ยธ.เตรียมแก้กฎหมายโชว์ภาพถ่ายในเรือนจำได้ ให้สังคมเห็นว่าดูแลผู้ต้องขังปลอดภัย

'สมศักดิ์ เทพสุทิน' รมว.ยธ. เผยเตรียมแก้กฎหมายโชว์ภาพถ่ายในเรือนจำให้สังคมเห็นว่าดูแลผู้ต้องขังปลอดภัย - ราชทัณฑ์แถลงไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรง หลังเพจอานนท์โพสต์ 'ข้อความฝากจากเรือนจำ' - สถานทูตสหรัฐฯ ชี้แจง พบปะกับชาวไทยหลายภาคส่วนอยู่เป็นประจำทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ ผู้นำเยาวชน เพื่อให้ทราบถึงเป้าหมาย ความกังวล และประเด็นที่ชาวไทยให้ความสำคัญ 

'สมศักดิ์ เทพสุทิน' รมว.ยธ. เผยเตรียมแก้กฎหมายโชว์ภาพถ่ายในเรือนจำ
ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

19 มี.ค. 2564 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มแกนนำราษฎร เขียนจดหมายอ้างถูกเจ้าหน้าที่พยายามนำตัวออกจากห้องควบคุมกลางดึก กลัวจะถูกทำร้ายเอาชีวิตในเรือนจำ ว่า ทุกครั้งที่มีการควบคุมตัวในเรือนจำก็จะปรากฏข่าวแกนนำถูกทำร้าย ซึ่งเป็นเทคนิคการสื่อสารของแต่ละฝ่าย หากเป็นการใส่ร้ายให้ราชการต้องเสื่อมเสีย เราก็ต้องรักษาสิทธิในการกล่าวโทษ ร้องทุกข์ และดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ทั้งนี้ ในส่วนของเรือนจำก็อยากพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า กลุ่มแกนนำมีสุขภาพแข็งแรง ปลอดภัย แม้บางคนจะอดข้าว แต่ก็ไม่อดน้ำ อดนม น้ำหนักลงไปเล็กน้อยก็เป็นเรื่องปกติ แต่ระเบียบราชทัณฑ์ไม่อำนวยความสะดวกในการเผยแพร่ภาพถ่ายผู้ต้องขังในเรือนจำสู่สาธารณะ ดังนั้น จึงมอบหมายให้ปลัดกระทรวงยุติธรรม และอธิบดีราชทัณฑ์ ไปพิจารณาศึกษาแก้ระเบียบดังกล่าว เพื่อเผยแพร่รูปภาพแกนนำจากภายในให้สังคมได้รับทราบได้หรือไม่

นายสมศักดิ์ ยังกล่าวชี้แจงเรื่องการตรวจโควิด-19 ในเรือนจำว่า ปกติไม่ได้มีการตรวจโควิด-19 ประจำทุกวัน เพราะมีอุปกรณ์ในการตรวจเพียง 16,000 ชุด แต่หากมีเหตุการณ์สำคัญ หรือจำเป็นก็ต้องตรวจ เช่น วันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ต้องขัง 3 ราย ย้ายมาจากเรือนจำพิเศษธนบุรี ซึ่งเป็นเรือนจำพื้นที่เสี่ยงใกล้กับเขตบางแค โดยบังเอิญมาอยู่ร่วมกับผู้ต้องขังที่เป็นแกนนำกลุ่มราษฎร 4 ราย และผู้ต้องขังทั่วไปที่มาจากศาลอาญา 9 ราย ซึ่งผู้ต้องขัง 9 ราย ยอมให้ตรวจ ขณะที่แกนนำ 7 ราย ไม่ยอมแยกออกจากกัน อีกทั้งไม่ให้ตรวจเชื้อ จึงจำเป็นต้องย้ายออกจากผู้ต้องขังที่ตรวจเชื้อแล้ว

โดยในขณะนี้ผู้ต้องขัง 7 ราย ก็ยังไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจโควิด-19 แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่หากเป็นความมั่นคงภายในเรือนจำก็ต้องปฏิบัติ โดยผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยงจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อ ซึ่งการเตรียมเครื่องมือในการตรวจ ต้องใช้เวลานาน เนื่องจากไม่ได้มีการตรวจโควิดทุกวัน อีกทั้งหมอที่ทำการตรวจและเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปในเรือนจำก็เป็นข้าราชการทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม วันพรุ่งนี้ (20 มี.ค.) ตนจะเรียกประชุม ผบ.เรือนจำทั่วประเทศ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กำชับให้ระมัดระวังการทำงาน โดยเฉพาะการดูแลผู้ต้องขัง 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นอีก

รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่คณะกรรมาธิการ ป.ป.ช. เชิญตน พร้อมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม เข้ามาให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าว ยินดีให้ข้อมูล แต่เมื่อศึกษารัฐธรรมนูญ มาตรา 129 แล้ว เห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีคดีอาญาเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงไม่มั่นใจว่า กมธ.จะเรียกสอบสวนได้มากน้อยแค่ไหน

กรมราชทัณฑ์ออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องความปลอดภัยของ 2 ผู้ต้องหา

เว็บไซต์ BBC Thai รายงานว่าเอกสารข่าวเผยแพร่ของกรมราชทัณฑ์ อ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และโฆษกกรม ในวันที่ 19 มี.ค. ว่านายอานนท์ พร้อมแกนนำคณะราษฎรทุกคน ยังถูกคุมขังอยู่ในห้องแยกกักกันโรค และได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่อย่างเท่าเทียมกับผู้ต้องขังคนอื่นตามหลักสิทธิมนุษยชน ภายใต้กรอบของกฎหมาย

"ขอให้พี่น้องประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวลือที่อาจสร้างความเสียหายและความเข้าใจผิดต่อการทำงานของกรมราชทัณฑ์ และขอยืนยันว่า กรมราชทัณฑ์ไม่มีนโยบายที่จะใช้ความรุนแรง และละเมิดสิทธิของผู้ต้องขัง เพราะการทำร้ายร่างกายถือเป็นการกระทำความผิดทั้งทางวินัย และคดีอาญา ซึ่งไม่สามารถทำได้"

คำแถลงของโฆษกกรมราชทัณฑ์ มีขึ้น 1 วัน หลัง เพจเฟซบุ๊กของ อานนท์ นำภา โพสต์ "ข้อความฝากจากเรือนจำ" จาก "ห้อง 7 แดน 2 เรือนจำพิเศษกรุงเทพ" ใจความว่า

วันนี้ผมยังไม่ตาย แต่การอยู่หรือตายก็ไม่สำคัญเท่ากับการอยู่อย่างมีประโยชน์หรือตายอย่างมีคุณค่า ถ้าการอยู่ในเรือนจำแล้วทำให้เห็นถึงความอัปลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมไทย ผมก็ยินดี หรือถ้าต้องตายภายในเรือนจำ แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงก็ถือว่าคุ้มค่า

ถ้าผมตายไป ศพของผมให้นำใส่โลงศพไม่ต้องห่อด้วยถุงพลาสติกส์ ไปวางไว้หน้าศาลอาญาบนถนนรัชดาภิเศก เมื่อเลือดและน้ำหนองของผมไหลออกมาก็ปล่อยให้มันเจิ่งนองบนถนนรัชดา รอให้รถของคนที่มีส่วนทำให้ผมตายวิ่งมาเหยียบมันและกลับไปที่บ้าน เมื่อนั้นเลือดและน้ำหนองของผมจะไหลปนออกมากับน้ำที่เขาอาบและเมื่อเขากินข้าวหรือกาแฟ เลือดและน้ำหนองของผมก็จะอยู่ในนั้น

วิญญาณของผมจะติดตามเขาไปทุกที่ กลิ่นสาบของผมจะติดตามชุดเครื่องแบบของพวกเขา และวิญญาณของผมจะทอดร่างอยู่ใต้โต๊ะทำงานของพวกเขาเหล่านั้นไปจนกว่าจะถึงเวลาที่ผมจะได้เกิดใหม่และถ้าผมเกิดใหม่แล้วเมืองไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ผมขอเกิดมาบนแผ่นดินไทยและขอเกิดเป็นลูกชาวนาอีกครั้ง เรียนกฎหมาย และกลับมาต่อสู้ร่วมกับพี่น้องจนกว่าจะได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ "ขอให้เจอมิตรสหายที่ดีอย่างเช่นทุกวันนี้"

ด้านโฆษกกรมราชทัณฑ์ระบุว่า นโยบายของราชทัณฑ์ยุคใหม่ "มุ่งเน้นการเป็นองค์กรสมรรถนะสูงด้านการควบคุม และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขัง แบบมืออาชีพ บูรณาการ มาตรฐานและนวัตกรรม ที่เน้นการแก้ไข และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังให้เป็นคนดี มีคุณค่า ไม่ใช่การคุมขังเพื่อแก้แค้นทดแทน"

ติดกล้องในห้องขัง ป้องกันทำร้ายตัวเอง

ส่วนกรณีที่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ "เพนกวิน" ประกาศที่ศาลอาญาเมื่อ 15 มี.ค. ว่าจะอดอาหารจนกว่าจะได้รับการประกันตัวนั้น นายธวัชชัยกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียมผงเกลือแร่โออาร์เอส นม น้ำหวาน และโอวัลตินแก่ผู้ต้องขัง พร้อมจัดเตรียมทีมแพทย์ พยาบาล และนักจิตวิทยาเพื่อเข้าตรวจอาการอย่างต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมตลอดเวลาหากเกิดความจำเป็นต้องรับการรักษาเร่งด่วน โดยได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในห้องขังเพื่อสังเกตอาการ และป้องกันการทำร้ายตัวเอง

"ปัจจุบันนายพริษฐ์ ยังคงปฏิเสธการรับประทานอาหาร ดื่มเพียงน้ำหวาน นม โอวัลติน ส่วนผลการตรวจสุขภาพ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2564 พบว่าความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิร่างกาย และระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ"

โฆษกกรมราชทัณฑ์กล่าวอีกว่า สภาพร่างกายทั่วไปของนายพริษฐ์ มีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อย นอนหลับได้ สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ

สถานทูตสหรัฐฯ ชี้แจง

สถานทูตสหรัฐฯ ชี้แจง

เช้าวันเดียวกัน (19 มี.ค.) รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อม นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่นายพริษฐ์ และ นางพริ้ม บุญภัทรรักษา แม่ของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน เข้ายื่นหนังสือต่อนายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อให้สนับสนุนเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกและการชุมนุม และให้มีนโยบายปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน หลังแกนนำกลุ่มราษฎร ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำโดยไม่ได้รับการประกันตัว

ในเวลาต่อมา ฝายสื่อมวลชนและวัฒนธรรม ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ว่า นายฮีธ ได้พบปะกับชาวไทยในหลากหลายภาคส่วนอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาล เจ้าหน้าที่ทหาร นักธุรกิจ นักวิชาการ หรือผู้นำเยาวชน ทั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงเป้าหมาย ความกังวล และประเด็นที่ชาวไทยให้ความสำคัญ การพบปะกันเช่นนี้สะท้อนถึงงานหลักของเจ้าหน้าที่การทูต อันได้แก่ การแสวงหาความเข้าใจเกี่ยวกับมุมมองที่กว้างขวางในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง และอื่น ๆ ของพลเมืองในประเทศที่ประจำการอยู่

 

#ปล่อยเพื่อนเรา . วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม 2564 เวลา 10.00 น. ครช.ร่วมกับองค์กรเครือข่าย ยื่นหนังสือต่อองค์กรนานาชาติ...

โพสต์โดย คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน l ครช. เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม 2021

 

ทั้งนี้ เพจคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) รายงาน ครช.ร่วมกับองค์กรเครือข่าย ยื่นหนังสือต่อองค์กรนานาชาติ เข้าพบและยื่นจดหมายต่ออุปทูตรักษาราชการสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

เรียน Mr. Michael Heath
อุปทูตรักษาราชการสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะนอกจากเป็นการแปลงโฉมคณะรัฐประหารผ่านกติกาที่บิดเบี้ยวและวิธีการที่ฉ้อฉล ยังเป็นเงื่อนไขให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางผ่านทางหน่วยงานรัฐ กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกรณีการชุมนุมที่นำโดยนิสิตนักศึกษาในปี 2563 ที่ผ่านมาที่มีการขัดขวางและสลายการชุมนุมอย่างผิดหลักการและขั้นตอนสากล มีการใช้กำลังอย่างไม่ได้สัดส่วนกับการชุมนุม มีการขู่คุกคามผู้ชุมนุมทั้งในสถานศึกษาและที่พักอาศัย รวมถึงมีการตั้งข้อหาและดำเนินคดีแกนนำและผู้ชุมนุมด้วยกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากเว้นระยะการใช้มาประมาณ 2 ปี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงกลางเดือนมีนาคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 อย่างน้อย 73 คน ใน 63 คดี โดยในจำนวนของผู้ถูกจับกุม 18 คน มีเพียง 6 คนที่ได้รับสิทธิประกันตัว ส่วนที่เหลืออีก 12 คนไม่ได้รับสิทธิประกันตัว แม้บางคนจะเป็นนักศึกษาและอยู่ระหว่างการศึกษาเล่าเรียน เช่น นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ไม่นับรวมผู้ต้องหาคนอื่นที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะหลบหนีหรือก่อความยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นนายอานนท์ นำภา นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข หรือนายภาณุพงศ์ จาดนอก นอกจากนี้ ยังมีการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น การพาตัวผู้ต้องหาจากศาลไปยังเรือนจำก่อนที่ผู้ต้องหาจะลงนามรับทราบคำสั่งศาลในคำขออนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ขณะที่มีแนวโน้มว่านักศึกษาและประชาชนในส่วนที่เหลือจะถูกจับกุมตามหมายแล้วไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวในลักษณะเดียวกัน

การปฏิเสธคำขอปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาโดยอ้างเหตุผลว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันถือว่าขัดหลักการพื้นฐานทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทั้งในระดับสากลและที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เพราะเป็นการตัดสินล่วงหน้าว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดทั้งที่กระบวนการไต่สวนพิจารณาคดียังไม่ได้เริ่ม ไม่นับรวมปัญหาของมาตรา 112 ทั้งในส่วนของเนื้อหา การตีความ และการบังคับใช้ ที่หลายส่วนในสังคมได้รณรงค์ให้มีการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง การฟ้องร้องดำเนินคดีผู้ชุมนุมด้วยมาตรา 112 จึงเป็นส่วนหนึ่งของการอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือในการขจัดผู้เห็นต่างหรือศัตรูทางการเมืองที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเข้มข้น ซึ่งจะส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยตกต่ำ และส่งผลให้ประเทศไทยถอยห่างออกจากความเป็นนิติรัฐ

เครือข่ายนักวิชาการ นักศึกษา ประชาชน รวมถึงผู้ต้องหาและญาติ จึงเดินทางมายังสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเพื่อให้ประเทศสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมถึงผดุงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐและนิติธรรม ได้ตระหนักในสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยเฉพาะที่เกิดขึ้นภายใต้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และสื่อสารไปยังรัฐบาลไทยให้ยุติการกระทำดังกล่าวในทันที

ด้วยความเชื่อมั่นในสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
เครือข่ายนักวิชาการ นักศึกษา และประชาชน
19 มีนาคม 2564

Human Rights Violations in Thailand

Mr. Michael Heath
Charge d’ Affaires
US Embassy in Thailand

Dear Charge d’ Affaires Michael Heath,

Situations regarding human rights violations in Thailand continue to deteriorate since the military coup on May 22, 2014. The “elected” government has not rectified them. This is essentially a result of the whitewash of the junta government through the 2019 election, which was plagued with distorted election rules and questionable electoral processes. Worse yet, the election has created conditions in which violations of human rights widely occurred through state mechanisms, laws, and the justice process. The case in point is the student-led anti-government protests in 2020, which were faced with harsh obstructive and suppressive measures which were against internationally accepted crowd dispersal protocols. There have been disproportionate uses of force against the protesters, harassments of the protesters on campuses and at their residences, legal charges and prosecutions of protest leaders with serious offenses involving the Emergency Decree, Article 116, and the draconian Article 112, which has not been exploited for 2 years. 

The Thai Lawyers for Human Rights Center has reported that between the end of November 2020 and early March 2021, at least 73 individuals in 63 cases have been charged with Article 112 for expressing their political rights and participating in protests. Of those 18 detained, only 6 have been granted bail. The remaining 12 individuals have been repeatedly denied bail. Some of these are university students whose school is still in session. Mr. Parit Chiwarak, Miss Panusaya Sithijirawattanakul, and Mr. Jatupat Boonpattararaksa are some of these students. This is not to mention other suspects who show no motive to flee or tamper with evidence including Mr. Anon Nampa, Mr. Somyot Pruksakasemsuk, and Mr. Panupong Chadnok. In addition to this, mandatory legal procedures have been blatantly ignored. For instance, suspects were taken to the prison even before they signed their names on the court order regarding their temporary release requests. It is very likely that the remaining protesters, be they students or non-students, will be arrested and faced the same treatment given this questionable denial of their temporary release.

Such denial, which claims that the suspect will likely commit a similar offense, is against the basic legal and judicial assumption endorsed in both the international practice and the current Thai Constitution. That is, suspects or defendants are presumed innocent before proven guilty by the court’s final decision. Such denial is based on a misguided assumption that the suspects are guilty before the trial process even starts. This is not to mention problems regarding the exploitation of Article 112 in terms of its content, interpretation, and enforcement; these problems have consistently been widely addressed and discussed by different concerned sectors in the Thai society. The use of Article 112 is on the rise. It is part of a larger scheme in exploiting laws to destroy political opponents or dissidents. As a result, the Thai justice system will continue to lose the public’s trust, which in turn will cause Thailand to slip further away from its status as a legal state.

Our network of academics, students, citizens, suspects and their family members are here today at the European Union in Thailand to inform the European Union, as an international organization that supports freedom of expression and assembly, protects human rights as stated in “EU Guidelines on Human Rights Defenders,” and has a concrete measure in dealing with human rights violation such as EU Global Human Rights Sanction Regime (EUGHRSR), about the violations of human rights in Thailand, particularly those occurring in the legal and judicial systems. We urge the EU to use its tools and measures, be they negotiation or sanction, in tackling human rights violation in Thailand as quickly as possible.   

With our strong faith in the people’s rights and freedoms in a democratic system.

Network of Academics, Students, and Citizens
March 19, 2021

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท