Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ 'รุ้ง ปนัสยา' ก่อนถูกปฏิเสธสิทธิประกันตัว ถึงยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวของราษฎรในปี 64 ปัญหาการกลับมาใช้ ม.112 ในการฝากขังนักกิจกรรม และกรอบความหมายของการต่อสู้แบบสันติวิธี

เมื่อการเคลื่อนไหวกลับมาบนท้องถนนอีกครั้ง หลังจากหยุดชะงักไปเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 เมื่อปลายปี 63 เริ่มต้นปี 64 ภาพการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ก็มีท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้น ทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจากกิจกรรมเขียนป้ายผ้า 112 เมตร และการชุมนุมของกลุ่มการ์ดราษฎรบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าสามย่านมิดรทาวน์ จนถึง ภาพการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน กับประชาชนผู้ประท้วง ในวันที่ 13 ก.พ.64 บริเวณหน้าอาคารศาลฎีกา เราจึงชวนคุยกับรุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หนึ่งในบรรดาคนที่ถูกเรียกว่าแกนนำ ต่อยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว การกลับมาใช้ ม.112 ในการฝากขังนักกิจกรรม และกรอบความหมายของการต่อสู้แบบสันติวิธี

(หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์นี้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 16 ก.พ.64 ก่อนที่หลังจากนั้น (8 มี.ค.64) อัยการจะมีคำสั่งฟ้องปนัสยา ตาม ม.112 และ ม.116 จากการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 โดยที่ศาลไม่ให้ประกันตัวจนถึงปัจจุบัน (17 มี.ค.64) โดยศาลอ้างว่ามีเหตุอันเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยจะไปกระทำการในทำนองเดียวกับที่ถูกฟ้องหรือก่อเหตุอันตรายอื่นอีก)

3 ข้อเรียกร้องหลักของราษฎรกับการเคลื่อนไหวในปี 64 จะเป็นอย่างไร

ปนัสยา  มองว่ามีหลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า เราอาจจะลืมข้อ 1 ข้อ 2 ไปแล้ว(พลเอกประยุทธ์ต้องลาออก และร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน) ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ แต่ในช่วงที่ผ่านมาเราพยายามอย่างหนักในการพูดถึงข้อ 3 (ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์) เพื่อเป็นการปูข้อมูลและขยับเพดานการรับรู้ของมวลชนในการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งหลังจากนี้เราจะกลับมาพูดทั้งข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 ให้สมดุลมากขึ้น เพื่อที่จะให้ความรับรู้เหล่านี้เห็นภาพรวมได้เยอะที่สุด

สำหรับข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อของกลุ่มราษฎร ประกอบด้วย 1. ประยุทธ์ต้องออกไป 2. แก้รัฐธรรมนูญ และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

เวลาเราพูดถึงข้อ 3 การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เรามองการเรียกร้องข้อนี้สำคัญแค่ไหน

ซึ่งต้องยอมรับว่ามีความต่างจากข้อ 1และข้อ 2 คือเรายอมรับว่าสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทย คือสถาบันที่อยู่เหนือสถาบันอื่นๆ ในโครงสร้างการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา หรือศาลเองก็ตามแต่ มันกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการควบคุมของสถาบันอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ศาล หรือแม้กระทั่งรัฐบาล มันกลายเป็นว่าทำให้สถาบันอื่นในโครงสร้างทางการเมืองมันติดหล่มอำนาจ เพราะฉะนั้นความสำคัญของการปฏิรูป คือ การทำให้แต่ละสถาบันในโครงสร้างทางการเมืองเป็นอิสระต่อกัน เพื่อที่จะให้แต่ละสถาบันมีการพัฒนาไปในทิศทางของตัวเอง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำได้ ถ้าหากเราไม่พูดถึงการปฏิรูปและการจัดวางความสัมพันธ์ทางโครงสร้างเหล่านี้ และนี่แหละคือความจำเป็นที่จะต้องคลายอำนาจการควบคุมเหล่านี้ของแต่ละสถาบัน ให้แต่ละสถาบันนั้นอยู่ในที่ทางของตัวเอง ไม่เข้ามาคาบเกี่ยวหากไม่มีความจำเป็น

ความกังวลต่อการกลับมาฝากขังนักกิจกรรมทางเมือง ด้วยกฎหมายอาญามาตรา112 และประเมินการไหวอย่างไร

เอาจริงๆ เราก็คิดกันก่อนแล้วว่าในท้ายที่สุดจะมีการเอานักกิจกรรมที่มีกฎหมายอาญา ม.112 ติดตัวอยู่เข้าคุก แต่เราไม่คิดว่ามันจะเร็วขนาดนี้ เคยคาดการณ์กันเอาไว้ว่าจะเป็นอีกปี 2 ปีด้วยซ้ำ แต่เมื่อทั้ง 4 คนโดนจับเราก็ช็อคเหมือนกัน ซึ่งเราคิดว่าไม่ได้มีส่วนที่จะทำให้ขบวนหยุดชะงัก เพราะมันยังมีทีม ยังมีมวลชนที่พร้อมจะออกมาเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปสถาบัน หรือต่อให้จับเอาคนอื่นเข้าคุกไปอีก ก็ไม่อาจหยุดการเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้ เพราะชุดข้อมูลและอุดมการณ์มันถูกส่งต่อไปแล้ว การพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็จะไม่สามารถหยุดได้อย่างสิ้นเชิง มันอาจจะช้าลงหน่อย อาจจะมีอุปสรรคเข้ามาขัดขวางหน่อย แต่เราเชื่อว่ามันจะสามารถกลับมาเคลื่อนไหวกันได้ ต่อให้เอาแกนนำเข้าคุกทั้งหมด มวลชนก็จะออกมาเองอย่างพร้อมเพรียง ภาพการเคลื่อนไหวเมื่อปีที่แล้วจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีที่สุด และไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ การพูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์จะไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีกแล้ว หลังจากวันที่ 10 สิงหาคม 2563 เป็นต้นมา มันได้ทำลายวัฒนธรรมความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันลงแล้ว และเมื่อความศักดิ์สิทธิ์มันถูกลดทอน มันทำให้ขีดความกล้าของคนกล้ามากขึ้นที่จะออกมาพูดเรื่องนี้

ความกังวลต่อกระบวนการยุติธรรม ในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับ ม.112

คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความกังวล เพราะกรณีที่ถูกฟ้องเป็นกรณีที่ปราศรัยในวันเดียวกันกับทั้ง 4 คนที่ถูกฝากขังไป (วันที่ 19 กันยายน 2563 ที่ท้องสนามหลวง) เพราะที่เราเห็นคำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่ให้ประกันตัว เหตุผลของศาลที่ไม่ให้ประกัน ศาลบอกว่า อาจจะมีการกระทำผิดซ้ำซากและมีพฤติกรรมหลบหนี ซึ่งถ้าหากศาลให้เหตุผลแบบนี้ เสมือนว่าศาลได้ตัดสินไปแล้วว่าการกระทำของทั้ง 4 คนว่าผิด ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วตามหลักการของกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทุกคนบริสุทธิ์ (presumption of innocence) จนกว่าจะมีคำพิพากษาจากศาลจนถึงที่สุด และไม่มีเหตุจำเป็นใดเลยที่จะต้องเอาคนไปขัง และไม่มีใครเลยแม้แต่คนเดียวที่มีพฤติกรรมหลบหนี ทุกคนออกหน้าสื่อและอยู่ในที่สาธารณะทุกวัน ไม่เคยหลบหนี และไปรายงานตัวตามนัดหมายทุกครั้ง หากมีครั้งไหนที่ไม่สะดวกก็จะทำหนังสือแจ้งก่อนทุกครั้ง

เพราะฉะนั้นการที่ศาลบอกว่าอาจจะมีพฤติกรรมหลบหนี อันนี้ไม่ได้เลย และอย่างที่บอกไป ว่าศาลต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทุกคนคือผู้บริสุทธิ์ นี่คือหลักที่สากลเขาใช้ และกระบวนการยุติธรรมไทยก็ใช้ แต่เมื่อเป็นคดี ม.112 ทำไมศาลท่านถึงไม่ใช้ และนี่ไม่ใช่การหมิ่นศาล แต่คือคำถามที่คงต้องฝากไปถึงศาลอีกด้วย

กรอบของสันติวิธี การสื่อสารและการทำความเข้าใจกับมวลชน

อย่างเป็นรูปธรรมที่สามารถจับต้องได้ การตอบโต้แบบสันติวิธีคือ 1 เราต้องไม่มีเจตนาถึงชีวิต 2 เราไม่มีเจตนาให้ทำร้ายใครให้บาดเจ็บทางกายภาพ และเป้าหมายของการตอบโต้นั้นมีไว้เพื่อปกป้องตัวเองและคนอื่นๆ เท่าที่เหมาะสมและจำเป็น เช่น เราสามารถขว้างปาสิ่งของที่ไม่หนักและไม่มีคม เช่น ขวดน้ำ สาดสี ปาไข่ เป็นต้น หรืออีกอย่างคือการขัดขวางสิ่งที่จะมาทำร้ายเรา เช่นการที่เราเอาทรายและน้ำตาลทรายไปกรอกใส่ถังของรถจีโน่ (รถฉีดน้ำแรงดันสูง) ทำให้มันใช้งานไม่ได้ เพื่อที่มันจะไม่ถูกใช้มาทำร้ายพวกเรา

ความจำเป็นของการยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี

ความจำเป็นเหล่านี้เราคิดกันแล้วว่าทำไม เราต้องยึดมั่นในสันติวิธีเพราะอะไร เพราะว่าเรากำลังต่อสู้อยู่กับใคร เรากำลังสู้อยู่กับผู้มีอำนาจ มีทรัพยากรเยอะมาก เรากำลังสู้อยู่กับคนที่มีกองทัพอยู่ในมือ แล้วเราจะเอาอะไร จะเอามือเปล่าไปสู้กับรถถังไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างความชอบธรรมให้กับขบวนการเคลื่อนไหวให้มากที่สุด นั้นคือการยึดมั่นการต่อสู้แบบสันติวิธี

สำหรับ ฟาห์เรนน์ นิยมเดชา ผู้สัมภาษณ์และจัดทำวิดีโอนี้ เป็นนักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net