Skip to main content
sharethis

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่าสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง คือ ถามประชาชนก่อนว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

11 มี.ค.2564 ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และบีบีซีไทยรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยรัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรกให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สองเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีขึ้นหลังจากที่ที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 9 ก.พ. เห็นชอบกับญัตติด่วนของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และสมชาย แสวงการ ส.ว. ที่ขอให้รัฐสภาพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ของรัฐสภา เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ด้วยคะแนน 366 ต่อ 315 งดออกเสียง 15 เสียง หลังจากนั้นศาลได้รับคำร้องไว้วินิจฉัยเมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา และได้มีคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้อง 4 คน อันได้แก่ อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ฉบับปี 2560 ซึ่งมีมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บวรศักดิ์ อุวรรณโณ สมคิด เลิศไพฑูรย์ และอุดม รัฐอมฤต ทำความเห็นเป็นหนังสือส่งมายังศาลรัฐธรรมนูญมติศาลรัฐธรรมนูญ สั่งจัดทำประชามติก่อนรัฐสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

นอกจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของณฐพร โตประยูร ที่ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทร แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ต่อประธานรัฐสภา 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างฯ แก้ไขเพิ่มเติมของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เสนอโดย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และคณะ (ผู้ถูกร้องที่ 1) ซึ่งเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน และร่างฯ แก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอโดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ และคณะ (ผู้ถูกร้องที่ 2) ซึ่งเป็นร่างฯ ของพรรคร่วมรัฐบาล เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 49 มาตรา 255 และมาตรา 256 ประกอบมาตรา 5

โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอและยังห่างไกลเกินเหตุที่จะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง จึงมีมติสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขออื่นย่อมตกไป

 

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ไว้พิจารณา กรณีที่ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยว่าสมาชิกรัฐสภาที่ลงมติรับหลักการร่างฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญ สองญัตติ ได้แก่ ญัตติที่ 1 สมาชิกรัฐสภา 576 คน และญัตติที่ 2 สมาชิกรัฐสภา 647 คน ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และขอให้มีคำสั่งให้ประธานรัฐสภาสั่งระงับให้มีการพิจารณาในวาระสองและวาระสาม ผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอและยังห่างไกลเกินเหตุที่จะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง จึงมีมติสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขออื่นย่อมตกไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net