คุยกับมนุษย์ม็อบ 6 มีนา จากห้าแยกลาดพร้าวขนขยะไปทิ้งให้มหาศาลหน้าศาลอาญารัชดา

คุยกับ 3 ผู้ร่วมชุมนุม #ม็อบ6มีนา จากห้าแยกลาดพร้าวขนขยะไปทิ้งให้มหาศาลหน้าศาลอาญารัชดา คนรุ่นใหม่ผู้อยากเห็นสังคมไทยมีรัฐสวัสดิการที่ดี อดีต นปช.รุ่นเก๋าที่ขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธีของคนรุ่นใหม่ และสมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยที่ถูกควบคุมตัวไปเมื่อวันที่ 28 ก.พ. แต่ขอยืนหยัดร่วมสู้กับประชาชน

6 มี.ค. 2564 ประมวลบทสัมภาษณ์ผู้ร่วมชุมนุม #ม็อบ6มีนา ในชื่อ 'จากห้าแยกลาดพร้าวขนขยะไปทิ้งให้มหาศาลหน้าศาลอาญารัชดา' เดินจากห้าแยกลาดพร้าวไปศาลอาญารัชดา ซึ่งจัดโดยกลุ่ม REDEM 

คนรุ่นใหม่หวังการเมืองดีสร้างรัฐสวัสดิการเพิ่มคุณภาพให้กับชีวิต

"ถามว่าไม่ไปม็อบไหนบ้างอาจจะง่ายกว่า"

เสียงของเอลฟ์ นักศึกษา ที่มาเข้าร่วมการเดินขบวนจากห้าแยกลาดพร้าว ไปหน้าศาลอาญารัชดาวันนี้

เอลฟ์ นักศึกษาที่มาร่วมกิจกรรม #ม็อบ6มีนา

เอลฟ์เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า เขาเริ่มมาทำกิจกรรมการเมืองเป็นประจำ ส่วนหนึ่งคือเขาอยากมาแสดงจุดยืนของเขา และอีกสาเหตุมาจากเหตุสลายการชุมนุม แยกปทุมวัน และแยกเกียกกาย ซึ่งเขาเห็นการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมกับตาตัวเอง และในม็อบจะมีเด็ก มีผู้สูงวัย และผู้หญิงมาเข้าร่วมกิจกรรม เขาจึงอยากมาม็อบเป็นประจำ เพื่อหวังที่จะได้ช่วยเหลือคนในม็อบด้วยกัน เวลามีเหตุฉุกเฉิน และอื่นๆ 

เมื่อสอบถามถึงสาเหตุที่ครั้งนี้ เอลฟ์ กล่าวว่า "ก็มาแสดงจุดยืนของประชาชน และข้อเรียกร้อง 3 ข้อของกลุ่ม REDEM" 

"คิดว่าข้อไหนสำคัญที่สุด ผมคิดว่าทั้ง 3 ข้อสำคัญเท่า ๆ กันเลย"

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ที่ผ่านมาเวลาไปทำกิจกรรมทางการเมือง ข้อเรียกร้องเรื่องสวัสดิการมักไม่ค่อยมีการพูดถึงมาก เอลฟ์มีความคิดเห็นเกี่ยวกับสวัสดิการถ้วนหน้าในสังคมไทยอย่างไรบ้าง และทำไมถึงสำคัญกับสังคมไทย

เอลฟ์บอกว่า เขามองเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะถ้าสวัสดิการดี ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ คนกล้าออกไปทำอะไรมากขึ้น จับจ่ายมากขึ้น และถ้าป่วย ก็มีเงินเก็บไปใช้ชีวิต 

"ถ้าเรามีสวัสดิการที่ดี อย่างเช่น การคมมาคม หรือสุขภาพ มันจะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าขึ้นได้ คนอยากออกจากบ้านมากขึ้น ถ้ามีข้อใช้จ่ายที่ราคาถูก หรือคนก็จะกล้าออกไปมากขึ้น เช่น เวลาทำนา ถ้าเราไม่มีสวัสดิการด้านสุขภาพแบบนี้ เวลาป่วยที ก็เสียเงินมหาศาลเลย ไม่มีเงินเก็บเหลือทำอย่างอื่น" 

สำหรับเรื่องที่อยากจะฝากถึงรัฐ เอลฟ์บอกว่า ถ้ารัฐอยากแก้ปัญหาเรื่องม็อบจริงๆ แค่ต้องลงมาคุยเท่านั้น ไม่ใช้กำลังสลายการชุมนุม

"ผมก็รู้ว่ารัฐไม่อยากให้มีม็อบเท่าไหร่ แต่วิธีการที่ไม่ต้องการให้มีม็อบ มันง่ายมาก ไม่จำเป็นต้องเอาตำรวจต้องเอาอะไรมาคุมประชาชน ใช้ความรุนแรง ขอแค่นายกฯ มาฟังเสียงประชาชนในม็อบ เขาจะบอกตลอดว่า เขาฟังเสียงประชาชน แต่ในความจริง คือ เขาไม่เคยฟังเลย ไม่เคยออกมาพูด ไม่เคย discuss face to face กับเราเลย ขอแค่ให้เราสักคนไปคุยกับนายกฯ ม็อบอาจจะไม่จำเป็นต้องมี คุณอาจไม่ต้องเอาค่าใช้จ่ายมาจัดการม็อบ" เอล์ฟ ทิ้งท้าย

คุยกับ 'ตู่' หัวหน้าทีมสันติวิธี นปช.รุ่นเก๋าขอหนุนคนรุ่นใหม่

ชาญชัย ปุสรังษี (ตู่) หัวหน้าทีมสันติวิธี

ชาญชัย ปุสรังษี หรือ ตู่ ทำรับเหมาก่อสร้าง เดิมเคยเป็นคนเสื้อแดงมาก่อน ตอนนี้เขากับเพื่อนๆ ผู้สูงวัยของเขาตั้งกลุ่มสันติวิธีขึ้นมา เขาอธิบายสาเหตุที่ตั้งชุดสันติวิธีขึ้นมาว่าเพราะที่ผ่านมาก็เกิดภาพความรุนแรงในการชุมนุมแต่ไม่ใช่เพราะว่าเด็กใช้ความรุนแรง แต่ว่าพอเจอชุดควบคุมฝูงชนหรือตำรวจก็มีการเผชิญหน้ากัน แต่พอเราเข้ามาก็มาป็นตัวกลางแทรกระหว่างความต้องการของเด็กกับความต้องการของเจ้าหน้าที่ เด็กเขาอยากทำอะไรเจ้าหน้าที่อยากทำอะไรก็จะพยายามประสานต่อรอง อย่างเด็กเขาอยากจะขอเดินเข้าไปทำกิจกรรมตรงไหน แล้วจะไม่ไปตรงไหนก็จบ แล้วก็ดูแลเรื่องมือที่สามด้วย

“คือเราเป็นตัวกลางในการประสานแนวๆ นี้เราเอามาจาก นปช. ซึ่งสมัยเราก็เป็น นปช.เก่า เราเห็นเด็กรุ่นนี้เขาขาดแบบนี้ เราก็เป็นตัวกลางประสานให้เขา” ชาญชัยกล่าวในฐานะที่เคยเป็นผู้ชุมนุม นปช. มาก่อน

เมื่อถามว่ามีความกังวลอะไรหรือไม่เมื่อต้องเจอสถานการณ์จริงอย่างกรณีที่เพิ่งมีการเผาขยะข้างหน้าศาลจนตำรวจข้างในก็เตือนออกมา หัวหน้าทีมสันติวิธีก็ตอบว่า 

“ก็โอเค ก็มีแค่นั้นนะ ผมทำการดับแล้ว แล้วก็บอกเด็กว่าทำทุกอย่างได้ที่คุณอยากแสดงออก แต่ก็ขอเรื่องไฟอย่าขว้างเข้าไปแล้วก็อย่าปีนอย่าป่ายแล้วก็อย่าไปเผารูปใหญ่ๆ ก็ขอร้องเด็กเขาว่าอย่าทำ เขาก็ไม่ทำเหตุการณ์ก็ผ่านมา 2-3 ชั่วโมงแล้วก็ไม่มีการเผารูปใหญ่ เราก็โอเคนะ ซึ่งเราก็ได้เป็นตัวคุยระหว่างความต้องการของเด็กกับเส้นแบ่งระหว่างกฎหมายแค่นั้นเอง” ชาญชัยอธิบายว่าสิ่งที่ทำเป็นเพียงพยายามสร้างความเข้าใจ ถ้ามีตำรวจมาตั้งแนวชุดควบคุมฝูงชน เขาจะไม่ให้ไปชุดของเขาก็จะเข้าไปคุยว่าขอเข้าไปได้หรือไม่เพื่อทำกิจกรรมตามที่เด็กเขาต้องการ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าแล้วถ้าหากมีสถานการณ์ต้องเผชิญหน้ากันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมจะทำอย่างไร เพราะตัวชาญชัยและทีมเองก็ต้องไปอยู่พื้นที่ตรงกลางระหว่างสองฝ่าย เขาตอบว่าก็ต้องสร้างเซฟโซนขึ้นมาลดการเผชิญหน้ากันจากแนวของตำรวจแล้วก็ช่วยกันห้ามการขว้างปาสิ่งของได้มันก็ลดภาพของความรุนแรงลงได้ เขาไม่ต้องการให้ประชาชนที่ไม่ได้ร่วมกิจกรรมมองว่าเป็นการชุมนุมที่ก่อความวุ่นวายหรือจะก่อจลาจล 

เมื่อถามว่าแล้วกังวลหรือไม่ที่อาจจะถูกมองว่ากลายมาเป็นคนขวางการทำกิจกรรมของผู้ชุมนุมเอง ชาญชัยก็บอกว่ามี ก็พยายามอธิบายให้ฟังก็อาจจะมีบางส่วนพอใจบางส่วนไม่พอใจ แต่ก็จะใช้เหตุและผลคุยกัน 

“แล้วก็ทีมสันติวิธีนี่ก็จะเป็นผู้สูงอายุผ่านเหตุการณ์มาหลายครั้งซึ่งก็เป็นคนเสื้อแดงเก่าที่ตอนนี้หมดสภาพก็เลยต้องปล่อยให้คนรุ่นใหม่เขาทำกันแล้วเราก็มาเป็นกองหลังอุดหนุนสนับสนุนอยู่ข้างหลังของเด็ก” 

“ที่จริงคิดว่าเรื่องจะจบตั้งแต่สมัย นปช.แล้ว แต่เด็กเขาออกมาเราเห็นก็อดไม่ได้เพราะเราเดินมาตั้งแต่ปี 2535 อยู่ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แล้วก็ผ่านเหตุการณ์ 52 53 57 มาตลอด ก็คือเป็นกลุ่ม

นปช.เก่าซึ่งเราเน้นสันติวิธีไม่เน้นความรุนแรง เราไม่เน้นส่องสุมกำลังอาวุธอะไรไม่ใช่นะครับ เราใช้ในหลักการพูดจาพูดคุยให้มันซอฟท์ลง” ชาญชัยกล่าว

'โน้ต' จากกลุ่ม DRG เผยการชุมนุมคือการใช้สิทธิตามหลักประชาธิปไตย

ธนพล พันธุ์งาม หรือโน้ต จากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) เป็นหนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวไป ตชด.ภาค 1 จากเหตุการณ์ชุลมุนในการชุมนุมวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยในวันนี้ เขาเดินทางมาร่วมชุมนุมอีกครั้ง พร้อมเผยประสบการณ์และความรู้สึกหลังถูกจับกุมในไม่กี่วันก่อนหน้า

ธนพล พันธุ์งาม หรือโน้ต จากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG)

ก่อนถูกควบคุมตัว ธนพลเล่าว่าเขาอยู่บนสะพานลอยป้ายรถเมล์ รร.สุรศักดิ์มนตรี เห็นตำรวจบีบเข้ามาเรื่อยๆ หัวด้านหนึ่งอยู่ฝั่งปั๊ม ปตท. อีกฝั่งมาจากทาง รพ.ทหารผ่านศึก จึงเรียกประชาชนที่อยู่บริเวณนั้นให้ข้ามสะพานลอยไปฝั่ง ถ.วิภาวดี ขาเข้า หน้า รร.สุรศักดิ์มนตรี โดยเขาเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่ข้ามไปอีกฝั่งทันก่อนที่เจ้าหน้าที่จะปิดสะพานลอย เมื่อข้ามไปได้ โน้ตและเพื่อนจึงเดินไปนั่งพักบริเวณปั๊มน้ำมันเชลล์ ซึ่งมีหน่วยพยาบาลอาสาตั้งอยู่ และหลังจากนั้นก็เกิดเหตุชุลมุนขึ้น

"เราได้ยินเสียงปืนดังปัง น่าจะเป็นปืนกระสุนยาง เราก็ตกใจ คนที่นั่งอยู่ตรงนั้นก็ลุกวิ่ง เราก็เลยวิ่งออกมาหน้าปั๊ม มีตำรวจวิ่งไล่มา คนก็เริ่มวิ่งหนี มีคนล้ม โน้ตก็ล้มไปด้วย กำลังจะลุกขึ้นมาก็สะดุดล้มตามกันไปอีก ตำรวจก็วิ่งตามเข้ามาใกล้จะถึงแล้ว และตอนนั้นแหละที่โดนจับ เราก็ยอมให้จับแต่โดยดี" ธนพลเล่า

ธนพลเล่าว่าหลังถูกตำรวจควบคุมตัวบริเวณหน้าปั๊มน้ำมันเชลล์ ถ.วิภาวดี เขาถูกมัดข้อมือด้วยสายเคเบิล และถูกคุมตัวไปรวมกับประชาชนที่ถูกจับอีกหลายสิบคนที่นั่งอยู่บริเวณหน้า รพ.ทหารผ่านศึก ก่อนจะถูกนำตัวขึ้นรถคุมขัง และรออยู่บนรถเป็นเวลาหลายชั่วโมง จากนั้นเวลาประมาณเกือบเที่ยงคืน ตำรวจจึงพาผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดไปที่ ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี ซึ่งธนพลเล่าว่าระหว่างรอทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางมาถึง เขาและคนอื่นๆ รู้สึกกังวลอย่างมาก แต่ความกังวลดังกล่าวค่อยๆ ลดลงเมื่อกลุ่ม ส.ส. เดินทางมาถึง ตชด.ภาค 1 เวลาประมาณตีหนึ่ง ก่อนที่ทีมทนายความจะตามมาถึงในชั่วโมงถัดมา แต่กว่าจะดำเนินขั้นตอนทางกฎหมายเสร็จสิ้นก็ใช้เวลาเกือบ 24 ชม. นับตั้งแต่ถูกควบคุมตัว

"ทุกคนที่โดนจับเห็นพ้องต้องกันว่าจะไม่คัดค้านการฝากขังและข้ามไปขั้นตอนการประกันตัวตามคำแนะนำของทนาย ระหว่างนั้นทุกคนก็รอ แล้วโตโต้กับทีมการ์ด WeVo ก็เอาขนมกับเสื้อผ้ามาให้ เขาไม่ได้ให้เราย้ายไปที่ไหนเลย อยู่ที่ ตชด. อย่างเดียว เป็นการไต่สวนแบบ conference รอศาลลงช่วงเย็น เขาก็เรียกให้มารายงานตัวต่อหน้าศาลทีละคน นั่งอยู่บนเก้าอี้ หน้ากล้อง ศาลก็ถามเรื่องการคัดค้านการฝากขัง และไปถึงการประกัน ทนายก้ว่าความให้และจบประมาณ 4 โมงเย็น รู้ผลประมาณ 1 ทุ่มว่าศาลให้ประกัน เราก็ไปลงชื่อในบันทึกประจำวัน และก็เตรียมตัวเดินทางกลับบ้าน" ธนพลเล่า

ผู้สื่อข่าวถามธนพลว่ารู้สึกอย่างไรหลังถูกควบคุมตัวจากเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ซึ่งธนพลเล่าว่าเขากังวลเรื่องการถูกทำร้ายจากเจ้าหน้าที่ แม้เขาจะไม่เจอเหตุดังกล่าวด้วยตนเอง แต่ประชาชนบางคนที่ถูกควบคุมตัวไปในวันเดียวกันถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายอย่างรุนแรงเกินเหตุทั้งๆ ที่ยินยอมให้ควบคุมตัวแล้วก็ตาม

"เรากังวลว่าเราจะโดนกระทืบ โดนตี โดนทุบ หรือทำร้ายยังไง ตอนไหนอีก แล้วมันก็อยู่ในอำนาจพื้นที่ของตำรวจอีก ไม่มีสื่อตรงนั้นเลยแม้แต่คนเดียว หน่วยพยาบาลก็ไม่มี ไม่มีใครที่เรารู้สึกว่าเป็นคนกลางระหว่างเรากับตำรวจได้เลย เลยทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นเมื่อเห็น ส.ส. เข้ามาเพราะเรารู้ว่าตำรวจคงไม่ทำอะไร ส.ส. อยู่แล้ว และมันก็ทำให้เรารู้ว่ามีคนคอยจับตามองเหตุการณ์ตรงนี้อยู่ เหมือนมีพยาน เหมือนมีไม้กันหมา (หัวเราะ)"

ส่วนผลกระทบทางร่างกาย ธนพลเล่าว่าตนมีบาดแผลและรอยช้ำจากการถูกสายเคเบิลรัดข้อมือแน่นเป็นเวลาหลายชั่วโมง และตอนนี้ยังรู้สึกชาอยู่ ส่วนผลกระทบทางด้านจิตใจ เขาบอกว่าไม่มี เพราะเตรียมใจมาตั้งแต่เริ่มออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว

"วันนึงมันคงมีแบบนี้มาถึงเรา เพราะว่าคนรอบตัวโดนไปหมดเกือบทุกคนแล้ว ของเราคือในแง่คดีความอาจจะไม่หนักเท่าไร แต่ในแง่การจับกุมกลับหนักกว่าทุกคนเลย เพราะที่ทุกคนโดนคือแสดงหมายจับแล้วก็ควบคุมตัวไป แต่คดีอาจจะร้ายแรงกว่าเรา แต่น่าจะยังไม่มีใครที่โดนจับและโดนกระทืบแบบเรา" ธนพลกล่าว

ธนพลเปิดเผยร่องรอยบาดแผลจากการสะดุดล้มขณะถูกจับต่อหน้าผู้สื่อข่าว

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่าหลังเกิดเหตุความรุนแรงเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ธนพลรู้สึกกลัวที่จะมาร่วมชุมนุมเรียกร้องหรือไม่ ธนพลตอบว่าเขาไม่กลัว เพราะเป็นการใช้สิทธิตามหลักประชาธิปไตย

"ไม่กลัว ไม่งั้นก็คงไม่มา ก็ยังมาอีก มาอีกเพราะรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ได้ผิดอะไร ก็แค่ว่าโดนดำเนินคดีด้วยข้อหาที่เราไม่ได้ไปก่อความวุ่นวายอย่างที่เขาบอก ก็เลยไม่รู้สึกว่าต้องกลัว ก็มาได้ แต่ก่อนเราก็มา อยากมาเราก็มา มาใช้สิทธิ์ตามที่กฎหมายและประชาธิปไตยสากลที่เขารับรอง"

ธนพลกล่าวทิ้งท้ายว่าเขาสนับสนุนข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อของผู้ชุมนุม แต่โดยส่วนตัวขอเน้นหนักไปที่ 2 ข้อสุดท้าย คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

"เรารู้สึกว่าถ้ากฎหมายมันดี ศูนย์รวมอำนาจที่ไม่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยถูกปฏิรูปจนเข้าร่องเข้ารอยแล้ว อย่างน้อยแค่เป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เผด็จการมันอยู่ได้เพราะการอุปถัมภ์ภายใต้ระบอบนี้ เราต้องสู้ต่อใน 2 เรื่องนี้ เราคิดว่าถ้าคนทุกคนตื่นตัวเรื่องนี้ ไม่ต้องสนว่าคุณอยู่ฝั่งไหน แค่ยอมรับว่ามันเป็นเรื่องที่ผิดจริงๆ แค่นี้ แค่นั้นแหละ" ธนพลกล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท