Skip to main content
sharethis

รายงานสัมภาษณ์ ‘noir’ แอคเคานต์การเมืองที่เปิดหน้าสู้เพื่อประชาธิปไตย พร้อมเปิดใจฟังความรู้สึกหลังถูกตำรวจควบคุมตัว และประเมินข้อดี-ข้อเสียของทวิตเตอร์ รวมทั้งพลังของทวิตเตอร์ในรอบปีที่ผ่านมาและแนวโน้มในอนาคต

'noir' (@noirisaesthetic) เป็นหนึ่งในแอคเคานต์ดาวเด่นด้านการเมืองที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์พูดถึงมากที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักในโลกทวิตเตอร์จากการกระจายข่าวในแฮชแท็ก #Saveนิรนาม สู่แอคเคานต์การเมืองบนทวิตเตอร์ที่ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนประชาธิปไตยในโลกแห่งความเป็นจริง ประชาไทจึงชวน ‘เฟิส์ต’ เจ้าของแอคเคานต์ 'noir' มาพูดคุยเปิดมุมมองด้านการเมืองและตัวตนบนโลกทวิตเตอร์ รวมถึงเปิดใจถึงความรู้สึกหลังเหตุการณ์ความวุ่นวายเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา

จุดเริ่มต้นในการพูดเรื่องการเมืองผ่านทวิตเตอร์

เฟิสต์ เผยว่า ตนพูดเรื่องการเมืองเป็นปกติในชีวิตจริงและโซเชียลมีเดียอื่นๆ แต่จุดเริ่มต้นของการเล่นทวิตเตอร์อย่างจริงจังเกิดขึ้นเพราะการประชุมสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง พ.ศ.2562 เพราะตนเห็นว่าทวิตเตอร์เป็นสื่อกลางในการรับส่งข้อมูลที่รวดเร็วและหลากหลาย

“ผมสมัครแอคเคานต์นี้ไว้ตั้งแต่ปี 2016 แล้วแต่เล่นไม่เป็น กลับมาเล่นก็ช่วงประชุมสภาครั้งแรก จริงๆ ไม่ใช่เหตุผลหลักที่กลับมาเล่นทวิตเตอร์ เพราะเราพูดเรื่องการเมืองในโซเชียลมีเดียเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เราเล่นเฟซบุ๊ก ส่วนในชีวิตจริงเราก็พูดเรื่องนี้อย่างเปิดเผยอยู่แล้ว คุยกับเพื่อน คุยกับอาจารย์เป็นปกติ แต่ช่วงที่มาเล่นทวิตเตอร์ เพราะการประชุมสภาครั้งนั้น หลังจากมีการแต่งตั้งพรรคอนาคตใหม่ มันก็เริ่มมีกระแสการเมืองที่ค่อนข้างบูมมากขึ้น คนรุ่นใหม่ คนรุ่นผม คนรุ่นหลังผม ก็เริ่มพูดเรื่องการเมืองมากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ผมคิดว่าน่าสนใจ และเราควรจะมีส่วนร่วม”

“อย่างในเพจการเมืองเฟซบุ๊ก ส่วนใหญ่ก็จะนำรูป นำข่าวและข้อมูลมาจากในทวิตเตอร์เสียเป็นส่วนใหญ่ เราก็เห็นผ่านตามาเรื่อยๆ ว่าคนในทวิตเตอร์พูดเรื่องการเมืองกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งประจวบเหมาะกับการประชุมสภาครั้งแรก เกิดแฮชแท็ก #ประชุมสภา ผมก็ลองเข้าแฮชแท็กนั้น และตามข่าวจากตรงนั้น ปรากฏว่าไม่ต้องตามอ่านข่าวจากเพจข่าวในเฟซบุ๊ก หรือไม่ต้องรอดูรายงานข่าว เพราะข้อมูลในทวิตเตอร์มันเรียลไทม์มาก นอกจากข่าวแล้วก็ยังมีข้อมูลเชิงวิพากษ์ รวมถึงข้อวิจารณ์ของคนในสังคม มันค่อนข้างที่จะสนุกกว่าและได้ข้อมูลด้วย ก็เลยลองทวีตข้อความโดยใช้แฮชแท็กนี้ หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนมารีทวีต มาพูดคุยด้วย ก็เริ่มเล่นมาเรื่อยๆ”

ข้อดี-ข้อเสียของทวิตเตอร์

“ข้อมูลในทวิตเตอร์เร็วกว่า กระชับกว่า และเป็นข้อมูลที่สื่อสารได้ในยวงที่กว้างกว่า ส่วนเฟซบุ๊กนั้นวงสื่อสารค่อนข้างแคบและเป็นส่วนตัวมากกว่า ทำให้เวลาเราอยากจะพูดอะไรที่เป็นเรื่องกว้างๆ เพื่อให้คนอื่นรับรู้ด้วย อาจจะยาก ถ้าเราไม่ใช่คนที่มีชื่อเสียงหรือเป็นเจ้าของเพจดัง คนก็จะไม่ค่อยตาม ไม่ค่อยเห็นเรา คนที่เห็นก็มีแต่คนที่เป็นเพื่อนกับเรา แต่ในทวิตเตอร์ใครก็สามารถพูดได้ ใครก็สามารถกระจายข่าวได้ ใครก็สามารถเป็นสื่อได้ และก็ไม่ค่อยมีใครรู้จักตัวตนเราจริงๆ ส่วนใหญ่จะรู้จักกันเพราะความคิด”

“ส่วนข้อเสียก็มี ในขณะที่ข้อมูลเร็วและกระชับ แต่มันจำกัดจำนวนข้อความ ทำให้การสื่อสารมันผิดพลาด หรือถูกบิดเบือนได้ง่ายในบางครั้ง หรือการแชร์ต่อๆ กันอย่างรวดเร็วก็อาจทำให้คนขาดการวิจารณญาณในการไตร่ตรองวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก”

ผู้ร่วมผลักดัน #Saveนิรนาม ให้ติดเทรนด์ทวิตเตอร์

เฟิร์สเล่าว่าตนคือหนึ่งในผู้ผลักดัน #Saveนิรนาม ให้เป็นที่รู้จักในทวิตเตอร์ และแฮชแท็กดังกล่าวช่วยให้ยอดผู้ติดตามแอคเคานต์ของตนเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

“ถ้าทำให้คนรู้จักแบบที่มียอดผู้ติดตามสูงแบบข้ามคืนเลยจะเป็นช่วง #Saveนิรนาม คือต้องขอเล่าย้อนกลับไปช่วงก่อนหน้าที่นิรนามจะโดนจับไปสักพักหนึ่ง มีผู้ใช้ทวิตเตอร์คนหนึ่งส่งข้อความมาหาผมเพื่อข้อสัมภาษณ์ นำคำตอบไปประกอบงานวิจัย หัวข้อเกี่ยวกับการใช้ทวิตเตอร์ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งผมเป็นหนึ่งในคนที่เขาเลือกสัมภาษณ์ร่วมกับนิรนามและแอคฯ ใหญ่แอคฯ อื่นๆ ที่พูดเรื่องการเมืองและสังคมในช่วงนั้น ซึ่งตอนนั้นผมมีผู้ติดตามอยู่ประมาณ 4,000-5,000 คน หลังจากนั้น พอนิรนามโดนจับ คนที่ขอให้ผมช่วยตอบแบบสอบถามวิจัยส่งข้อความมาหาผม ให้ช่วยกระจายข่าวเรื่องนิรนามโดนจับให้หน่อย ผมก็เริ่มทวีตข้อความในแฮชแท็ก #Saveนิรนาม และอัปเดตข่าวสารเรื่อยๆ เพราะได้ข้อมูลมาจากเจ้าของงานวิจัยคนนั้น ผมเดาว่าเขาคงทำงานกับทีมที่ดูแลคดีของนิรนามร่วมกับศูนย์ทนายฯ ก็เลยข้อมูลที่ถูกต้องมา ส่วนผมก็มีหน้าที่ช่วยกระจายข่าว เพื่อให้คนมาตามต่อ คนก็เลยมาติดตามผมมากขึ้นเพราะต้องการติดตามข่าวเรื่องนิรนาม จนลามไปถึงการสร้างแฮชแท็ก #Saveนิรนาม และการระดมทุนช่วยเหลือนิรนาม”

จุดเปลี่ยนหลังจากทวีตเรื่องการเมือง

“ในทวิตเตอร์ที่มีคนมาติดตามเยอะๆ ผมก็ไม่แน่ใจนะว่าเขารู้จักผมหรือเปล่า คงไม่ได้รู้จักผมด้วยซ้ำ (หัวเราะ) การที่คนมาติดตามเราในทวิตเตอร์ ก็ไม่ได้แปลว่าเขาจะเห็นด้วยกับเราไปทุกเรื่อง มันเลยวัดไม่ได้ว่าเราเปลี่ยนไปมากแค่ไหน หรือคนรู้จักเรามากแค่ไหนในทวิตเตอร์ ส่วนในชีวิตจริง เรายังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่ได้มีคนรู้จักมากขึ้น แต่ถ้าจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนแค่วงแคบๆ ก็แค่ในหมู่เพื่อน ในหมู่คนรู้จัก ที่เขาก็รู้แอคเคานต์ทวิตเตอร์ของเรา ก็มีหลายคนที่เข้ามาชื่นชม มีเข้ามาให้กำลัง มาบอกเราว่าเขาเปลี่ยนไปเพราะได้อ่านทวีตเรา ได้เห็นสิ่งที่เราทำ ขอให้สู้ต่อไป คือผมไม่ได้ปกปิดตัวตน ใครที่รู้จักผมในชีวิตจริงก็จะรู้ว่านี่คือแอคเคานต์ทวิตเตอร์ของผม”

พลังของทวิตเตอร์ในรอบปีที่ผ่านมา

“เราเห็นว่าคนพูดถึงเรื่องการเมืองและประเด็นทางสังคมได้มากขึ้น มากขึ้นแบบผิดหูผิดตา แล้วยังส่งผลมาถึงในชีวิตจริง อย่างที่เห็นว่าคนลงถนน คนออกไปม็อบกันเยอะมาก ไม่ใช่แค่พูดในทวิตเตอร์แล้วจบ นอกจากนี้ เรื่องบางเรื่องที่ไม่ค่อยพูดกันข้างนอก คนในทวิตเตอร์ก็พูดกันอย่างถึงพริกถึงขิง พูดกันอย่างไม่กลัว พูดกันอย่างมีวิจารณญาณ และมีข้อมูลมาสู้กันด้วย ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง ม.112 เมื่อก่อนเงียบมากเลยนะ แทบไม่มีใครรู้จักเลย แม้จะมีคนพูดถึงเรื่องนี้กันมาตลอดในสังคม แต่เรื่องของ ม.112 ก็ไม่ได้เป็นที่รับรู้และถูกยกมาถกกันในวงกว้างในสังคม แต่พอตอนที่นิรนามโดนจับ ประเด็น ม.112 ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันมากขึ้น คนรู้จักกฎหมายตัวนี้มากขึ้น โดยเฉพาะเยาวชนหรือคนรุ่นผม”

“ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงนี้ ที่เราออกไปม็อบ ไปรวมตัวกัน ทวิตเตอร์มีส่วนสำคัญมาก เช่น การนัดรวมพล ส่วนใหญ่ก็นัดผ่านทวิตเตอร์ การกระจายข่าวสารก็ทวิตเตอร์ หรือต่อให้เราไม่ได้ไปม็อบ เราก็ยังเคลื่อนไหวกันได้ผ่านทางทวิตเตอร์ มันก็ทำให้เกิดความต่อเนื่อง หล่อเลี้ยงพลังในการเคลื่อนไหวได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี”

อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติม:

แนวโน้มในอนาคตของการใช้ทวิตเตอร์พูดคุยเรื่องการเมืองหรือประเด็นทางสังคม

“ผมหวังว่าเรื่องที่เราพูดกันอยู่วันนี้จะพูดได้อย่างปกติต่อไป ไม่อยากให้ต้องระแวดระวังว่าจะติดคุกหรือมีผลกระทบต่อหน้าที่การงาน และอยากให้คนออกมาพูดกันมากขึ้น ส่งเสียงให้ดังเป็นปกติ แต่ตอนนี้ที่เป็นอย่างนี้อยู่เพราะมันยังมีอะไรบางอย่างที่กดทับเราไว้ให้เรากลัว เรายังพูดไม่ได้เต็มที่ ส่วนแนวโน้ม...ผมคิดว่ามันคงไม่ดีขึ้นแบบทันตาเห็น คงจะเป็นอย่างนี้ไปสักพัก อาจจะระยะยาวเลยก็ได้ที่คนยังพูดไปด้วยกลัวไปด้วย ตราบใดที่เรายังเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ไม่ได้ แต่ก็หวังว่าเราจะมีอิสระมากขึ้นในการพูด อย่างเช่นเรื่อง ม.112 เรื่อวิจารณ์รัฐบาล วิจารณ์กษัตริย์ วิจารณ์งบประมาณ มันเป็นเรื่องที่เราควรจะพูดได้อย่างปกติอยู่แล้ว มันไม่ใช่เรื่องร้ายแรงหรืออาชญากรรม ถ้ามันมีปัญหา เราก็ต้องพูด ไม่ใช่ปิดไว้ สุดท้ายมันก็จะไม่เกิดการแก้ไข มันก็เหมือนกับหล่อเลี้ยงปัญหาไปเรื่อยๆ แนวโน้มในอนาคตมีหลายปัจจัย อาจจะตอบยาก แต่ผมมีความหวังนะ”

เสรีภาพในการแสดงออก

“ผมอยากจะบอกว่าการที่ทุกคนออกมาเคลื่อนไหวผ่านการพูดและการเรียกร้องคือสิ่งพื้นฐานและปกติในสังคมโลกที่พัฒนาแล้ว เรากำลังเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน ขอขีดเส้นใต้คำว่าขั้นพื้นฐาน (หัวเราะ) แต่กลายเป็นว่ารัฐกระทำต่อเราเหมือนว่าเราเป็นอาชญากร เป็นภัยความมั่นคงร้ายแรง การที่เราจะเป็นมนุษย์ที่ใช้สิทธิ์ใช้เสียงของเราได้อย่างที่ควรจะเป็น กลับกลายเป็นเรื่องยากเหลือเกินในสังคมนี้ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องที่ยอมรับได้ และมันเกินจุดที่ทุกคนจะนิ่งเฉย ใครที่ยังเฉยหรือรู้สึกว่าเรื่องพวกนี้มันไกลตัวก็อยากให้เริ่มพิจารณาได้สักนิดแล้วครับ”

ความรู้สึกเมื่อถูกรัฐคุกคาม

“ไม่ได้กลัว ไม่ได้ระแวงว่าเราจะถูกเล็งจากภาครัฐ เพราะเราเชื่อว่าเราไม่ได้ทำสิ่งที่ผิด ไม่ได้ทำให้ใครเสียหาย แม้กระทั่งเราพูดถึงรัฐบาลหรือพูดถึงใครก็ตาม เราก็พูดไปตามข้อมูลและข้อเท็จจริง ไม่ได้ใส่สีตีไข่ให้ใครเดือดร้อนหรือเป็นปัญหา ถ้าคิดว่าสิ่งที่ผมพูดมันผิด คุณก็ต้องเอาข้อมูลมาแย้งผม คุณก็ต้องมาอธิบายให้ผมรู้ หรือมาอธิบายให้สังคมรู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร ไม่ใช่ว่าถามอะไรนิดหน่อยก็เอากฎหมายมายัดปาก แบบนี้มันแปลกนะ (หัวเราะ) แต่ยังไงผมก็ไม่ได้รู้สึกกลัว”

เฟิสต์ เปิดเผยว่าตนคือหนึ่งในผู้ถูกตำรวจควบคุมตัวไปที่ ตชด.ภาค 1 จ.ปทุมธานี ภายหลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุม #28กุมภาบุกรังขี้ข้าปรสิต ซึ่งจัดโดยกลุ่ม REDEM ในวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยเขาเล่าความรู้สึกในวันนั้นให้ผู้สื่อข่าวฟังว่าโกรธแต่ไม่กลัว

“ตอนที่โดนจับมันชุลมุนจนผมไม่รู้สึกอะไร ไม่ทันได้รู้สึกโกรธด้วยซ้ำ แต่พอเข้าไปอยู่รถคุมขัง ผมค่อยรู้สึกโกรธเพราะผมเห็นเพื่อนตัวเองมีบาดแผลจากการถูกตีด้วยกระบอง เพราะนี่เป็นการออกมาใช้สิทธิชุมนุมเรียกร้องครั้งแรกของเพื่อนผม ก็รู้สึกผิดกับเพื่อนที่ว่า...เหมือนผมพาเพื่อนมาให้ถูกจับประมาณนั้น แต่จริงๆ แล้วผมและเพื่อนไม่ได้กลัวโดนจับหรอกครับในวันนั้น เพราะมันคือการหว่านแหจับ จับมั่ว”

“พอตั้งสติได้ ผมก็รู้สึกโกรธ โกรธอย่างเดียวเลย โกรธและอึดอัดที่เราทำอะไรไม่ได้ จะพูดก็ไม่ได้เพราะอยู่ในการควบคุมของตำรวจ แต่ในช่วงเวลานั้นก็ได้รับฟังเรื่องราวของคนอื่นๆ ที่ถูกจับกุมไปในคืนเดียวกัน หลายๆ คนก็ไม่ได้มาร่วมชุมนุม แค่เข้าห้องน้ำในปั๊มน้ำมัน พอเดินออกมาก็โดนจับ หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขับรถผ่านมาเจอการสลายการชุมนุมพอดีก็ถูกนำตัวไป”

“อีกสิ่งที่ผมกังวลคือเรื่องของทางบ้าน ตอนแม่รู้ว่าผมโดนจับ แม่ก็ร้องไห้ แต่ผมบอกไปแล้วว่าไม่ต้องห่วงเพราะมีทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนคอยช่วยเหลืออยู่ แต่เราก็ไม่ท้อนะ ยังสู้เหมือนเดิม”

เฟิสต์กล่าวทิ้งท้ายว่าตนทราบดีว่าเหตุการณ์ต่อจากนี้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และประชาชนหลายคนก็รู้สึกกลัวและกังวล ซึ่งหากใครไม่พร้อมออกมาชุมนุม ตนก็ไม่มีสิทธิ์ไปบังคับ เพียงแต่ขอให้ทุกคนเข้าใจถึงเหตุผลของความรุนแรงที่เกิดขึ้น และเงื่อนไขของความรุนแรงต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นจากประชาชน

“ผมเชื่อว่าทุกคนทราบสถานการณ์กันดีว่ามันจะแรงขึ้นเรื่อยๆ ต่อให้เราจะแสดงออกอย่างไรก็โดนกระทำอยู่ดี ไม่ผิดหรอกครับที่กลัว คนที่จะออกมาชุมนุมก็ต้องพร้อมในส่วนหนึ่ง หรือต่อให้ไม่มาก็ต้องแสดงออกด้านเจตจำนงค์ที่ชัดเจนว่าอยากให้ประเทศของเราเปลี่ยนแปลงจริงๆ ไหม เราพร้อมจะแลกกับสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นหรือไม่ ผมเข้าใจว่าต่างคนต่างมีเงื่อนไขที่เป็นข้อจำกัดในการออกมาชุมนุมเรียกร้อง แต่สิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนมองคือสาเหตุลึกๆ ของความรุนแรงที่เกิดจากรัฐ ประชาชนอดทนมานานแค่ไหน ทำไมถึงต้องตอบโต้ไปแบบนั้น อยากให้มองกันตรงนี้เพราะสิ่งที่ทุกคนทำไม่ใช่อาชญากรรม พวกเราไม่ใช่ผู้ร้าย เราทำทุกอย่างเพื่ออนาคตของทุกคนและของประเทศนี้ การที่รัฐใช้กำลังและนิติสงครามมาทำร้ายประชาชนมันไม่สมเหตุสมผลเลย ความรุนแรงมันถูกจุดชนวนจากรัฐ อย่าโทษกันเอง อยากให้เอาจุดมุ่งหมายร่วมกันเป็นแกนหลักเพื่อต่อสู้ร่วมกันและเดินไปข้างหน้า มันเป็นการต่อสู้ระยะยาวแน่นอน ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรแต่ไม่สูญเปล่าแน่นอน เพราะมันเปลี่ยนแปลงอะไรได้หลายๆ อย่างแล้ว มันเริ่มเห็นแสงสว่างแล้ว อย่าถอดใจ เราต้องสู้กันต่อไป”

ในโลกทวิตเตอร์ยังมีดาวเด่นด้านการเมืองอีกหลายบัญชีที่พูดคุยเรื่องการเมืองอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา โปรดติดตามบทสัมภาษณ์คนดังในโลกทวิตเตอร์ฉบับต่อไปได้กับทีมข่าวประชาไท

อนึ่ง #Saveนิรนาม นั้นเกิดขึ้นหลังข่าวมีข่าวศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับร้องเรียนจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ นิรนาม_ ระบุว่า ตำรวจเข้าค้นห้องพักและพาตัวไปสภ.เมืองพัทยาโดยไม่มีหมายจับ ต่อมานิรนาม_ ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จากการทวีตภาพและข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ก่อนที่ 24 ก.พ.63 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะให้ประกันวางหลักทรัพย์ 2 แสนบาท ระหว่างนั้นในทวิตเตอร์มีการรณรงค์ #saveนิรนาม อย่างต่อเนื่องจนติดเทรนด์ประเทศไทย เนื้อหาเป็นการเรียกร้องการประกันตัวหรือยุติการดำเนินคดี รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์สถานบันกษัตริย์ด้วย โดย ‘นิรนาม_’ หรือ @ssj_2475 มักทวีตข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ มีการติดตามราว 149.5K

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net