พรรคกรีนเอาชนะพรรค CDU ของอังเกลา แมร์เคิลได้ในสนามเลือกตั้งแรกของเยอรมนีประจำปี 64

พรรคกรีนและพรรค SPD ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นในการเลือกตั้งระดับรัฐ 2 สนามแรกของเยอรมนี ทิ้งห่างพรรค CDU ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาล ด้านนักวิเคราะห์ปมจัดหาวัคซีนและคดีทุจริตหน้ากากอนามัยฉุดคะแนนนิยมรัฐบาล พร้อมคาดอาจเห็นขั้วใหม่ของรัฐบาลเยอรมนี

16 มี.ค. 2564 พรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน หรือ CDU ของอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี พ่ายแพ้ต่อพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านในการเลือกตั้งระดับรัฐ 2 สนามแรกที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยพรรคกรีนซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์ค ซึ่งเป็นรัฐทางตอนใต้ที่มีอาณาเขตติดกับแคว้นบาวาเรีย มีเมืองสำคัญ คือ สตุตต์การ์ต พรรคกรีนกวาดคะแนนเสียงเลือกตั้งมากสุดที่ 31% ในขณะที่พรรค CDU ได้คะแนนเสียงรองลงมาที่ 23.6% เท่านั้น ซึ่งพรรค CDU ได้คะแนนเสียงน้อยลง 4% จากการเลือกตั้งปี 2559

ส่วนที่รัฐไรน์ลันท์-ฟัลทซ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ พรรค CDU พ่ายให้กับพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี หรือ SPD ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรค SPD กวาดคะแนนเสียงได้มากถึง 34.5% ในขณะที่พรรค CDU ได้คะแนนเพียง 26.5% เท่านั้น ซึ่งคะแนนลดลงจากเมื่อ 5 ปีก่อนถึง 5.8%

พอล ซีเมียค เสขาธิการพรรค CDU ยอมรับว่าผลการเลือกตั้งใน 2 สนามแรกเป็นที่น่าผิดหวัง แต่ซีเมียคมองว่าผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา ไม่ใช่ความล้มเหลวของพรรค CDU แต่เป็นความสำเร็จส่วนบุคคลของผู้ว่าการรัฐที่มาจากพรรคกรีนและพรรค SPD

“ในช่วงเวลาวิกฤต เราเห็นว่าผู้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งยังคงไว้วางใจคณะผู้นำที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนี้” ซีเมียคกล่าวสั้นๆ ในแถลงการณ์

อย่างไรก็ตาม ซีเมียคทราบดีว่าข่าวอื้อฉาวเรื่องการทุจริตจัดซื้อหน้ากากอนามัยของ ส.ส. พรรค CDU และปัญหาการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คะแนนนิยมของพรรคลดน้อยลง

พรรคกรีนและ SPD ฉลองชัยชนะเลือกตั้ง

วินฟริด เครทชมันน์ วัย 72 ปีจากพรรคกรีน ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์คเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจคะแนนนิยมก่อนการเลือกตั้งที่ระบุประชาชนในรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์คกว่า 80% พึงพอใจในการทำงานของเครทชมันน์ แต่ยังต้องจับตามองต่อไปว่าเครทชมันน์จะจับมือกับพรรคใดในการจัดตั้งรัฐบาลระดับมลรัฐ ระหว่าง CDU ซึ่งทำงานร่วมกันมาตั้งแต่สมัยที่แล้ว หรือจะย้ายขั้วมาจับมือกับพรรค SPD และพรรคเสรีประชาธิปไตย (FDP) แทน

วินฟริด เครทชมันน์ จากพรรคกรีน
ภาพจาก
Bündnis 90/Die Grünen Baden-Württemberg

ด้านมาลู แดรเยอร์ จากพรรค SPD ซึ่งชนะการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐไรน์ลันท์-ฟัลทซ์เป็นสมัยที่ 2 เผยว่าเธอยินดีจัดตั้งรัฐบาลมลรัฐร่วมกับพรรคกรีนและพรรค FDP อย่างแน่นอน

มาลู แดรเยอร์ จากพรรค SPD (ภาพจาก Wikipedia)
 

คะแนนนิยมที่ลดลงของพรรค CDU

การลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงตำแหน่งหัวหน้าพรรค CDU ของแมร์เคิล ไม่เพียงแค่สร้างแรงสั่นสะเทือนขนาดใหญ่แก่อนาคตทางการเมืองของเยอรมนี แต่ยังส่งผลต่อคะแนนนิยมที่ลดลงของพรรค CDU เพราะหลังจากแมร์เคิลก้าวลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค พรรค CDU ต้องเปลี่ยนผู้นำถึง 2 ครั้ง จนสุดท้ายตำแหน่งหัวหน้าพรรคตกเป็นของอาร์มิน ลาสเชต นักการเมืองคนสนิทของแมร์เคิล

โอลาฟ โชลซ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของแมร์เคิล และว่าที่ผู้ท้าชิงเก้าอี้นายกฯ เยอรมนีในสมัยถัดไปจากพรรค SPD เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าการเลือกตั้งใหญ่ปลายปีนี้อาจได้เห็นการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล หลังจากที่พรรค CDU และ SPD จับมือจัดตั้งรัฐบาลผสมกันมาหลายสมัย

“ถือเป็นวันดีๆ เพราะผลการเลือกตั้งครั้งนี้อาจชี้ว่ารัฐบาลเยอรมันในอนาคตอาจไม่มีชื่อของพรรค CDU” โชลซ์กล่าวกับผู้สื่อข่าว

โอลาฟ โชลซ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากพรรค SPD
ภาพจาก OSCE Parliamentary Assembly

ไม่เพียงแค่พรรคกรีนและ SPD เท่านั้นที่ฉลองชัยชนะเลือกตั้งใน 2 สนามแรก แต่พรรค FDP ก็ร่วมฉลองชัยชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วย เพราะพรรค FDP ได้คะแนนสูงกว่าการเลือกตั้งปี 2559 ถึง 2% ในรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์ค และ 5.6% ในรัฐไรน์ลันท์-ฟัลทซ์ ในขณะที่พรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี หรือ AfD ซึ่งมีแนวคิดขวาจัดกลับได้รับคะแนนเสียงลดลงจากเดิม โดยคาดว่าน่าจะเป็นผลพวงจากการที่พรรค AfD ถูกหน่วยข่าวกรองแห่งชาติกล่าวหาว่าสมาชิกพรรคเป็นกลุ่มหัวรุนแรง และต้องได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิด แม้ว่าต่อมาพรรค AfD จะฟ้องร้องต่อศาลว่าข้อกล่าวหาของหน่วยข่าวกรองแห่งชาติไม่เป็นความจริง และชนะคดีก็ตาม

บทวิเคราะห์ผลการเลือกตั้ง

มิเคลา คุฟเนอร์ หัวหน้าบรรณาธิการฝ่ายข่าวการเมืองของสำนักข่าวดอยช์เวเลย์ให้ความเห็นว่า ผลการเลือกตั้งในรัฐไรน์ลันท์-ฟัลทซ์ แสดงให้เห็นถึงรอยร้าวในการเมืองเยอรมัน ทั้งยังสะท้อนความโกรธเคืองของประชาชนบางส่วนที่มีต่อแผนการจัดการและบริหารวัคซีนที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลกลาง ด้าน จูเลีย ซาอูเดลลี นักข่าวการเมืองประจำสำนักข่าวดอยช์เวเลย์ รายงานว่า การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเหตุผลสำคัญต่อผลการเลือกตั้งในรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์ค ซึ่งพรรคกรีนสามารถเปลี่ยนความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาลกลางของประชาชนมาเป็นคะแนนเสียงให้กับพรรคได้อย่างท่วมท้น

นอกจากนี้ การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผ่านไปรษณียบัตรถือตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการนับคะแนนในโค้งสุดท้าย โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรัฐไรน์ลันท์-ฟัลทซ์กว่า 60% เลือกลงคะแนนผ่านทางไปรษณียบัตร ส่วนที่รัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์ค แม้จะยังไม่มีตัวเลขผู้ลงคะแนนผ่านไปรษณียบัตรอย่างชัดเจน แต่นักวิเคราะห์คาดว่ามีจำนวนสูงขึ้นกว่าการเลือกตั้งระดับชาติใน พ.ศ.2560 อย่างแน่นอน โดยเมื่อ 4 ปีก่อน มีผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผ่านไปรษณียบัตรในรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์คประมาณ 30%

ปี 2564 ถือเป็นปีแห่งการเลือกตั้งของประเทศเยอรมนี เพราะนอกจากการเลือกตั้งระดับชาติที่จะมีขึ้นในวันที่ 26 ก.ย. นี้ ยังมีสนามเลือกตั้งระดับมลรัฐอีก 6 แห่ง โดยจัดไปแล้ว 2 สนามเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา หมายความว่าเยอรมนีจะมีรัฐบาลชุดใหม่ ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นทั้งหมด 7 ชุดพร้อมกันในปีเดียว

ทุกพรรคการเมืองของเยอรมนีต่างตั้งใจชิงชัยในการเลือกตั้งใหญ่ตลอดปีนี้เป็นอย่างมาก เพราะการเลือกตั้งใหญ่ช่วงปลายปีจะถือเป็นจุดจบอย่างเป็นทางการของ ‘ยุคแมร์เคิล’ ที่ยาวนานกว่า 16 ปี หรืออย่างน้อยก็เป็นการเริ่มต้นใหม่ของพรรค CDU ที่ปราศจากการนำของแมร์เคิล

ส.ส. พรรค CDU กับการทุจริตหน้ากากอนามัย

วันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมา นิโคลัส โลเบล ส.ส. พรรค CDU พร้อมกับ เกออร์ก นุสสไลน์ ส.ส. แคว้นบาวาเรียจากพรรค CSU ซึ่งเป็นพรรคลูกของ CDU ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับการทุจริตจัดซื้อหน้ากากอนามัย โดยในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมามา นุสสไลน์ ถูกตำรวจสอบสวนเพราะถูกกล่าวหาว่ารับเงินจากบริษัทผู้ผลิตหน้ากากอนามัยจำนวน 600,000 ยูโร ส่วนบริษัทของโลเบลได้รับเงินค่านายหน้าจำนวน 250,000 ยูโรในฐานะคนกลางผู้จัดซื้อหน้ากากอนามัย นอกจากนี้ ยังมี มาร์ค ฮอปต์มันน์ ส.ส. อีกคนจากพรรค CDU ที่ประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา เพราะถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับการทุจริตในครั้งนี้ แม้ว่าเขาจะชี้แจงต่อรัฐสภาไปแล้วว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวก็ตาม

นักวิเคราะห์บางส่วนให้ความเห็นว่าเหตุการณ์ทุจริตหน้ากากอนามัยส่งผลต่อคะแนนนิยมในการเลือกตั้ง 2 สนามแรกที่เพิ่งผ่านมา และอาจเป็นจุดเปลี่ยนของพรรค CDU และ CSU ในการพิจารณาผู้แทนพรรคที่เตรียมลงสมัครชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งช่วงปลายปีนี้อีกด้วย

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท