มองอุปสรรค 5 ข้อของขบวนการ CDM ในพม่า

นักสังเกตการณ์มองอุปสรรคของขบวนการอารยขัดขืน หรือ CDM มีด้วยกัน 5 ข้อใหญ่ ต้องจัดการแนวทางด้านข้อเรียกร้องให้มีเอกภาพ-มียุทธศาสตร์ระยะยาว-ไม่พึ่งพิงปฏิบัติการทางทหารจากต่างชาติ 

  • นักสังเกตการณ์มองขบวนการ CDM มีอุปสรรคใหญ่ 5 ข้อที่ต้องจัดการ ต้องมีข้อเรียกร้องที่เป็นเอกภาพ มียุทธศาสตร์ระยะยาว และไม่หวังพึ่งต่างชาติ
  • การมีข้อเรียกร้องที่เป็นเอกภาพ จะช่วยหนุนเสริมพลังของขบวนการ คนกล้าออกมาประท้วงมากขึ้น เพราะพวกเขามั่นใจว่า ข้อเรียกร้องของพวกเขาจะถูกนำสู่โต๊ะเจรจา หากทหารพม่ายอมถอย
  • การประท้วงจะยืดเยื้อ ฉะนั้น ขบวนการ CDM ต้องมียุทธศาสตร์ระยะยาว 
  • อย่าหวังพึ่งมาตรการทางทหารจากต่างชาติ แต่ให้พุ่งเป้าไปที่การกดดันนานาชาติให้ไม่รับรองรัฐบาลเผด็จการทหาร
การประท้วงเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ที่เมืองมัณฑะเลย์ (ภาพโดย Khit Thit Media)

การประท้วงต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ที่เมืองมัณฑะเลย์ (ภาพโดย Khit Thit Media)

ผ่านมาหนึ่งเดือนเศษกับการต่อสู้ของชาวพม่าเพื่อต้านกองทัพ สำนักข่าวท้องถิ่นออกมาให้ความเห็นถึงขบวนการทำอารยขัดขืนต้านรัฐประหาร (Civil Disobedience Movement หรือชาวพม่าเรียกฉบับย่นย่อว่า CDM) ซึ่งเป็นแนวทางหลักในการต่อสู้ครั้งนี้ว่ามีข้อท้าทายอย่างไรบ้าง 

หากลองพูดคุยกับชาวเมียนมาที่ทำการประท้วง CDM ทุกคนเชื่ออย่างแน่วแน่ว่า การทำอารยขัดขืนทั้งการหยุดงานประท้วงทั่วประเทศ การแห่ถอนเงินธนาคาร หรือบอยคอตสินค้าของบริษัทในเครือข่ายกองทัพ จะสามารถสั่นคลอนและกดดันกองทัพพม่าให้ยอมถอยได้ แต่อย่างไรก็ตาม บางคนยังมีข้อท้าทายบางประการที่ยังแก้ไม่ตก 

จากการคุยกับประชาชนชาวเมียนมา สัญชาติทวาย-ไทย กล่าวว่า เธอเป็นห่วงเรื่องการยืนระยะยาวของ CDM โดยเฉพาะเรื่องเงิน หรือแหล่งทุน และตรงนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่แก้ไม่ตก ขณะที่เอ็นจีโอในไทยที่เห็นความขาดพร่องตรงนี้ก็มีการพยายามระดมทุน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เข้าร่วมขบวนการ CDM เช่นกัน เพื่อให้เขามีแรง มีกำลังใจต่อสู้กับกองทัพพม่า 

มีเป้าหมายชัดเจน-เตรียมยืนระยะยาว-เลิกหวังต่างชาติให้ช่วย ข้อท้าทายที่ CDM ต้องฝ่าไปให้ได้

ด้านสื่อพม่าอย่าง Myanmar Frontier ออกบทวิเคราะห์ ชื่อว่า ‘How the CDM can win’ ข้อท้าทายของขบวนการ CDM เขียนโดย เอมินทัน (Aye Min Thant) อดีตนักข่าวรอยเตอร์ส และเจ้าของรางวัลพูลิตเชอร์ และ ยานอ่อง ลงเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2564 

การประท้วงโดยบุคลากรสาธารณสุขที่เขตอมรปุระ เมืองมัณฑะเลย์ วันที่ 12 มี.ค. 2564 (ภาพโดย Myanmar Now)

การประท้วงโดยบุคลากรสาธารณสุขที่เขตอมรปุระ เมืองมัณฑะเลย์ วันที่ 12 มี.ค. 2564 (ภาพโดย Myanmar Now)

ทั้งสองมองว่า กุญแจสำคัญที่จะทำให้ขบวนการ CDM เอาชนะกองทัพเมียนมาได้ ต้องเริ่มจากการวิจารณ์ยุทธศาสตร์การเคลื่อนขบวนการ CDM และพวกเขายังมองว่า ขบวนการต้องจัดการอุปสรรคสำคัญ 5 ข้อดสำคัญ หากต้องการชนะกองทัพพม่า ประกอบด้วย ต้องมีเป้าหมายร่วมกัน มีผู้นำที่ชัดเจน มียุทธศาสตร์เพื่อสู้ระยะยาว จัดสรรเรื่องเงินให้ถึงมือผู้ที่ต้องการการสนับสนุนจริง ๆ และสุดท้ายคือต้องไม่หวังพึ่งปฏิบัติทางทหารจากต่างชาติ 

ข้อแรกที่ต้องจัดการหากต้องการให้ขบวนการมีพลังขับเคลื่อน คือ ขบวนการต้องมีเป้าหมายร่วมกัน 

แม้จะทราบกันดีว่า ขบวนการ CDM มีขึ้นเพื่อต่อสู้กับกองทัพ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีฉันทามติว่า การรณรงค์มีความคาดหวังเรื่องเป้าหมายที่ต้องการบรรลุอย่างใดกันแน่ หรือขบวนการควรกดดันกองทัพพม่าให้ยอมเปิดโต๊ะเจรจากับฝ่ายพลเรือนหรือไม่ 

ตอนนี้ผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมขบวนการ CDM ในหลากหลายพื้นที่ทั้งในเขตพม่า หรือชนกลุ่มน้อย ต่างมีข้อเรียกร้องที่ทั้งแตกต่าง และย้อนแย้งในตัวเอง เช่น บางคนก็เรียกร้องให้กองทัพพม่า “เคารพคะแนนเสียงของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง” ขณะที่ฝากฝั่งชนกลุ่มน้อยที่เข้าร่วมรณรงค์ กลับไม่ได้มีข้อเรียกร้องให้พรรคเอ็นแอลดีกลับมามีอำนาจทางการเมือง แต่พวกเขาต้องการสถาปนาระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ โดยให้พวกเขาเข้าไปส่วนร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 

พวกเขามองว่า การไม่มีฉันทามติเรื่องจุดมุ่งหมายของ CDM เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะว่าขบวนการ CDM เป็นม็อบออแกนิก และไม่มีแกนนำในการขับเคลื่อนประเด็นข้อเรียกร้อง ต่างคนก็ออกมาประท้วงเพราะมีความมุ่งหมายในใจของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้นี่แหละที่ทำให้ขบวนการ CDM เป็นมากกว่าการประท้วงอื่น ๆ ที่เราเคยเห็นบนท้องถนน เช่น มีการบอยคอตสินค้าจากบริษัทที่เครือข่ายกองทัพเป็นเจ้าของ การหยุดงานประท้วงทั่วประเทศของเจ้าหน้าที่รัฐ การปรับเปลี่ยนพาราไดม์ของการประท้วงในพม่าที่นักกิจกรรมการเมืองรุ่นใหม่สามารถลุกขึ้นพูด และเป็นแกนนำโดยไม่ต้องมีองค์ใดองค์กรหนึ่ง หรือกลุ่มอำนาจรับรอง 

อย่างไรก็ตาม การประท้วงที่ขาดเอกภาพเรื่องเป้าหมายสูงสุด ก็ทำให้เห็นปัญหาบางประการ โดยเฉพาะการลดทอนพลังของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง นึกถึงอนาคตที่ชนกลุ่มน้อยออกมาร่วมประท้วงและเสียสละชีวิต แล้วไม่มีการรับประกันว่า เมื่อท้ายที่สุดแล้ว หากกองทัพพม่ายอมถอยและเปิดโต๊ะเจรจา แต่ข้อเสนอฝากฝั่งชนกลุ่มน้อยที่ต้องการสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐอาจไม่ได้นำขึ้นไปพูดหรือตกลงกัน ก็คงไม่มีคนจากชนกลุ่มน้อยอยากเข้าร่วม 

เรื่องนี้สะท้อนเด่นชัดขึ้น จากการเสวนาวงปิดกับนักกิจกรรมชาวพม่า และองค์กรเอ็นจีโอที่คุ้นเคยกับชาวไทใหญ่ที่เชียงใหม่ ซึ่งพวกเขาเล่าประสบการณ์ตรงที่รูัจักกับชาวไทใหญ่ให้ฟังว่า ชาวไทใหญ่บางคนยังลังเลที่จะออกมาร่วมประท้วงต้านกองทัพกับคนชนชาติพม่า เพราะมีบทเรียนจากประวัติศาสตร์การเมืองเรื่องสนธิสัญญาปางโหลง ซึ่งชาวไทใหญ่ช่วยเหลือพม่าช่วงการปลดแอกจากอาณานิคมอังกฤษ แต่พม่ากลับตะบัดสัตย์ ไม่ยอมให้ไทใหญ่ได้รับสิทธิปกครองตนเอง อย่างที่เคยตกลงกันไว้

หรือกรณีผู้ชุมนุมแนวหน้าที่เข้าไปปะทะจนบาดเจ็บ และเสียชีวิต ก็คงเสียสละไปอย่างเปล่าประโยชน์ เพราะยังมีเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่เลยว่า สุดท้าย ความมุ่งหวังของผู้เสียสละชีวิตจะถูกนำขึ้นไปพูดบนโต๊ะเจรจาหรือไม่ ดังนั้น การมีข้อเรียกร้องที่แน่นอน และเข้าใจตรงกันทุกฝ่ายจะช่วยเรื่องนี้ได้ 

ต้องมีผู้นำขบวน CDM 

ข้อท้าทายที่สอง คือ การไม่มีผู้นำที่แท้จริงที่นำขบวนการ CDM เพราะเมื่อขบวนการเข้าสู่ระยะที่สองของการเคลื่อนไหว หรือกรณีต้องเจรจากับกองทัพพม่า กรณีที่การรณรงค์สามารถกดดันให้กองทัพพม่ายอมถอยและเปิดการเจรจาได้ จะไม่มีตัวแทนนำข้อเสนอของขบวนการ CDM เข้าไปเสนอในโต๊ะเจรจากับกองทัพพม่า’   

ภาพการประท้วงโดยพระสงฆ์ที่เขตอมรปุระ เมืองมัณฑะเลย์ วันที่ 12 มี.ค. 2564 (ภาพโดย Myanmar Now)
 

สมมติว่า ต่อให้ล้มกองทัพพม่าได้แล้ว แต่ว่าใครจะเป็นตัวแทนที่แท้จริงของทางพลเรือนเพื่อเจรจา จากเดือนที่ผ่านมา มีแคนดิเดตด้วยกัน 3 กลุ่มที่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ ซึ่งทั้งสามกลุ่มมีจุดมุ่งหมายที่ทั้งคาบเกี่ยวกัน และก็ไม่มีจุดหมายเฉพาะตัว (non-identical goal) กำลังช่วงชิงบทบาทนำในการประท้วงครั้งนี้อยู่ 1) คณะกรรมการตัวแทนสภาสมัชชาแห่งสหภาพ หรือ Committee Representative of Pyidaungsu Hluttaw - CRPH 2) คณะกรรมการนัดหยุดงานประท้วงทั่วประเทศ (General Strike Committee หรือ GSC) และ 3) คณะกรรมการนัดหยุดงานประท้วงทั่วประเทศแห่งชาติพันธุ์ (General Strike Committee of nationalities หรือ GSCN) 

CRPH เป็นองค์กรที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองจากพรรคเอ็นแอลดีที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้ว (บางส่วนมาจากพรรคการเมืองชาติพันธุ์) มีข้อสังเกตว่า กลุ่มนี้ประกอบไปด้วยนักการเมืองรุ่นใหญ่มีอายุมาก และไม่มีความหลากหลายเท่ากับกลุ่มประชาชนที่กำลังประท้วงบนถนนอยู่ในขณะนี้ พวกเขาพยายามแสวงหาการยอมรับในเวทีนานาชาติในฐานะรัฐบาลที่มีความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง และต้องการทำให้การทำรัฐประหารล้มเหลว นำสถานการณ์ทางการเมืองกลับไปก่อนวันที่ 31 ม.ค. 2564 หรือก่อนที่กองทัพยึดอำนาจ 

CRPH ถือเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนค่อนข้างมากทั้งในประเทศ และเวทีนานาชาติ โดยพวกเขาก่อตั้งโครงสร้างรัฐบาลคู่ขนาน (หรือสภาเงา) รวมถึงที่ผ่านมา หน่วยงานเทศบาล เขต และหมู่บ้านต่าง ๆ ก็ปฏิเสธให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จการทหาร และหันมาเข้าร่วมรัฐบาลคู่ขนานของ CRPH มากขึ้น นอกจากนี้ การปราศรัยในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ หรือยูเอ็น เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2564 ผู้แทนเมียนมาที่ยูเอ็น จ่อโมทุน ประกาศจุดยืนอยู่ข้างประชาชน และเรียกร้องให้ยูเอ็นยอมรับ CRPH ในฐานะรัฐบาลชอบธรรมของเมียนมา  

หันมาดูฝากของ คณะกรรมการหยุดงานประท้วงทั่วประเทศ หรือ GSC และคณะกรรมการหยุดงานประท้วงทั่วประเทศของชนชาติพันธุ์ หรือ GSCN ทั้งสองไม่มีอำนาจการเมืองตามกฎหมาย และไม่ได้รับการสนับสนุนเท่ากับ CRPH ในการประท้วงบนถนน แต่อย่างไรก็ตาม ทาง GSCN ได้รับความสนใจจากเวทีนานาชาติอยู่เหมือนกัน เนื่องจากคณะกรรมการฯ เคยเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง เฉินไห่ เอกอัครทูตจีนในเมียนมา และสภาความมั่นคงยูเอ็น โดยมีการระบุถึงจุดมุ่งหมายของกลุ่ม เพื่อสร้างประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ ที่ชาติพันธุ์ทุกกลุ่มจะมีผู้แทน ส.ส. เท่ากันในรัฐบาลเมียนมา นอกจากนี้ ที่น่าสนใจคือสมาชิกของ GSCN มีอายุน้อยกว่า และมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มากกว่าทาง CRPH อีกด้วย 

การประท้วงแบบไม่มีแกนนำบ่อยครั้งถูกมองว่าเป็นวิธีที่ยืดหยุ่นกว่า เพราะทางการไม่สามารถหยุดการประท้วงโดยใช้วิธีลอบสังหารและจับกุมแกนนำได้ อย่างไรก็ตาม การจับกุมหัวหน้า NLD ก็ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เมื่อไม่มีกลุ่มไหนสักกลุ่มเดียวสามารถทดแทนพรรค NLD ได้ เมื่อถึงเวลาที่ต้องขึ้นเจรจาแบบพหุภาคี เพื่อกำหนดทิศทางอนาคตทางการเมืองของประเทศเมียนมา ประชาชนจะต้องหาผู้แทนที่ชอบธรรมและมีอำนาจที่จะพูดข้อเสนอของ CDM ได้ และต้องมีกลไกบางอย่างที่เข้ามาทำหน้าที่เลือกตัวแทนเหล่านั้น ถ้าไม่มีเรื่องนี้ การประท้วงที่ผ่านมาก็อาจสูญเปล่า

การสู้ครั้งนี้อาจนานนับปี จึงจำต้องมียุทธศาสตร์ยืนสู้ระยะยาว 

ข้อท้าท้ายที่สาม คือ การมียุทธศาสตร์ต่อสู้ในระยะยาว แม้ว่าขบวนการ CDM จะบรรลุผลสำเร็จบางประการ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้ประชาชนบอยคอตสินค้า และการเรียกร้องให้ ‘Woodside Energy’ บริษัทขุดน้ำมันและแก๊สธรรมชาติยักษ์ใหญ่ของออสเตรเลีย ถอนการลงทุนจากเมียนมา เอมินทัน และยานอ่อง มองว่านี่อาจไม่เพียงพอในการกดดันกองทัพพม่า อีกทั้ง วิธีการ CDM อาจส่งผลสะท้อนด้านลบกลับมาสู่ขบวนต้านกองทัพ

แน่นอนว่าการนัดหยุดงานทั่วประเทศส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของเมียนมาอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทำให้คนรากหญ้า หรือคนหาเช้ากินค่ำ ไม่สามารถเข้าร่วมการประท้วง หรือเข้าร่วมได้ แต่อาจต้องถอนตัวจากขบวนการ CDM ในระยะเวลาอันสั้น เพราะไม่มีเงินมากพอที่จะมาเข้าร่วมขบวนการ CDM ได้ เขาไม่สามารถหยุดงานนาน ๆ เนื่องจากฐานะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับ ทั้งคู่ประเมินว่า การต่อสู้ครั้งนี้จะไม่จบในเวลาอันสั้น แต่จะยืดเยื้อไปอีกนาน อาจนานเป็นปี ซึ่งอีกฝั่งคือกองทัพที่มากพร้อมด้วยยุทโธปกรณ์ และคลังแสง อีกทั้ง มีเงินทุนสะสมมากมายหลายพันล้านจ๊าด การโดนผลกระทบจากการหยุดงาน 3-6 เดือน อาจจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าคนธรรมดาที่มาร่วมประท้วง 

การกำหนดยุทธศาสตร์ ควรคำนึงถึงว่าทำอย่างไรให้ขบวนการ CDM ไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้เข้าร่วมประท้วงมากจนเกินไป แต่ก็ควรสร้างผลกระทบกับกองทัพพม่าให้ได้มากที่สุด ทำให้ประชาชนที่เข้าร่วมประท้วง ยังสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคในชีวิตประจำวันได้อยู่ เพราะถ้าผู้คนขาดรายได้ น้ำดื่ม ไฟฟ้า อาจหมายรวมถึงเรื่องการจัดการขยะหรือของเสีย เขาจะเริ่มรู้สึกยอมแพ้ และนำมาสู่การประนีประนอม สุดท้าย ก็สยบยอมอยู่ใต้การปกครองของทหาร 

ข้อท้าทายที่สี่นี่ไม่พูดไม่ได้เลยคือ การจัดสรร-แบ่งปันทรัพยากรให้กับผู้ที่ต้องการการสนับสนุน หรือก็คือผู้ประท้วงที่ลงถนน ตั้งแต่เริ่มขบวนการประท้วงแบบอารยขัดขืน ชาวเมียนมาทุกคน ทุกชนชั้น ต่างให้ความช่วยเหลือกับขบวนการ CDM อย่างมากมาย การช่วยเหลือครอบคลุมตั้งแต่ ข้าวปลาอาหาร และน้ำดื่ม ให้แก่ผู้ประท้วง นักกิจกรรมทางการเมือง แรงงาน และผู้สื่อข่าวที่ต่างหลบหนีและซ่อนตัวการจับกุมของภาครัฐ 

แม้ว่าเราจะเห็นตามหน้าสื่อต่าง ๆ ว่าเบื้องหน้า มีผู้คนเข้ามาประท้วงมากมายเต็มท้องถนนก็ตาม แต่เบื้องหลัง ก็ต้องมีเรื่องของเงินทุนเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น กองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เข้าร่วม CDM โดยโครงสร้างทางการเงินถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือขบวนการให้มันเดินหน้าต่อไปได้ ประชาชนต่างบริจาคเงินให้กับกองทุนที่ไม่ได้เป็นทางการ บ่อยครั้งถูกตั้งขึ้นมาโดยดารา หรือศิลปินดัง แน่นอนว่าแม้ว่าจะเป็นเรื่องของการช่วยเหลือขบวนการ แต่ก็ไม่พ้นเรื่องของข้อครหาที่ว่า เงินเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ช่วยเหลือขบวนการ CDM ได้จริง ๆ หรือไม่ 

CDM ไม่ใช่องค์กรที่มีการลงทะเบียนจัดตั้งอย่างเป็นทางการ ดังนั้น มันก็ไม่มีอะไรที่จะมารับประกันได้ว่า เงินเหล่านี้จะถูกนำไปช่วยเหลือผู้ประท้วงจริง ๆ การใช้สงครามข้อมูล และการแทรกซึมล้วงความลับ ที่กองทัพพม่าเคยใช้ ส่งผลต่อทัศนคติชาวเมียนมาในเรื่องความเชื่อใจเหมือนกัน ผู้สนับสนุนจะไม่สามารถเชื่อใจกองทุนช่วยเหลือผู้ประท้วงในโซเชียลมีเดีย เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่สามารถเสี่ยงโทรขอความช่วยเหลือทางโทรศัพท์กับแหล่งเงินทุน ขณะเดียวกัน ฝั่งกองทุนเองก็ไม่สามารถเชื่อใจใครก็ตามที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ สุดท้าย สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ที่คนสายป่านยาว หรือมีความสัมพันธ์ดีกับชนชั้นนำ หรือแหล่งเงินทุน มักจะได้รับการคุ้มครองก่อนคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้ว มีแต่จะแย่ลง และไม่ปลอดภัยลงไปอีก 

ปัญหาเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว หากดูจากสถานการณ์ที่ไม่มีความแน่นอนว่า ขบวนการจะต้องสู้ไปอีกนานแค่ไหน ประชาชนต้องการความช่วยเหลือทางด้านการเงิน ร่างกาย และจิตใจ เพื่อต่อสู้กับกองทัพพม่าที่อาจจะยืดเยื้อเป็นปีหรือนานกว่านั้น ถ้าให้สรุป CDM คงเปรียบเสมือนการต่อสู้ ยื้อยุดกันไปมาระหว่างฝั่งพลเรือนและกองทัพ เป็นเกมของพละกำลัง ความอดทน และเป็นหนึ่งเดียวในการทำงาน และฝั่งที่ทนไม่ไหวจะเป็นฝั่งที่เพลี่ยงพล้ำไปในที่สุด 

อย่าหวังพึ่งปฏิบัติการทางทหารจากต่างชาติ

ข้อท้าทายสุดท้าย คือ การเผยแพร่แนวคิดของ CDM ไปสู่ประชาคมโลก และทำให้นานาชาติเห็นว่า ประชาชนพม่าสามารถและจะช่วย #SaveMyanmar ได้ 

การประท้วงที่เขตเลดาน นครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2564 (ภาพโดย Khit Thit Media)

การประท้วงที่เขตเลดาน นครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2564 (ภาพโดย Khit Thit Media)

นับตั้งแต่การประท้วงถูกจุดติด ผู้ที่ติดตามข่าวจากต่างประเทศ หรือเล่นโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่าง ‘เฟซบุ๊ก’ จะเห็นชาวพม่าสื่อสารสถานการณ์ประท้วงโดยโพสต์ข้อความเป็นภาษาอังกฤษ และติดแฮชแท็กต่าง ๆ เช่น #SaveMyanmar หรือ #How-Many-Dead-Bodies-UN-Need-To-Take-Action ขณะเดียวกัน ชาวเมียนมาที่อาศัยในต่างแดน ก็มีการไปประท้วงหน้าสถานทูตเมียนมาในต่างประเทศ และหน้าสำนักงานสหประชาชาติ อย่างในไทย เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564 ก็มีชาวพม่าในไทยไปประท้วงหน้าสหประชาชาติ จังหวัด กทม. เพื่อให้นานาชาติหันมาให้ความสนใจกับสถานการณ์การเมืองในพม่า และเข้ามาแทรกแซงเพื่อหยุดยั้งกองทัพ ชาวพม่าหลายคนเชื่อในภาพลักษณ์ของประเทศโลกตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับเสรีนิยมประชาธิปไตยจะเข้ามาช่วยพวกเขา พวกเขายังเชื่อว่าการร้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ จะส่งผลให้เกิดมาตรการทางทหารที่เข้ามาแทรกแซงเพื่อหยุดยั้งกองทัพพม่า อย่างการส่งทหารเข้ามาประจำการยึดค่ายหรือฐานทัพในนามของประชาธิปไตย ชาวเมียนมาหวังว่าจะมีมาตรการแบบนั้น เพื่อหยุดยั้งกองทัพพม่า แต่ในความเห็นของเอมินทัน และยานอ่อง มั่นใจว่าจะไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น 

แต่ไม่ได้หมายความว่า ขบวนการ CDM จะต้องเบือนหน้าหนีจากประชาคมบนโลก ขบวนการสามารถและควรอย่างยิ่งกดดันรัฐบาลต่างประเทศ และยูเอ็น ให้ไม่ยอมรับรัฐบาลและตัวแทนที่มาจากยึดอำนาจ นอกจากนี้ ขบวนการควรประสานงานให้เกิดการเจรจาแบบพหุภาคี เพื่อทำให้เกิดการคืนอำนาจการเมืองกลับสู่มือของประชาชน 

CDM ควรเรียกร้องให้เอกชนคว่ำบาตรไม่ทำธุรกิจกับกองทัพพม่า และกดดันบรรษัทข้ามชาติในพม่าปกป้องสิทธิพนักงานที่เข้าร่วมการประท้วง ขบวนการ CDM ควรวางตัวเป็นผู้นำขบวนการที่ได้รับการหนุนหลังจากนานาชาติ และไม่เล่นบทเป็นเหยื่อที่ต่อสู้กับรัฐบาลอย่างกล้าหาญ ขณะเดียวกัน ก็รอให้ต่างชาติส่งกองหนุนมาช่วย  

ทั้งสองคนอยากให้ประชาชนพม่ามั่นใจในตัวเองมากขึ้น เพราะประชาชนคือขุมกำลัง และสามารถนำเสนอเส้นทางสู่ชัยชนะ อนาคตของพม่าไม่และไม่ควรอยู่ในมือของนานาชาติอย่างเดียว ประชาชนทุกคนทั้งชาวพม่า และชนกลุ่มน้อย มีโอกาสที่สร้างสหภาพที่ดีกว่า และแข็งแกร่งกว่า โดยไม่ต้องสนใจว่าจะมีเชื้อชาติไหน ศาสนาใด เพศ และรสนิยมทางเพศอย่างไร  

"กระแสการปฏิวัติผลิบาน" (Revolution Spring) (ที่กำลังเกิดขึ้นในไทย-พม่า) จะสำเร็จ จำเป็นต้องมีการเปิดให้ถกเถียงเรื่องยุทธวิธี และมองว่าครั้งนี้ ประชาชนชาวเมียนมามีโอกาสที่ดีที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง" เอมินทัน และยานอ่อง ทิ้งท้าย  

 

CDM คืออะไร

การทำอารยขัดขืน หรือ CDM ถูกจุดประกายโดยกลุ่มวิชาชีพแพทย์และพยาบาล โดยเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 พวกเขาออกมาแสดงจุดยืนไม่ขอร่วมงานกับกองทัพพม่าหลังก่อการรัฐประหาร และจับกุมอองซานซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดี และวินมยิ้ด ประธานาธิบดี 

หลังการประกาศจุดยืนของแพทย์-พยาบาล ยุทธการ CDM ถูกส่งต่อไปยังวิชาชีพอื่น ๆ อย่างอาจารย์ พนักงานรถไฟ และอื่น ๆ จนขยายวงกว้างเป็นการนัดหยุดงานประท้วงในโลกออนไลน์ ดั่งจะเห็นจากเหตุประท้วง ‘22222’ หรือวันที่ 22 เดือนกุมภาพันธ์ 2021 ที่คนหลายพันออกมาประท้วงตามท้องถนนเมืองต่าง ๆ นอกจากการนัดหยุดงานแล้ว ยังมีการบอตคอตสินค้าของบริษัทที่มีกองทัพเป็นเจ้าของ แห่ถอนเงินในธนาคารของกองทัพจนส่อแววล่ม และอื่น ๆ อีกมากมาย 

ขบวนการดังกล่าวส่งผลต่อการทำงานในหน่วยงานของรัฐต้องหยุดชะงักทันที เนื่องจากขาดแคลนบุคลากร จน พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย หัวหน้าคณะรัฐประหาร ถึงกับต้องออกมาย้ำเตือนเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าร่วมขบวนการ CDM ให้กลับไปปฏิบัติตามหน้าที่ และขู่จะดำเนินมาตรการบางอย่างหากยังฝ่าฝืน 

และก็ตามที่มินอ่องหล่ายได้กล่าวไว้ หลังจากนั้นกองทัพพม่าก็เริ่มจับกุมผู้ที่กำลังทำ CDM หรือเรียกร้องให้ประชาชนเข้าร่วมขบวนการ รวมถึงมีการสลายการชุมนุมตามเมืองต่าง ๆ โดยการใช้อาวุธปืน และอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนอย่างแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง และมีการไล่จับเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ยอมทำงาน 

 

แปลและเรียบเรียงจาก

How the CDM can win เขียนโดย เอมินทัน และยานอ่อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท