Skip to main content
sharethis

นักปกป้องสิทธิฯ พิธีกรชื่อดัง และนักวิชาการ ยื่นศาลปกครองฟ้องกองทัพบก ทำปฏิบัติการไอโอ โดยมิชอบ ชี้ ทำเป็นกระบวนการ และมีการจัดหมวดหมู่ ใครชอบ ใครเกลียดรัฐบาลชัดเจน ระบุใครเห็นต่างก็จะถูกหยามเหยียดทำให้ด้อยค่า พร้อมเผยเตรียมยื่นเรื่องต่อเฟซบุ๊ก - ยูเอ็นต่อ เพราะผิดหลักสากล ถือเป็นโฆษณาชวนเชื่อ ใช้เงินภาษีประชาชน ใช้บุคลากรของรัฐ มาจัดการประชาชนที่มีความเห็นต่างด้วยความไม่ชอบธรรม

4 มี.ค.2564 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ (4 มี.ค.64) เวลา 13.00 น.  ที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนซี่งประกอบด้วย  สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมาย หรือไอลอว์ (iLaw) พร้อมด้วยวิญญู วงศ์สุรวัฒน์ พิธีกรผู้จัดรายการ และสัญญา เอียดจงดี ทนายความ ได้เดินทางเข้ายื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง กรณีกองทัพบกกำลังทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO)  กับ สฤณี, ยิ่งชีพและวิญญู

 

ทั้งนี้จากเอกสารที่ถูกเผยแพร่พบบัญชีทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของบุคคลทั้งสาม เป็นเป้าหมายของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารด้วย รายงานของทวิตเตอร์ปรากฏการตรวจพบปฏิบัติการต่อบัญชีทวิตเตอร์ของทั้งสามคนหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น วันที่ 21 ก.พ. 2563 มีข้อความไปหา @johnwinyu ว่า "กูโคตรจะเกลียดมึงเลย เป็นดาราเสือกมายุ่งเรื่องการเมือง ไอ้ขยะ"

ตามที่มีหลักฐานปรากฏ ทั้งจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลสองครั้งที่ผ่านมา รายงานเปิดเผยเครือข่ายข้อมูลข่าวสารที่เชื่อมโยงกับรัฐของทวิตเตอร์ รายงานของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รวมทั้งข้อมูลที่ปรากฏบนสื่อมวลชน และเอกสารการปฏิบัติงานภายในที่ถูกนำมาเผยแพร่ จึงชัดเจนแล้วว่า กองทัพบกกำลังทำปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) ต่อประชาชนเพื่อหวังผลทางการเมืองภายในประเทศ

ข้อมูลที่เปิดเผยระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เป็นเอกสารของทางราชการ ที่ออกโดยกองทัพภาคที่ 2 เพื่อมอบหมายการปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติการ ด้านข้อมูลจากรายงานที่เปิดเผยโดยทวิตเตอร์ ก็แสดงให้เห็นว่า บัญชีทวิตเตอร์ที่เชื่อมโยงกับกองทัพบก ถูกใช้เพื่อ "อวย" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลชุดนี้อย่างโจ่งแจ้ง และโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างหนัก ขณะที่กลุ่มภาคประชาสังคม นักศึกษา นักกิจกรรม นักวิชาการ และสื่อมวลชนก็ตกเป็นเป้าหมายของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของกองทัพบกด้วยเช่นกัน

ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เพียงการ "ประชาสัมพันธ์งานของกองทัพบก" ตามที่กองทัพบกเคยชี้แจงต่อสาธารณะเท่านั้น แต่มีเนื้อหาและลักษณะที่ "หวังผลทางการเมือง" โดยใช้ข้อความที่ "เป็นบวก" กับนายกรัฐมนตรีที่สังกัดพรรคพลังประชารัฐ และ "เป็นลบ" ต่อพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งกลุ่มภาคประชาสังคม นักศึกษา นักกิจกรรม นักวิชาการ และสื่อมวลชน ที่แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตแต่ไม่เป็นบวกกับฝ่ายการเมืองที่ถืออำนาจอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณและทรัพยากรของรัฐ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ชอบธรรม

สฤณี ยิ่งชีพ และวิญญู จึงรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของกองทัพ และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคม และจะเป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยยื่นฟ้องกองทัพบก เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้บัญชาการกองทัพบก เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพื่อขอให้ศาลปกครองสั่งยุติปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องทั้งหมดนี้ทันที

ในขณะเดียวกันผู้ฟ้องคดีทั้งสามคนยังได้ยื่นจดหมายถึงผู้ให้บริการเฟซบุ๊ก เพื่อให้ตรวจสอบการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารโดยรัฐ เพื่อสร้างความรับรู้ของประชาชนที่ไม่เป็นความจริง และดำเนินการต่อการกระทำที่ละเมิดกฎของเฟซบุ๊ก รวมทั้งยื่นหนังสือและข้อมูลหลักฐานต่อผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (UN Special Rapporteur on Freedom of Expression) เพื่อให้ตรวจสอบปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่กองทัพบกไทยกระทำต่อประชาชนไปพร้อมกัน

นักวิชาการระบุกองทัพตอบโต้กับประชาชนด้วย IO เป็นสิ่งไม่ถูกต้องผิดหลักสากลและเป็นโฆษณาชวนเชื่อ

ผู้จัดการ iLaw กล่าวว่า  ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านในรัฐสภามีการเปิดเผยคำสั่งทางราชการ โดยระบุว่า ทวิตเตอร์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นเป้าหมายของปฏิบัติการ เนื่องจากมีทัศนคติเป็นลบกับรัฐบาล จึงต้องตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐเอาเงินภาษีของประชาชนมาทำร้ายเรา ถือว่าเป็นปฏิบัติการที่ไม่ถูกต้อง เราไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม และเราไม่ใช่ศัตรูของประเทศชาติ

“ในประเทศสหรัฐอเมริกา ห้ามทำปฏิบัติการแบบนี้กับพลเมือง ทั้งในและต่างประเทศ เว้นแต่ในภาวะสงครามเท่านั้น การที่กองทัพตอบโต้กับประชาชนแบบนี้ ถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพ ยืนยันว่า กรณีมีความเห็นต่าง ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ในโลกออนไลน์เป็นเรื่องธรรมดา ที่จะมีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล การที่กองทัพมองคนเห็นต่างเป็นภัยคุกคาม ผ่านกระบวนการ ไอโอ ถือเป็นการบิดเบือนเนื้อหา ชี้นำให้เกิดความเกลียดชัง”

วิญญู กล่าวว่า สำหรับผลกระทบที่ได้รับที่ผ่านมาในสื่อออนไลน์ มีกลุ่มคนเข้ามาคอมเมนท์ในลักษณะการด้อยค่าทั้งตนและครอบครัวเยอะมาก ประกอบกับมีข้อมูลการอภิปรายไม่ไว้วางใจล่าสุด จึงทำให้ทราบข้อมูลว่า  เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้เงินภาษีของประชาชนมาโจมตีเรา เพียงเพราะมีความเห็นต่างจากรัฐบาล เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจเป็นอย่างมากที่ไม่ควรเกิดขึ้น โดยเฉพาะมาจากบุคคลของรัฐใช้ภาษีของประชาชน การยื่นฟ้องในครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม และกองทัพเอง ก็ต้องทบทวนว่าการกระทำนี้มีความเหมาะสมหรือไม่  การที่กองทัพใช้ไอโออวตารมาใช้ความชอบธรรมนี้ถือเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง กองทัพต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้เคลียร์ รวมทั้งต้องทำตัวโปร่งใส ที่สำคัญประชาชนต้องสามารถตั้งคำถามได้ด้วย

วิญญู กล่าวด้วยว่า การร้องต่อศาลปกครอง เรามีคำร้องต่อศาลชัดเจนว่าการปฏิบัติการไอโอของกองทัพต่อคนที่เห็นต่างเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก่อนหน้านี้ทางทวิตเตอร์ก็มีการลบข้อมูลกระบวนการไอโอของกองทัพไปแล้ว ในวันเดียวกันนี้เรายังยื่นหนังสือต่อเฟซบุ๊ก เพื่อทำการสอบสวนจัดการเพื่อพิจารณาลบข้อมูลกระบวนการไอโอของกองทัพต่อไปด้วย จากนั้นก็จะไปยื่นเรื่องต่อ องค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น เพราะปฏิบัติการไอโอ เข้าข่ายการทำโฆษณาชวนเชื่อเปลี่ยนความคิดคน ผิดกติการะหว่างประเทศ ที่ระบุให้กระทำการเฉพาะในสภาวะสงครามเท่านั้น

ผู้จัดการ iLAW เผยได้รับผลกระทบจาก IO เป็นจำนวนมาก ระบุหากรัฐจะตอบโต้คนเห็นต่างต้องเปิดหน้า

ยิ่งชีพ กล่าวว่า  สิ่งที่เราได้รับผลกระทบ คือ มีคนมาคอมเมนท์ทั้งในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์จำนวนมาก  มีทั้งการคอมเมนท์เห็นด้วย รวมทั้งมีการคอมเมนท์ พูดจาหยาบคาย ตรงนี้ เราแยกไม่ออกว่าเป็นบุคคลทั่วไปหรือไอโอ

“เราแยกไม่ออกว่า คนที่คอมเมนท์วิจารณ์มา อันไหนเป็นการวิจารณ์โดยสุจริต หรือ วิจารณ์เพื่อหาผลประโยชน์ทางการเมือง และที่สำคัญการวิจารณ์นั้น เราไม่สามารถชี้แจงหรืออธิบายความถูกต้องแก่บุคคลนั้นได้เลย ถ้าศาลมีคำสั่งตามคำร้องของเรา เพื่อให้ไอโอหยุด จากนี้เรายังต้องติดตามว่ากองทัพทำตามคำสั่งศาลมากน้อยเพียงใด หรือ ถ้ามีการยกเลิกโครงการนี้ ไปทำโครงการใหม่ได้หรือไม่ โดยต้องดูในเนื้อหาในคำสั่งศาลก่อน” ยิ่งชีพ กล่าว และว่า วิธีการที่รัฐจะใช้ตอบโต้กับคนที่เห็นต่าง แทนการทำไอโออย่างถูกต้องคือ กองทัพต้องเปิดเผย ควรชี้แจงแบบเปิดหน้า ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ฝ่ายที่เห็นตรงข้ามกับรัฐบาล บางครั้งก็มีความเข้าใจผิดจริงๆ บางครั้งก็มีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอยู่บ้าง การเปิดหน้าอย่างเปิดเผย  เมื่อมีคนของรัฐพูดไปก็มีน้ำหนัก อะไรที่ไม่ถูกต้องก็แค่แถลงต่อประชาชน แต่การทำไอโอคือการกระทำแบบลับๆล่อๆ ไม่มีความสง่างามแต่อย่างใด

ทนายความเปิด 3 คำฟ้องขอให้รัฐยุติกระบวนการ IO ที่มีอยู่ในกองทัพบกทั้งหมด

ทนายความ กล่าวว่า  ประเด็นคดี สืบเนื่องมาจากพรรคฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องการปฏิบัติการ ไอโอ ทำให้ฝ่ายผู้ร้องคดี เข้าไปติดตามดู มีการย้อนกลับไปเห็นข้อมูลเมื่อประมาณปี 2563 ที่ปฏิบัติการไอโอ กล่าวถึงบุคคลทั้ง 3 คน รวมทั้ง มีการรวบรวมบัญชีรายชื่อ ทั้งเฟซบุ๊ก ทั้งทวิตเตอร์ในแต่ละคนจำนวนมาก มีการจัดหมวดหมู่ว่าเป็นอคติกับรัฐบาล ด้านลบ ด้านบวก

จากนั้นเราก็ทำการสอบย้อนไปพบว่า ปฏิบัติการไอโอ มันมีอำนาจในการดำเนินการได้หรือไม่ ทำในลักษณะใด ในสถานการณ์อะไร จากการที่ดูในหลักการของต่างประเทศ ปฏิบัติการไอโอ ทำได้ก็ต่อเมื่อในภาวะสงคราม การรบ หรือเหตุการณ์ร้ายแรง ต้องทำกับอริราชศัตรู แต่ไอโอที่ทำโดยกองทัพบกที่ถูกเปิดเผยมา ถูกหยิบมาใช้กับประชาชน ที่เห็นต่างทางการเมือง โดยเฉพาะรัฐบาลที่บริหารงานในปัจจุบัน  โดยใช้อำนาจรัฐ งบประมาณของรัฐ บุคลากรของรัฐ แล้วก็ มาตั้งธงกับประชน เป็นศัตรู ซึ่งเรามองว่าผิดหลักการ

“บุคคลทั้งสามคนที่มีชื่ออยู่  1 ปีที่ผ่านมา นำมาสู่การถูกด้อยค่า ถูกเหยียดความคิด ถูกด่าอะไรเยอะแยะมาก  และมันเป็นแนวทางเดียวกันอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการปฏิบัติการไอโอ เราจึงต้องมาร้องต่อศาลให้ทางกองทัพหยุดปฏิบัติการไอโอทั้งหมด ภาษาชาวบ้านคือ ฟ้องเพื่อถอนไอโอ ไม่ให้มีอยู่เลย อย่างน้อยๆจะได้มีการตรวจสอบจากตุลาการ ว่าปฏิบัติการไอโอ มีจริงหรือไม่  ถ้ามีก็ไม่ควรมีในสถานการณ์เช่นนี้ โดยเฉพาะกับประชาชนที่มีความเห็นต่าง  ไม่ว่าผลของคดีจะเป็นอย่างไร คดีนี้ต้องถูกเข็นขึ้นสู่ศาล เพื่อทำการวินิจฉัยให้ได้ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานในคดีอื่นๆต่อไป  อยากให้เป็นบรรทัดฐานว่า รัฐไม่ควรนำภาษีประชาชนมาทำร้ายประชาชนด้วยลักษณะแบบนี้ โดยตั้งธงว่า ประชาชนที่เห็นต่างเป็นศัตรู” สัญญา กล่าว

ทนายความ กล่าวอีกว่า ส่วนในคำฟ้องต่อศาลปกครอง คือ 1. ขอให้ยุติกระบวนการไอโอทั้งหมดที่มีอยู่ในกองทัพบก  2.ขอให้ลบข้อมูล แบล็คลิสต์ต่างๆออกจากสารบบกองทัพบก ถ้าในทางตำรวจคือการขอให้ลบประวัติ เพราะไม่ใช่บุคคลกระทำความผิด เพราะคนเห็นต่างไม่ใช่ศัตรูหรือผู้กระทำผิด  และ 3. คือการให้กองทัพขอโทษ ออกสื่อสาธารณะต่างๆเท่าที่จะเป็นไปได้  จากนี้ต้องดูว่าศาลปกครองจะรับฟ้องหรือไม่ ถ้ารับฟ้องจะออกคำบังคับกับกองทัพบกอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ 2 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยอัญชนา หีมมิหน๊ะ อดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจังหวัดชายแดนใต้ และทนายความ ได้ยื่นฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายกับ สำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลกำกับดูแลกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกองทัพบก กรณีจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯทางโลกออนไลน์

สัญญาระบุว่า มีความแตกต่างกับกรณีนี้กล่าวคือ กรณีนางอังคณาและนางสาวอัญชนา เป็นการยื่นร้องต่อศาลแพ่ง และกรณีนี้มีการปฏิบัติการโดย กอ.รมน. ซึ่งใช้กฎหมายความมั่งคง ที่ดูเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในคดีนี้เราต้องการที่จะถอนรากถอนโคนไอโอ คิดว่าตรงนี้ศาลปกครองก็ควรที่จะมาตรวจสอบ

องค์กรสิทธิมนุษยชนชี้รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก การใช้ภาษีที่มาจากประชาชนมาทำปฏิบัติการด้านข้อมูลมาทำร้ายประชาชนถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง

ปรานม สมวงศ์ องค์กร Protection International ระบุว่ารัฐมีหน้าที่ในการหามาตรการและจัดสรรงบประมาณในการป้องกันมิให้มีการโจมตีการทำงานของสื่อมวลชน ประชาชนที่ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก หากมีการโจมตีหรือคุกคามเกิดขึ้นต้องมีการสอบสวน นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้เกิดความยุติธรรมและเยียวยาผู้ประชาชนเสียหาย แต่กลายเป็นว่ามีข้อมูลว่ามีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่ใส่ร้ายบิดเบือนและมาโจมตีทำร้ายประชาชน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนเองซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง

อังคณาระบุรัฐต้องรับผิดชอบและชดใช้และเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้ IO กับประชาชน

ขณะที่อังคณากล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ปัจจุบันการใช้ IO หรือ Fake News (ข่าวปลอม) เพื่อด้อยค่าผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ หรือผู้ที่ออกมาตั้งคำถามต่อการทำหน้าที่ของรัฐมากขึ้น แต่กลไกการสืบสวนสอบสวนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับล้มเหลวทำให้ขบวนการด้อยค่าผู้ที่เห็นต่างยังคงเกิดขึ้น ข้อมูลที่เปิดเผยต่อสภาผู้แทนราษฎรทำให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องในการกระทำนี้ ดังนั้นการใช้สิทธิทางศาลของยิ่งชีพจึงเป็นกระบวนการที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้กระทำผิดและผู้รับผิดชอบ ซึ่งแม้จะเป็นโครงการของรัฐภายใต้ชื่ออะไรก็แล้วแต่ แต่งบประมาณทั้งหมดมาจากภาษีของประชาชน และหากการบริหารราชการของรัฐบาล ทำให้เกิดความเกลียดชัง ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องต่อประชาชน รัฐบาลต้องออกมารับผิดชอบและชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net