วันสตรีสากล : 2 ปีแล้วยังเงียบ 'คนงาน' จี้รัฐบาลทำตามนโยบายสวัสดิการที่พลังประชารัฐเคยหาเสียง

คนงานจัดกิจกรรมวันสตรีสากล 2 ปีแล้วยังเงียบ จี้รัฐบาลทำตามนโยบายพลังประชารัฐอย่างที่เคยหาเสียงไว้ พร้อมร้องจัดรัฐสวัสดิการ แก้ รธน.ทั้งฉบับให้ ปชช.มีส่วนร่วม

8 มี.ค.2564 เนื่องในวันสตรีสากล เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา หน้าทำเนียบฯ ตัวแทนสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์และองค์กรเครือข่าย จัดกิจกรรมเรียกร้องให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐดำเนินนโยบายตามที่เคยหาเสียงไว้ คือ ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 -425 บาท ป.ตรีเงินเดือน 2 หมื่นบาทอาชีวะเงินเดือน 1.8 บาท เด็กจบใหม่เสนอยกเว้นภาษี 5 ปี ยกเว้นภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ 2 ปีลดภาษีบุคคลธรรมดาเหลือ 10 % และนโยบายมารดาประชารัฐ เงินช่วยเหลือระหว่างตั้งครรภ์ 3,000 บาท/เดือน เงินค่าคลอดบุตร จำนวน 10,000 บาท ค่าเลี้ยงดูบุตร จำนวน 2,000 บาท/เดือน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ขวบ เป็นต้น เพราะวันนี้พรรคพลังประชารัฐได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลระยะเวลาผ่านมาจะครบ 2 ปียังไม่ดำเนินการตามที่หาเสียงไว้แต่อย่างใด

พร้อมทั้งเรียกร้องเพิ่มเติมคือ 1. รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อดูแลประชาชนอย่างมีคุณภาพ 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 3. รัฐบาลต้องให้การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 . 98 และฉบับที่ 183

4. รัฐบาลต้องปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 – 425 บาท ป.ตรีเงินเดือน 20,000 บาท อาชีวะเงินเดือน 18,000 บาท เด็กจบใหม่เสนอยกเว้นภาษี 5 ปี ยกเว้นภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ 2 ปีลดภาษีบุคคลธรรมดาเหลือ 10 % และโครงการมารดาประชารัฐ เช่น ตั้งครรภ์รับเดือนละ 3,000 บาท ค่าคลอดบุตร 10,000 บาท และค่าดูแลบุตรเดือนละ 2,000 บาท ตามที่พรรคพลังประชารัฐได้หาเสียงไว้

5. รัฐบาลต้องเพิ่มวันลาคลอดบุตรจากเดิม 98 วัน เป็น 180 วัน และสามีมีสิทธิลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 180 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 6. รัฐบาลต้องผลักดันกฎหมายให้สตรีมีสิทธิทำแท้งได้อย่างปลอดภัยเมื่อไม่พร้อมมีบุตร และ 7. รัฐบาลต้องผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายเงินบำนาญแก่ผู้สูงอายุทุกคนเป็นเงิน 3,000 บาท/เดือน

รายละเอียดเนื้อหาจดหมายที่ยื่นทวงถามต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งลงชื่อโดย เซีย จำปาทอง ประธานสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ และเดือน  แช่มสุข กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ดังนี้

วันที่  8  มีนาคม  2564

เรื่อง       ทวงถามความคืบหน้าข้อเรียกร้องและเสนอข้อเรียกร้องเพิ่มเติมให้รัฐบาลดำเนินการ

เรียน      พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี 

“วันสตรีสากล”  วันที่  8  มีนาคมของทุกๆปี  เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่ชนชั้นแรงงานหญิงได้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับการกดขี่ขูดรีดที่มีอยู่ในสังคม โดยเฉพาะบทบาทของแรงงานหญิงในโรงงานทอผ้า ที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ต่อสู้กับการกดขี่ขูดรีดทารุณในระบบทุนนิยม พวกชนชั้นนายทุนเห็นกำไรสำคัญกว่าชีวิตของมนุษย์ การทำงานมากกว่าวันละ 14 - 16 ชั่วโมงได้ค่าจ้างแรงงานเพียงน้อยนิด สภาพการทำงานในโรงงานเลวร้ายหลายคนเจ็บป่วยล้มตายไร้การเหลียวแล ทำให้แรงงานหญิงและชายทนไม่ได้กับระบบการกดขี่ขูดรีดจึงเกิดการลุกขึ้นสู้ มีการนัดหยุดงานและเดินขบวนในวันที่  8  มีนาคม ค.ศ. 1907 การต่อสู้ในครั้งนั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากแรงงานทั่วโลก สร้างความสั่นสะเทือนต่อระบบทุนนิยมทั้งโลกและได้มีการเรียกร้องชั่วโมงการทำงานให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง พร้อมทั้งปรับปรุงสภาพการทำงานและสวัสดิการต่างๆให้ดีขึ้น วันประวัติศาสตร์การต่อสู้อันยิ่งใหญ่ของแรงงานหญิงได้รับการยกย่องและมีการจัดงานเฉลิมฉลองมาถึงจนทุกวันนี้

พรรคพลังประชารัฐได้จัดตั้งขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี  2560  ซึ่งได้รวบรวมกลุ่มนักการเมืองจากหลายกลุ่มมารวมกันกับบุคคลที่มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับทหารที่ทำการรัฐประหารเมื่อปี  2557  การเลือกตั้งเมื่อวันที่  24  มีนาคม 2562  ได้กำหนดนโยบายหาเสียงที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงานและสัญญาว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะดำเนินการทันที  เช่น  ค่าจ้างขั้นต่ำ  400 - 425  บาท  ป.ตรีเงินเดือน  2  หมื่นบาทอาชีวะเงินเดือน  1.8  บาท เด็กจบใหม่เสนอยกเว้นภาษี  5  ปี ยกเว้นภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์  2  ปีลดภาษีบุคคลธรรมดาเหลือ  10  %  และนโยบายมารดาประชารัฐ เงินช่วยเหลือระหว่างตั้งครรภ์  3,000 บาท/เดือน เงินค่าคลอดบุตร จำนวน 10,000 บาท ค่าเลี้ยงดูบุตร จำนวน 2,000 บาท/เดือน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ  6 ขวบ  เป็นต้น  ณ  วันนี้พรรคพลังประชารัฐได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลระยะเวลาผ่านมาจะครบ  2  ปียังไม่ดำเนินการตามที่หาเสียงไว้แต่อย่างใด

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจและปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด  19  จากการบริหารงานผิดพลาดทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างมากมาย  ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องฆ่าตัวตายเพราะทนรอการดูแลเยียวยาจากรัฐไม่ไหว  บริษัทหลายแห่งปิดตัวลง  มีคนตกงานจำนวนมาก  ลดชั่วโมงทำงาน  ลดสวัสดิการ  ใช้ ม. 75  หยุดกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราว  หนักสุดถึงขั้นถูกเลิกจ้างไม่ได้รับค่าชดเชย  เป็นต้น  สถานการณ์รอบแรกยังไม่กลับสู่ภาวะปกติการระบาดรอบที่  2  กลับมาอีกครั้ง  ซ้ำเติมความเดือดร้อนที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ความทุกข์เพิ่มทวีคูณหลายเท่า  จากการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาลปัจจุบันที่ปล่อยปละละเลยเป็นช่องทาง      ให้แรงงานข้ามพรมแดนเข้ามาในประเทศแบบผิดกฎหมายโดยที่เจ้าหน้าที่บางกลุ่มอาจมีผลประโยชน์แอบแฝง  บ่อนการพนันที่เป็นแหล่งแพร่ระบาดในภาคตะวันออกและที่อื่นๆจนถึงปัจจุบันรัฐบาลก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้  ความล้มเหลวการบริหารประเทศที่ผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่าของรัฐบาลทำให้ผู้ใช้แรงงานและประชาชนคนไทยเดือดร้อนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน  ข้อเรียกร้องที่ผู้ใช้แรงงานได้ยื่นต่อรัฐบาลแต่ละครั้งถูกเพิกเฉยไร้การตอบสนอง  แม้จะเป็นนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐในฐานะที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ก็ตาม  เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งเป็นการเพิ่มรายได้ให้ประชาชนในสภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด  19  การสร้างหลักประกันด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง แรงงาน  และการส่งเสริมการรวมตัวกันของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย  สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียงและองค์กรเครือข่าย จึงขอทวงถามความคืบหน้าข้อเรียกร้องที่เคยยื่นต่อรัฐบาลและเสนอข้อเรียกร้องเพิ่มเติมให้รัฐบาลดำเนินการดังต่อไปนี้

1.  รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อดูแลประชาชนอย่างมีคุณภาพ

2.  แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมและเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

3.  รัฐบาลต้องให้การรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87, 98 และฉบับที่ 183

4.  รัฐบาลต้องปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 – 425 บาท ป.ตรีเงินเดือน  20,000 บาท  อาชีวะเงินเดือน  18,000  บาท เด็กจบใหม่เสนอยกเว้นภาษี  5  ปี ยกเว้นภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์  2  ปีลดภาษีบุคคลธรรมดาเหลือ  10 %  และโครงการมารดาประชารัฐ เช่น ตั้งครรภ์รับเดือนละ 3,000 บาท ค่าคลอดบุตร 10,000  บาท และค่าดูแลบุตรเดือนละ 2,000 บาท ตามที่พรรคพลังประชารัฐได้หาเสียงไว้

5.  รัฐบาลต้องเพิ่มวันลาคลอดบุตรจากเดิม 98 วัน เป็น 180 วัน และสามีมีสิทธิลาไปดูแลภรรยาคลอดบุตรได้ 180 วัน โดยได้รับค่าจ้าง

6.  รัฐบาลต้องผลักดันกฎหมายให้สตรีมีสิทธิทำแท้งได้อย่างปลอดภัยเมื่อไม่พร้อมมีบุตร

7.  รัฐบาลต้องผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายเงินบำนาญแก่ผู้สูงอายุทุกคนเป็นเงิน  3,000  บาท/เดือน

สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย  กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียงและองค์กรเครือข่าย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านฯจะพิจารณาดำเนินการตามข้อเรียกร้องเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้ประชาชนในสภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด  19  และการสร้างหลักประกันด้านเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง แรงงาน  และการส่งเสริมการรวมตัวกันของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยต่อไปและขอขอบคุณท่านฯล่วงหน้ามา  ณ  โอกาสนี้ด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท