Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผย ปอท.แจ้งความ ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ ผู้โพสต์เฟสบุ๊คแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบัน ต่อมาได้รับการปล่อยตัวในชั้นสอบสวน โดยไม่ต้องวางหลักประกัน เนื่องจากได้มาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามนัดหมาย ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัว

 

วันนี้ (18 มี.ค. 64) เวลา 11.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.)...

โพสต์โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม  2021

 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผย รายงานเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมาว่าเวลา 11.00 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) “เรเน่” พุทธพงศ์ (สงวนนามสกุล) เดินทางไปรับทราบ 2 ข้อกล่าวหามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีแสดงความคิดบนเฟสบุ๊คส่วนตัวเกี่ยวกับสถาบัน ต่อมาได้รับการปล่อยตัวในชั้นสอบสวน โดยไม่ต้องวางหลักประกัน เนื่องจากได้มาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามนัดหมาย ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัว

ปอท.บุกตรวจค้นหอพัก ยึด คอมฯ และโทรศัพท์ ก่อนคุมตัวไปซักที่ ปอท.

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 มี.ค 2564 เวลา 07.00 น.พุทธพงศ์ถูกเจ้าหน้าที่ชุดตรวจค้น ภายใต้อำนวยการของ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผู้บัญชาการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) แสดงหมายค้นของศาลอาญา และเข้าตรวจค้นบ้านพัก โดยเจ้าหน้าที่ได้ยึดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือไปด้วย 

จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวพุทธพงศ์ไปที่บก.ปอท. ในรถกระบะของตำรวจ  โดยมีเจ้าหน้าที่ 2 นายนั่งประกบโดยอ้างว่าจะพาไปลงลายมือชื่อในเอกสารเท่านั้น และหากแล้วเสร็จจะปล่อยตัว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ไม่ได้แสดงหมายเรียกหรือหมายจับแก่พุทธพงศ์แต่อย่างใด 

เมื่อพุทธพงศ์ถูกคุมตัวมาซักถามที่ บก.ปอท. เขาไม่ได้รับสิทธิให้ติดต่อญาติหรือทนายแต่อย่างใด ทำให้ระหว่างการซักถามในห้องสอบสวน มีเพียงพุทธพงศ์เท่านั้น ไม่มีทนายเข้าร่วมการซักถามครั้งนี้ด้วย โดยเจ้าหน้าที่ยังนำเอกสารมาให้ลงลายมือชื่อ ซึ่งตนได้ลงลายมือชื่อไปเพราะมีอาการหวาดกลัวและตื่นตระหนก 

หลังการซักถาม พนักงานสอบสวนกลับเปลี่ยนใจจะแจ้งข้อหามาตรา 112 แก่พุทธพงศ์ในวันนั้น แม้ตอนแรกระบุว่า จะนำตัวมาเพื่อซักถามข้อมูลเท่านั้น 

ขณะเดียวกัน ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เดินทางไปถึงบก.ปอท.หลังการซักถาม และได้ปรึกษากับพุทธพงศ์ จึงตัดสินใจให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้พุทธพงศ์มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 18 มี.ค. 2564 เวลา 10.00 น. 

ปอท.แจ้งข้อหา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ เหตุโพสต์เฟสบุ๊คแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบัน

พ.ต.ต. คมสัน ทุติยานนท์ รองสารวัตร (สอบสวน) กก.2 บก.ปอท. และ ร.ต.ท.หญิง ปวริศา ศรีกาญจนากาศ รองสารวัตร(สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. บรรยายพฤติการณ์คดีโดยสรุปว่า จากการตรวจสอบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษกิจและสังคม พบข้อความบนเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 ซึ่งข้อความดังกล่าวมีเนื้อหาส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับสถาบัน

ด้านฝ่ายกฎหมายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษกิจและสังคมจึงมาพบพนักงานสอบสวน เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีกับผู้ต้องหาดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ซึ่งพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาพุทธพงศ์จำนวน 2 ข้อหา ได้แก่ 

1. “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 

2. “นำเข้าซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
พุทธพงศ์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายหลังภายใน 30 วัน 

ทั้งนี้พุทธพงศ์ได้ให้การเพิ่มเติมว่า ในวันที่พนักงานชุดตรวจค้น ได้แสดงหมายค้นของศาลอาญาและเข้าตรวจค้นบ้านพัก โดยไม่แสดงหมายจับนั้น ตนถูกเจ้าหน้าที่จูงใจให้เดินทางมาที่ ปอท. เพื่อเซ็นเอกสารต่าง ๆ หลังจากเจ้าหน้าที่ให้เซ็นเอกสารแล้วเสร็จ ทนายความจึงเข้าพบภายหลัง ตนจึงได้ปรึกษากับทนาย และประสงค์นัดหมายมาพบพนักงานสอบสวนเพื่อสอบคำให้การในวันที่ 18 มี.ค. 2564

ก่อนรับทราบข้อหา พุทธพงศ์ เผยว่าตนมีความกังวลหากตนถูกจับเข้าเรือนจำ อาจอยู่ไม่ได้เนื่องจากเป็นผู้หญิงข้ามเพศ (transwoman) ด้านญาติพุทธพงศ์เกรงจะเหมือนกรณี “ฟ้า-พรหมศร” ที่ไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน แม้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก

หลังเสร็จกระบวนการ พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวพุทธพงศ์ไป โดยไม่ควบคุมตัวไว้ เนื่องจากมาปรากฎต่อหน้าพนักงานสอบสวนแล้ว ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัว

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. 2563 จนถึงวันที่ 18 มี.ค. 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 73 ราย ในจำนวน 63 คดีแล้ว และคดีของ “พุทธพงศ์” เป็นคดีที่ 5 แล้วที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้ร้องทุกข์

สถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการบังคับใช้มาตรา 112 คือ เปิดโอกาสให้ใครก็ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยไม่ต้องเป็นผู้เสียหายเองเหมือนกับข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ทำให้กฎหมายมาตรานี้สามารถถูกกลุ่มฝ่ายการเมืองต่างๆ นำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือใช้กล่าวหากลั่นแกล้งกันไปมาอีกด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net