Skip to main content
sharethis

กมธ.ที่ดิน ลงพื้นที่หาข้อเท็จจริงกรณีจับ 'ชาวบ้านบางกลอย' เผยเตรียมขอข้อมูล ทหาร - GISTDA พิสูจน์ความดั้งเดิมชุมชน

 

11 มี.ค.2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า วันนี้ (11 มี.ค.64) คณะกรรมาคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อรับฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีการบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ หรือ 'ชาวบ้านบางกลอย' โดยการควบคุมตัวลงมาจากบ้านบางกลอยบนซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ในข้อหารุกป่า ขณะที่ฝ่ายชาวบ้านบางกลอยยืนยันว่ากรณีดังกล่าวเป็นการกลับขึ้นไปทำกินบนที่ทำกินและที่อยู่อาศัยเดิมตามวิถีวัฒนธรรมก่อนมีการประกาศเขตอุทยาน

อภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการที่ดินฯ กล่าวว่า การมาในวันนี้คือเพื่อเสาะหาข้อเท็จจริง โดยพบว่าสิ่งที่ที่เป็นข้อถกเถียงสำคัญคือเรื่องพื้นที่ที่มีการแผ้วถางนั้นเป็นพื้นที่เดิมของชาวบ้านบางกลอยหรือเป็นพื้นที่แผ้วถางใหม่ เพื่อให้ข้อถกเถียงนี้พิสูจน์ได้ ต่อจากนี้กรรมาธิการจะทำหนังสือขอข้อมูลไปยังหน่วยงานต่างๆที่ทุกฝ่ายยอมรับไม่ว่าจะเป็นกรมแผนที่ทหารสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (กปร.) และแผนที่ดาวเทียมจาก GISTDA เพื่อนำไปสู่การยุติข้อถกเถียงเรื่องที่ดิน

"คณะกรรมาธิการต้องรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายไม่ว่าจากราชการหรือชาวบ้าน วันนี้เป็นการฟังข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ส่วนในวันพรุ่งนี้ (11 มี.ค.)จะไปฟังข้อมูลจากชาวบ้าน ต้องไปฟังเหตุผลของเขาว่าทำไมเมื่อยอมลงมาแล้วในปี 39 จึงกลับขึ้นไปใหม่ พอถูกไล่ลงมาก็กลับขึ้นไปใหม่อีก ทำไมลงมาแล้วเขาอยู่ไม่ได้"

อภิชาติ กล่าวว่า สำหรับจุดร่วมที่เห็นตรงกันคือการที่ทางเจ้าหน้าที่อุทยานยืนยันว่าจะมีการทำงานต่อร่วมกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ตั้งขึ้นจากบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับชาวบ้านบางกลอย แต่ในส่วนข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ถ้าใช้ข้อมูลแผนที่ที่คณะกรรมาธิการจะขอจากหน่วยงานต่างๆมาใช้เป็นข้อมูลชุดเดียวกันจะแก้ปัญหาได้และจะเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่สะท้อนมาจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีและ กอ.รมน.ที่ยืนยันว่าจะต้องนำประเด็นเรื่องความมั่นคงชายแดนมาเป็นอีกปัจจัยในการมองปัญหาด้วย แต่ยังไม่ได้ให้รายละเอียดก็จะมีการทำหนังสือขอข้อมูลไปเช่นกัน

สำหรับประชาชนจังหวัดเพชรบุรีที่กังวลเรื่องการเป็นป่าต้นน้ำ เรื่องนี้ คณะกรรมาธิการคิดเสมอว่าทรัพยากรเป็นเรื่องที่ต้องดูแล แต่ถ้ามีเรื่องชนเผ่าดั้งเดิมด้วยก็ต้องคิดเช่นกันว่าจะทำอย่างไรให้ทั้งสองอย่างไปด้วยกันได้ หรือมองว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐจะต้องเปลี่ยนโจทย์ใหม่ในการจัดการทรัพยากรซึ่งจะต้องเป็นเรื่องข้อเสนอทางนโยบาย

"สำหรับเรื่องการละเมิดสิทธิต่างๆในระหว่างจับกุมชาวบ้านบางกลอยลงมานั้น เราจะนำข้อมูลส่งต่อไปยังคณะกรรมาธิการเด็กคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาสต่อไป" อภิชาติ กล่าว

ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาศึกษาด้านผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวว่า กรณีบางกลอยทำให้ได้เห็นถึงการใช้กฎหมายที่ต่างกัน ระหว่างกฎหมายอุทยาน กับรัฐธรรมนูญที่ให้ปกป้องวิถีชีวิตดั้งเดิม และปฏิญญาระหว่างประเทศต่างๆที่รัฐบาลไทยได้ไปลงนามไว้ จึงถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานต่างๆจะต้องคุยกัน ความจริงแล้วไม่ใช่ว่าชาติพันธุ์จะดึงดันว่าต้องใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมเท่านั้น แต่เรื่องที่สำคัญเช่นกันคือ ปัจจัย 4 ชาวบ้านบางกลอยก็เคยยอมลงมาแล้วระยะหนึ่งแต่ทำไมต้องกลับขึ้นไปใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมต้องหาคำตอบให้ได้ หวังว่ากรณีนี้จะนำไปสู่การแก้ปัญหาชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ป่า คำถามคือการเอาชีวิตคนเมืองไปตัดสินคนที่อยู่ในป่าถูกต้องหรือไม่ ปัญหานี้ความจริงแก้ได้แต่จะอยู่ที่ว่ามีความจริงใจและตั้งใจทำจริงหรือไม่ต่างหาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net