7 องค์กรสิทธิฯ ขอให้เคารพสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอย-ใจแผ่นดิน

7 องค์กรสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ขอให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยุติยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรและเคารพสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอย-ใจแผ่นดิน

7 องค์กรสิทธิฯ ขอให้เคารพสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอย-ใจแผ่นดิน

6 มี.ค. 2564 องค์กรสิทธิมนุษยชน 7 องค์กร ได้ร่วมกัน ออกแถลงการณ์ "ขอให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยุติยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชรและเคารพสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่บางกลอย-ใจแผ่นดิน" โดยระบุว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2564 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งระจานประกาศใช้ “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” ทหารหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ หน่วยเฉพาะกิจพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติ สำนักงานสนับสนุนการป้องการและปราบปราม (สปป.1) กรมอุทยานแห่งชาติ และตำรวจตระเวนชายแดน สนธิกำลังขึ้นไปยังพื้นที่บางกลอย-ใจแผ่นดิน และควบคุมตัวชาวบ้านบางกลอยลงมาจำนวน 13 คน โดยมีเด็กเล็กรวมอยู่ด้วย อีกทั้งยังมีการกระทำที่มีลักษณะคุกคามชาวบ้านบางกลอยอย่างต่อเนื่อง 

จนกระทั่งในช่วงเช้าวันที่ 5 มี.ค. 2564 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เข้าสนธิกำลังขึ้นไปยังหมู่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน พร้อมควบคุมตัวนายหน่อแอะ มีมิ บุตรชายของนายโคอิ มีมิ และชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดินรวมกว่า 80 ชีวิต โดยอ้างว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 40 และพาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวชาวบ้านทั้งหมดไว้ และไม่ให้ครอบครัว หรือทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเข้าพบในชั้นสอบสวน ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายหน่อแอะ มีมิ กับชาวบ้านรวม 22 คน ที่ถูกควบคุมตัวไปที่เรือนจำตามหมายขังศาลจังหวัดเพชรบุรีหลังเวลาทำการของศาล

เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน เห็นว่าชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แก่งกระจานมาเป็นระยะเวลานานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ มีหลักฐานบ่งชี้เป็นจำนวนมาก รวมถึงคำพิพากษาปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ อส.77/2559 หมายเลขแดงที่ อส.4/2561 ซึ่งนายโคอิ หรือคออี้ มีมิ กับพวกรวม 6 คน ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับพวกรวม 2 คน จากกรณีรื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้าง และทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ศาลปกครองมีคำสั่งให้จำเลยมีความผิด เนื่องจากใช้อำนาจเกินความจําเป็นไม่สมควรแก่เหตุ ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวบ้านทั้ง 6 คน รวมถึงพิพากษายืนยันว่า ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน คือกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในเขตป่าแก่งกระจานมาเป็นระยะเวลากว่าร้อยปี ก่อนที่ผืนป่าจะถูกประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ

อีกทั้ง เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 คณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยมีเนื้อหาโดยสรุปคือ 1. ให้ยุติการจับกุมและให้การคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินดั้งเดิม 2. จัดตั้งคณะกรรมการ หรือกลไกการทำงานเพื่อกำหนดเขตพื้นที่ในการทำกิน ที่อยู่อาศัยและการดำเนินวิถีชีวิตตามวัฒนธรรม (Demarcation Committee/Mechanism) เพื่อจัดการข้อพิพาทการใช้ประโยชน์ หรือการถือครองพื้นที่ของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงกับหน่วยงานรัฐ 3. ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพในชุมชนบนพื้นที่สูง เช่น การรักษาความหลากหลายของการสร้างพันธุ์พืช การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การสร้างความสมดุลของนิเวศผ่านกระบวนการระบบไร่หมุนเวียน

และตามพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 65 วรรค 4 ได้ระบุว่า “การเก็บหาหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาลของบุคคลที่ได้รับอนุญาตในเขตพื้นที่โครงการตามประกาศกระทรวงที่ออกตามมาตรานี้ หากเป็นการเก็บหาหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติตามประเภท ชนิด และจำนวนตามที่ได้รับอนุญาต และเป็นไปเพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ และได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ” การดำเนินวิถีชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในการทำไร่หมุนเวียน เป็นการทำเกษตรที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นการเกษตรที่ยั่งยืนและไม่ทำลายป่า ถือได้ว่าเป็นการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาล ชาวกะเหรี่ยงที่ดำเนินชีวิตตามวิถีไร่หมุนเวียนดั้งเดิม จึงไม่ควรต้องรับโทษแต่อย่างใด

การกระทำของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ในปฏิบัติการ “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” รังแต่จะทำให้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน หาทางแก้ไขได้ยาก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย เครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายชื่อที่แนบข้างท้ายนี้ ขอเรียกร้องให้ภาครัฐ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

1. ขอให้มีคำสั่งให้ยุติปฏิบัติการ “ยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” และยุติการจับกุม ควบคุมตัว และดำเนินคดีกับชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดินทุกคนโดยทันที

2. ขอให้คุ้มครองและฟื้นฟูเยียวยาชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ด้วยการคืนสิทธิชุมชน ให้พวกเขาสามารถกลับเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เพื่อใช้ชีวิตตามวิถีของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมได้ดังเดิมต่อไป โดยปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงฯ โดยเคร่งครัด

3. ขอให้เปิดพื้นที่เจรจาระหว่างภาครัฐและกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงดั้งเดิมอย่างจริงใจ และร่วมกันศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริง เพื่อสร้างฉันทามติในการดำรงวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในลักษณะที่ส่งเสริม ดูแลทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืน

4. ขอให้ภาครัฐยกเลิกกฎ ระเบียบ มาตรการ และการกระทำอันเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติต่อชาวกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดิน และกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองอื่นๆ ที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ และหลักการสิทธิมนุษยชนโดยเคร่งครัด

ด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (มพน.)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
มูลนิธิมานุษยะ
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท