Skip to main content
sharethis

รายงานสัมภาษณ์ อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ ติวเตอร์ภาษาไทยที่ผันตัวมาเป็นนักกิจกรรมในนามกลุ่มขอนแก่นพอกันทีและคณะราษฎร พร้อมเปิดใจแง่มุมต่างๆ ในการเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง สถาบันกษัตริย์กับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และทิศทางการต่อสู้ของขบวนในอนาคต


ภาพความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกฯ เรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ รวมทั้งปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รอบปี 63 จนถึงสถานการณ์การจับกุมและดำเนินคดีขณะนี้ทำให้เราเห็นถึงความหลากหลายในการเคลื่อนไหวทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมไปถึงบทบาทของผู้ที่ออกมาเป็นแกนนำการปราศรัย หนึ่งในนั้นคงมีชื่อ 'ครูใหญ่ ขอนแก่น’ หรือ อรรถพล บัวพัฒน์ ติวเตอร์ภาษาไทยวัย 30 ต้นๆ ที่ผันตัวมาเป็นนักกิจกรรมในนามกลุ่มขอนแก่นพอกันทีและคณะราษฎร

ในโอกาสนี้ประชาไทจะขอชวนไปทำความรู้จักเขา ทั้งจุดเริ่มต้นของเส้นทางนักกิจกรรม ทบทวนการคเคลื่อนไหวที่ผ่านมา การเตรียมตัวเตรียมใจกับการถูกดำเนินคดีที่อาจไม่ได้สิทธิประกันตัว ความรู้สึกของคนรอบข้าง มุมมองต่อสถาบันกษัตริย์กับพัฒนาการประชาธิปไตย รวมถึงมุมมองต่อการเคลื่อนไหวของประชาชนในอนาคต

  • จุดเริ่มต้นของเส้นทางนักกิจกรรมของอรรถพล เริ่มจากการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ #ขอนแก่นพอกันที ที่บึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อมาจึงลดงานประจำ หันมาลุยงานกิจกรรมทางการเมืองกับเครือข่ายมากขึ้น
  • อรรถพลเผยว่าตั้งแต่ก้าวเข้ามาเป็นนักกิจกรรม ก็เตรียมใจไว้บางส่วนแล้วว่าจะต้องเผชิญเหตุการณ์ฟ้องร้องดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่รัฐ
  • การปราศรัยที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีในประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 เป็นเหตุให้อรรถพลถูกแจ้งข้อหา ม.112 เป็นครั้งแรก
  • อรรถพลเน้นย้ำว่าประเทศไทยต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีพัฒนาการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

จุดเริ่มต้นของเส้นทางนักกิจกรรม

“ไทม์ไลน์ชีวิตนักกิจกรรมของผมสั้นมากเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ นับตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้แค่ประมาณ 1 ปี แต่นักกิจกรรมคนอื่นๆ เริ่มทำมา 2-3 ปีแล้ว หรืออาจจะเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่ช่วงมัธยมหรือมหาวิทยาลัย”

อรรถพล บัวพัฒน์ (ครูใหญ่) กล่าวปราศรัยในการชุมนุมบริเวณห้าแยกลาดพร้าว วันที่ 2 ธ.ค. 2563

“จริงๆ ผมสนใจการเมืองมานานแล้ว ในวงสนทนาระหว่างผมกับนักเรียน หรือกับเพื่อนๆ ก็มีพูดคุยและวิพากษ์วิจารณ์การเมืองเป็นปกติ พอเกิดกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ ราวๆ เดือน ก.พ. ปีที่แล้ว ก็เกิดกระแสการจัดแฟลชม็อบขึ้นตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ขอนแก่นก็มีกลุ่มน้องๆ นักเรียนนักศึกษาที่รวมตัวกันจัดอยากจัดแฟลชม็อบ ซึ่งน้องๆ ส่วนหนึ่งก็เป็นนักเรียนที่ผมเคยสอนสมัยเขาอยู่มัธยม น้องๆ เขาก็เลยชวนผมไปช่วยจัดแฟลชม็อบที่บึงสีฐาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น หลังจากนั้นเป็นต้นมาน้องๆ เขาก็มาปรึกษาเรา ในฐานะที่เราเป็นผู้อาวุโสในกลุ่ม เราก็เลยร่วมกับกลุ่มน้องๆ ทำกิจกรรมกันเรื่อยมา”

“ชื่อ ‘ขอนแก่นพอกันที’ ตอนแรกเป็นชื่องาน แต่นักกิจกรรมในนามกลุ่ม ‘ขอนแก่นพอกันที’ เกิดขึ้นหลังกิจกรรมแฟลชม็อบที่บึงสีฐาน ซึ่งมาจากการรวมตัวของหลายๆ กลุ่ม เช่น กลุ่ม KKU Politics, KKU Aquarium, ดาวดินสามัญชน และกลุ่ม UNME of Anarchy ซึ่งเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ ตอนแรกที่มาร่วมมือกันจัดงานแฟลชม็อบ เราก็ประชุมกันว่าจะใช้ชื่อกลุ่มว่า ‘มข. พอกันที’ แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่ม ‘ขอนแก่นพอกันที’ เพราะต้องการให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ ไม่ใช่แค่นักศึกษา มข. แต่นักเรียนหรือประชาชนทั่วไปที่อยู่ใน จ.ขอนแก่น ที่สนใจ ก็มาร่วมจัดกิจกรรมด้วยกันได้ ซึ่งหนึ่งในกลุ่มที่มาร่วมภายหลัง คือ ภาคีนักเรียน KKC ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนมัธยมใน จ.ขอนแก่น”

“ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มนักกิจกรรมในขอนแก่นเติบโตเร็วกว่าจังหวัดอื่น คือ ขอนแก่นเป็นเมืองใหญ่ อยู่ตรงกลาง มีสถาบันการศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยและโรงเรียนขนาดใหญ่ เราเลยเริ่มออกไปสานสัมพันธ์กับนักกิจกรรมในจังหวัดอื่นๆ ที่มีการจัดแฟลชม็อบ เช่น มหาสารคาม ชัยภูมิ อุดรธานี หนองคาย สุรินทร์ แล้วขอนแก่นก็เลยกลายเป็นศูนย์กลางของกลุ่มกิจกรรมในภาคอีสานโดยอัตโนมัติ”

การเข้าร่วมกับคณะราษฎร

“ก่อนที่คณะประชาชนปลดแอก - Free People จะนำจัดม็อบวันที่ 16 ส.ค. ปีที่แล้ว ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เขาได้ติดต่อมาว่าต้องการตัวแทนนักกิจกรรมจากภาคอีสานมาขึ้นปราศรัยบนเวทีที่ กทม. เครือข่ายนักกิจกรรมในภาคอีสานก็ปรึกษาหารือกัน สุดท้ายก็ตกลงกันว่าให้ผมเป็นคนขึ้นไปพูด พอขึ้นปราศรัยเรื่องงูเห่าศรีนวลเสร็จปุ๊บ คนก็เริ่มรู้จักชื่อผมตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จากนั้นผมจึงเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับคณะราษฎรในฐานะตัวแทนจากฝั่งภาคอีสาน”

อรรถพล บัวพัฒน์ (ครูใหญ่) บนรถปราศรัยในการชุมนุมวันที่ 14 ต.ค. 2563 หน้าทำเนียบรัฐบาล

กิจกรรมชุมนุมที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี

อรรถพลเผยว่าการขึ้นเวทีปราศรัยในกิจกรรมชุมนุมที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย บริเวณ ถ.สาทร เป็นเหตุให้เขาต้องเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2563 ซึ่งอรรถผลกล่าวว่าคำปราศรัยของเขาไม่ได้ว่าร้ายต่อองค์กษัตริย์ แต่เขาชี้ให้เห็นว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือ ผู้ทำให้สถาบันกษัตริย์ต้องเสื่อมเสีย

“จริงๆ แล้วในคำปราศรัยของผม ผมชี้แจงให้เห็นว่าตั้งแต่รัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชาทำรัฐประหารเข้ามา ก็ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แล้วยังดึงสถาบันกษัตริย์เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง ทำให้สถาบันฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยการออกกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลก็เป็นผู้เห็นชอบในการออกกฎหมาย ถูกไหม ออกกฎหมายขยายพระราชอำนาจทางการทหาร ขยายงบประมาณทางการเงิน จัดตั้งหน่วยข้าราชการส่วนพระองค์ทำให้สถาบันฯ สามารถแทรกแซงการบริหารงานทางการเมืองได้ ผมพูดชัดเจนว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนทำให้สถาบันกษัตริย์กลายเป็นส่วนหนึ่งของข้อขัดแย้ง ผมพยายามจะเสนอให้เห็นชัดเจนว่าการที่กษัตริย์ทรงมีพระราชประสงค์ใดก็ตามที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือขัดต่อวิถีประชาธิปไตย รัฐบาลมีหน้าที่ต้องระงับยับยั้งพระราชประสงค์นั้น แต่ว่าพระราชประสงค์ใดก็ตามที่เป็นการสนองวิถีประชาธิปไตย รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องสนองงานนั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลนี้กลับสนองพระราชประสงค์ที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย ซึ่งทำให้สถาบันฯ กลายเป็นขี้ปากชาวบ้าน”

การปราศรัยในกิจกรรมชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แก่อรรถพล ซึ่งเขาเผยว่าเขาเพิ่งถูกแจ้งข้อหาความผิด ม.112 เป็นคดีแรก ส่วนคดีก่อนหน้านั้นเป็นความผิดตามกฎหมายอื่น เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ พ.ร.บ.ความสะอาด เป็นต้น แต่อรรถพลบอกว่าเขาไม่ได้เคลือบแคลงใจต่อตัวพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้แจ้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์แก่เขา

“ผมไม่ได้ติดใจเรื่องที่ตำรวจเป็นคนแจ้งข้อหาอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอน ผมขอชี้แจงให้เข้าใจว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวนหรือเป็นหน่วยควบคุมฝูงชน ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของเรา รัฐใช้เจ้าหน้าที่เป็นเครื่องมือในการจัดการกับผู้ชุมนุม และใช้เจ้าหน้าที่เป็นที่ระบายความโกรธอยู่แล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะฝากไว้กับพี่น้องประชาชน คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เป็นแค่ตัวล่อเป้า ทำให้เราเสียเป้าจากการพิพาทกับรัฐมาเป็นพิพาทกับเจ้าหน้าที่”

เตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรกับการขึ้นศาลในวันที่ 25 มี.ค. นี้

“ในเรื่องใจ เราไม่ได้เตรียมอะไรมาก เพราะคิดไว้อยู่แล้วตลอด 1 ปีที่ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองมา เราค่อยๆ รู้แล้วว่าการถูกคุมขังมันจะเกิดขึ้นกับเรา ดังนั้นเราเลยไม่ได้ตื่นเต้นมาก รู้สึกช็อก หรือผิดคาดมากถ้าต้องถูกคุมขัง แต่ก็พอมีความกังวลอยู่ว่าชีวิตหลังลูกกรงมันจะลำบากขนาดไหน ก็เตรียมใจมาส่วนหนึ่ง”

“ส่วนในเรื่องของการเตรียมตัว หลังวันที่ 25 มี.ค. นี้ผมไม่รับงานสอนหนังสือ เพราะเราไม่แน่ใจว่าผลมันจะเป็นอย่างไร แต่จริงๆ หลังจากที่เริ่มทำกิจกรรมการเมืองแบบจริงจัง ผมก็รับงานสอนน้อยลงมาเรื่อยๆ อยู่แล้ว ทำงานแค่ 1/4 จากปริมาณงานเดิม เอามาทุ่มกับกิจกรรมทางการเมืองแทน ซึ่งเงินส่วนหนึ่งที่นำมาใช้จ่ายในการทำกิจกรรม ก็เป็นเงินบริจาคที่พี่น้องประชาชนช่วยสมทบทุนเข้ามา ส่วนเรื่องของที่บ้าน ผมก็จัดแจงว่าถ้าขาดผมไปคนหนึ่ง แล้วครอบครัวผมจะมีรายได้เข้ามาจากทางไหนบ้าง แม้ไม่มีเรา แต่กิจการโรงเรียนกวดวิชาที่เปิดมาจะยังต้องดำเนินต่อไปได้ ซึ่งจริงๆ ผมจัดแจงส่วนนี้ไว้ก่อนหน้าที่จะมาเป็นนักกิจกรรมอยู่แล้ว เพราะเราคิดว่าจะต้องทำอย่างอื่นอีกนอกจากงานสอนหนังสือ”

ความรู้สึกของคนรอบข้าง

“เราห้ามความกังวลหรือความเสียใจของใครไม่ได้ แต่คงต้องบังคับว่าคุณต้องเตรียมใจไว้นะ เพราะเราเลือกเส้นทางนี้แล้ว ซึ่งคนที่เป็นผู้ร่วมเส้นทางของเราอาจจะได้รับผลกระทบ เราคงเตรียมใจได้เฉพาะตัวเรา แต่สำหรับครอบครัวเรา เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะเข้มแข็งได้ขนาดไหน”

“คำว่ายอมรับ กับคำว่าทำใจได้ มันคนละเรื่องนะ การยอมรับมันทำได้เพราะมันคือการยอมรับต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นไปแล้ว แต่ความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นกับคนรอบข้าง เราก็รับประกันไม่ได้หรอก เพราะมันไม่ใช่ตัวเรา ถ้าถามว่าคนรอบข้างยอมรับได้ไหม ผมตอบให้เลยว่าได้ แต่ถ้าถามว่าทำใจได้ไหม ผมตอบแทนเขาไม่ได้”

ผู้สื่อข่าวถามอรรถพลว่าหากต้องเลือกระหว่างการสู้คดีในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมกับการลี้ภัยไปต่างประเทศ เขาจะเลือกสิ่งใด ซึ่งอรรถพลตอบว่าเขาเลือกที่จะสู้ แม้จะสู้ในกระบวนการที่ไร้ความยุติธรรมก็ตาม

“ไม่เคยคิดจะลี้ภัย ไม่เคยอยู่ในเสี้ยวความคิด ผมว่าเราควรยืนยันที่จะสู้ แม้ว่าจะไม่ยุติธรรมแต่ก็ต้องสู้ มันจำเป็นน่ะ ถ้าเราจะสู้กับความอยุติธรรม เราก็ต้องอยู่กับมัน ก็ต้องเจ็บปวดกับมัน ก็ต้องทรมานไปกับสิ่งที่เราสู้นี้แหละ ถ้าเราหนีไปสักคนแล้ว ใครจะยืนหยัดต่อล่ะ การที่บอกว่าจะยืนหยัดต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ก็เป็นแค่ลมปากสิ เพราะฉะนั้นผมว่าเราจำเป็นที่จะต้องสู้กับมัน แม้ว่าเราจะมองว่ามันอยุติธรรม หรือกระบวนการต่างๆ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกลั่นแกล้งเราก็ตาม”

 

มุมมองต่อการเคลื่อนไหวของประชาชนในอนาคต

อรรถพลมองว่าการต่อสู้เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของประชาชนยังคงดำเนินต่อไปแม้ไร้บุคคลที่พร้อมจะขึ้นมาเป็นแกนหลักในการปราศรัยหรือนำขบวน เพราะเขามองว่าการเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย

“เราเลยจุดที่จะต้องรอแกนนำไปแล้ว การเปิดประเด็นไปจนดึงการดันเพดานใดๆ มันเลยจุดนั้นไปแล้ว เพราะประชาชนสามารถพูดถึงสิ่งที่ถูกห้ามในที่สาธารณะได้แล้ว ฝ่ายอนุรักษ์นิยมทำได้แค่ชะลอให้การเปลี่ยนแปลงมาถึงช้าลง แต่การเปลี่ยนแปลงมันเริ่มต้นขึ้นแล้ว คุณหยุดมันไม่ได้หรอก”

“มันเป็นภารกิจของคนรุ่นเราที่ต้องทำให้สำเร็จ อาจจะยาวนะ การปฏิรูปประเทศ การปฏิรูปสถาบันฯ มันไม่จบภายใน 1-2 ปีหรอก เราไม่ได้แย่งชิงพื้นที่ทางอำนาจ แต่เราแย่งชิงพื้นที่ทางความคิด เราต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงผู้ถือครองอำนาจ มันยาวนานแน่ๆ ฉะนั้นอย่าใจร้อน จงใจเย็น สุขุมและมีสติ”

“สิ่งที่ผมพูดมาตลอด คือ ให้ตื่นรู้และอย่าตื่นรู้ ‘ให้ตื่นรู้’ หมายความว่า ให้แสวงหาความรู้ หาจุดยืนและหลักการของตัวเอง รวมทั้งต้องหนักแน่นในแนวคิดนั้นๆ ไม่ใช่แค่พูดหรือแสดงออกไปตามอารมณ์ ส่วน ‘อย่าตื่นรู้’ คือ อย่ากระโตกกระตากในความรู้ที่ตัวเองมีจนเกินไป เพราะมันเกิดปัญหาจริงๆ ที่คนตื่นรู้มั่นใจไปเร็วซะเหลือเกิน จนลืมหันไปมองว่ายังมีคนที่ไม่ตื่นรู้ ซึ่งพอคนตื่นรู้หันกลับมามอง แล้วก็โวยวายว่าทำไมถึงยังไม่เข้าใจเรื่องนี้อีก จนทำให้คนที่เขายังไม่ตื่นรู้สึกว่านี่คือการต่อต้านกันหรือเปล่า”

สถาบันกษัตริย์ต้องมีพัฒนาการที่เป็นประชาธิปไตย

อรรถพลเน้นย้ำในจุดยืน 3 ขอเรียกร้อง คือ 1.ประยุทธ์ลาออก 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยเขาหวังว่าจะเห็นทุกข้อเรียกร้องของประชาชนเกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นประชาธิปไตย

“จริงๆ เราเรียกร้องให้รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจาก คสช. ยุติบทบาท แต่ก่อนจะไปต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ดีก่อน ต้องตั้ง สสร. เพราะไม่งั้นรัฐบาลนี้ก็มีโอกาสกลับเข้ามาอีกผ่านกลไก ส.ว. 250 คน ส่วนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ผมยืนยันจากใจว่าประเทศไทยจะต้องมีสถาบันกษัตริย์ ผมขีดเส้นใต้คำนี้เลยนะ แต่สถาบันกษัตริย์จะต้องมีพัฒนาการที่เป็นประชาธิปไตย ต้องไม่หยุดพัฒนา แต่ในยุค 7 ปี ของ คสช. พัฒนาการดังกล่าวนั้นย้อนหลังกลับไป ย้อนไปสู่การที่สถาบันกษัตริย์มีกองทัพเป็นของตัวเอง กลับไปสู่การขยายพระราชอำนาจด้านการแทรกแซงระบบการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการ กลับไปสู่การไร้ข้อจำกัดทางทรัพย์สิน ไม่แบ่งแยกระหว่างทรัพย์สินส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เราต้องเริ่มปฏิรูปจากสิ่งที่มีพัฒนาการย้อนหลังก่อน ทำสิ่งที่ย้อนหลังให้กลับมาเป็นปัจจุบัน หลังจากนั้นค่อยว่ากันเรื่องอื่น เช่น การพิจารณายกเลิก ม.112 ประชาชนต้องสามารถวิจารณ์สถาบันกษัตริย์อย่างบริสทุธิ์ใจได้ ตามข้อเท็จจริงและหลักการ การไม่แทรกแซงการเมือง รวมไปถึงการตัดความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มทุนและสถาบันฯ ออกจากกันให้ได้ เพราะถ้ายังมีความเชื่อมโยงเหล่านี้มันก็เกิดการผูกขาด แต่อย่างไรก็ตาม ผมยังย้ำในจุดยืนที่ว่าประเทศไทยต้องมีสถาบันกษัตริย์เพื่อเป็นสัญลักษณ์และศูนย์รวมจิตใจ แต่สถาบันกษัตริย์ของประเทศไทยต้องมีพัฒนาการที่เป็นประชาธิปไตย”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net