ศาลไม่ออกหมายจับอีก 2 คนคดีเผารูปร.10 อ้างไม่มีประจักษ์พยาน - 'แอมมี่' ไม่ได้ประกัน

ศาลอาญาไม่ออกหมายจับอีก 2 คนที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมเผาพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับแอมมี่ เหตุตำรวจไม่มีประจักษ์พยานนอกจากปากคำของบุคคลที่ตำรวจกันไว้เป็นพยานซัดทอด ส่วนแอมมี่ศาลอาญายกคำร้องขอประกันตัวพร้อมเงินสด 5 แสนบาท ศาลอ้างเหตุเกรงหลบหนี

5 มี.ค.2564 ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าเมื่อวันที่ 4 มี.ค.หลังจากพนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุมัติหมายจับ ญาณิศา (สงวนนามสกุล) นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ และธนภัทร ไม่ทราบนามสกุลจากกรณีเผาพระบรมฉายาลักษณ์ที่หน้าเรือนจำคลองเปรม รวมกับไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ หรือแอมมี่

ในรายงานระบุว่าศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องของพนักงานสอบสวนโดยให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนยื่นยังไม่สามารถออกหมายจับให้ได้ เพราะไม่มีประจักษ์พยานหลักฐานในที่เกิดเหตุว่าผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 คนได้ร่วมกับไชยอมร มีแต่คำให้การของบุคคลที่พนักงานสอบสวนกันไว้เป็นพยานให้การซัดทอดเพียงเท่านั้น

ไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ หรือแอมมี่

ไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ หรือแอมมี่ แฟ้มภาพ

ส่วนทางด้านไชยอมร แก้ววิบูลพันธุ์ หรือแอมมี่ ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งที่ 2 โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าเมื่อวานนี้ (4 มี.ค.) พนักงานสอบสวน สน.ประชาชื่น ยังได้เข้ายื่นคำร้องผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ต่อศาลอาญา ขอส่งตัวไชยอมรคืนต่อศาล เนื่องจากแพทย์ประจำโรงพยาบาลตำรวจได้ทำการตรวจรักษาแล้ว เห็นว่ามีอาการดีขึ้น จึงไม่ต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลอีก ซึ่งศาลได้มีคำสั่งอนุญาต

ขณะเดียวกัน มารดาของไชยอมรและทนายความได้ทำเรื่องขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 2 ระหว่างที่ไชยอมรพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยได้วางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 500,000 บาท ก่อนในช่วงเย็น ศาลอาญาได้มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัว ให้เหตุผลว่าเกรงผู้ต้องหาจะหลบหนี ไม่ใช่เพราะเหตุหลักทรัพย์ไม่เพียงพอ จึงไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง ทำให้ไชยอมรถูกนำตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษธนบุรี

ศูนย์ทนายฯ ระบุว่า เนื้อหาในคำร้องประกอบขอประกันตัว ยืนยันว่าไชยอมรซึ่งเป็นผู้ต้องหาไม่ได้พยายามจะหลบหนี เนื่องจากไม่ทราบว่าจะถูกดำเนินคดีนี้มาก่อน และก่อนถูกจับตามหมายจับของศาล ไชยอมรเดินทางโดยเปิดเผยในที่สาธารณะ และในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก ผู้ต้องหาเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระรามเก้า เนื่องจากมีอาการปวดหลังตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จนเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 จึงออกมาพักรักษาตัว มีการพบแพทย์ประจำโรงพยาบาลตามกระบวนการรักษา โดยแพทย์ให้พักร่างกายก่อนไปทำงาน ผู้ต้องหาจึงออกมาพักฟื้นร่างกายที่ห้องพัก ในจังหวัดอยุธยา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อน และห้องพักอยู่ในย่านชุมชน

ไชยอมรประกอบอาชีพเป็นศิลปินนักร้อง และมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผู้ต้องหาไม่ได้ปกปิด อำพรางตน และผู้ที่เป็นเจ้าของห้องพักและผู้คนที่พักอาศัยในห้องพักข้างเคียงหรือในห้องพักอื่นก็พบเห็นผู้ต้องหา ผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี

นอกจากนี้ ขณะเข้าจับกุม ไชยอมรได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ไม่ได้ต่อสู้ขัดขืน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 ผู้ต้องหาจึงย่อมได้รับการสันนิษฐานตามกฎหมายว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ทั้งผู้ต้องหาเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ประกอบอาชีพเป็นศิลปินนักร้องและวาดภาพ ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ และพยานหลักฐานในคดีนี้พนักงานสอบสวนก็ได้รวบรวม และอยู่ในความครอบครองของพนักงานสอบสวนแล้วทั้งสิ้น หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราว ย่อมไม่อาจก่ออุปสรรคหรือความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาลได้อย่างแน่นอน นอกจากนั้น ผู้ต้องหายังไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาชญากรรมใดๆ และไม่เคยต้องโทษในคดีอาญามาก่อน จึงไม่อาจไปก่ออันตรายประการอื่นได้

ไชยอมรยังขอเรียนว่า หากไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว จะทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ต้องหายังต้องประกอบอาชีพ เพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ ผู้ต้องหายังต้องพักรักษาตัวจากอาการปวดหลัง และรักษาโรคกระจกตาโป่งพองหรือกระจกตาย้วย (Keeatoconus) อย่างต่อเนื่อง การไม่ได้รับการปล่อยตัวอาจให้มีผลกระทบกับกระจกตาและกระทบกับการมองเห็นในอนาคต

ไชยอมรยังคงเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องคดี ไม่ได้ผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นความผิดหรือไม่ การถูกฟ้องคดีในฐานความผิดที่มีอัตราโทษทางอาญาไม่ได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จเพียงพอว่า ผู้ต้องหาจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือเป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมเป็นภาคี ในข้อ 14 (1) กล่าวว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุท ธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” และในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 11(1) “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย ในการพิจารณาคดีที่เปิดเผยซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี”

นอกจากนี้ ในบทบัญญัติข้อที่ 50 ของ ICCPR มีบทบังคับที่ชัดเจนกับรัฐภาคีว่า “บทบัญญัติของกติกานี้จะครอบคลุมทุกภาคของรัฐที่เป็นรัฐร่วมโดยปราศจากข้อจำกัดหรือข้อยกเว้นใดๆ” และมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2560 กำหนดว่า ก่อนที่จะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุดว่าบุคคลได้กระทำผิด ศาลหรือองค์กรของรัฐจะปฏิบัติกับบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำความผิดไม่ได้

ดังนั้น หากพิจารณาตามหลักสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศฯ และรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว การใช้ดุลพินิจมีคำสั่งไม่ให้ผู้ต้องหาได้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยอ้างว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์กระทำผิดตามพนักงานสอบสวนกล่าวหาจริงแล้ว ทั้งที่ผู้ต้องหายังมิได้ผ่านการมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำผิดย่อมถือว่าเป็นเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างชัดแจ้ง

จนเวลา 17.14 น. ศาลอาญา โดยผู้พิพากษามุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา ได้มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวดังกล่าว ทำให้ทางราชทัณฑ์ได้ขอนำตัวไปแอมมี่ไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรีในเวลาราว 18.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท