รพ.มะเร็งลำปาง บูรณาการสารสกัด ‘กัญชา’ ดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

ผู้อำนวยการ รพ.มะเร็งลำปาง หนุนนโยบาย “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” ชี้ลดการรอคิวรับบริการ-เพิ่มโอกาสรักษาผู้ป่วยให้หายขาดได้ พร้อมจัดตั้ง “คลินิกกัญชา” ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2564 คณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง จ.ลำปาง เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานตามนโยบายยกระดับบัตรทอง “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) พร้อมทั้งลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินการของ ต.พิชัย ซึ่งเป็น “ต้นแบบตำบลปลอดมะเร็ง”  

นพ.วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง เปิดเผยว่า โรงพยาบาลมะเร็งลำปางเป็นโรงพยาบาลที่มีศักยภาพความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างครบวงจร ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การบำบัดรักษาด้วยเคมีบำบัด ผ่าตัด รังสีรักษา นั่นทำให้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจำนวนมาก 

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่นโยบายยกระดับบัตรทอง “โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม” มีผลบังคับใช้พร้อมกันในวันที่ 1 ม.ค. 2564 ทำให้โรงพยาบาลมะเร็งลำปางสามารถบริหารจัดการเรื่องคิวรอการรักษาได้อย่างดีเยี่ยม สามารถหาคิวที่สั้นที่สุดของโรงพยาบาลที่มีศักยภาพที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้รวดเร็วที่สุด  

“ผู้ที่เข้ามาตรวจคัดกรองและพบว่าเป็นมะเร็งในระยะแรก ก็จะสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที นั่นหมายความว่าเมื่อรู้เร็ว รักษาเร็ว ก็มีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้ นโยบายนี้ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องรอคิวการรักษายาวนานเหมือนในอดีตอีกต่อไป” นพ.วีรวัต กล่าว 

นอกจากนี้ โรงพยาบาลมะเร็งลำปางยังเร่งพัฒนาพยาบาลผู้ประสานงาน (Nurse Coordinator) เพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วยที่จะเข้ามาทำการรักษา รวมไปถึงจัดทำแอพพลิเคชัน LPCH EASY เพื่อใช้ในการจัดเก็บข้อมูลการรักษา และเป็นช่องทางให้ผู้ป่วยจองคิวนัดหมายล่วงหน้าได้ด้วย 

นพ.วีรวัต กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลมะเร็งลำปางยังได้จัดตั้ง “คลินิกกัญชาทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย” ขึ้นตั้งแต่เดือน ส.ค. 2562 เพื่อให้คำปรึกษากัญชาทางการแพทย์ เปิดให้บริการทุกวันพุธช่วงบ่าย จนกระทั่งเดือน ก.พ. 2563 ที่ได้รับสารสกัดกัญชาสูตร THC : CBD (1:1) ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ จึงได้ขยายบริการไปสู่การจ่ายสารสกัดกัญชาให้กับผู้ป่วยด้วย โดยขณะนี้ให้เปิดให้บริการคลินิกแบบเต็มวัน วางเป้าหมายเพื่อลดผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัด อาการคลื่นไส้อาเจียน อาการเจ็บปวด คลายความวิตกกังวล 

“ผลตอบรับจากผู้ป่วยอยู่ในระดับที่พึงพอใจ และในอนาคต โรงพยาบาลวางแผนที่จะเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์แบบบูรณาการ ด้วยการบูรณาการสารสกัดกัญชาสูตรตำหรับแพทย์แผนไทยเข้ามาใช้รักษาด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติจ้างแพทย์แผนไทยต่อไป” นพ.วีรวัต กล่าว  

นอกจากนี้ โรงพยาบาลมะเร็งลำปางยังได้จัดตั้ง “ศูนย์เปี่ยมสุข” ซึ่งเป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยประคับประคองระยะสุดท้าย โดยใช้หลักการดูแลแบบองค์รวมผ่านกระบวนการปรึกษาหารือร่วมกับครอบครัวของผู้ป่วย พร้อมให้ความรู้และทักษะแก่ผู้ป่วยและญาติในการดูแลในช่วงระยะสุดท้ายได้ที่บ้าน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจในช่วงสุดท้ายของชีวิต 

นายศรีทน ศรีชัยวงศ์ กำนันฝ่ายปกครอง ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง กล่าวว่า ต.พิชัย ได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบตำบลปลอดมะเร็ง ภายหลังดำเนินโครงการ “พิชัยโมเดล ตำบลปลอดมะเร็ง” มาตั้งแต่ปี 2557 ด้วยการหารือกับโรงพยาบาลมะเร็งลำปางในการวางแผนจัดการสุขภาพชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านดูแลตนเองอย่างเป็นองค์รวม 

“ในอดีตชาวบ้านในชุมชนยังมีความรู้เรื่องโรคมะเร็งที่น้อย และยังมีชุดความคิดเดิมว่าผู้ป่วยมะเร็งไม่มีทางรักษาให้หายได้ แต่หลังจากทำงานร่วมกับโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง ทำให้ชาบ้านได้รับความรู้ที่ถูกต้อง รู้จักป้องกันตนเอง รู้จักการตรวจคัดกรอง ส่วนผู้ที่ป่วยแล้วก็สามารถดูแลตัเองได้ต่อเนื่องจนถึงวาระสุดท้าย” นายศรีทน กล่าว 

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม เป็น 1 ใน 4 บริการตามนโยบายยกระดับบัตรทองของนายอนุทิน ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง สามารถเข้ารับบริการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพแห่งใดก็ได้ในระบบบัตรทองที่มีความพร้อมในการให้บริการ ซึ่งครอบคลุมบริการตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง การรักษาด้วยเคมีบำบัดและรังสีรักษา การรักษาด้วยภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคมะเร็งและจากการรักษา รวมถึงการตรวจติดตามผลการรักษา โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งไม่ต้องรอคอยคิวนาน และได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที 

“นโยบายนี้เป็นการกระจายระบบบริการดูแลผู้ป่วยมะเร็งไปยังแต่ละหน่วยบริการ ซึ่งจะพิจารณาถึงศักยภาพและระยะเวลารอการรักษา ผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลและระบบการส่งต่อระหว่างกัน โดยหนึ่งในที่ที่มีความพร้อมคือโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง ที่มีตั้งแต่ศูนย์การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยทีมสหวิชาชีพ ไปจนถึงบูรณาการการรักษาผู้ป่วยมะเร็งทางเลือก โดยมีคลินิกกัญชาเป็นส่วนประกอบ” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท