Skip to main content
sharethis

ประธานสหภาพวิงสแปนสัมพันธ์และคนทำงานสนามบินแห่งประเทศไทยเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้เร่งช่วยเหลือพนักงานของบริษัท รักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานไทย จำกัด (บรท.) ที่ถูกโอนย้ายสังกัดและยกเลิกการจ้างงานอย่างไม่เป็นธรรม พร้อมชี้ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานผ่านสัญญาจ้าง

10 มี.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนเวลา 10.00. น. พนักงานบริษัท รักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานไทย จำกัด (บรท.) จำนวนกว่า 250 คน เดินทางมายื่นหนังสือต่อสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน อันนำไปสู่การโอนย้ายสังกัดอย่างไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ถูกเลิกจ้างในเวลาต่อมา

พนักงาน บรท. จำนวนกว่า 250 คนบริเวณหน้ากระทรวงแรงงาน

พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานเอ็กซ์เรย์ พนักงานตรวจค้น ประจำท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ซึ่งแต่เดิมเคยทำงานให้กับบริษัท รักษาความปลอดภัย เอเอสเอ็ม แมเนจเมนท์ จำกัด (ASM) ระบุว่าพวกเขาถูกต้นสังกัดเดิมบังคับให้ลาออกและเซ็นสัญญาจ้างงานใหม่กับบริษัท รักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานไทย จำกัด (บรท.) ในเดือน เม.ย. 2563 ซึ่ง บรท. เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ASM และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (ทอท.) โดยมี ทอท. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

พนักงานของ บรท. กล่าวว่าสัญญาการจ้างงานใหม่ภายใต้สังกัด บรท. มีข้อกำหนดและเงื่อนไขสำหรับงานประเภทเดียวกันที่ต่ำกว่าสัญญาจ้างงานเดิมอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น ค่าจ้างที่น้อยกว่าเดิม 50% ในขณะที่ถูกบังคับทำงานเป็นเวลาผลัดละ 8 ชั่วโมง โดยไม่มีเวลาพักเข้าห้องน้ำหรือรับประทานอาหาร ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของพนักงาน

ตัวแทนพนักงานกล่าวว่าตนและเพื่อนร่วมงานถูกต้นสังกัดเดิม คือ ASM เรียกเข้าพบเพื่อแจ้งว่ามีเวลา 3 วันในการตัดสินใจโอนย้ายงานไปยังต้นสังกัดใหม่ หากพ้นกำหนดนี้จะไม่สามารถโอนย้ายได้ โดยระเบียบการโอนย้ายคือต้องเซ็นยินยอมลาออกจากบริษัทเดิม และเซ็นสัญญาจ้างกับต้นสังกัดใหม่ ซึ่งทาง ASM ยืนยันกับพนักงานว่า บรท. ยินดีรับพนักงานที่มาจากการโอนย้าย โดยไม่จำกัดวุฒิการศึกษา ทำให้พนักงานหลายร้อยชีวิตต้องยอมเซ็นสัญญาจ้างงานใหม่ที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากไม่ต้องการตกงาน เพราะอยู่ในช่วงโรคระบาดโควิด-19

อำไพ วิวัฒนสถาปัตย์ ประธานสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์และคนทำงานสนามบินแห่งประเทศไทย (สร.วปพ.คสบท.) กล่าวว่าแผนการโอนย้ายงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนการลดต้นทุนและการจ่ายเงินซ้ำซ้อน โดย บรท. เลี่ยงการคิดคำนวณประสบการณ์การทำงาน และปรับเงื่อนไขวุฒิการศึกษาขั้นต่ำในการรับเข้าทำงานเป็นต้องจบระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) นอกจากนี้ สัญญาจ้างงานใหม่ยังปรับลดสวัสดิการ และพนักงานยังถูกบังคับให้ลางานโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without pay) ซึ่งปัจจุบันศาลแรงงานไทยกำลังพิจารณากรณีการละเมิดดังกล่าวอยู่

ด้วยเหตุนี้ พนักงานที่ได้รับผลกระทบ ร่วมกับ สร.วปพ.คสบท. จึงเดินทางมายื่หนังสือต่อสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ได้แก่

1. ขอให้กระทรวงแรงงานผลักดันใหเบริษัท บรท. หันมาทำงานร่วมกับสหภาพฯ เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสัญญาและยุติข้อพิพาท

2. ขอให้กระทรวงแรงงานหาทางออกอย่างเร่งด่วนให้กับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมจากงานที่เคยทำมาเนื่องจากขาดคุณสมบัติด้านการศึกษา

3.ขอให้กระทรวงผลักดันการนำข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาเก่ากลับมาบรรจุและรักษามาตรฐานแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

4. ขอให้กระทรวงแรงงานผลักดันให้บริษัทให้สิทธิคนงานในการพักเข้าห้องน้ำและรับประทานอาหารเที่ยงอย่งต่อเนื่อง โดยปราศจากอุผสรรคขัดขวาง

5. ขอให้กระทรวงแรงงานผลักดันบริษัทให้จัดหาห้องปฐมพยาบาลให้กับคนงาน

 

เสียงสะท้อนจากแรงงาน

บุณยวีร์ เจนกชกร เจ้าหน้าที่รักษาการ แผนกรักษาความปลอดภัย บอกว่าปัญหาหลักของเจ้าหน้าที่รักษาการ คือ การเข้าห้องน้ำและการรับประทานอาหารกลางวัน เนื่องจากต้องยืนเตรียมพร้อมประจำอยู่ตลอด หากจะสลับไปพักกินข้าวหรือเข้าห้องน้ำต้องมีคนมาสับเปลี่ยน ซึ่งส่งผลต่อสวัสดิภาพด้านสุขอนามัย ทำให้พนักงานหลายคนป่วยเป็นโรคกะเพราะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง

“การทำงานในแต่ละวันของเรา ต้องมีการเรียงแถวในตอนเช้าก่อนเข้าหน้าที่ปฏิบัติงาน เมื่อเข้าปฏิบัติงานแล้ว ห้ามละทิ้งจุดโดยเด็ดขาด การเข้าห้องน้ำจะต้องเรียกผู้ควบคุมมายืนประจำจุดแทน เพื่อให้เราได้เข้าห้องน้ำ” บุณยวีร์กล่าว พร้อมบอกว่าถ้าช่วงใดที่มีผู้ใช้บริการสนามบินจำนวนมาก ยิ่งทำให้ต้องอดทน งดเข้าห้องน้ำหรือห้ามพักกลางวัน ถ้าเจ้านายหรือแขกคนสำคัญมาก็จะต้องยืนรอประจำจุดจนกว่าเจ้านายจะผ่านไป ไม่สามารถสับเปลี่ยนหรือขอพักได้ อีกทั้งช่วงเวลพักกลางวันโดยเฉลี่ย คือ 30 นาทีเท่านั้น

บุณยวีร์ เจนกชกร เจ้าหน้าที่รักษาการ แผนกรักษาความปลอดภัย

“การรับประทานอาหาร ตอนเช้ากินข้าวได้ปกติเพราะไม่มีการแสตนด์บาย เริ่มกินมื้อเช้าตอนตี 4-5 ตื่นมาแล้วก็รีบรับประทานอาหารเลย เพื่อนที่จะได้รับกะต่อจากเพื่อนร่วมงาน กินมื้อเดียวแล้วทำงานยาว ออกเวรบ่ายสาม ระหว่างที่รอกลับบ้าน ชั่วโมงสุดท้าย หิวจนสั่น แต่ก็ต้องสู้ นายมาก็ยังต้องทำความเคารพ” บุณยวีร์กล่าว

สมพงษ์ คงมั่น พนักงานรักษาความคลอดภัยและการจัดการจราจรที่ทำงานกับบริษัท ASM มานาน 14 ปี ก่อนจะโอนย้ายมาอยู่กับ บรท. ในวันที่ 1 พ.ค. 2563 กล่าวว่าตนถูก บรท. เลิกจ้างด้วยเหตุผลว่าวุฒิการศึกษาขั้นต่ำไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ บรท. กำหนด ทั้งๆ ที่ก่อนทำเรื่องโอนย้าย ฝ่ายบุคคลของ ASM ยืนยันว่ายังทำงานได้เหมือนเดิม ไม่มีปัญหาเรื่องวุฒิการศึกษาและอายุ

“ASM ไม่ได้ติดป้ายประกาศว่าค่าแรงที่พนักงานที่ทำเรื่องโอนย้ายจะได้รับจาก บรท. คือเท่าไร จนพนักงานจำนวนกว่า 2,000-3,000 คน ได้ลาออกและโอนย้ายมาอยู่ บรท. การเลิกจ้างของ ASM และขั้นตอนการโอนย้ายสังกัด ไม่มีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน พนักงานจึงไม่รู้ว่ามาแล้วจะมีหลักประกันอะไร” สมพงษ์กล่าว

สมพงษ์ มั่นคง ตัวแทนพนักงานผู้ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม

“ผมได้ถามผู้บริหารฝ่ายบุคคลก่อนโอนย้ายมาอยู่กับ บรท. เรื่องวุฒิการศึกษาและอายุ เขาบอกกับผมว่าอายุไม่เกี่ยว วุฒิการศึกษาไม่เกี่ยว เขาบอกว่า ป.4-5-6 รับหมด ให้เราย้ายไป บรท. แต่ต้องลาออกจาก ASM ก่อนเท่านั้น และอยู่ได้จนเกษียณอายุ แต่ไม่มีหนังสือชี้แจงการโอนย้ายสังกัดมาให้เราสักใบ ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ผมได้รับหนังสือเลิกจ้างด้วยเหตุว่าวุฒิการศึกษาผมไม่ถึง พอผมขอเอกสารโอนย้ายบริษัทมา บรท. เขาก็ไม่มีให้ ผมจึงบอกว่าการเลิกจ้างแบบนี้มันไม่ชัดเจน แล้วจะให้ผมทำอย่างไร เขาจึงให้ผมมาเป็นพนักงานขับรถในฝ่ายสนับสนุนแทน” สมพงษ์กล่าว พร้อมบอกว่าการถูกเลิกจ้างของตนถือว่าไม่เป็นธรรมกับตนเองและเพื่อร่วมงานทุกคน ตนจึงมาเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรม โดยเอกสารสัญญาเลิกจ้างที่สมพงษ์นำมาแสดงต่อผู้สื่อข่าว ลงวันที่ 22 ก.พ. 2564 แต่สมพงษ์ระบุว่าเขาเพิ่งได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา และต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีในวันที่ 1 เม.ย. ที่จะถึงนี้ พร้อมได้รับเงินค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน และไม่ได้รับเงินชดเชยอื่นใดนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในสัญญาเลิกจ้างฉบับดังกล่าว

ขณะที่ ลุงชอบ พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ทำงานกับ ASM ตั้งแต่ปี 2549 กล่าวว่าเขาได้รับค่าแรงวันละ 175 บาท และทำงานวันละ 12 ชม. และถูกเลิกจ้างด้วยเหตุผลเดียวกับสมพงษ์ คือ วุฒิการศึกษาไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ

“จะเข้าห้องน้ำก็ลำบาก ผู้ใหญ่มาเราก็ตั้งหน้าตั้งตารอคอย ถ้าเราไม่ทำความเคารพเราก็มีความผิด กินข้าวต้องเรียกคนไปช่วย ถ้าไม่มีคนมาช่วย เรากินข้าวที่จุดปฏิบัติหน้าที่ เราก็โดนรายงาน” ลุงชอบกล่าว

ลุงชอบเล่าว่าตนประสบปัญหาหนักในการเข้าห้องน้ำ เพราะไม่ค่อยมีคนว่างมาสลับจุดประจำการกับตน ทำให้เคยปัสสาวะและอุจจาระรดกางเกงมาแล้ว

“ของแบบนี้อัดอั้นไม่ได้นะครับ มันออกมันก็ออกมาเลยนะครับ อายเพื่อนๆ แต่ผมไม่มีคนมาสับเปลี่ยนครับ” ลุงชอบกล่าว

ลุงชอบ พนักงานรักษาความปลอดภัย

ด้าน อำไพ วิวัฒนสถาปัตย์ ประธานสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์และคนทำงานสนามบินแห่งประเทศไทย (สร.วปพ.คสบท.)

“สิ่งที่เราพบเจอ บางครั้งคนภายนอกอาจจะไม่เข้าใจ คนภายนอกมักมองว่าคนทำงานสนามบินจะได้รับค่าจ้างสูง เป็นลูกจ้างรายเดือน แต่จริงๆ แล้วพวกเราเป็นลูกจ้างรายวัน ค่าแรง 300-400 กว่าบาทแค่นั้นเอง ถ้าเราไม่ได้ทำงานล่วงเวลา พวกเราก็อยู่ไม่ได้ ค่าแรงเรา ทำงาน 26 วันต่อเดือน เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 8,000 บาท (ไม่รวมค่าล่วงเวลา) ถ้าจะทำงานล่วงเวลาก็ต้องแข่งกันลงชื่อ ลงกันไป 30-40 คน แต่ทำงานได้จริงๆ ไม่กี่คน ที่เหลือก็กลับบ้านโดยไม่ได้รับอะไรเลย” อำไพกล่าว

อำไพ วิวัฒนสถาปัตย์
ประธานสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์และคนทำงานสนามบินแห่งประเทศไทย (สร.วปพ.คสบท.)

จากการเข้าไปช่วยพนักงานของ บรท. ซึ่งเป็นสมาชิกในเครือข่ายของสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์ฯ อำไพพบว่า นายจ้าง คือ ASM ให้ลูกจ้างจำนวนกว่า 3,000 คนเขียนใบลาออกพร้อมกันภายในเวลา 3 วัน แต่ทางสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์ฯ มองว่าการเซ็นใบลาออกแบบนี้ถือว่าผิดปกติ เพราะนายจ้างเรียกลูกจ้างเข้าไปพบในห้องเป็นกลุ่ม ใช้เวลาพูดคุยประมาณ 10-15 นาที และพูดในเชิงบีบบังคับให้ลูกจ้างต้องยอมเซ็นใบลาออก เช่น ตอนนี้ไม่มีงานตำแหน่งนี้ให้ทำแล้ว จะต้องโยกย้ายตำแหน่ง ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่ได้ไปต่อ นอกจากใบลาออก ยังมีสัญญาโอนย้าย และใบเสนองานเข้ารับเป็นลูกจ้างของ บรท. ซึ่งปรับลดสวัสดิการต่างๆ เช่น ไม่จ่ายเบี้ยขยัน ไม่มีค่าทักษะและประสบการณ์ รวมถึงมีข้อกำหนดการจ้างงานที่ขัดต่อกฎหมายแรงงาน เช่น ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ในการลาป่วยทุกครั้ง เป็นต้น

“เมื่อวานรับเรื่องของน้องคนหนึ่งมา เขาเคยได้เงินเดือน 30,000 บาท แต่พอย้ายมา ได้เงินเดือนแค่ 17,000 บาท เท่ากับว่ารายได้ของเขาหายไปครึ่งหนึ่ง ส่วนหนึ่งก็เพราะสภาวะแบบนี้ ค่าใช้จ่ายเราเท่าเดิม แต่รายได้เราลดน้อยลง ทำให้ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน แทบชักหน้าไม่ถึงหลัง แต่พวกเราก็ต้องอยู่ให้ได้ เพราะยังมีคนข้างหลังรออยู่” อำไพกล่าว

นอกจากนี้ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ยังร่วมยื่นหนังสือกับพนักงาน บรท. และสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์ฯ ผ่านกระทรวงแรงงาน เพื่อเร่งรัดและเรียกร้องให้ บรท. และ ทอท. ออกมาชี้แจงและแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว

ต่อมาเวลาประมาณ 12.30 น. สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกมารับหนังสือจากตัวแทนพร้อมกล่าวกับประชาชนที่มายื่นข้อเรียกร้องให้วันนี้ว่าตนจะนำเรื่องไปพิจารณาและดำเนินการแก้ไขปัญหาให้โดยเร็วที่สุด

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

อนึ่ง นอกจากสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์และคนทำงานสนามบินแห่งประเทศไทยที่มายื่นหนังสือในวันนี้แล้ว ยังมีกลุ่มแรงงานจากนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก รวมทั้งสิ้น 7 กลุ่มมายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ช่วยติดตามแก้ไขปัญหาการถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net