การประชุมก่อนวันสตรีสากลปี 2564: ลุกขึ้นเพื่อความเป็นธรรมทางเพศและความเป็นธรรมทางสังคม

การประชุมก่อนวันสตรีสากล ประจำปี 2564 : ลุกขึ้นเพื่อความเป็นธรรมทางเพศและทางสังคม หรือ The Pre International Women’s Day 2021: Rise for Gender and Social Justice คือ กิจกรรมที่จัดขึ้นก่อนวันสตรีสากล โดยมีเป้าหมาย เพื่อสร้างพื้นที่เพื่อรณรงค์ สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความตระหนักรู้ ตลอดจนสนับสนุนการขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางเพศและความเป็นธรรมทางสังคมอย่างมีส่วนร่วมของชุมชน องค์กรและเครือข่ายภาคประชาสังคม ตลอดจนนักเคลื่อนไหว เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการขับเคลื่อนยุติการกีดกัน เลือกปฏิบัติ และการเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง LGBTIQ และชุมชนที่ถูกทำให้เป็นชายขอบ

ที่ผ่านมาทุกวันที่ 8 มีนาคม หลายภาคส่วนที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง และความเป็นธรรมทางเพศและทางสังคมล้วนแต่มีบทบาทสำคัญในการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อเฉลิมฉลองวันสตรีสากล ดังนั้นกิจกรรมก่อนวันสตรีสากลปี 2564: ลุกขึ้นเพื่อความเป็นธรรมทางเพศและความเป็นธรรมทางสังคม  Pre International Women’s Day 2021: Rise for Gender and Social Justice ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 6 มีนาคม 2564 โดย องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ร่วมกับ V Day Thailand, Feminista, และ Thaiconsent ซึ่งเป็นองค์กรผู้ร่วมก่อตั้ง School of Feminist: Feminist Theory and Practice จึงได้ร่วมกันกับเครือข่ายจัดเสวนา ดังปรากฎในกำหนดการด้านบน โดยการเสวนานี้จะแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อในประเด็นต่างๆที่แตกต่างกัน 

สำหรับการเสวนาแรกจะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อเสวนาเรื่อง “ขบวนการเคลื่อนไหวเฟมินิสต์เพื่อพัฒนาความเป็นธรรมทางเพศ (Gender Justice) และสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ (Reproductive Rights)” นั้น ได้รับเกียรติจากผู้พูด 4 ท่านที่ทำงานขับเคลื่อนสังคมในด้านนี้ภายใต้องค์กรที่แตกต่างกันออกไปและโฟกัสในคนละมิติ โดยมี ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศและสมาคมเพศวิถีศึกษา เป็นผู้ดำเนินรายการสนทนาแรกในช่วงเช้าของวันนี้ 

ผู้พูดคนแรก คือ คุณชมพู่ สุพีชา เบาทิพย์ ผู้ก่อตั้ง “กลุ่มทำทาง” และเพจ Facebook “คุยกับผู้หญิงทำแท้ง” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนสังคมในด้านการทำแท้งปลอดภัยด้วยวิธีการผลักดันทางกฎหมาย ให้คำปรึกษาผู้หญิงที่ต้องการจะทำแท้งหรือท้องไม่พร้อม รวมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการทำแท้งให้สังคม 

โดยคุณชมพู่ได้กล่าวถึงปัญหาเรื่องการทำแท้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยว่า เกิดจากอคติของสังคมที่มีต่อการทำแท้ง โดยเฉพาะผู้ให้บริการที่ขาดความเข้าใจว่า การทำแท้งเป็นสิทธิในเรือนร่างของผู้หญิงโดยชอบธรรม เพราะมีทัศนคติว่า การท้องเป็นหน้าที่ของผู้หญิงอยู่แล้วเพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้ระบอบปิฏาธิปไตยหรือระบอบชายเป็นใหญ่ รวมทั้งแนวคิดที่ว่าการทำแท้งเป็นเรื่องผิดบาป ทำให้เกิดการไม่ยอมรับในเรื่องการทำแท้งระดับบรรทัดฐานทางสังคม (norm) ไปจนถึงระดับกฏหมาย (law) ที่ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับกลุ่มผู้หญิงที่ต้องการจะทำแท้งเนื่องด้วยสาเหตุต่างๆอย่างครอบคลุม รวมทั้งระบบการให้บริการการทำแท้งที่เข้าถึงได้ยาก 

ดังนั้น กลุ่มทำทางจึงพยายามที่จะเข้าไปแก้ปัญหาในจุดนี้ และได้ขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขกฏหมายอาญาที่ว่าด้วยเรื่องการทำแท้ง ผ่านความร่วมมือของ NGO ต่างๆถึง 70 แห่ง เช่น กลุ่มเครือข่ายหมอ กลุ่ม Choice เป็นต้น โดยได้มีการยื่นจดหมายไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี จนมีการตัดสินออกมาว่า ผู้หญิงที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์สามารถเข้ารับบริการทำแท้งได้โดยไม่ผิดกฏหมาย ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จก้าวแรกของกลุ่มทำทางและเครือข่าย และมากไปกว่านั้น ในยุคสื่อโซเชียลมีเดีย ผู้คนในสังคมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ก็ได้ให้การตอบรับ (feedback) ในทางบวกและมีการรณรงค์ถึงสิทธิของผู้หญิงในเรื่องการทำแท้งมากขึ้น ทำในปัจจุบัน ได้มีความก้าวหน้าด้านการขับเคลื่อนกฏหมายอาญาไปอีกก้าว คือ ผู้หญิงที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 20  สัปดาห์สามารถเข้ารับบริการทำแท้งได้โดยไม่ผิดกฏหมายหากได้รับการยินยอม 

จุดหมายสูงสุดที่กลุ่มทำทางและเครือข่ายอยากเห็นมากที่สุดในอนาคตของสังคมไทย คือ การผลักดันให้การทำแท้งเป็นหนึ่งในบริการสุขภาพเหมือนการถอนฟัน มีระบบให้บริการที่เข้าถึงได้ง่ายโดยปราศจากอคติจากผู้ให้บริการและสังคม ราคาเป็นธรรมมากที่สุด  

ผู้พูดคนที่ 2 คือ คุณเบสท์ บุษยาภา ศรีสมพงษ์ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและผู้ก่อตั้งองค์กร SHero ซึ่งเป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว (Domestic Violence) 

โดยคุณเบสท์ได้กล่าวถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในสังคมไทยว่า กฏหมายในปัจจุบันไม่ได้คำนึงถึงเหยื่อที่ถูกกระทำความรุนแรงเป็นศูนย์กลาง และให้ความคุ้มครองเหยื่ออย่างที่ควรจะเป็นภายใต้กฏหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโฟกัสไปที่ครอบครัวมากกว่าตัวเหยื่อโดยตรง และมีการไกล่เกลี่ยให้ยอมความ หรือกลับไปอยู่กับครอบครัวที่มีปัญหาเรื่องการใช้ความรุนแรง รวมทั้งไม่มีมาตรการเยียวยาเหยื่อ ส่งผลให้เหยื่อรู้สึกว่าไม่ได้ถูกรับฟังอย่างแท้จริงและโดนกระทำต่อไปเรื่อยๆจากอำนาจทับซ้อน

ดังนั้น องค์กร SHero จึงพยายามที่จะเข้าไปแก้ปัญหาในจุดนี้ โดยโฟกัสไปที่การแก้ไขนโยบายที่ออกมาในเชิงไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอม และอาศัยข้อมูลจากการทำวิจัยเชิงคุณภาพที่สะท้อนถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวนั้นไม่ใช่ปัญหาส่วนตัว (Private issue) แต่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม เช่น แนวคิดที่ว่าผู้หญิงนั้นอ่อนแอ เพราะยังต้องพึ่งพาสามีที่ชอบใช้ความรุนแรงเรื่องเงินอยู่ ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงเศรษฐกิจ อีกทั้งคุณเบสท์ยังได้แสดงความคิดเห็นในจุดนี้เพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่ากลุ่มคนที่มักตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว ส่วนใหญ่มักจะเป็นกลุ่มผู้หญิง เด็ก และ LGBTQ+ หรือเรียกได้ว่ามีความเปราะบางต่อความรุนแรง แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาอ่อนแอ เนื่องจากมีหลายคนที่เข้มแข็งมากพอที่จะออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเองและสังคมในเรื่องนี้ อีกทั้งในยุคสื่อโซเชียลมีเดีย สังคมไทยเริ่มมีความตระหนักรู้ในเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของคนรุ่นใหม่ ที่คุณเบสท์มองว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ต้องการจะเข้าไปสร้างเครือข่ายและให้ความรู้ในประเด็นนี้มากขึ้นต่อไปในอนาคต เช่น จัดค่ายอาสา จัดโครงการเยาวชน รวมทั้งการสร้างเครือข่ายทนายความที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวอย่างแท้จริงเพื่อช่วยเหลือเหยื่อ 

จุดหมายสูงสุดที่คุณเบสท์ในฐานะผู้ก่อตั้งองค์กร SHero อยากเห็นมากที่สุดในอนาคตของสังคมไทย คือ กฏหมายที่คุ้มครองเหยื่อจากความรุนแรงในครอบครัวได้อย่างแท้จริง รวมทั้งมาตรการเยียวยาเหยื่อด้วย 

