Skip to main content
sharethis

คุยกับผู้ร่วมชุมนุมหลากหลายวัย ที่มาร่วมกันเรียกร้องหาความยุติธรรมหลังกระบวนการยุติธรรมไทยสร้างวิกฤติศรัทธาอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรฐานการให้ประกันตัว การใช้ข้อหารุนแรงดำเนินคดีกับผู้ที่เพียงแค่ใช้สิทธิการแสดงออกอย่างสงบ ไปจนถึงปฏิบัติการต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สร้างข้อกังขาว่าได้ทำตามกฎหมายกันจริงๆ หรือไม่

สวมเสื้อดำ วางพวงหรีด และติดโบว์ดำไว้อาลัยแด่ความยุติธรรม

ชีส เยาวชนที่มองการเมืองเป็นเรื่องของทุกวัย

ชีส นักเรียน วันนี้เธอมาร่วมไว้อาลัยให้กับกระบวนการยุติธรรมในไทย จากกรณีฝากขัง 3 นักกิจกรรมทางการเมือง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 และศาลมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว หรือการประกันตัว 

ชีส (นามสมมติ) เล่าถึงความรู้สึกที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของการทำกิจกรรมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์วันนี้ทั้งผูกโบว์ จุดเทียน ร้องเพลง ชูสามนิ้ว ว่า ‘ดีใจค่ะ มีหลาย ๆ ที่ที่คนออกมาแสดงจุดยืน แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวาน มันไม่ยุติธรรมกับพวกเราเลย เขาควรจะได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดีด้านนอก’

ผู้ใหญ่บางคนมีความเห็นว่า เยาวชนและนักเรียนควรเรียนหนังสือ ไม่ควรทำกิจกรรมการเมือง ตรงนี้ชีส รู้สึกอย่างไรบ้าง เธอตอบว่า ‘มันคืออนาคตของพวกหนูค่ะ สิ่งรัฐบาลกำลังทำ มันคือการทำลายอนาคตของพวกหนูอีกที เช่น การกู้เงินของรัฐบาลมาเยอะแยะ แต่ภาระหรือคนที่ต้องใช้คืนคือพวกหนูอีกทีหนึ่ง ทั้งระบบการการศึกษาในเมืองไทยมันพังไปหมดแล้ว มันไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่ เรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องของทุกคนที่ทุกคนควรที่จะแบบแสดงความคิดเห็นได้’

นอกจากนี้ เธอมีความเห็นเรื่องสันติวิธีว่า การทำสันติวิธี น่าจะช่วยทำให้คนมาร่วมการชุมนุมเยอะขึ้น แต่เธอก็มองว่า รัฐบาลทำพวกเขาไหม ถ้ารัฐบาลทำก่อน เช่น ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาทำให้ระคายเคือง ใช้รถฉีดน้ำ เธอก็เห็นว่าสามารถตอบโต้ได้บ้างในบางกรณี แต่ถ้ารัฐบาลเลือกที่จะอยู่จุดของเขา ไม่มาก้าวก่ายการแสดงออกเรื่องความคิดเห็น ก็คือควรจะเป็นสันติวิธีต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้ชีสจะมองว่าตอบโต้ได้ แต่มันก็ยากมากสำหรับผู้ชุมนุมที่จะต่อต้านการใช้ความรุนแรงของฝั่งภาครัฐ เพราะผู้ชุมนุมมีมือเปล่าเท่านั้น   

เธอมีข้อความถึงรัฐบาลนี้ว่า

‘ถ้ารู้ตัวว่าตัวเองไม่มีประสิทธิภาพ ก็ออกไปเถอะค่ะ อย่ารบกวนพวกหนูเลย’ ชีส ทิ้งท้าย

กระบวนการยุติธรรมไม่ได้มาตรฐาน

ป้าแหม่ม หรือที่หลายคนรู้จักในนาม ป้ามุด คนเสื้อแดง ผู้มาร่วมกิจกรรมในวันนี้กล่าวว่า “ไม่มีความยุติธรรม ทำไมกลุ่ม กปปส. จับไป 2 วัน ผมก็ไม่ตัด แล้วยังให้ประกันตัว เห็นชัดๆ เลยว่าไร้ซึ่งมาตรฐาน แล้วอย่างนี้จะอยู่กันอย่างไร”

“เด็กๆ น้องๆ นักศึกษาที่ออกมาทำกิจกรรมไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร เขาเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อให้การเมืองดี เพื่อให้การศึกษาดี กินดีอยู่ดี พวก กปปส. เขาสร้างความเดือดร้อนให้ทุกภาคส่วน ยึดทำเนียบ ยึดศูนย์ราชการ ทำข้าวของเสียหาย ศาลตัดสินแล้วว่ามีความผิด ให้เข้าไปนอนคุกแค่วันเดียวก็ให้ประกันได้ ไมค์ ไผ่ น้องรุ้ง เพนกวิน ลุงสมยศ ทนายอานนท์ เขาไม่ได้ทำอะไรผิดเลย แค่เรียกร้องความยุติธรรม เรียกร้องความถูกต้อง ทำไมต้องมีความอยุติธรรมกับคนเห็นต่าง เพราะฉะนั้นเราอยากให้ศาลเมตตา ให้ดูหลักการว่าน้องๆ นิสิตนักศึกษาที่เขาออกมาเรียกร้อง ไม่ได้สร้างความเสียหายอะไรเลย ศาลยังไม่ได้ตัดสิน แล้วทำไมเอาเขาไปขัง มันไม่ถูกต้อง” ป้าแหม่มกล่าว

“ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตยเลยตลอด 88 ปี ป้าสู้มา 10 กว่าปีแล้ว ป้าอยากให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตย อยากเห็นอนาคตของลูกหลาน ให้การศึกษาดี มีความกินดีอยู่ดี ไม่ต้องมาลำบากเหมือนป้า ป้าถึงได้ออกมาในวันนี้” ป้าแหม่มกล่าว

เล่าการเมืองผ่านศิลปะบนสติกเกอร์

พิสิฐฎ์กุล ควรเเถลง หรือกระเดื่อง เจ้าของเพจ Iconoclastor

พิสิฐฎ์กุล ควรเเถลง หรือกระเดื่อง เจ้าของเพจ Iconoclastor ผู้นำสติกเกอร์รวบรวมเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองมาแจกให้ประชาชนที่มาในวันนี้นำกลับไปเป็นที่ระลึก เผยว่า เขาต้องการใช้ศิลปะบอกเล่าเรื่องราวทางการเมืองและเพื่อเป็นการเก็บสะสมเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยสติกเกอร์ทั้งหมดนี้ เขาเป็นผู้ลงทุนลงแรงทำเองทั้งหมด

ดูที่มาของไอเดียสติกเกอร์ของเขาที่

Conflicted Visions Again : หลังผ่านรัฐประหาร เลือกตั้ง และโควิด-19

“จริงๆ ทำมาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ปีที่แล้วที่เริ่มมีกิจกรรมชุมนุม เราอยากให้มีการเก็บสะสมหรือบันทึกเรื่องราวในแต่ละวันว่าเกิดอะไรขึ้นเกี่ยวกับการเมือง อย่างที่นำมาวันนี้ก็มีหลายเหตุการณ์ เช่น สติกเกอร์รวมสถานที่ที่คนเสื้อแดงถูกสลายการชุมนุมเมื่อปี 53 สติกเกอร์เขายะลาที่ถูกรื้อไปทำเหมืองหิน ส่วนชิ้นนี้จะเป็นสติกเกอร์การ์ตูนล้อเลียนฟาร์มไก่ปารีณา ” พิสิฐฎ์กุลกุลกล่าว

เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อเหตุการณ์ที่ศาลไม่ให้ประกันตัวนักกิจกรรมและมีคำสั่งคุมขังทันที พิสิฐฎ์กุลกุลกล่าวว่า “เราหมดหวังกับกระบวนการยุติธรรม เขาไม่ได้แคร์ ไม่ได้สนใจกระบวนการยุติธรรมอะไรเลย มันไม่มีมาตรฐานอะไรเลยที่จะรองรับได้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่ได้ ในสังคมที่ระบบยุติธรรมเป็นแบบนี้”

การแสดงออกทางศิลปะไม่สมควรจะถูดปิดปาก

กัส หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมที่แต่งตัวคล้ายกับไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะบอททอมบลูส์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวถึงแรงบันดาลใจในการแต่งตัวมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ว่าต้องการแสดงถึงเชิงศิลปะ เช่นเดียวกับสิ่งที่แอมมี่ทำ

“เพราะว่าเห็นในสิ่งที่แอมมี่ทำมา เห็นในสิ่งที่เขาแสดงออกมาทั้งหมด เราเห็นว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่สมควรที่จะต้องโดนปิดปากในการพูดความจริงหรือการแสดงออกทางศิลปะ ผมเลยเลือกที่จะแต่งตัวคล้ายๆ กับแอมมี่ เพื่อจะสื่อสารในส่วนนี้” กัสกล่าว

กัสบอกอีกว่าตนรู้สึกหดหู่อย่างมากภายหลังทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวาน “รู้สึกหดหู่ ที่คนที่ทำเพื่อสังคม คนที่ออกมาพูดความจริงต้องถูกนำตัวไปกักขัง ซึ่งมันไม่ถูกต้อง มันคือการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตไปมาก มากจนน่ารังเกียจ อยากให้ทุกอย่างมันอยู่ตรงกลางจริงๆ อย่างน้อยๆ ถ้าศาลยังมีความเป็นกลางอยู่ เราจะได้สิ่งที่ถูกต้องจริงๆ แต่ถ้าศาลมีความเอนเอียง มีความอคติแบบนี้ นั่นหมายความว่าเราพึ่งใครไม่ได้แล้วครับ นอกจากตัวเอง เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของเราแล้วที่ต้องออกมาใช้สิทธิ์ ส่งเสียงให้ดัง”

‘โปเตโตม็อบ’ ที่เชื่อว่าประชาธิปไตยจะช่วยเศรษฐกิจของพวกเขาได้

เอ๋ สมชาย พ่อค้าเฟรนช์ฟรายส์

เอ๋ สมชาย พ่อค้าเฟรนช์ฟรายส์

เอ๋ สมชาย พ่อค้าเฟรนช์ฟรายส์ จากจังหวัดศรีสะเกษ วันนี้เขาเดินทางมาขายเฟรนช์ฟรายส์หน้าศาลาอาญา รัชดา พร้อมกับเพื่อนที่ขายหมึกย่างอยู่ใกล้ ๆ เขาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ปกติขายในตลาดนัดแถวคลองถม แต่ช่วงนี้ “ตลาดขายไม่ค่อยได้ รายได้มันไม่พอใช้ แต่มาขายที่นี่ได้มากกว่าที่ตลาด รายได้พออยู่ได้ ก็เลยตัดสินใจมา ไปแทบทุกม็อบ ล่าสุดก็ไปที่สนามหลวงด้วย (#ม็อบ13กุมภา คืนอำนาจให้ราษฎร)”

เอ๋ เล่าให้ฟังเพิ่มว่า เดิมทีเขาขายอยู่นานแล้ว มีอุปกรณ์อยู่แล้ว ก็แบ่งใส่รถเข็นมาขาย ไม่ได้ปรับตัวอะไรมาก ครั้งหนึ่งจะได้รายได้อยู่ประมาณ 3,000 บาทต่อครั้ง 

นอกจากนี้ หากสังเกตที่รถขายเฟรนด์ฟรายส์ของเอ๋ จะเห็นว่ามีผงโรยเฟรนช์ฟรายส์ และซอสหลากหลายรสชาติให้ผู้ซื้อได้เลือกสรร ซึ่งทำให้รสชาติเฟรนช์ฟรายส์ไม่ซ้ำซากจำเจ ทานได้ไม่เบื่อ

ส่วนไอเดียการขายที่ให้ลูกค้าได้เลือกซอสนั้น เขาศึกษาจากยูทูป แล้วเอามาประยุกต์ใช้กับตัวเอง  

“ชอบกินก่อน และก็กินบ่อย ๆ พอกินบ่อย ๆ แล้วจะรู้ แล้วขายประจำ ๆ และก็จะเก่งไปเอง” เอ๋ พูดถึงแรงบันดาลใจในการขาย 

สำหรับเทคนิคการขายในพื้นที่ม็อบของคุณเอ๋ คือ ทำเล เอ๋กล่าวเพิ่มว่า “ถ้าจอดที่ไม่ดีก็ขายไม่ได้ ไม่ไกลม็อบมากนัก และไม่ใกล้ม็อบมากนัก เพราะมันจะเป็นอันตรายได้” ถ้ามันมีการสลายการชุมนุม เขาจะหลีกเลี่ยงโดยการถอยออกไปที่ไกล ๆ ก่อน ถ้าเหตุการณ์มันสงบแล้ว ค่อยกลับเข้ามาขายใหม่ 

พ่อค้าเฟรนช์ฟรายส์ พูดถึงการชุมนุมว่า ‘เราอยากให้เป็นประชาธิปไตย สู้ด้วยกัน มาสู้ เรียกร้องเหมือนกัน’

สำหรับคำถามทำไมประชาธิปไตยถึงสำคัญ 

‘ก็เป็นเรื่องเศรษฐกิจ การปกครอง ความเหลื่อมล้ำ มันเห็นเอง ขนาดเด็กยังรู้ การมีประชาธิปไตยจะช่วยเรื่องพวกนี้ได้ เศรษฐกิจปากท้องคนยากคนจนจะได้ดีขึ้นหน่อย ได้ผู้บริหารประเทศที่ดูแลพวกเราจริง ๆ’ เอ๋ กล่าวทิ้งท้าย 

ความยุติธรรมอยู่หนใด?

เอ (นามสมมติ) ประชาชนที่ออกมาร่วมกิจกรรมในวันนี้เผยว่าตนไม่เห็นด้วยกับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น จึงขอเป็นหนึ่งเสียงออกมาแสดงพลังต่อต้านความอยุติธรรม

“เราเห็นถึงความไม่ยุติธรรม การที่น้องๆ ออกมาเรียกร้องมันก็เป็นสิทธิเสรีภาพของเขา ศาลไม่มีความยุติธรรม แต่ถามว่าแปลกใจไหม ไม่แปลกใจนะ เพราะเราเห็นถึงความทุเรศ เห็นถึงอำนาจอันอุบาทว์ ไม่มีความเสมอภาค อีกฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ได้ประกันตัว ไม่มีความเสมอภาคอย่างเห็นได้ชัด แต่ทางนี้ยังไม่มีความผิด แต่กลับจับแถมยังห้ามประกัน ความยุติธรรมของบ้านเรามันอยู่ที่ไหน แล้วถ้าเราอยู่บ้านเฉยๆ โดยไม่ออกมาแสดงพลังเพื่อช่วยเหลือน้องๆ เรารู้สึกละอายใจ เราทำไม่ได้หรอกที่จะอยู่เฉยๆ แบบนั้น” เธอกล่าว พร้อมบอกว่าขอเป็นกำลังใจให้นักกิจกรรม รวมถึงประชาชนทุกคนที่ออกมาต่อสู้เพื่อให้ความเท่าเทียมบังเกิดขึ้นในสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net