Skip to main content
sharethis

กรุงเทพโพลเผยผลสำรวจ 1,171 คน 50.8% ตอบรับอาหารและเครื่องดื่มเมนูกัญชาโดยให้เหตุผลว่ามีสรรพคุณเป็นยาและอยากลองกินดู 44.7% กังวลว่าหากควบคุมการปลูกกัญชาไม่ดีอาจมีการลักลอบนําไปเสพ จําหน่ายเป็นสารเสพติดได้

20 มี.ค. 2564 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ปลดล็อกกัญชา...สู่พืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,171 คน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 64.5 ระบุว่าทราบข่าวเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อก ให้ปลูกกัญชาอย่างถูกกฎหมายได้บ้านละ 6 ต้น โดยร้อยละ 52.3 ระบุว่ายังไม่ทราบรายละเอียดเรื่องการปลูก รองลงมาร้อยละ 30.4 ระบุว่าต้องมีการรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนก่อนจึงขออนุญาตปลูกได้ และร้อยละ 17.3 เข้าใจว่าสามารถปลูกได้เลยอย่างเสรีบ้านละ 6 ต้น ขณะที่ร้อยละ 35.5ระบุว่ายังไม่ทราบข่าว

ส่วนความเห็นต่อการอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้ครัวเรือนละ 6 ต้น ว่าเหมาะสมเพียงพอหรือไม่ ต่อการสร้างรายได้ให้เกษตรกรและนําไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 53.3 ระบุว่าไม่เหมาะสมเพียงพอ ขณะที่ร้อยละ 46.7 ระบุว่าเหมาะสมเพียงพอแล้ว

ทั้งนี้หากภาครัฐต้องการผลักดันกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ควรส่งเสริมและสนับสนุนในเรื่องใด พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 71.3 ระบุว่าควรให้ความรู้กับผู้ที่ต้องการปลูกและหาตลาดรองรับ รองลงมาร้อยละ 47.5 ระบุว่าควรปรับเกณฑ์/เงื่อนไขต่างๆ ให้ผู้ที่สนใจเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และร้อยละ 44.7 ระบุว่า ควรสนับสนุนผู้ประกอบการที่สนใจผลิตสินค้าแปรรูปจากกัญชา

สำหรับสิ่งที่ประชาชนกังวลมากที่สุดจากการอนุญาตให้ทุกครัวเรือนมีสิทธิปลูกได้บ้านละ 6 ต้นคือ หากควบคุมไม่ดีอาจมีการลักลอบนําไปเสพ จําหน่ายเป็นสารเสพติด ร้อยละ 44.7 รองลงมาคือ ผู้ที่ไม่รู้หลักเกณฑ์ในการปลูกอาจทําผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว ร้อยละ 17.2 และอาจทําให้มีคนหันมาเสพกัญชามากขึ้น ร้อยละ 16.2

เมื่อถามว่า ท่านคิดว่าจะกินอาหาร และเครื่องดื่ม เมนูกัญชา หรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 50.8 ระบุว่าจะกิน โดยให้เหตุผลว่า เป็นสมุนไพรมีสรรพคุณเป็นยา ร้อยละ 52.5 รองลงมาคือ อยากลอง ร้อยละ 21.1 และ เคยกินมาแล้วทําให้อาหารอร่อยขึ้น ร้อยละ 18.0 ขณะที่ร้อยละ 49.2 ระบุว่า จะไม่กิน โดยให้เหตุผลว่า ติดภาพว่าเป็นยาเสพติด ร้อยละ 54.9 รองลงมาคือ ไม่ชอบลองของใหม่/ของแปลก ร้อยละ 30.1 และมีโรคประจําตัว ร้อยละ 10.0 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net