Skip to main content
sharethis

8 มีนา วันสตรีสากล คุยกับ 'จะเด็จ เชาวน์วิไล' มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ผู้ทำงานรวมกลุ่มแรงงานหญิงกว่า 30 ปี เพื่อทบทวนย้อนการต่อสู้ของแรงงานหญิงในอดีต เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวทางสังคมในปัจจุบัน ตั้งแต่บริบทของไทย การเคลื่อนไหวเรื่องลาคลอด 90 วัน ระบบชายเป็นใหญ่ในองค์กรแรงงาน การจัดตั้งและการรวมกลุ่มเรียนรู้ประเด็นแรงงานไปพร้อมกับเพศสภาพ สู่ความหลากหลายของขบวนการผู้หญิง

วันสตรีสากลในบริบทของไทย

วันสตรีสากล ในประเทศไทย ย้อนกลับไปในอดีต เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวจะจำกัดในแวดวงขององค์กรด้านผู้หญิงและองค์กรแรงงานหญิง ประเด็นการเคลื่อนไหวเป็นประเด็นด้านแรงงาน โดยการรณรงค์จะกล่าวถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของวันสตรีสากลซึ่งเริ่มมาจากกลุ่มแรงงานหญิงในต่างประเทศที่ต่อสู้เรื่องสิทธิและความเสมอภาคในการจ้างงาน เช่น  การประท้วงของคนงานหญิงโรงงานทอผ้าในสหรัฐฯ เมื่อกว่า 100 ปีก่อน และกล่าวถึงการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งการลดชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานให้เหลือ 8 ชั่วโมง ระบบทำงานระบบ 8-8-8 คือ  8 ชั่วโมงในการทำงาน 8 ชั่วโมงในการหลับนอนพักผ่อน 8 ชั่วโมงในการศึกษาหาความรู้ และให้ความสำคัญกับบทบาทผู้หญิงในการเปลี่ยนแปลงระบบการจ้างงานให้ดีขึ้น

ในประเทศไทย แรงงานหญิงมีส่วนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เจริญเติบโตโดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา บทบาทแรงงานหญิงมีสูงมากในอุตสาหกรรมดังกล่าว

การรณรงค์ในวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี จะแสดงให้เห็นภาพของบทบาทผู้หญิงในการต่อสู้เรื่องสิทธิแรงงาน และเชื่อมโยงถึงสิทธิของผู้หญิงในมิติอื่นๆ ด้วย ไม่เพียงสิทธิแรงงานเท่านั้น

'จะเด็จ เชาวน์วิไล' มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ผู้ทำงานรวมกลุ่มแรงงานหญิงกว่า 30 ปี

ท่ามกลางประเด็นปัญหาด้านแรงงานโดยทั่วไป ประเด็นแรงงานหญิงมีลักษณะเฉพาะซึ่งสะท้อนถึงการถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่ในอดีต ถูกกล่าวถึงน้อยมาก ในโอกาสนี้จึงชวนไปพูดคุยกับ จะเด็จ เชาวน์วิไล นักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชนที่เข้าไปเรียนรู้และทำงานรวมกลุ่มแรงงานหญิงกว่า 30 ปีที่ผ่านมา 

“แน่นอน แรงงานอาจจะถูกกดขี่คล้ายกัน แต่แรงงานหญิงถูกกดขี่มากกว่า เช่น บางโรงงาน ค่าแรงน้อยกว่าแรงงานชาย บางทีสวัสดิการก็ได้น้อยกว่าแรงงานชาย หรือว่าปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพในการทำงานซึ่งมีความสลับซับซ้อนมากกว่าแรงงานชาย แต่นายจ้างไม่จัดให้ วันที่8 มีนาคม จึงโยงมาถึงการรวมกลุ่มของแรงงานหญิงมากขึ้น ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา” จะเด็จ เล่า

ลาคลอด 90 วัน

ก่อนจะเกิดการรณรงค์เคลื่อนไหวผลักดันกฎหมายลาคลอด 90 วันเมื่อปี 2536 โดยแรงงานหญิงเป็นพลังหลัก จะเด็จเห็นว่า ขบวนการแรงงานในประเทศไทย ส่วนใหญ่ถูกครอบงำด้วยแรงงานชายมายาวนาน แม้ว่าจะมีคนงานหญิงสนใจในการทำงานด้านแรงงาน แต่ไม่เกิดผู้นำหญิงและไม่เกิดขบวนการแรงงานหญิงขึ้นที่เป็นการเคลื่อนไหวใหญ่ในประเด็นเฉพาะเจาะจงที่แรงงานหญิงประสบปัญหา

