Skip to main content
sharethis

นักวิจัยอาวุโสด้านการสาธารณสุขโลกวิเคราะห์เรื่องการที่จีนอาศัยช่องว่างที่สหรัฐฯ เปิดไว้ดำเนินการแผ่อิทธิพลทางการทูตด้วยการแจกจ่ายวัคซีน แต่ทว่าถึงแม้จีนจะมีแต้มต่อ แต่พวกเขาก็เผชิญปัญหาจากข้อจำกัดของตัวเองในเรื่องจำนวนวัคซีนและเรื่องที่ประเทศต่างๆ กังขาเรื่องความน่าเชื่อถือทางการแพทย์ของวัคซีนเหล่านี้ อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ ในยุคโจ ไบเดน ก็พยายามกลับมาแย่งพื้นที่นี้คืนอีกครั้งด้วยแผนการแข่งขันการแจกจ่ายวัคซีน

วัคซีนเป็นสิ่งที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการทูตมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็นแล้ว ประเทศใดก็ตามที่ผลิตและแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโรคทั้งหลายให้กับประเทศที่มีโอกาสเหล่านี้น้อยกว่าจะคล้ายเป็นการลงทุนโดยได้รับผลตอบแทนเป็นอำนาจอ่อนอย่าง การเป็นที่เคารพยกย่อง มิตรไมตรี และส่วนหนึ่งอาจจะรวมถึงความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ ไปจนถึงความน่าเกรงขามได้ด้วย

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกครั้งในยุคของ COVID-19 ที่ทางการจีนเสนอจะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงวัคซีนของจีนได้ก่อน กระทรวงการต่างประเทศของจีนประกาศว่าจีนส่งวัคซีนฟรีให้กับ 69 ประเทศและส่งออกในเชิงพาณิชย์ให้กับประเทศอื่นๆ อีก 28 ประเทศ ทำให้ประเทศคู่แข่งกับจีนกังวลว่าการแจกจ่ายวัคซีนของจีนจะทำให้จีนส่งอิทธิพลไปยังที่เหล่านั้นด้วย

อย่างไรก็ตามหนทางสู่การใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือทางการทูตสำหรับจีนก็มีความคดเคี้ยวต้องฝ่าอุปสรรคซับซ้อนรวมถึงมีคู่แข่งอย่างรัสเซีย, อินเดีย และสหรัฐฯ ที่เข้ามาแข่งขันการแจกจ่ายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในตรงจุดนี้นั้นจีนยังคงไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองได้มากพอและยังไม่สามารถได้รับความเชื่อถือจากคนได้รับการช่วยเหลือจากพวกเขาได้

มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลจีนเองไม่ชอบคำว่า "การทูตจากวัคซีน" เพราะมันฟังดูเหมือนกำลังแผ่อิทธิพลทางการเมืองต่อโลกในทำนองที่ "ชั่วร้าย" สื่อซินหัวของจีนรายงานเรื่องการแจกจ่ายหรือจำหน่ายวัคซีนไปในทำนองว่าเป็นการ "ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดหนัก" รวมถึงระบุว่าจีนไม่ได้ต้องการสร้างข้อผูกมัดหรือมีเป้าหมายทางการเมืองระหว่างประเทศหรือเป้าหมายทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด เป็นแค่การแสดงความรับผิดชอบในฐานะมหาอำนาจเท่านั้น

อย่างไรก็ตามสื่อฟอเรนแอฟแฟร์วิเคราะห์ว่าการพยายามทำตัวเป็นผู้นำแจกจ่ายวัคซีนของจีนเป็นการพยายามลบภาพความล้มเหลวในการพยายามแจกจ่ายวัสดุทางการแพทย์ไปทั่วโลกเพื่อช่วยเหลือเรื่อง COVID-19 โดยมีปัญหาจากด้านคุณภาพและการโฆษณาชวนเชื่อที่งุ่มง่าม ทำให้จีนพยายามแสดงตนเป็นผู้นำโลกด้านการแพทย์ด้วยการแจกจ่ายวัคซีนในครั้งนี้

แน่นอนว่าจีนมีเป้าหมายทางนโยบายการต่างประเทศแฝงอยู่ด้วยในการแจกจ่ายวัคซีนในครั้งนี้จากการวิเคราะห์ของ หยันจ้ง หวง นักวิจัยอาวุโสด้านการสาธารณสุขโลกจากคณะกรรมการวิเทศสัมพันธ์ (CFR) และศาสตราจารย์ด้านการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หวงชี้ว่าจีนเคยเผยแพร่ผ่านสื่อรัฐบาลว่าพวกเขาต้องการแสดงออกให้เห็นถึงพลังอำนาจทางเทคโนโลยีและความเหนือชั้นกว่าของการปกครองแบบอำนาจนิยม

สิ่งที่ทำให้จีนแตกต่างจากสหรัฐฯ ในกระบวนการผลิตวัคซีนคือการที่จีนมีกระบวนการแบบเน้นให้รัฐเป็นผู้ขับเคลื่อนเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นในด้านเทคโนโลยีการวิจัยพันธุกรรมวัคซีนหรือการขับเคลื่อนสถาบันการแพทย์อย่างน้อย 22 แห่งกับโครงการพัฒนาวัคซีน 17 แห่ง ทำให้ก่อนถึงกลางปีที่แล้วจีนแซงหน้าประเทศอื่นๆ ในแง่ความก้าวหน้าด้านวัคซีน แต่แผนการของจีนก็มีเป้าหมายทางการค้าอยู่ด้วย พวกเขาต้องการขยายส่วนแบ่งในตลาดของประเทศกำลังพัฒนาด้วยราคาที่ถูก นอกจากนี้ยังเชื่อมกับนโยบายการค้าหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) โดยจัดให้ประเทศสมาชิก BRI ได้รับวัคซีนก่อนประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดหนักของ COVID-19 นั้นมีบริษัทยาสัญชาติจีนในอัตราส่วนน้อยมากที่จะได้รับสิทธิการผ่านคุณสมบัติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในการจัดหาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์คิดเป็นร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับอินเดียร้อยละ 21.9 ทำให้สื่อจีนตัดพ้อว่าในหมู่วัคซีนที่ WHO ให้ผ่านคุณสมบัติ 155 ยี่ห้อนั้นมีของจีนอยู่แค่ 4 ยี่ห้อเทียบกับของอินเดีย 44 ยี่ห้อ ดังนั้นแล้วอุปสงค์ความต้อการวัคซีน COVID-19 ทำให้จีนจ้องจะแย่งตลาดจากอินเดียและชาติตะวันตก แล้วจีนก็จะฟันกำไรมหาศาลจากประเทศที่รายได้น้อยและรายได้ปานกลาง

วัคซีนของจีนมีข้อได้เปรียบอีกอย่างหนึ่งเมื่อเทียบกับของตะวันตกในแง่การเก็บรักษา จากการที่วัคซีนของจีนสามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิของตู้เย็นทั่วไปได้ ทำให้ดึงดูดประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีระบบทำความเย็นในระดับที่เหนือกว่านี้ นอกจากนี้ยังมีหนึ่งในวัคซีนของจีนที่มีประสิทธิผลเทียบเท่ากับของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันคือร้อยละ 66 แต่สามารถใช้ได้แค่โดสเดียวเท่านั้น เป็นเหตุผลบางส่วนที่ทำให้พวกชนชั้นนำในประเทศกำลังพัฒนาโดดเข้าหาวัคซีนนี้

มียอดสั่งวัคซีนสัญชาติจีนจากประเทศต่างๆ รวมแล้วมากกว่า 572 ล้านโดส ข้อมูลจากช่วงกลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาระบุว่าจีนส่งออกวัคซีนหรือวัตถุดิบทำวัคซีนออกไปแล้วมากกว่า 46 ล้านโดส ทำให้การแจกจ่ายวัคซีนเหล่านี้นับเป็นการทูตด้วยวัคซีนถึงแม้ว่าจีนจะไม่ชอบคำเรียกนี้ก็ตาม ทำให้พวกเขาผูกสัมพันธ์กับประเทศอย่างอัลจีเรียที่บอกจะส่งเสริมโครงการ BRI ของจีน มีการพูดถึงตามโซเชียลมีเดียว่าวัคซีนของจีน "กำลังครองโลก" เรื่องนี้ทำให้กลุ่มประเทศตะวันตกกังวลและยอมรับว่า "น่าอับอาย" ที่ปล่อยให้จีนแผ่อิทธิพลตรงจุดนี้ได้ และมองได้ว่าวิธีการแบบให้ตกลงกันทั้งสองฝ่ายเพื่อแจกจ่ายวัคซีนไม่ได้ผลมากเท่าวิธีการของจีน

ถึงแม้การทูตวัคซีนของจีนจะดูมีแต้มต่อ แต่ทว่าอาจจะไม่ได้ถึงขั้นเป็นผู้ชนะในการวางอำนาจอ่อนเสียทีเดียว เพราะจันต้องเผชิญกับการแข่งขัน การถูกตั้งแง่ในเรื่องต่างๆ จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำตามสัญญาได้ไม่ครบถ้วน ปัญหาปริมาณวัควีนที่ส่งให้ไม่เพียงพอต่อประชากร และเรื่องผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์จากจีนว่ามีความน่าเชื่อถือมากพอหรือไม่

แม้แต่ในประเทศจีนเองก็น่ากังขาว่าพวกเขาจะผลิตวัคซีนพอตามความต้องการภายใน 1-2 ปีนี้หรือไม่ จีนต้องให้วัคซีนประชากรร้อยละ 70-80 ถึงจะเข้าเป้าหมายการสร้างภูมิคุ้มกันแบบกลุ่ม (herd immunity) ขึ้นมาได้ แต่จากข้อมูลของอิโคโนมิสต์อินเทลลิเจนซ์ยูนิตระบุว่าถ้าจีนยังคงสมรรถนะการผลิตไว้ที่เดิมพวกเขาจะสามารถให้วัคซีนประชากรตัวเองร้อยละ 60 ภายในสิ้นปี 2565 และการที่จีนบริจาควัคซีนให้ประเทศอื่นๆ ก็บริจาคให้ในจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศนั้นๆ ส่วนประเทศที่สั่งซื้อจากจีนก็เริ่มกังวลว่าจีนจะไม่ทำตามสัญญา

ความกังวลอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องที่บริษัทจีนขาดความโปร่งใสในเรื่องผลลัพธ์การทดลองวัคซีนทำให้ประชาชนกังขาในความปลอดภัยของวัคซีนนี้ วัคซีนบางชนิดเช่นซิโนแวคมีประสิทธิผลที่ต่ำกว่าวัคซีนของประเทศตะวันตกอย่างไฟเซอร์และโมเดิร์นนาอยู่ที่มากกว่าร้อยละ 50 เพียงเล็กน้อย ขณะที่การทดลองในประเทศอื่นๆ ก็มีผลลัพธ์ออกมาไม่สม่ำเสมอ มีการเปิดเผยข้อมูลของวัคซีนออกมาช้าจากฝั่งจีน อีกทั้งรัฐบาลจีนยังพยายามเบี่ยงเบนความสนใจจากความไม่น่าเชื่อนี้ด้วยการใส่ร้ายป้ายสีดิสเครดิตวัคซีนของตะวันตกและโฆษณาชวนเชื่อส่งเสริมวัคซีนของตัวเอง

จากผลการสำรวจของบริษัทวิจัยด้านการตลาดสัญชาติอังกฤษ YouGov เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่ามีประชาชนในหลายประเทศไว้ใจวัคซีนจากจีนน้อยที่สุด รวมถึงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เอเชียใต้ และแอฟริกา ด้วย เทียบกับรัสเซียที่มีการเปิดเผยการวิจัยวัคซีนในเฟสที่ 3 มากกว่า ทำให้มีคนสงสัยน้อยกว่า ทำให้มีแค่สหรัฐอาหรับเอมิเรตที่สนับสนุนและมองวัคซีนจากจีนในทางบวก ขณะที่แม้แต่ประเทศหุ้นส่วนพัฒนาวัคซีนร่วมกับจีนอย่างเม็กซิโกและอินโดนีเซียก็ยังอยากได้วัคซีนของรัสเซียมากกว่าของจีน

เรื่องเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าจีนไม่สามารถได้รับผลบวกจากการทูตเรื่องวัคซีนได้อย่างเต็มที่ โดยมีเรื่องของการแข่งขันกับอินเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อเรื่องนี้ด้วย การที่จีนเข้าไปลงทุน BRI ในประเทศที่อินเดียมองว่าเป็นพื้นที่อิทธิพลให้พวกเขาทำให้อินเดียพยายามแข่งกับจีนในเรื่องวัคซีน โดยที่อินเดียมียอดบริจาควัคซีนให้กับประเทศที่พวกเขาต้องการแผ่อิทธิพลสูงกว่าจีน เช่นเนปาล, บังกลาเทศ, ศรีลังกา

แน่นอนว่าประเทศเหล่านี้ต่างก็ชั่งตวงการดำเนินการทูตด้านวัคซีนกับจีน ทำให้หลายประเทศเสาะหาแหล่งวัคซีนจากที่อื่นไปพร้อมๆ กับรับวัคซีนของจีนไปด้วย ส่วนหนึ่งเพื่อพยายามลดอิทธิพลจีนให้เป็นกลางและหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนในเรื่องการพึ่งพิงวัคซีนจากจีนมากเกินไป เรื่องนี้ทำให้จีนยากจะบรรลุวัตถุประสงค์ของการแผ่อิทธิพลทางการทูตด้วยวัคซีน มีผลสำรวจในช่วงระหว่างปลายปี 2563-ต้นปี 2564 ระบุว่าถึงแม้จีนจะส่งวัคซีนให้กับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจำนวนมาก แต่มีแค่ร้อยละ 16.5 เท่านั้น ที่คิดว่าจีนเป็นมหาอำนาจที่เชื่อถือได้ในภูมิภาค เทียบกับอินเดียร้อยละ 19.8 และสหรัฐฯ ร้อยละ 48.3

อย่างไรก็ดี มีการวิเคราะห์ว่าสิ่งหนึ่งที่เปิดโอกาสให้จีนแซงหน้าสหรัฐฯ ไปก่อนในเรื่องการใช้อำนาจอ่อนแผ่อิทธิพลด้วยวัคซีนนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ยอมใช้การแผ่อำนาจอ่อนด้วยการแจกจ่ายวัคซีนแม้กระทั่งกับประเทศพันธมิตรด้วยกันแต่หันมาใช้วิธีการแบบชาตินิยมแทน เรื่องนี้เปิดโอกาสให้จีนเข้ามาแย่งพื้นที่การทูตจากวัคซีนได้ ถ้าหากสหรัฐฯ มีการดำเนินนโยบายทำให้มีวัคซีนมากกว่านี้ตั้งแต่แรกเรื่องนี้คงไม่เกิดขึ้น

แต่นั่นก็เป็นเรื่องในอดีต เพราะหวงชี้ว่าทางสหรัฐฯ เองก็กำลังพยายามกลับมาครองพื้นที่ทางการทูตอีกครั้งด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพของวัคซีนอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี mRNA ที่ล้ำสมัย แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ยังคงเป็นมหาอำนาจในทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้หลังจากรัฐบาลทรัมป์จบลงสหรัฐฯ ก็เริ่มหันมาสนใจเรื่องการเป็นผู้แจกจ่ายวัคซีนให้กับโลกเพิ่มมากขึ้น ประธานาธิบดี โจไบเดน ออกโครงการให้วัคซีนคนในประเทศจนจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันแบบกลุ่มได้ก่อนหน้าจีน กลายเป็นผู้นำเรื่องการควบคุมโรคติดต่อได้

นอกจากนี้การที่รัฐบาลไบเดนทำให้สหรัฐฯ กลับเข้าสู่โครงการแจกจ่ายวัคซีน COVID-19 ทั่วโลก (COVAX) อีกครั้งหลังจากที่รัฐบาลทรัมป์ถอนตัวสหรัฐฯ ออกมา เป็นการส่งสัญญาณว่าสหรัฐฯ จะกลับมาเป็นมหาอำนาจในเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังเพิ่งจะมีการเปิดประชุมหารือเกี่ยวกับการแจกจ่ายวัคซีน COVID-19 ในเอเชียร่วมกับอินเดีย, ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เพื่อแข่งขันกับการทูตวัคซีนของจีน

ไม่เพียงเท่านั้น ในวันที่ 17 มี.ค. ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ยังแสดงท่าทีต่อต้านการทูตจากวัคซีนของจีนอย่างชัดเจน ด้วยการที่ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ประณามจีนว่าใช้วัคซีนเพื่อผลทางการทูตซึ่งถือเป็นการเอาสุขภาวะของผู้คนมาเล่นเป็นเครื่องมือทางการเมือง

หวงประเมินว่าผู้นำรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนาต่างก็อยากให้สหรัฐฯ มีบทบาทมากขึ้นในเรื่องการแจกจ่ายวัคซีนและการบริหารจัดการในเรื่องนี้ เพราะจะทำให้ลดอิทธิพลจากจีนได้ ผลลัพธ์จากการแข่งขันของสองมหาอำนาจนี้สำหรับหวงแล้วเขามองว่าจะกลายเป็นเหตุผลให้พวกเขาพยายามทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้


เรียบเรียงจาก
Vaccine Diplomacy Is Paying Off for China, Foreign Affairs, 11-03-2021
Blinken denounces China's 'strings attached' vaccine diplomacy, Nikkei, 17-03-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net