Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์หลายแง่มุม เช่น อาจารย์สอนปรัชญาการเมืองบางคนที่สื่อเรียกว่า “โสเครตีสคนสุดท้าย” เพราะเขานิยามตนเองว่าเป็นผู้ตั้งคำถามกับทุกระบอบการปกครอง แต่อย่างไรก็ตาม โสเครตีสไม่ใช่เพียงตั้งคำถามกับทุกเรื่อง หากมีจุดยืนชัดเจนที่จะสละชีวิตเพื่อสิ่งที่ตนเชื่อว่าถูกต้องด้วย

ประเด็นสำคัญหนึ่งของโสเครตีสคนสุดท้ายคือ เขายืนยันระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่เห็นด้วยกับระบอบสาธารณรัฐ แต่ที่จริงข้อเสนอหลักของแกนนำราษฎรก็ไม่ใช่ระบอบสาธารณรัฐ พวกเขายังยืนยันข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และเพื่อยืนยันข้อเสนอดังกล่าว พวกเขาก็จำเป็นต้องพูดข้อเท็จจริงและปัญหาต่างๆ เพื่อให้สังคมเข้าใจร่วมกันว่าทำไมจึงต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่เห็นโสเครตีสคนสุดท้ายสนับสนุนข้อเสนอของแกนนำอย่างชัดเจนอะไร เมื่อเทียบกับการที่เขาแสดงการต่อต้านการเมืองในระบบเลือกตั้ง ด้วยการ “ฉีกบัตรเลือกตั้ง” ดังที่เราทราบกัน

ยิ่งกว่านั้น ที่ว่าตั้งคำถามกับทุกระบอบ ก็ไม่เห็นว่าเขาตั้งคำถามจริงจังหรือแสดงการประท้วงอะไรต่อสถาบันกษัตริย์เทียบเท่ากับที่เขาวิจารณ์และประท้วงการเมืองในระบบเลือกตั้ง ที่สำคัญเมื่อแกนนำราษฎรที่โดน 112 ไม่ได้รับสิทธิ์ประกันตัว ก็ไม่เคยเห็นเขาตั้งคำถามหรือวิจารณ์อะไรต่อระบบยุติธรรมภายใต้พระปรมาภิไธย 

ครั้นหันมามองคำวิจารณ์คนรุ่นใหม่แบบฉันมิตร เช่นคำวิจารณ์ของศาสตราจารย์ด้านปรัชญาบางคนที่ว่า คนรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 กลับไปสมาทานคุณค่าปฏิวัติฝรั่งเศส 2 ข้อคือ เสรีภาพ และเสมอภาคจากการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่สิ่งที่น่าน้อยใจมากๆ คือภราดรภาพ เพราะถูกลืม ตรงนี้เป็นอันตรายต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมประเทศชาติเดียวกัน...

คำวิจารณ์ดังกล่าวออกจะ “ย้อนแย้ง” อยู่ หากพิจารณาจากคำพูดตอนแรกของผู้วิจารณ์ที่ว่า การปฏิวัติฝรั่งเศสให้รากฐานทางความคิดกับสังคมการเมืองที่เป็นสมัยใหม่ มีรากฐานประชาธิปไตย 3 ข้อคือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ 3 ข้อนี้เป็นความพยายามที่จะปฏิเสธสังคมก่อนหน้านั้นที่อยู่กันเป็นช่วงชั้นวรรณะ คนรับสิทธิ์ไม่เท่ากัน 

ที่ว่า “ย้อนแย้ง” ก็เพราะว่าการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ก็ยืนยันเสรีภาพ เสมอภาคเพื่อปฏิเสธ “ชนชั้นศักดินา” เช่นกัน และข้อเรียกร้องให้ประยุทธ์ออกไป ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญก็คือข้อเรียกร้องเพื่อ “ทุกคน” จึงไม่จริงว่าพวกเขาลืมภราดรภาพ 

เวลาเราพูดถึงภราดรภาพ (fraternity) หรือความเป็นพี่เป็นน้องในกรณีนี้ เราควรจะมองไปที่เป้าหมายและวิธีการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ถ้าเป้าหมายคือเพื่อประชาธิปไตย และวิธีการก็ยืนยันกระบวนการประชาธิปไตยและยังอยู่ในกรอบสันติวิธีในความหมายอย่างกว้าง เราตัดสินไม่ได้ว่าคนรุ่นใหม่ลืมหรือละเลยภราดรภาพ เพียงเพราะพวกเขาใช้ท่วงทีวาจาบางอย่างต่างจากคนรุ่นเก่า เช่นคนรุ่นใหม่อาจจะไม่ถนัดใช้วิธีพูดแบบอ้อมเขาวงกตสามลูกแต่ก็สามารถทำให้คนฟังรู้ได้ว่าความจริงของปัญหาคืออะไร โดยที่คนเห็นต่างไม่โกรธ และผู้พูดก็ไม่ถูกเอาผิดทางกฎหมาย แต่พวกเขานิยมใช้วิธีการพูดตรงและแรง แต่ท่วงทีวาจาหรือวิธีพูดไม่น่าจะกลายเป็นประเด็นทำลายภราดรภาพได้ง่ายดาย

แท้จริงแล้วภราดรภาพในสถานการณ์ต่อสู้กับเผด็จการทรราชนั้นยึดโยงอยู่กับการร่วมต่อสู้แบบเคียงบ่าเคียงไหล่ (solidarity) คำถามคือ แล้วคนรุ่นเก่าที่ปกป้องคุณค่าของภราดรภาพร่วมเผชิญหน้ากับเผด็จการอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนรุ่นใหม่อย่างไร

แน่นอนว่า ตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์นักเรียนเลว, เยาวชนปลดแอก, ประชาชนปลดแอก, คณะราษฎร และราษฎร ในม็อบเหล่านั้นจะมีคนรุ่มเบบี้บูมเมอร์, เจน X, เจน Y และเจน Z ผสมปนเปกัน แม้ส่วนใหญ่หรือที่มีบทบาทนำจะเป็นเจน Y และเจน Z ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่าคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์และเจน X ที่ร่วมสู้กับคนรุ่นใหม่จะมองคนรุ่นใหม่ด้วยท่าทีการเรียนรู้และพยายามเข้าใจมากกว่า ยิ่งกว่านั้นบางคนก็แสดง “ความรู้สึกผิด” ที่พวกเขาต่อสู้มาก่อนแล้วไม่ชนะ จนกลายเป็นภาระให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานรับภาระอันหนักหนาสาหัสต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า มีนักวิชาการ ปัญญาชนรุ่นเบบี้บูมเมอร์และเจน X จำนวนมากที่มี “เสียงดัง” ในสังคม มีเครือข่ายในแวดวงวิชาการ โดยเฉพาะเครือข่ายโครงการวิจัยต่างๆ ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ และยังมีเครือข่ายผูกขาดหรือสืบทอดอำนาจการบริหารในมหาวิทยาลัยต่างๆ คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งยินดีเป็นข้ารับใช้ของเผด็จการ ส่วนหนึ่งเป็นพวกอิกนอแรนท์ ส่วนหนึ่งร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนรุ่นใหม่มากบ้างน้อยบ้าง อีกส่วนหนึ่งดูเหมือนจะพยายามเข้าใจ เอาใจช่วย และแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยน วิจารณ์แบบกัลยาณมิตรกับคนรุ่นใหม่ แต่ถ้าให้ลงมาสัมผัสแปดเปื้อนในกระบวนการต่อสู้ คนพวกนี้ก็จะยืนยัน “เสรีภาพ” ที่จะไม่ลงมาแปดเปื้อน

การยืนยันเสรีภาพที่จะไม่แปดเปื้อนในกระบวนการต่อสู้หรือไม่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนรุ่นใหม่ เหตุผลหนึ่งคือ “ทุกคนก็ต่อสู้ในพื้นที่และเวทีของตนๆ ไม่จำเป็นต้องลงไปเดินถนนหรือไปร่วมในขบวนการทางการเมืองใดๆ” ซึ่งก็ฟังดูดี ดูว่าผู้พูดมีจุดยืนมีหลักการบนความเป็นตัวของตัวเอง 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรายืนยันคุณค่าของภราดรภาพ เราย่อมรู้ว่าภราดรภาพไม่ใช่เพียงคำเทศนาทางศีลธรรมหรือแนวคิดปรัชญาที่สวยหรู แต่ภราดรภาพรูปธรรมมันคือการร่วมสุขร่วมทุกข์เคียงบ่าเคียงไหล่ต่อสู้ให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ เสมอภาค และประชาธิปไตย มันไม่ใช่สิ่งที่เป็นผลตามมาจากการมีเสรีภาพและเสมอภาคแล้ว

อย่างที่บอก คนรุ่นใหม่ที่สู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย พวกเขามีภราดรภาพแน่นอน เพราะพวกเขาต่อสู้เพื่อทุกคน คำถามคือ เมื่อเรายืนยันคุณค่าของภราดรภาพ เราจะทำอย่างไรกับการที่แกนนำราษฎรที่โดน 112 ไม่ได้รับสิทธิ์ประกันตัว เราจะทำอย่างไรที่มีความหมายเป็นการมองพวกเขาเป็นพี่เป็นน้องและเคียงบ่าเคียงไหล่สู้กับความอยุติธรรมร่วมกับพวกเขา

แน่นอนว่า นักวิชาการ ปัญญาชนในประเทศนี้ที่สามารถส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์คนรุ่นใหม่ได้ ก็ย่อมแสดงออกถึงความมีภราดรภาพต่อพวกเขาได้เช่นกัน เราอาจนึกภาพเพื่อนบ้าน เช่น นักวิชาการ ครูอาจารย์เมียนมาร์ที่แสดงภราดรภาพร่วมสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชนทั่วไป แม้เราจะเห็นความจริงที่น่าเศร้าในบ้านตัวเอง มาแล้วว่ามีครูบางคนเฆี่ยนเด็กนักเรียนที่ชู 3 นิ้ว มีอาจารย์มหาวิทยาลัยบางคนที่แจ้ง 112 เอาผิดนักศึกษาของตนเองและเพื่อนอาจารย์ด้วยกัน แต่เราก็ยังจะคิดแบบ “อานนท์ นำภา” ว่ายัง “เชื่อมั่นและศรัทธา” ว่าสักวันหนึ่งพลังแห่งภราดรภาพจากปัญญาชนชั้นนำใมหาวิทยาลัยไทยจะมีจริง!

ก่อนหน้านี้อานนท์ถูกให้ย้ายห้องขังทุกวัน ล่าสุดวันนี้เฟสบุ๊คอานนท์ นำภา โพสต์ข้อความว่า

“ข้อความฝากจากศาล 15 มี.ค. 64 ...ได้ข่าวว่าจะมีการสร้างสถานการณ์ให้อานนท์ นำภา ถูกทำร้ายในเรือนจำให้ตายหรือพิการตลอดชีวิต คนสั่งได้นี่ไม่ธรรมดานะ”

นี่อาจเป็นเรื่องที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงไม่ได้ เพราะในสังคมที่คนพูดความจริงต้องติดคุก ความจริงเกี่ยวกับอำนาจที่แตะไม่ได้ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้อยู่แล้ว คำถามคือ จะมีการแสดงภราดรภาพจากปัญญาชนผู้ปกป้องภราดรภาพ จากนักสันติวิธี จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่แสดงออกถึงความกังวลต่อความปลอดภัยของผู้ต้องหา 112 ที่ถูกขังคุกโดยศาลยังไม่ได้ไต่สวนความผิดบ้างไหม อย่างไร

นี่เป็นคำถามสำคัญมาก หากเราเชื่อว่า เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพได้มาจากการต่อสู้ยกเลิกระบบชนชั้นวรรณะหรือเผด็จการอำนาจนิยมในแบบใดๆ คนรุ่นใหม่ได้อุทิศตนต่อสู้เพื่อเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพแก่เราทุกคนแล้ว และขณะนี้พวกเขากำลังเผชิญ “ความอยุติธรรมอำมหิต” ที่ยากจะคาดเดา พวกเขาไม่ได้ลืม “ภราดรภาพ” แต่ภราดรภาพกำลังถูกพวกเราลืมหรือไม่? 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net