ภาพการรณรงค์ ลาคลอด 90 วัน 

การเสริมสร้างกลุ่มแรงงานหญิงให้เป็นขบวนที่ชัดเจนมากขึ้น มีความจำเป็นเนื่องจาก คนงานหญิงถูกกดทับในหลายมิติ มิติแรกคือถูกกดทับจากระบบทุนนิยม ไม่แตกต่างจากแรงงานทั่วไป ระบบทุนนิยมที่กล่าวถึงก็คือ เมื่อคนงานเข้าไปอยู่ในโรงงาน ก็ถูกเอาเปรียบจากการที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ระดับการศึกษาต่ำ ถูกนายทุนมองมองว่า พวกเขาไม่ต้องอะไรมาก ไม่มีสวัสดิการต่าง ๆ และ ค่าแรงต่างๆ จะต่ำ  

มิติที่สองคือ แรงงานหญิงถูกกดทับจากระบบชายเป็นใหญ่ ตัวอย่างเช่น เมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา แรงงานหญิงส่วนใหญ่ที่เข้ามาทำงานโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงเทพและปริมณฑล จำนวนมากไม่ได้รับการศึกษา ขาดโอกาสและทางเลือกในการทำอาชีพอื่นๆ และทำงานเพื่อส่งเงินกลับไปเลี้ยงครอบครัวที่ต่างจังหวัด จากการขาดโอกาสที่ดีและทางเลือกในอาชีพ ในหลายโรงงาน แรงงานหญิงยังถูกนายจ้างเลือกปฏิบัติ โดยมองความเป็นผู้หญิงว่าไม่ทัดเทียมกับผู้ชาย เช่น ไม่มีการเลื่อนตำแหน่ง ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการต่ำกว่าแรงงานชาย บางกรณี ไม่มีโบนัสประจำปีแต่แรงงานชายอาจจะได้รับโบนัส

เหตุผลหนึ่งคือนายจ้างมองว่า แรงงานหญิงวันหนึ่งอาจจะตั้งครรภ์และคลอดบุตร ซึ่งนายจ้างเห็นว่าเป็นอุปสรรคกับการผลิตของโรงงาน บางกรณีเมื่อตั้งครรภ์นายจ้างก็ให้ออกจากงาน การลาคลอดในสมัยนั้นเพียง 30 วัน   “ไม่ว่าสังคมชายเป็นใหญ่ หรือสังคมทุนก็มองว่า ไม่ใช่ภาระของคุณที่ต้องจ่าย แต่เป็นภาระทางธรรมชาติที่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบ อันนี้เป็นเรื่องที่ผิด”  และมากไปกว่านั้น เมื่อแรงงานหญิงแต่งงานมีลูก นอกจากงานในโรงงานแล้ว ยังต้องรับผิดชอบลูกและงานบ้าน ซึ่งทำให้แรงงานหญิงขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง เพราะข้อจำกัดเหล่านี้ รวมถึงนายจ้างหรือการจ้างงานในระบบทุนนิยม ก็ไม่ดูแลแรงงานหญิงในเรื่องดังกล่าว

มิติที่สามคือถูกกดทับโดยรัฐ กล่าวคือ ที่ผ่านมา รัฐแทบจะไม่มีนโยบายหรือมาตรการในการพัฒนาแรงงานหญิง

นอกจากนี้ ปัญหาที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบันที่ยังไม่คลี่คลายลงคือเรื่องการถูกคุมคามทางเพศในสถานที่ทำงานหรือสถานประกอบการที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด ทั้งที่มีการร้องเรียนและที่ไม่มีการร้องเรียน

การกดทับเหล่านี้ เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ผู้หญิงจำเป็นที่จะต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง.. จึงนำมาสู่การจัดตั้งให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในองค์กรแรงงาน หรือเป็นขบวนการของผู้หญิงที่เกิดขึ้นในขบวนการแรงงาน  เพื่อให้ประเด็นต่างๆ ของผู้หญิงได้รับความสนใจ เช่น เรื่องลาคลอด เรื่องศูนย์เลี้ยงเด็ก การลาที่ได้รับค่าจ้างเมื่อผู้หญิงอยู่ช่วงเวลาของการมีประจำเดือนดังตัวอย่างในอินโดนีเซียซึ่งขบวนการแรงงานเคลื่อนไหวในเรื่องนี้

ภาพขบวนการแรงงานรณรงค์ลาคลอด 90 วัน

ระบบชายเป็นใหญ่ในองค์กรแรงงาน

ในองค์กรแรงงานที่เป็นตัวแทนของคนงานในการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ก็ยังถูกครอบด้วยระบบชายเป็นใหญ่ แรงงานหญิงเป็นแกนนำสหภาพแรงงงานในสัดส่วนที่ต่ำ และการแสดงความคิดเห็นในการประชุม ส่วนใหญ่ ถูกครอบงำด้วยความเห็นของนักสหภาพแรงงานที่เป็นผู้ชาย ประเด็นเฉพาะเจาะจงของแรงงานหญิงมักจะไม่เป็นข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานที่มีผู้ชายอยู่ในสัดส่วนสูง ซึ่งเป็นการกดทับในองค์กรตัวแทนคนงานเอง

การสลายระบบชายเป็นใหญ่ เป็นงานที่ต้องทำผ่านการจัดตั้งและการรวมกลุ่ม จะเด็จเล่าว่า ในช่วงการทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนที่ลงไปทำงานกับแรงงานหญิง การจัดตั้งและการรวมกลุ่ม เป็นเรื่องสำคัญ

การจัดตั้งและการรวมกลุ่มเรียนรู้ประเด็นแรงงานไปพร้อมกับเพศสภาพ

ปัญหาเรื่องความคิดชายเป็นใหญ่ แรงงานทุกคนควรเข้ามาเรียนรู้ คนงานที่ถูกครอบงำด้วยความคิดชายเป็นใหญ่เอง มีทั้งผู้หญิงผู้ชาย ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศจะต้องทำงานไปด้วยกันกับประเด็นสิทธิแรงงาน และความเป็นธรรมทางสังคม 

สิ่งสำคัญคือ งานจัดตั้งที่ทำให้มิติผู้หญิงออกมา ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การจัดประชุมอบรมประเด็น gender เพื่อให้อยู่ในมิติของสหภาพแรงงาน และมิติของการเคลื่อนไหวแรงงาน

“ความเข้าใจเรื่อง gender คำว่าเพศ เป็นเพียงเรื่องการแบ่งในเรื่องร่างกาย มันไม่ได้เป็นเรื่องของบทบาท เช่น เพศชายเป็นคนทำงานบ้านได้ไหม เป็นแม่ได้ไหม เลี้ยงลูกได้ไหม ผู้หญิงเป็นผู้นำได้ไหม เป็นผู้ชายร้องไห้ได้ไหม เป็นผู้หญิงเข้มแข็งได้ไหม เป็นผู้ชายละเอียดอ่อนได้ไหม ให้เขารู้ว่าจริงๆ แล้ว มันเป็นแค่เรื่องเพศแบ่งแค่นั้นเอง แต่สิ่งที่ผ่านมาในเชิงบทบาท มันถูกสังคมกำหนด ผู้ชายก็บอกว่า อันนี้เราทำไม่ได้หรอกเพราะเราเป็นผู้ชาย อันนี้เราก็อบรมเป็นรูปธรรมแบบทุกคนมีส่วนร่วม เราไม่ได้บอกว่าใครผิดใครถูก”

คนงานหญิงที่เข้ามาทำงานสหภาพแรงงาน นอกจากจะทำงานโรงงานอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวันแล้ว ยังต้องทำงานสหภาพแรงงาน การรวมกลุ่มสมาชิก และกลับบ้านไปยังต้องทำงานบ้าน และรับผิดชอบดุแลลูก ภาระรับผิดชอบดังกล่าวทำให้แรงงานหญิงที่เป็นแกนนำสหภาพแรงงานต้องทำงานอย่างหนักและจริงจัง หากครอบครัวขาดความเข้าใจ ผู้หญิงจะไม่สามารถเข้ามาทำงานด้านแรงงานได้มาก  การรวมกลุ่มจัดกลุ่มศึกษาจึงเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้

“ช่วงที่อบรมเรื่องบทบาทของชายหญิงในประเด็น gender มาระยะหนึ่ง เราก็จะเห็นหลายคนพอมีโอกาสมากขึ้น ก็จะต่อรองกับสามีเข้ามาทำงานในองค์กรสหภาพแรงงานมากขึ้น เพื่อให้เห็นว่างานบ้าน สามีเขาก็ต้องทำด้วย และสามีก็เข้าใจ ถ้าผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น เชื่อว่า ขบวนการแรงงานในประเทศไทยเข้มแข็งขึ้น”

ผลที่เกิดขึ้นจากการทำงานรวมกลุ่มและการจัดตั้งผ่านการเรียนรุ้ร่วมกันในประเด็นเพศสภาพและบทบาทชายหญิงที่รื้อถอนความเชื่อตามค่านิยมสังคม ผลก็คือ ผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้นำในสหภาพเพิ่มขึ้น และเกิดการเคลื่อนไหวผลักดันกฎหมายลาคลอด 90 วันจนประสบความสำเร็จในปี 2536

ก่อนการเคลื่อนไหวเรียกร้องกฎหมายลาคลอด 90 วัน องค์กรพัฒนาเอกชนได้เริ่มเข้าไปรวมกลุ่ม พยายามพัฒนาบทบาทผู้หญิงในพื้นที่พระประแดง อ้อมน้อย อ้อมใหญ่ และรังสิต โดยองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ เห็นพ้องกันว่า บทบาทผู้หญิงสำคัญ จึงเกิดกระแสเรื่อง gender ในขบวนการแรงงานขึ้นเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา  

“เราใช้กระบวนการการกลุ่มศึกษา อบรมเรื่องเพศสภาพหรือ gender เราใช้วิธีการลงไปจัดตั้ง พื้นที่ของผู้หญิงมีอยู่น้อยมาก วันหนึ่งก็จะวนเวียนอยู่กับบ้านกับที่ทำงาน ต่างจากผู้ชาย ผู้หญิงจะมีอยู่แค่ 2 บทบาทนี้ และคนงานหญิงทำโอทีหนักมาก บางคนทำงานควบกะ บางคนทำงาน 8 ชั่วโมงแล้วควบกะอีกคือทำงานวันหนึ่ง  16 ชั่วโมง เพราะหวังที่จะเอาเงินไปให้ทางบ้านให้ได้ การทำกลุ่มศึกษาจะเพิ่มบทบาทผู้หญิงในการเข้ามามีส่วนร่วมกับสหภาพแรงงาน” 

การรวมกลุ่มจัดตั้งนำมาสู่การสร้างเครือข่ายแรงงานหญิง เช่น กลุ่มย่านพระประแดง กลุ่มย่านรังสิต ในปี 2533 มีการเดินขบวนเรียกร้องในประเด็นผู้หญิงในวันสตรีสากล 8 มีนาคม โดยตกลงกันเสนอข้อเรียกร้องคือกฎหมายลาคลอด 90 วัน ซึ่งมาจากสภาพปัญหาและความต้องการของคนงานหญิง ซึ่งเห็นว่าเป็นข้อเรียกร้องที่มีความสำคัญอันดับแรก  ในปีต่อมา มีการรณรงค์ขยายตัวมากขึ้น มีการสื่อสารกับสาธารณะ และมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง โดยทุกวันที่ 8 มีนาคม จะรณรงค์ผลักดันให้เกิดกฎหมายลาคลอด 90 วัน จนมาประสบความสำเร็จในปี 2536

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จคือ เป็นข้อเรียกร้องที่มาจากรากฐานปัญหาของผู้หญิง และผู้หญิงอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นประเด็นที่มีความชอบธรรมต่อสาธารณชน

“มันเห็นชัดว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่ถูกเอาเปรียบมาก ท้องก็ถูกไล่ออก บางคนท้องยังต้องไปเอาผ้ามารัดไว้ไปทำงานโรงงานเพื่อไม่ให้เห็นว่าตัวเองท้อง บางคนตกเลือด แล้วคนก็รู้สึกเห็นใจเด็กด้วยว่า ทำไมไม่ได้อยู่กับแม่ อยู่แค่เดือนเดียว เกิดแนวร่วม องค์กรด้านสาธารณสุขก็สนับสนุน เพราะมันมีผลดีต่อเด็ก ต่อสุขภาพเด็ก กลุ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็เห็นด้วย เลยทำให้มันเป็นกระแสเคลื่อนไหวทางสังคมในยุคนั้น” 

การจัดตั้งและรวมกลุ่มแรงงานหญิงมีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะทำให้สหภาพแรงงานมีสมาชิกมากขึ้นและมีอำนาจต่อรองมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังทำให้สามารถทะลุกำแพงของระบบชายเป็นใหญ่ในองค์กรแรงงานได้ และที่สำคัญประเด็นของผู้หญิง จากตัวอย่างในเรื่องการลาคลอดจึงสามารถออกมาเป็นข้อเรียกร้องตามความจำเป็นของผู้หญิงได้ ในทางกลับกัน หากผู้หญิงขาดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งและขาดการจัดตั้งทางความคิดแบบกลุ่ม ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง เช่น การลาคลอดโดยได้รับค่าจ้าง จะไม่สามารถเป็นประเด็นที่เป็นข้อเรียกร้องร่วมของแรงงานได้

จะเด็จ มองว่า   “ขบวนการแรงงานส่วนมากเป็นผู้ชาย เขาก็จะไม่เห็นความสำคัญ สิ่งที่สำคัญคือคนงานหญิงได้ออกมาออกเสียงให้กับประเด็นของตัวเอง ช่วงแรก ๆ ผมจำได้ว่ามีผู้นำแรงงานชายบางคนบอกว่า โอ้ย เคลื่อนไหว ลาคลอด หน่อมแน้ม”  

จากนั้นมา เมื่อการรวมกลุ่มแรงงานหญิงเข้มแข็ง เสียงของแรงงานหญิงได้รับการได้ยินจากสาธารณะ เกิดเป็นกระแสสังคม ผู้นำแรงงานและขบวนการแรงงงานเริ่มเห็นความสำคัญและเริ่มเห็นด้วยและสนับสนุน ประเด็นนี้จึงกลายเป็นประเด็นสำคัญของขบวนการแรงงานที่ปักหมุดประเด็นผู้หญิงอย่างชัดเจนนับตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา  

 เพื่อจะทำให้ประเด็นความต้องการของแรงงานหญิงเป็นข้อเรียกร้องของแรงงานสู่สาธารณะ บทบาทการสนับสนุนขององค์กรพัฒนาอกชน เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานหญิงให้นำประเด็นออสู่สาธารณะ  และรวมถึงสิ่งที่เรียกว่า “การจัดตั้ง” หรือการรวมกลุ่มกัน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิด ปัญหา และนำเสนอทางออกร่วมกัน อย่างเป็นประชาธิปไตย   

“การลงไปจัดตั้ง องค์กรพัฒนาเอกชนหรือที่ยุคนั้นเรียกว่านักจัดตั้ง จะเป็นคนที่มีบทบาทสนับสนุน ซึ่งต้องเข้าใจเรื่องแรงงานหญิงไม่เพียงเรื่องสิทธิ แต่ต้องเรียนรู้เพื่อเข้าใจมิติที่ลึกซึ้งกว่านั้น เพื่อที่จะดึงประเด็นออกมาให้ได้”

ที่สำคัญ องค์กรพัฒนาเอกชนต้องส่งเสริมและสร้างโอกาสให้แรงงานออกมาส่งเสียงตามที่ประสบปัญหาโดยตรง โดยองค์กรพัฒนาเอกชนมีบทบาทเพียงเป็นผู้สนับสนุนการต่อสู้เท่านั้น ข้อเรียกร้องที่มาจากตัวเทนของผู้ประสบปัญหาจึงจะมีน้ำหนัก ตัวอย่างของการเรียกร้องการลาคลอด 90 วัน

“อย่างกรณีลาคลอด  เราก็จะเห็นรูปของคนท้องออกมาเคลื่อนไหว เราเห็นผู้นำแรงงานหญิงที่เป็นผู้นำจริงๆ ออกมาเคลื่อนไหว คนที่ประสบปัญหาจะเป็นส่วนสำคัญในการแสดงออกและทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง”  

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าการเคลื่อนไหวผลักดันกฎหมายลาคลอด 90 วัน มีความพยายามจากกลุ่มแรงงานหญิงที่จะเสนอประเด็นเงินสงเคราะห์การคลอดบุตร ในการผลักดันกฎหมายประกันสังคมของขบวนการแรงงานที่ประสบผลสำเร็จในปี 2533 โดยกลุ่มแรงงานหญิงที่ค่าจ้างต่ำ ขาดสวัสดิการต่างๆ จากกลุ่มย่านรังสิต พระประแดง อ้อมน้อย อ้อมใหญ่ เข้ามาร่วมเป็นมวลชนพื้นฐานในการเคลื่อนไหวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการกดดันหน้ารัฐสภาในช่วงการพิจารณาร่างกฎหมายประกันสังคมในวาระที่สาม

“แรงงานหญิงที่ออกมาเคลื่อนไหวผลักดันกฎหมายประกันสังคมในฐานะผู้นำ อาจจะไม่เป็นที่รู้จักเท่าผู้นำแรงงานชาย แต่มวลชนพื้นฐานที่ทำให้การผลักดันกฎหมายประกันสังคมสำเร็จ ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง เราจะเห็นว่า แรงงานหญิงจากอ้อมน้อย อ้อมใหญ่ รังสิต พระประแดง มากันไม่รู้กี่พันคน สลับกันมาหลังเลิกกะ และคนงานหญิงที่กำลังท้องก็มากันเป็นจำนวนมาก”

จะเห็นได้ว่า ในช่วงปี 2530 เป็นต้นมา เกิดการจัดตั้งรวมกลุ่มแรงงานหญิงมากขึ้น เกิดเครือข่ายแรงงานหญิงในต่างโรงงาน ต่างพื้นที่ ข้ามรั้วโรงงาน ความสมานฉันท์แรงงานหญิงก่อรูปขึ้น จากจากการรวมกลุ่มเป็นมวลชนสนับสนุนข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานในช่วงกฎหมายประกันสังคมมาสู่การเรียกร้องในประเด็นที่ปัญหาหลักของแรงงานหญิงที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของผู้หญิงในมิติของแรงงาน เพศสภาพ และด้วยบุคลิกภาพที่อดทน เข้มแข็ง เต็มใจเป็นกำลังสนับสนุนอยู่ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว หรือเรื่องนโยบายสาธารณะ เช่น การประกันทางสังคมที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับกำลังแรงงานทุกระดับชั้น ทุกฐานะ รวมไปถึงชนชั้นกลาง พนักงาน ลูกจ้างทุกประเภท

สู่ความหลากหลายของขบวนการผู้หญิง

ขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิงไม่จำกัดเพียงประเด็นแรงงานเหมือนยุคเริ่มต้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เพศสภาพมีนิยามที่กว้างขึ้น ผู้คนที่เข้ามามีบทบทร่วมกันมีความหลากหลายยิ่งขึ้น ประเด็นข้อเรียกร้องมีความเหมือนกันและแตกต่างในทุกกลุ่ม แต่พื้นฐานที่เหมือนกันของกลุ่มที่หลากหลาย และจากอดีตถึงปัจจุบันก็คือความเสมอภาค ความเท่าเทียม ระหว่างมนุษย์ หรือพูดง่ายๆ ว่า ทุกคนมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ย่อมต้องไม่มีการปฏิบัติที่แตกต่างกัน

ความหลากหลายของข้อเรียกร้องหรือความต้องการของขบวนการผู้หญิงเติบโตขึ้นทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย ในบริบทของประเทศไทย ขบวนการแรงงานหญิงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการผู้หญิง ซึ่งแรงงานหญิงหลายกลุ่มก็เข้าร่วมสนับสนุนในประเด็นต่างๆ ของผู้หญิง เช่น ความเสมอภาคทางเพศ ความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว การล่วงละเมิดทางเพศในสถานที่ทำงาน การแต่งงานเพศเดียวกัน เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งตัวตน ท่ามกลางความหลากหลายของประเด็นข้อเรียกร้องทั้งในประเทศไทยและในระดับสากล ตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า ปัญหาของผู้หญิง ส่วนใหญ่มีประเด็นร่วมกัน และเกิดการผลักดันร่วมกันอย่างมีพลังได้ เช่น ประเด็นความรุนแรงทางเพศ

“ ความรุนแรงทางเพศ กับความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าอาชีพไหนก็โดนหมด จึงเกิดการเคลื่อนไหวขึ้น จนเกิดวันยุติความรุนแรง และเกิดกลไกร่วมกัน เช่น ศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาล กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงในครอบครัว มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องความเท่าเทียมเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในภาพรวมของขบวนการผู้หญิง”

