Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทกวีของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ข้างบน มองเผินๆ คือ “ความเห็นต่าง” แต่ที่จริงแล้วซับซ้อนกว่านั้น ก่อนหน้านั้นผมเคยอ่านความเห็นของ “นักปรัชญาพุทธ” คนหนึ่งพูดทำนองว่า “ใครที่เลือกเข้าร่วมงานกับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร เขาก็ย่อมมีเหตุผลของตนเอง ผมเคารพเหตุผลของเขา” ราวกับว่าการเข้าร่วมงานกับรัฐบาลจากรัฐประหารเป็นเรื่องความเห็นต่างทางการเมืองตามปกติ ไม่ควรตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ 

แท้จริงแล้วสำหรับ “กวีธรรม” อย่างเนาวรัตน์ ไม่ว่าความเห็นผ่านบทกวี, ข้อเขียนต่างๆ ไม่ว่า “การกระทำ” ในฐานะ “สว.ลากตั้ง” ย่อมไม่ใช่แค่เพียงความเห็นต่าง หากเป็นการบิดเบือนความจริง บิดเบือนความถูกต้องชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตย เป็นการสนับสนุนรัฐประหาร สนับสนุนเผด็จการ และการมีส่วนร่วมสืบทอดอำนาจเผด็จการ 

ที่ว่าบิดเบือนความจริง ก็เพราะตามความจริงที่ประจักษ์ชัดแจ้งคือ แกนนำ กปปส.ไม่ใช่ฝ่ายที่ต่อสู้กับ “ความอยุติธรรม” หรือไม่ได้รับ “ความยุติธรรม” แต่พวกเขาคือผู้ร่วมสร้าง “ความอยุติธรรมทางการเมือง” ขึ้นมา เพราะความยุติธรรมทางการเมืองขั้นพื้นฐานที่สุดคือการแข่งขันเข้าสู้อำนาจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่เสรีและเป็นธรรม แต่แกนนำ กปปส. นำม็อบยึดสถานที่ราชการ, ขวางการเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะเป็นเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร 2557 ที่ตามมาด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการ

กวีธรรมเองก็เป็นเนื้อเดียวกับการสืบทอดอำนาจเผด็จการในฐานะ สว.ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คือการเป็นเนื้อเดียวในกระบวนการทางการเมืองอยุติธรรมที่ขัดกติกาที่เสรีและเป็นธรรมตามระบอบประชาธิปไตย

ประการต่อมาคือบิดเบือนความยุติธรรม เพราะศาลยกฟ้องแกนนำ กปปส.ในคดีที่มีโทษหนักคือ “ข้อหากบฏ” แต่ตัดสินให้ผิดเฉพาะคดีที่มีโทษเบา และแกนนำทุกคนก็ได้รับ “สิทธิประกันตัว” ที่พึงได้เรียบร้อยแล้ว มันจึงไม่ใช่เรื่องของ “ความอยุติธรรม” ที่พวกเขาเผชิญแต่อย่างใด 

ฝ่ายที่แบกรับ “ความอยุติธรรม” คือ 4 แกนนำราษฎรอย่างอานนท์, สมยศ, เพนกวิน, หมอลำแบงค์ต่างหากที่ศาลยังไม่ตัดสินความผิด แต่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวที่ต้องได้ และยังห้ามญาติเข้าเยี่ยมอีกด้วย แต่กวีธรรมมองไม่เห็น ไม่เคยพูดถึง ไม่เคยเรียกร้องความยุติธรรมให้คนเหล่านี้ เอาแต่บิดเบือนว่าพวกที่สร้างความอยุติธรรมทางการเมืองและได้รับความยุติธรรมจากศาลแล้วว่าพวกเขาเผชิญความอยุติธรรม

สำหรับนักพุทธปรัชญาที่มองเรื่องการเข้าร่วมงานจากรัฐประหารเป็นแค่ “ความเห็นต่าง” และคนที่ตัดสินใจเช่นนั้นก็มีเหตุผลที่ควรเคารพ และนักปรัชญาพุทธคนนั้นก็มักพยายามแสดงออกว่าตนเป็นกลาง ผมก็อยากให้อ่านความเห็นของเปาโล เฟรเร ข้างล่างนี้

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/photo?fbid=835373273913746&set=a.122870151830732

โดยส่วนตัวผมไม่วิจารณ์ความเชื่อพุทธแบบบ้านๆ ว่างมงายอะไรต่างๆ แบบที่นิยมวิจารณ์กัน ผมคิดว่าความเชื่อที่ถูกพิพากษาว่างมงายพวกนั้นเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่กระทบต่อสาธารณะ ปัญหาเกิดจากความคิดและการกระทำของปัญญาชนพุทธแถวหน้าทั้งพระและฆราวาสมากกว่า 

ในทางการเมืองปัญญาชนพุทธแถวหน้าในบ้านเราไม่ได้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยอย่างคงเส้นคงวา และในทางพุทธจริยธรรม พวกเขาก็ไม่ซื่อตรงต่อพุทธจริยธรรม เพราะทั้งๆ ที่รัฐประหารปล้นอำนาจประชาชนผิดหลักพุทธจริยธรรม (เช่น ผิดอทินนาทานเป็นต้น) พวกเขาก็ยังสนับสนุนรัฐประหารทั้งโดยตรงและโดยปริยาย กระทั่งไปร่วมงานกับรัฐบาลจากรัฐประหารและรัฐบาลสืบทอดอำนาจผด็จการอย่างปราศจากหิริโอตตัปปะ

ในเชิงความคิด ปัญญาชนพุทธแถวหน้า นำเสนอคำสอนพุทธในเชิง “ปล่อยวาง-ไม่ยึดติด” อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสนับสนุนความเป็นคนประเภท “ignorant” ต่อรัฐประหาร พวกเขายังอ้างเสรีภาพเพื่อ “เลือก” ที่จะเป็นผู้ “ไม่รับรู้” ต่อความเลวร้ายของรัฐประหาร ความอยุติธรรมทางการเมืองและทางกฎหมายที่ตามมาจากรัฐประหาร ไม่รับรู้ความอยุติธรรมต่อเพื่อนร่วมสังคมที่ลุกขึ้นมาต่อต้านเผด็จการว่าเขาเหล่านั้นจะถูกอุ้มหาย อุ้มฆ่า ติดคุก หรือถูกกระทำอย่างโหดเหี้ยมใดๆ ก็ตาม 

จะว่าไปแล้ว ปัญญาชนพุทธแถวหน้าทั้งพระและฆราวาสคือพวกที่สร้างวัฒนธรรม “ปล่อยวางความจริง ยึดมั่นมายา” ใน “สังคมพุทธ-เจ้า” คือสังคมที่ผู้รู้พุทธปล่อยวางแบบ “ผู้ไม่รับรู้” ความจริงของความอยุติธรรมสารพัดที่ประชาชนผู้ลุกขึ้นต้านเผด็จการแบกรับ ไม่รับรู้ความจริงด้านที่เป็นปัญหาต่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของสถาบันกษัตริย์ที่เพื่อนร่วมสังคมผู้รักเสรีภาพและประชาธิปไตยชี้ให้เห็น เพราะพวกปัญญาชนพุทธเหล่านั้นยึดมั่นมายาในความดีด้านเดียวของสถาบันกษัตริย์ตามที่ปลูกฝังสืบทอดกันมายาวนาน 

เมื่อดูตัวอย่างการนำเสนอพุทธธรรมแนว “ปล่อยวาง-ไม่ทุกข์” ที่เห็นดาษดื่นในโลกโซเชียล เช่น ตามภาพข้างล่างของวินทร์ เลียววาริณ เราจะเข้าใจอะไรได้ชัดเจนขึ้น

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/photo?fbid=284414936380538&set=a.208269707328395

ในคำขยายความ “ทุกข์เกิดจากการปรุงแต่งเอง” วินทร์อ้างเนื้อหาตามหลัก “ปฏิจจสมุปบาท” แล้วสรุปว่า “พูดง่ายๆ คือหากมีคนโยนขี้ให้เรา ถ้าเราไม่เอามันมาป้ายทาตัวเอง เราก็ไม่เหม็น พูดภาษาธรรมคือ ถ้าไม่ปรุงแต่ง (เอาขี้มาทาตัวเอง) ก็ไม่เกิดทุกข์ (เหม็น) แล้วคนอื่นสามารถปรุงแต่งจิตของเราแทนเราได้หรือเปล่า ก็ไม่ได้ จิตใครจิตมัน ดังนั้นเราเองคือผู้สร้างทุกข์ให้ตนเอง” 

แต่สำหรับใครที่อ่านปฏิจจสมุปบาทมาบ้าง ย่อมรู้ว่าปฏิจจสมุปบาทคือคำอธิบายให้เห็นความจริงของกระบวนการเกิด-ดับของทุกข์ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีตัวเราผู้สร้างทุกข์และรับทุกข์แบบอุปมาเอาขี้มาทาตัวเองอย่างที่วินทร์สรุป 

ความจริงที่ปฏิจจสมุปบาทชี้ให้เห็น คือความจริงเกี่ยวกับกระบวนการเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ซับซ้อน ไม่ใช่กระบวนการปรุงแต่งแบบอัตวิสัยเพียวๆ เพราะที่จริงปฏิจจสมุปบาทคือส่วนขยายของ “อนัตตา” และ “สุญญตา” มองในแง่นี้จึงไม่ใช่แค่คำสอนที่พูดถึงทุกข์ที่เป็นอัตวิสัยของแต่ละคนเพียวๆ มันสะท้อนความเป็น “ระบบ” ของเหตุปัจจัยภายในและภายนอกที่ซับซ้อน จึงไม่ใช่จะพูดแบบมักง่ายว่า “หากมีคนโยนขี้ให้เราแล้วเราไม่รับเอามาป้ายทาตัวเองก็ไม่เหม็น หรือเราเองคือผู้สร้างทุกข์ให้ตนเอง” อะไรแบบนั้น เพราะในโลกของความเป็นจริงแห่งระบบเหตุปัจจัยที่ซับซ้อน ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่ใช่เรื่องของจิตที่เป็นอัตวิสัยอย่างเดียว เช่น 4 แกนนำราษฎรที่ถูกยัดเยียดความผิดต่อ “การกระทำที่ไม่ผิดหลักสิทธิมนุษยชน” และถูกลงโทษทางกฎหมายอย่างอยุติธรรม มันไม่ใช่ว่าพวกเขาสร้างทุกข์ให้ตนเอง หรือถ้าใจไม่ปรุงแต่งก็จะไม่ทุกข์อะไรทำนองนั้น 

แท้จริงแล้วระบบที่ไม่เสรีและเป็นธรรมทางการเมืองและกฎหมาย คือระบบเหตุปัจจัยของการเกิดทุกข์ทางสังคมและการเมือง มันคือเหตุปัจจัยหรือเงื่อนไขให้พลเมืองผู้ทำถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนต้องแบกรับความทุกข์ไม่จบสิ้น แต่ปัญญาชนพุทธแถวหน้าของ “สังคมพุทธ-เจ้า” กลับ “ไม่รับรู้” หรือมืดบอดต่อระบบเหตุปัจจัยที่สร้างความทุกข์ทางสังคมและการเมืองที่ชัดแจ้งนี้

การปล่อยวาง ไม่ยึดติดที่ปัญญาชนพุทธเหล่านั้นพร่ำพรรณนาให้ผู้คนสาธุ ขอแชร์ แทบทุกวันจึงเป็นการปล่อยวางความจริง ความถูกต้องชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมตามหลักนิติรัฐ แต่ยึดติด “มายา” ของพุทธธรรมที่พวกตนอ้างซึ่งไม่ใช่แค่ “มายา-ภาพหลอก” แต่ออกจะเป็น “มายาสาไถย์” เพราะตีความพุทธธรรม อ้างธรรมะ ธรรมาธิปไตยสนับสนุนรัฐประหารและการสืบทอดอำนาจเผด็จการโดยแสร้งไม่รับรู้ว่าการกระทำเช่นนั้นละเมิดหลักพุทธธจริยธรรมเสียเอง เช่นหลักอทินนาทานเพราะคอร์รัปหรือปล้นอำนาจของประชาชน

จึงไม่แปลกที่ใน “สังคมพุทธ-เจ้า” แห่งนี้ แม้แต่คนแบบประยุทธ์ จันทร์โอชาก็อ้างได้ว่าตนเองใช้หลักธรรมในไตรปิฎกปกครองประเทศ เพราะพุทธธรรมคือ “ยาสามัญประจำบ้าน” ที่เผด็จการและปัญญาชนพุทธฝ่ายสนับสนุนเผด็จการทั้งโดยตรงและโดยปริยายหยิบขึ้นมาใช้เป็นสูตรสำเร็จสร้างมายาคติและมายาสาไถย์ให้พวกตนดูดี และมีความชอบธรรมในการทำผิดหลักเสรีภาพและประชาธิปไตยได้แทบทุกเรื่อง 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net