Skip to main content
sharethis

ประกันสังคม-สปสช. ย้ำสิทธิประโยชน์ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมีความครอบคลุมแต่จะให้ดีที่สุดต้องป้องกันไม่ให้เกิดโรค สปส.เล็งปรับแนวนโยบายเน้นการส่งเสริมสุขภาพ ตรวจคัดกรองและปรับพฤติกรรมสุขภาพผู้ประกันตนให้มากขึ้น ขณะที่ สปสช.นำร่องล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างอัตโนมัติ หากได้ผลดีจะเพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์ในอนาคต 

ประกันสังคม-สปสช.ย้ำสิทธิประโยชน์ดูแลผู้ป่วยไตอย่างครอบคลุม

สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดกิจกรรมเนื่องในวันโรคไตโลกประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด "ไตวายไม่ตายไว แค่ปรับใจและปรับตัว" โดยในงานนี้มีกิจกรรมเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการป้องกันโรคไต การให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์การรักษาโรคไตวายเรื้อรังจากตัวแทนสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และ สปสช. 

นางนงลักษณ์ กอวรกุล รักษาการผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สปส. กล่าวว่า ในอดีตประกันสังคมไม่ครอบคลุมการบำบัดทดแทนไต แต่เพื่อไม่ให้เป็นภาระเศรษฐกิจครอบครัวผู้ป่วย สปส.จึงได้ขยายสิทธิเริ่มจากการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในปี 2542 จากนั้นเพิ่มสิทธิในเรื่องการล้างไตทางช่องท้องรวมทั้งสิทธิกรณีปลูกถ่ายอวัยวะ ปี 2548 โดยจะครอบคลุมผู้ประกันตน มาตรา 33 และ มาตรา 39 ส่วน ผู้ประกันตนมาตรา40 จะใช้สิทธิการรักษาของ สปสช.  

นางนงลักษณ์ กล่าวว่า แนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคไต ในช่วงการเจ็บป่วยระยะแรกๆก็จะเป็นการรักษาตามสิทธิปกติ แต่ถ้าเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จะแยกเรื่องนี้ออกมาดูแลโดยเฉพาะเพื่อให้โรงพยาบาลไม่ต้องกังวลใจเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งการรับสิทธิประโยชน์บำบัดทดแทนไตจะมีขั้นตอนคือผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ต้องมีใบรับรองแพทย์มายื่นขอให้คณะอนุกรรมการบำบัดทดแทนไตของ สปส. พิจารณา ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ประกันยื่นขออนุมัติฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแล้วประมาณ 2 หมื่นคน ค่าใช้จ่ายแต่ละปีประมาณ 3,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ยาที่จำเป็นกับผู้ป่วย เช่น ยากระตุ้นเม็ดโลหิต ก็อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ที่ สปส. ดูแลเช่นกัน  

"ดังนั้นผู้ที่เข้าสู่ไตวายระยะสุดท้ายไม่ต้องกังวลใจ แต่แม้ว่าเราจะดูแลการฟอกไตไปตลอด เราก็ไม่ต้องการเห็นผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากกว่านี้ ดังนั้นทิศทางนโยบายในอนาคตจะเน้นการดูแลส่งเสริมสุขภาพ ทั้งการตรวจคัดกรอง การปรับพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งขณะนี้เป็นสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 แล้ว" นางนงลักษณ์ กล่าว 

ด้าน ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ สปสช. กล่าวว่า โรคไตเป็นโรคค่าใช้จ่ายสูง เป็นโรคแห่งการล้มละลายถ้าต้องจ่ายเงินเอง ตอนที่ สปสช.ยังไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมเรื่องนี้ ค่าฟอกไตอยู่ที่ 2,500-4,000 บาท/ครั้ง หรือปีละประมาณ 2-3 แสนบาท ซึ่งมีน้อยคนมากที่จะจ่ายได้ หลังจากนั้น สปสช.เริ่มให้สิทธิประโยชน์บำบัดทดแทนไตตั้งแต่ปี 2550 เพื่อให้ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายได้รับการบำบัดทดแทนไตทั้ง 3 วิธี โดยมีหลักการคือมีความครอบคลุม ไม่ว่าจะอยู่ในชนบทหรืออยู่ในเมืองต้องได้บริการเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ต้องหยุดการล้มละลายของประชาชน และที่สำคัญ ต้องมีการสร้างส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในการป้องกันตัวเอง ทานอาหารที่เหมาะสม เพื่อลดการเกิดโรค     

ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวอีกว่า สิทธิประโยชน์การบำบัดทดแทนไตของ สปสช. มี 3 อย่างคือ ล้างไตทางหน้าท้อง ฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม และการผ่าตัดปลูกถ่ายไต อย่างไรก็ดี สปสช.จะเลือกการล้างไตทางหน้าท้องเป็นอันดับแรกแรกก่อน เพราะในช่วงปี 2550 นั้น การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมยังไม่แพร่หลาย อีกทั้งผู้ป่วยต้องเดินทางมาฟอกเลือดที่โรงพยาบาลสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เกิดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เสียเวลาครั้งละ 4-5 ชม. ดังนั้น สปสช.จึงเลือกวิธีการการล้างไตทางหน้าท้องก่อนเพราะผู้ป่วยสามารถทำได้ที่บ้านด้วยตัวเอง โดย สปสช.จะจัดระบบส่งน้ำยาไปถึงที่บ้านทุกเดือนฟรี 

อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยมีข้อจำกัดไม่สามารถล้างไตทางหน้าท้องก็จะให้สิทธิฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ส่วนปลูกถ่ายไต ถ้าเข้าเงื่อนไขต่างๆ สปสช.ก็จ่ายค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด รวมทั้งในอนาคตจะพัฒนาอีกขั้นด้วยการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างอัตโนมัติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างนำร่องในบางพื้นที่ ถ้าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ก็จะพิจารณาเพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์ให้ในอนาคต 

ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ สปสช.จะมีระบบการดูแลผู้ป่วยโรคไต แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการบริโภคเค็ม ดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคจะดีที่สุด 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net