Skip to main content
sharethis

คุยกับผู้ร่วมชุมนุมเดินทะลุฟ้า V.2 ปักหลักตั้งหมู่บ้านข้างทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่พระสงฆ์ ประชาชนวัยเกษียณผู้บินเดี่ยวจากเชียงรายสู่กรุงเทพฯ ประชาชน 3 คน 3 จังหวัดผู้กลายเป็นเพื่อนบ้านใหม่ในหมู่บ้านทะลุฟ้า ไปจนถึงทีมพยาบาลอาสาและกลุ่มผู้พิทักษ์เยาวชนในม็อบ

14 มี.ค. 2564 ประมวลบทสัมภาษณ์ผู้ร่วมชุมนุม #ม็อบ13มีนา #เดินทะลุฟ้าV2 จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งหมู่บ้านปักหลักข้างทำเนียบ ซึ่งจัดโดยราษฎรและเครือข่ายพีเพิ้ลโก 

การเมืองคือเรื่องของทุกคน ไม่ว่าจะพระหรือฆราวาส

หลวงพี่ไทม์ พระสงฆ์รูปหนึ่งซึ่งจำวัดอยู่ จ.เชียงราย ผู้ร่วมสังเกตการณ์การชุมนุม ‘เดินทะลุฟ้า V.2’ ในวันที่ 13 มี.ค. บริเวณทำเนียบรัฐบาล บอกกับผู้สื่อข่าวว่า ตนเดินทางเข้ามารักษาอาการอาพาธในกรุงเทพฯ ตามนัดของหมอ จึงใช้โอกาสนี้เข้ามาสำรวจพื้นที่ชุมนุม

“อาตมาติดตามข่าวการชุมนุมอยู่ในโซเชียลมีเดียอยู่ตลอด ถ้าการชุมนุมจัดขึ้นตรงกับช่วงที่อาตมาเดินทางมาพบหมอที่กรุงเทพฯ อาตมาก็จะแวะมาสังเกตการณ์ญาติโยมในที่ชุมนุมบ้างเป็นบางครั้ง”

หลวงพี่ไทม์ ถือนาฬิกาเพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าหมดเวลาของรัฐบาลเผด็จการแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามหลวงพี่ไทม์ว่า คิดเห็นอย่างไรกลับคำกล่าวที่ว่า ‘พระไม่ควรยุ่งเรื่องการเมือง’ ซึ่งหลวงพี่ไทม์เผยว่า การเมืองเป็นเรื่องของพระเช่นเดียวกับฆราวาส เพราะพระก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

“อาตมามองความหมายของคำว่าการเมือง ในแง่ที่ว่าเป็นการพัฒนาไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข อยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีความขัดแย้ง บนหลักของความถูกต้องและมีข้อตกลงที่เป็นที่ยอมรับ เพราะฉะนั้น พูดง่ายๆ คือ การเมืองมันเกี่ยวกับทุกเรื่อง เกี่ยวกับปัจจัย 4 อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยา ที่อยู่อาศัย เกี่ยวกับการศึกษา อาชีพการงาน อาตมาว่ามันเกี่ยวกับทุกเรื่อง พระก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคม แล้วหากจะบอกว่าพระไม่เกี่ยวกับการเมือง ก็ดูจะไม่ใช่ เพราะพระต้องบิณฑบาต ต้องอาศัยปัจจัยจากญาติโยม ยังต้องฉันท์อาหาร ต้องการเครื่องนุ่งห่ม เวลาเจ็บป่วยก็ต้องการยารักษาโรคเช่นเดียวกับปุถุชนทั่วไป อีกทั้ง พระยังอยู่ในสังคมที่มีระบอบการปกครองแบบเดียวกับญาติโยม ถ้าการปกครองไม่ปกติ เกิดความขัดแย้ง เศรษฐกิจไม่ดี ญาติโยมค้าขายไม่ได้ มันก็กระทบไปถึงพระเณรที่อยู่ในวัด เพราะพ่อแม่หรือญาติพี่น้องของพระก็เป็นฆราวาส เป็นคนทั่วไป ดังนั้นการจะบอกว่าพระไม่ต้องมายุ่งการเมืองนั้นคงไม่ใช่ เพราะมันเกี่ยวข้องกันโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว”

นอกจากนี้ หลวงพี่ไทม์ยังระบุว่า การร่วมชุมนุมหรือสังเกตุการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นหนึ่งในกระบวนการการเรียนรู้และนำหลักธรรมมาวิเคราะห์เพื่อหาความจริงและความถูกต้อง

“พระสงฆ์ทุกวันนี้ก็ติดตามข่าวสารบนโซเชียลมีเดียและใช้อินเทอร์เน็ตหาความรู้เหมือนญาติโยม ดังนั้นการที่พระสงฆ์ออกมาร่วมชุมนุมทางการเมือง ก็เพื่อมารับรู้ข้อมูล แล้วนำไปคิดวิเคราะห์ต่อเพื่อหาความจริง เป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง แต่อาจจะต่างจากฆราวาสตรงที่พระใช้ความรู้ทางธรรมที่เรียนมาเป็นหลักในการวิเคราะห์หาความจริง ความถูกต้อง” หลวงพี่ไทม์กล่าว

‘สิทธิของคนต้องเท่ากันทั้งหมด’

นาย (นามสมมติ) หญิงวัย 67 ปี จาก จ.เชียงราย เผยว่าตนตั้งใจมาร่วมกิจกรรม ‘เดินทะลุฟ้า V.2’ ในวันนี้เพราะต้องการให้กำลังใจนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในขณะนี้ รวมถึงประชาชนคนที่ออกมาร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย 

“เรานั่งเครื่องบินมาจากเชียงราย พักอยู่บ้านญาติกรุงเทพฯ ได้ 3 วันแล้ว แต่ไม่เคยอยู่บ้านเลย เพราะออกมาร่วมกิจกรรมตลอดตั้งแต่มาถึง แต่วันนี้ไม่ได้ค้างคืนที่นี่ ดึกๆ ก็คงกลับ แต่พรุ่งนี้ก็จะมาใหม่” นายเล่า พร้อมบอกว่าตนยังไม่มีกำหนดเดินกลางกลับเชียงราย และวางแผนว่าจะมานอนค้างคืนที่หมู่บ้านทะลุฟ้าร่วมกับผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่นๆ

นายเผยว่าตนเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่มเดินทะลุฟ้า โดยเฉพาะการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือโจมตีประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ 

“ยกเลิก ยกเลิกดีที่สุด แล้วก็ปฏิรูปสถาบันฯ คือ ให้สถาบันกษัตริย์มาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเหมือนกับประเทศอื่นๆ สิทธิของคนเรามันต้องเท่ากันหมด” นายกล่าว

นาย (นามสมมติ) ประชาชนจาก จ.เชียงราย ให้กำลังใจผู้ชุมนุมทุกคนด้วยการชู 3 นิ้ว

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่าหากเกิดการสลายการชุมนุมระหว่างที่ผู้ร่วมกิจกรรมปักหลักค้างคืนจะทำอย่างไร นายเผยว่าคงจะต้องหาวิธีเอาตัวรอดด้วยหาทางหนีทีไล่และออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด เพราะตนเห็นเหตุการณ์การสลายการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อเช้ามืดวันที่ 15 ต.ค. 2563 จึงไม่อาจไว้วางใจได้ว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ใช้กำลังกับประชาชน

“คนต้องออกมาช่วยกันเยอะๆ ถ้าคนเยอะ เขาจะไม่กล้าทำอะไรแบบนั้น” นายกล่าวทิ้งท้าย

คืนนี้นอนทำเนียบ ถึงถูกล้อมก็ไม่กลัว

ประชาชน 3 คนจาก จ.ปทุมธานี จ.นครราชสีมา และ จ.หนองบัวลำภู ที่พบกันจากการร่วมกิจกรรม ‘เดินทะลุฟ้า V.2’ ซึ่งแบ่งปันพื้นที่เสื่อและเต็นท์บนฟุตบาทข้างทำเนียบรัฐบาล เพื่อใช้เป็นที่หลับนอนในคืนนี้ เผยว่า พวกเขาทั้ง 3 คนไม่หวาดหวั่นหากเกิดการสลายการชุมนุมขึ้นมาจริงๆ เพราะเคยมีประสบการณ์การสลายการชุมนุมมาแล้วหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุด คือ เมื่อเช้ามืดวันที่ 15 ต.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเช่นเดียวกัน แต่โดยส่วนตัวแล้ว ทั้ง 3 คนคิดว่าตำรวจจะไม่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมใน 1-2 วันนี้ เพราะหากสลายการชุมนุมปักหลักของกลุ่มเดินทะลุฟ้าได้ ก็เท่ากับว่าต้องสลายการชุมนุมของภาคี #Saveบางกลอย ได้เช่นเดียวกัน

“คิดว่ายังไงเขาคงให้ออกจากพื้นที่ตรงนี้แน่ๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่กลัว กำลังใจยังดีอยู่” ประชาชนจาก จ.หนองบัวลำภู กล่าว

เต็นท์ที่ประชาชนเตรียมมาเพื่อปักหลักค้างคืนบริเวณหมู่บ้านทะลุฟ้า ข้างทำเนียบรัฐบาล

เมื่อถามถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มเดินทะลุฟ้า ประชาชนทั้ง 3 คนมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จก่อนเป็นอันดับแรก แล้วการแก้ไข้กฎหมายอื่นๆ จะทำได้ง่ายขึ้น และถ้าหากดูทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญในตอนนี้ ทั้ง 3 คนเห็นด้วยว่าการยกเลิกอาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ และโหวตรับร่างกฎหมาย คงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ส่วนข้อเรียกร้องให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ทั้ง 3 คนเห็นว่าควรยกเลิก เพราะหลายประเทศที่ปกครองในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ไม่มีหรือไม่ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ซึ่งมีโทษทางอาญากับประชาชน แต่หากยกเลิกไม่ได้ พวกตนคิดว่าควรเปลี่ยนมาใช้กฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปแทน และต้องไม่เปิดโอกาสให้บุคคลใดก็ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง แต่ต้องให้กษัตริย์ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ดำเนินการ

“เรามองว่าถ้ามันกระทบท่านจริงๆ ท่านควรจะเป็นผู้ฟ้องตามกระบวนการ ไม่ใช่ให้ใครก็ได้มาฟ้อง” ประชาชนจาก จ.ปทุมธานี กล่าวทิ้งท้าย

คุยกับหน่วยพยาบาลอาสาและผู้พิทักษ์เยาวชนในม็อบ

ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือ แหวน พยาบาลอาสา จากกลุ่ม FAV ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาไทว่าวันนี้ ทีม FAV ตั้งจุดปฐมพยาบาลห่างจากพื้นที่หลักของการชุมนุมเพียง 50 เมตร ต่างจากปกติที่กลุ่ม FAV จะตั้งจุดปฐมพยาบาลและรับส่งผู้ป่วยอย่ห่างจากพื้นที่ชุมนุมราว 100 เมตร เนื่องจากประเมินสถานการณ์แล้วว่าไม่น่ามีเหตุการณ์รุนแรง

“เราประเมินสถานการณ์แล้ว มันไม่มีเหตุปะทะที่รุนแรง ถ้าในสถานการณ์ที่ไม่มีเหตุปะทะรุนแรง เราก็จะเอา Advance Life Support หรือ ALS สองคันนี้เข้ามา รถ ALS หมายถึงรถที่มีอุปกรณ์ยาพร้อมและเพียงพอ พร้อมขับเคลื่อนนำส่งผู้ป่วยได้เช่นกันกับรถพยาบาล ซึ่งจะเป็นรถเล็ก ที่ใช้รับผู้ป่วยจากภายในพื้นที่นำสู่โรงพยาบาลหรือ เอาไปถ่ายให้กับรถพยาบาลที่อยู่ด้านนอก 

ตรงนี้ที่เราเข้ามาอยู่ด้านใน ก็มีตั้งโต๊ะ จ่ายยา ทำแผล ปฐมพยาบาลเบื้องต้นเช่นเดิม ซึ่งโดยปกติแล้ว เราจะอยู่นอกโซนสุดเลย ประมาณ 100 เมตร แต่วันนี้แค่ 50 เมตร ก็คือไม่ได้ไกลมาก ก็ด้วย จากที่เราประเมินสถานการณ์แล้วว่า ยังไงก็ไม่มีเหตุการณ์ที่รุนแรง” ณัฏฐธิดากล่าว

ณัฏฐธิดา มีวังปลา (แหวน) พยาบาลอาสา

ณัฏฐธิดาบอกว่าทีมพยาบาลอาสา FAV จะตั้งจุดช่วยเหลือบริเวณนี้ถึงช่วงดึกของวัน แล้วจะกลับมาใหม่อีกครั้งในวันรุ่งขึ้น เพราะมีหน่วยแพทย์อาสา DNA คอยตระเวนให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมอยู่แล้ว

“เราก็ประสานกันไว้แล้ว และก็มีการแจ้งไว้เรียบร้อยแล้วว่า ถ้าเกิดว่ามีผู้ป่วยฉุกเฉิน ถ้าจะต้องนำออก ก็ให้แจ้งประสานไปที่ส่วนกลาง 1669 ซึ่งเราก็ได้ประสาน 1669 กับ ผศ.นพ.พรเทพ พึ่งรัศมี ผอ.ของศูนย์เอราวัณแล้ว ว่าเราจะมีการชุมนุมตรงนี้ ขอรถมาสแตนด์บายโดยรอบ ท่านก็อนุเคราะห์รถพยาบาลให้เรามา 10 คัน ก็จะมีตรงข้าม กับด้านของพี่แหวน อยู่เลนฝั่งนู้นก็จะเป็นรถพยาบาลของเอราวัณ และก็มุมนี้ก็จะเป็นของเพชรเกษม ของเพชรเกษมที่ตั้งอยู่จุดนี้ก็คือ เจ้าหน้าที่เวรในพื้นที่ เป็นการประสานงานกัน” ณัฏฐธิดากล่าว

ด้านกลุ่ม ‘ในม็อบมีเด็ก’ หรือ Child in Mob ผู้ทำหน้าที่ช่วยเหลือดูแลเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีที่มาเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุม เผยว่า ปีนี้จำนวนเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมมีน้อยลง เพราะปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่เพราะความกังวลเรื่องการสลายชุมนุมเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของการเปิดเทอม และการเรียนออนไลน์ ที่ทำให้เยาวชนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในวัยเรียน ไม่สะดวกที่จะออกมาร่วมกิจกรรมแบบปีที่แล้ว อีกทั้งจำนวนผู้ร่วมชุมนุมที่ลดน้อยลงในภาพรวม ก็ส่งผลให้จำนวนเยาวชนที่มาน้อยลงตามไปด้วย


ตัวแทนกลุ่ม Child in Mob บอกว่าทางกลุ่มได้ประสานงานกับกลุ่มผู้สังเกตุการณ์ชุมนุมและพยาบาลอาสากลุ่มต่างๆ ให้ช่วยสอดส่องดูแลว่ามีเยาวชนอยู่บริเวณใดของการชุมนุมบ้าง เพื่อที่จะได้เข้าไปในความช่วยเหลือได้เร็วที่สุด โดยภารกิจหลักของกลุ่ม Child in Mob คือ การนำเยาวชนออกมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย และส่งทุกคนกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ แม้การทำงานของกลุ่ม Child in Mob จะค่อนข้างราบรื่นเพราะได้รับความร่วมมือค่อนข้างดีจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ยังมีอุปสรรคสำคัญบางอย่าง เช่น ความเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ที่มักมองว่าเด็หรือเยาวชนต้องเป็นเด็กตัวเล็กๆ ในระดับชั้นประถมฯ เท่านั้น ซึ่งทางกลุ่มต้องอธิบายและชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่เพื่อให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองเยาวชนตามภารกิจหลักที่ทางกลุ่มตั้งเป้าไว้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net