นอกจากนี้ ภาพรวมของขบวนการเคลื่อนไหวไม่เฉพาะขบวนการผู้หญิง โซเชียล มีเดียมีบทบาทสูงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในการรณรงค์ประเด็นต่างๆ คนหลากหลายอาชีพ ต่างภูมิหลัง หลากหลายวัย เข้ามามีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้น ในหลายประเด็น เกิดเป็นกระแสสาธารณะ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่เป็นอยู่และแนวโน้มใหม่ในการทำงานทางสังคม จะเด็จ มองว่า การขยับตัวของสังคมไปในทิศทางของการใช้โซเชียลมีเดีย เป็นสิ่งที่จำเป็นของกลุ่มต่างๆ รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน ทว่าช่องว่างที่น่าจะมีการเติมเต็มก็คือ การรวมกลุ่มและการจัดตั้ง รวมทั้งกลุ่มศึกษาที่ต้องรักษาเอาไว้ในการทำงานทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแรงงาน

ในสถานการณ์ปัจจุบัน กลุ่มเคลื่อนไหวในมิติทางสังคมกลุ่มต่างๆ เติบโตขึ้น เป็นกระแสทางสังคม และเป็นปรากฏการณ์การแสดงออกที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน กลุ่มผู้หญิงความเสมอภาคทางเพศ และกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีความกระตือรือร้นในการรวมกลุ่มและการแสดงออกในสิ่งที่พวกเขาและเธอประสบปัญหา

ในขณะเดียวกัน ในมุมของแรงงาน สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงเป็นปัจจัยให้เกิดความกดดันต่อผู้มีรายได้น้อยและแรงงานมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะแรงงานหญิง

เมื่อผู้หญิงเข้ามาทำอาชีพต่างๆ หลากหลายขึ้นกว่าในอดีต การจ้างงานผู้หญิงก็มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ต่างจากในอดีตที่การจ้างงานมีความชัดเจน ดังเช่นการจ้างงานแรงงานหญิงในโรงงงาน การเรียกร้องค่าแรงและสวัสดิการที่จำเป็น สามารถเป็นไปได้จากการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง

แต่ในปัจจุบัน การจ้างงานที่ถูกทำให้เชื่อว่าไม่มีนายจ้าง เช่น คนขับรถจักรยานยนต์ส่งอาหารที่ทำงานผ่านแพลตฟอร์มซึ่งผู้หญิงการเข้ามาทำงานในอาชีพนี้มากขึ้น

“แพลตฟอร์มใหม่ๆ เกิดขึ้นเต็มไปหมด แพลตฟอร์มแบบนี้ มันเป็นการเอาเปรียบอย่างหนึ่งของระบบทุน เมื่อระบบชายเป็นใหญ่ในสังคมไทยเปลี่ยนไปในทางที่ล่าช้า แน่นอนว่า เรามีคนรุ่นใหม่ที่พร้อมสู้ตรงนี้ แต่ก็มีคนอีกกลุ่มก็ยังเชื่อเรื่องระบบชายเป็นใหญ่ และระบบทุนก็ใช้ประโยชน์ทางอ้อมจากระบบชายเป็นใหญ่ โดยใช้แรงงานผู้หญิงที่ต้องหารายได้ ซึ่งเป็นงานที่เรียกว่างานอิสระ สามารถทำวันละ 3 ชั่วโมง 4 ชั่วโมงหลังจากทำงานบ้าน เลี้ยงดูลูก แต่กลับไม่ได้รับความคุ้มครองทางสังคม จึงเป็นการจ้างงานแบบที่สอดรับกับวิถีชีวิตของผู้หญิงที่อยู่ภายใต้ระบบสังคมชายเป็นใหญ่ซึ่งเป็นปัญหา”  

ในปัจจุบัน คนจำนวนมากโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่สนใจเรื่องความเท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น กลุ่มทางสังคมปรากฏตัวขึ้นอย่างหลากหลาย ระบบทุนนิยมพัฒนาการจ้างงานในรูปแบบใหม่ๆ ในสายตาของจะเด็จ งานจัดตั้ง งานรวมกลุ่ม การเข้าไปเรียนรู้ปัญหาความทุกข์ยากของคนยากคนจน แรงงาน ชาวบ้านในชนบท น่าจะเติมเต็มกระแสการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เติบโตและมีความหวังนี้ได้ ... เพื่ออนาคตของทุกคน 

เมื่อความเสมอภาคยังไม่เกิดขึ้น ทุกวันคือ วันสตรีสากล 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net