ผู้พูดคนที่ 3 คือ คุณนานา วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้ก่อตั้งเพจและองค์กร Thaiconsent หรือพื้นที่คุยเรื่องเซ็กส์และความสัมพันธ์แบบแซ่บและมีสาระ 

โดยคุณนานาได้กล่าวถึงปัญหาเรื่องเซ็กส์และความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยว่า ยังมีคนในสังคมอยู่มากที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง “Consent Sex” หรือความสัมพันธ์ทางเพศที่ต้องได้รับความยินยอมอย่างแท้จริงจากทั้งสองฝ่าย เช่น มีผู้กระทำบางคนที่ยังเข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องขอ consent จากอีกฝ่าย และการละเมิดหรือไม่เคารพ consent เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ผิด ซึ่งอาจเกิดจากความเข้าใจว่า sex นั้นไม่จำเป็นต้อง enjoy ทั้งสองฝ่ายเสมอไป ซึ่งจากปัญหาในจุดจึงทำให้เราเห็นว่า สังคมไทยนั้นยังขาดการให้ความรู้เรื่องเพศ (Sex education) ที่ถูกต้อง เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เรื่องเพศมักถูกทำให้เป็นเรื่องน่าอายและห้ามพูดถึงมาโดยตลอด 

ดังนั้น Thaiconsent จึงพยายามที่จะเข้าไปแก้ปัญหาในจุดนี้ โดยพยายามทำให้สังคมตระหนักรู้ถึงประเด็นเรื่อง consent และอื่นๆ โดยใช้การสื่อสารผ่านช่องทางสื่อโซเชียลมีเดียเป็นหลัก เพื่อเปลี่ยนบรรทัดฐานและทัศนคติต่อเรื่องเพศในมุมมองที่กว้างขึ้น เพราะสื่อในปัจจุบันมักจะพูดถึงแค่ประเด็นในเรื่องความสัมพันธ์เป็นหลัก เช่น วิธีมัดใจแฟน เป็นต้น อีกทั้งยังชอบทำให้ sex เป็นเรื่องแฟนตาซีที่ขัดกับความเป็นจริงผ่านหนังและละครต่างๆ ซึ่งเป็นการปลูกฝังมายาคติทางเพศแบบผิดๆให้สังคมโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว เช่น ในหนังหรือละคร การจูบไม่จำเป็นต้องขอ consent เพราะจะทำให้ดูไม่โรแมนติก เป็นต้น 

นอกเหนือจากการสร้างพื้นที่ให้ความรู้แล้ว Thaiconsent ยังสนใจที่จะพัฒนาระบบหรือ internet-based platform ในการเก็บข้อมูลเชิงสถิติ เพื่อนำไปผลักดันกฏหมายหรือนโยบายที่ให้ความช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ รวมทั้งยังสร้างเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เหยื่อสามารถเล่าประสบการณ์ของตัวเองได้โดยไม่ถูกตัดสินและรู้สึกว่าได้ถูกรับฟังอย่างแท้จริง ช่วยให้เหยื่อเข้าถึงความยุติธรรมเชิงสังคมและกฏหมาย รวมทั้งการให้กำลังใจในการเยียวยาตัวเองหรือสร้างอำนาจภายใน (power within) ขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากเหยื่อมักรู้สึกสูญเสียคุณค่าในตัวเอง (self worth) จากบาดแผลในใจที่เกิดจากประสบการณ์อันเลวร้ายที่ได้ประสบ (trauma) โดย Thaiconsent มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ และได้เปิดโครงการรับเด็กฝึกงานด้วย 

จุดหมายสูงสุดที่คุณนานาในฐานะผู้ก่อตั้ง Thaiconsent อยากเห็นมากที่สุดในอนาคตของสังคมไทย คือ การที่สังคมมีความรู้ความเข้าใจเรื่อง consent และ sex education ที่ถูกต้องอย่างแท้จริง และมีวัฒนธรรมในการพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องเพศกันได้อย่างเปิดกว้าง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศอันเกิดจากความไม่รู้ รวมทั้งสร้างพื้นที่ให้ผู้ถูกกระทำได้รับการช่วยเหลือและเยียวยาด้วย 

ผู้พูดคนสุดท้ายสำหรับการเสวนาในรอบนี้ คือ คุณกัชกร ทวีศรี ผู้อำนวยการพัฒนาเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ มูลนิธิโกลบอลแคมปัสเซส (Global Campuses Foundation)  

โดยคุณกัชกรได้กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงพิการในสังคมไทยว่า มีผู้หญิงพิการจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิในด้านต่างๆ เช่น สิทธิด้านการศึกษาหรือเข้าถึงข้อมูล เช่น ไม่เข้าใจว่าประจำเดือนคืออะไร ไม่กล้าไปตรวจภายใน เป็นต้น ทำให้เวลาเจอปัญหาแล้วไม่รู้ว่าจะไปปรึกษาใคร และไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิในด้านไหนบ้าง จึงก่อให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเพศและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ตามมา เนื่องจากช่องว่างทางกฏหมายที่เกิดจากการขาดความละเอียดอ่อนสำหรับผู้หญิงพิการ โดยเฉพาะในชนบท หรือพูดง่ายๆก็คือ ผู้หญิงพิการมักถูกมองข้ามและเข้าถึงสิทธิต่างๆได้น้อยกว่าผู้ชายพิการ หรือแม้กระทั่งในขบวนการขับเคลื่อน เสียงของผู้หญิงพิการก็มักจะดังน้อยกว่าเสมอ 

ดังนั้น คุณกัชกรจึงพยายามที่จะเข้าไปแก้ปัญหาในจุดนี้ โดยพยายามให้ความรู้ในเรื่องความพิการ (disability) เข้าไปเป็นหลักสูตรในสถานศึกษาต่างๆ เช่น หลักสูตร disability culture ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นคนรุ่นใหม่เช่นเดียวกัน และผลักดันให้เกิดการยกเลิกระบบโรงเรียนเฉพาะทางสำหรับผู้พิการ เนื่องจากทำให้เกิดการแบ่งแยกทางสังคมและมีทัศนคติในเชิงสงสารต่อผู้พิการมากกว่าที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง รวมทั้งการแก้นโยบายในเรื่องที่เกี่ยวข้องเพื่ออุดช่องว่างทางกฏหมายเพื่อทำให้ผู้หญิงพิการเข้าถึงสิทธิต่างๆได้มากขึ้น และให้มีมาตรการเยียวยาผู้พิการทุกรูปแบบ เช่น ผู้พิการจากอุบัติเหตุในภายหลัง ผู้ที่มีลูกพิการที่อาจส่งผลกระทบทางจิตใจต่อแม่หรือก่อให้เกิดโรคทางจิตเวช (mental illness) อันเนื่องมาจากการถูกละเลยเพิกเฉย ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในความรุนแรงที่น่ากลัวที่สุด 

จุดหมายสูงสุดที่คุณกัชกรอยากเห็นมากที่สุดในอนาคตของสังคมไทย คือ การเกิดหลักสูตรการศึกษาเรื่องผู้พิการ (disability study) ในระบบการศึกษา และเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อผู้พิการจากความสงสารให้เป็นเรื่องของสิทธิที่ผู้พิการควรได้รับอย่างแท้จริงในฐานะมนุษย์หรือด้านสิทธิมนุษยชน หาใช่พลเมืองชั้นสองของสังคม

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการเสวนาในหัวข้อแรกเรื่อง “ขบวนการเคลื่อนไหวเฟมินิสต์เพื่อพัฒนาความเป็นธรรมทางเพศ (Gender Justice) และสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ (Reproductive Rights)” จากที่ได้ฟังจากผู้พูดทั้ง 4 คนแล้ว พบว่ามีจุดร่วมของปัญหาที่เหมือนกัน คือ การขาดความรู้ความเข้าใจและการมีอคติหรือทัศนคติทางเพศแบบผิดๆต่อประเด็นต่างๆของคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำแท้ง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว consent sex และการเข้าถึงสิทธิของผู้หญิงพิการ ตามที่ผู้พูดแต่ละคนได้กล่าวไปแล้ว ทำให้แต่ละปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องจากกฏหมายยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร สำหรับแนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหานั้น ทั้ง 4 ประเด็นก็มีจุดร่วมที่เหมือนกัน คือ เน้นใช้การสื่อสารและสร้างความรู้ความเข้าใจให้คนในสังคม โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือคนรุ่นใหม่ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ พร้อมที่เปิดรับฟังปัญหา มีความเปิดกว้างทางความคิด และกล้าที่จะส่งเสียงเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาความเป็นธรรมทางเพศ (Gender Justice) และสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ (Reproductive Rights) ของผู้หญิงต่อไปเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
 

 

หมายเหตุ: จัดโดย องค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน ร่วมกับ V Day Thailand, Feminista, และ Thaiconsent ซึ่งเป็นองค์กรผู้ร่วมก่อตั้ง School of Feminist: Feminist Theory and Practice

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: กรัณฑพัชร์ อารีรักษ์ เป็นนักเขียนเฟมมินิสต์ฝึกหัด ผู้ผ่านการอบรม School of Feminist 2021

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท