านี้อย่าง หยุย วัลลภ แสดงท่าทีก่อนศาลรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งที่ปกติจะหวังรอให้ศาลรัฐธรรมนูญห้ามแก้

น่าสังเกตว่าท่าทีของฝ่ายอำนาจ กำลังดันทุรังใช้ไม้แข็ง อย่างไม่แยแสความรู้สึกคนเห็นต่าง คงคิดว่า “ม็อบแพ้” จึงระดมตั้งข้อหา ไม่ให้ประกัน ตำรวจก็ใช้ความรุนแรงอย่างไม่แคร์กล้อง ทั้งรุมกระทืบม็อบมือเปล่า ใช้แก๊สน้ำตา ใช้กระสุนยาง

ในทางการเมืองที่ความเชื่อมั่นตกต่ำ หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ การปรับ ครม.ก็ระส่ำทึ้งเก้าอี้กันวุ่นวาย แทนที่จะปล่อยให้แก้รัฐธรรมนูญซื้อเวลา 250 ส.ว.กลับจะคว่ำ?

เศรษฐกิจก็ยังไม่ฟื้น มีแต่ตีปี๊บสร้างภาพ เหมือนฉีดวัคซีนกะปริบกะปรอย แต่ของจริงยังไม่มา ครม.เพิ่งอนุมัติงบซื้ออีก 35 ล้านโดส

ในภาวะอย่างนี้ อำนาจที่ไม่แยแสใครยังดันทุรัง คงคิดว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ม็อบออกมา จะปราบใหญ่ เหมือนปี 53 แล้วจะอยู่ได้สบาย

 

 

ที่มา: ข่าวหุ้นธุรกิจ https://www.kaohoon.com/content/427723

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท