นักวิชาการ มช. โพสต์เฟสบุ๊คระบุถูกโทรคุกคาม หลังดีเบตปมไร่หมุนเวียนสิทธิชาวบางกลอย

รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เฟสบุ๊คระบุถูกโทรคุกคามถึงคณะ หลังดีเบตคนกับป่าสิทธิชาวบางกลอย

 

สองวันที่ผ่านมา มีชายคนหนึ่งโทรไปที่ภาควิชาที่ดิฉันทำงานอยู่...

โพสต์โดย Pinkaew Laungaramsri เมื่อ วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม  2021

 

20 มี.ค. 2564 รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นนักวิชาการที่เคลื่อนไหวเผยแพร่ความเห็นปกป้องสิทธิชุมชนของชาวบางกลอยอย่างต่อเนื่อง โพสต์เฟสบุ๊ค ระบุว่ามีบุคคลโทรศัพท์ไปคุกคามและพยายามสอบถามเรื่องตนเองจากที่ทำงาน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

สองวันที่ผ่านมา มีชายคนหนึ่งโทรไปที่ภาควิชาที่ดิฉันทำงานอยู่ พยายามสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับตัวดิฉันกับเจ้าหน้าที่ภาควิชาฯ เมื่อเจ้าหน้าที่ตอบหลายๆเรื่องไปว่า ไม่ทราบ ชายคนนั้นก็เริ่มใช้อารมณ์ พูดเรื่องเกี่ยวกับความคิดเรื่องการตัดต้นไม้ ทำลายป่า ฯลฯ และเมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ตอบว่าอะไร เขาได้เริ่มลามปามวิจารณ์มหาวิทยาลัย และคาดคั้นเจ้าหน้าที่ที่รับสายว่า "เป็นพวกเสื้อแดงล้มเจ้าใช่ไหม?" ชายคนเดียวกันนี้ยังโทรมาที่ภาควิชาอีกครั้งในวันถัดมาเพื่อจะตามตัวดิฉันให้ได้

การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการคุกคามที่น่ารังเกียจอย่างมาก และเป็นกระทำต่อเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับดีเบตเรื่องคนกับป่าที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ การคุกคามที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนความจริงที่น่าเศร้าว่า ในสังคมไทยปัจจุบัน การดีเบตด้วยเหตุด้วยผล เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป เต็มไปด้วยการปักป้ายฝ่ายตรงข้ามให้เป็นศัตรู และในกรณีนี้ ใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการกล่าวหาและคุกคามผู้คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้อย่างเสียสติ

เหตุทั้งหมดนี้ มาจากดีเบตที่มีในทวิตเตอร์ระหว่างดิฉันกับกลุ่มคนที่มีความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับป่าและไร่หมุนเวียนที่ต่างกัน และต่อมาได้ถูกนำไปขยายความและบิดเบือน กล่าวร้ายในสื่อต่างๆอย่างกว้างขวาง จนถึงขั้นมาติดตามตัวกันถึงที่ทำงาน

ในทวิตต้นเรื่องนั้น ดิฉันได้บอกว่า หากจะถ่ายรูปไร่หมุนเวียน อย่าเอาแต่ถ่ายเฉพาะช่วง "เผาไร่" โดยเอาไฟมาสร้างอิมเมจทำลายป่า ให้ถ่ายตอนหน้าฝนที่ชาวบ้านปลูกข้าว ปลูกพืชพื้นเมืองหลายชนิดที่ทรงคุณค่าต่อระบบนิเวศ ส่วนไม้ที่ตัดฟันลงมา เขาเหลือตอไว้สูงพอที่จะแตกหน่อออกใบเป็นป่าในปีต่อๆไป ได้มีบุคคลหนึ่งมาแย้งด้วยข้อความว่า "2 คนโอบ อายุประมาณ 50+ปี 4 คนโอบ อายุประมาณ 200+ ปี ไม้นะงอกได้ ความรู้ก็เช่นกัน ศึกษาก่อนเขียนครับ" ดิฉันได้ตอบไปสั้นๆว่า "สี่คนโอบ ก็งอกใหม่ได้"

คำตอบของดิฉัน มีเจตนาที่จะโต้แย้งแนวคิดที่มอง "ต้นไม้" ด้วยทรรศนะที่หยุดนิ่ง และไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ต้นไม้ไม่ใช่ God ที่คงสถานะ คงที่ข้ามกาล ข้ามเวลา ในทางตรงข้าม ต้นไม้ในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตนั้น เกิด เติบโต และเติบโตใหม่ได้ รวมทั้งตายลง ไม่ต่างไปจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ การเติบโต และเติบโตใหม่ของต้นไม้ เช่นเดียวกับระบบนิเวศ เป็นพลวัตที่สำคัญต่อชีวิตของสรรพสิ่งต่างๆ รวมทั้งมนุษย์ หากต้นไม้งอกใหม่ไม่ได้เสียแล้ว มนุษย์จะใช้ไม้ด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆได้อย่างไรกัน?

ดิฉันเห็นว่า deadlock สำคัญของดีเบตคนกับป่าที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ มีพื้นฐานสำคัญมาจากการ fix และหยุดธรรมชาติมิให้มีการเปลี่ยนแปลง (ซึ่งแน่นอนเป็นแนวคิดที่แพร่หลายในชนชั้นกลาง) แนวคิดดังกล่าวในขณะเดียวกันก็มีความลักลั่นในตัวมันเอง เพราะในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์นั้นใช้ป่า และใช้ต้นไม้อยู่ตลอดเวลา แค่ยกตัวอย่างบ้านของอดีตหัวหน้าอุทยานท่านหนึ่งที่เต็มไปไม้มีค่าขนาดไม่รู้กี่คนโอบก็พอแล้ว

แต่ในขณะเดียวกัน ดีเบตข้างต้น ก็ไม่มีตรงไหนที่ดิฉันเฉลิมฉลองหรือส่งเสริมให้มีการตัดไม้ใหญ่หลายคนโอบอย่างมโหฬาร หรือเห็นด้วยกับการเข้าไปตัดไม้ใหญ่ในพื้นที่ป่าที่ sensitive ทางนิเวศวิทยา ในทางตรงกันข้าม ดิฉันเห็นด้วยกับอ.สมศักดิ์ สุขวงศ์ อดีตคณบดีวนศาสตร์ รวมทั้งคุณชลทิศ สุรัสวดี อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ที่เสนอไว้ว่า การจัดการป่าอนุรักษ์ในไทยนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ระบบเกษตรในป่า เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่มาก่อนนานหลายศตวรรษ เกษตรกรรมบางรูปแบบ เป็นเกษตรกรรมเชิงวัฒนธรรมที่สร้างผลผลิตธัญอาหารจากพลวัตการเติบโตและเปลี่ยนแปลงของป่าเบญจพรรณ การมาช่วยกันคิดหารูปแบบการบริหารจัดการป่าที่ทั้งป่าและคน สามารถอยู่รอดได้ร่วมกัน จึงจะเป็นทางออกสำคัญจาก deadlock ในปัจจุบัน

การตอบประเด็นว่าต้นไม้ขนาดใหญ่นั้น งอกใหม่ได้ตลอดเวลา เป็นการตอบโต้ถ้อยความที่มีผู้มาสร้างข้อถกเถียงไว้ และไม่ได้เกี่ยวอะไรกับวิธีการการทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน การดึงถ้อยความไปขยายความหมายและบิดเบือนโดยสื่อและบุคคลต่างๆเพื่อกล่าวร้ายและโจมตี สะท้อนความตกต่ำของดีเบตเรื่องนี้ในสังคมไทยอย่างที่สุด

งานวิจัยที่ดิฉันเคยทำไว้เกี่ยวกับไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ระบุชัดเจนว่า พื้นที่ไร่หมุนเวียนของชาวบ้านนั้น อยู่ในป่าเบญจพรรณรุ่นสอง ชาวบ้านไม่เคยเข้าไปใช้พื้นที่ในป่าดิบชื้น หรือดิบเขาอย่างแน่นอน ข้อเท็จจริงนี้ สอดคล้องกับงานศึกษาเรื่องไร่หมุนเวียนในภาคเหนือ และที่อื่นๆ ในขณะเดียวกัน รูปแบบไร่หมุนเวียนก็มีพัฒนาการที่หลากหลาย ในหลายแห่งได้ผสมผสานวนเกษตร สวนชนิดต่างๆ ตลอดจนนาข้าวเข้าไว้ด้วย ภาพวิดิโอจากที่เจ้าหน้าที่อุทยานแก่งกระจานที่ถ่ายไว้เมื่อครั้งชาวกะเหรี่ยงบางกลอยกลับขึ้นไปทำไร่ในไร่ทรากเก่าของพวกเขา ก็แสดงให้เห็นชัดว่า พื้นที่ไร่เก่าเหล่านั้น ล้วนเป็นป่าไผ่เบญจพรรณทั้งสิ้น

ถึงที่สุดแล้ว ในอุทยานแห่งชาติที่มีระบบเกษตรกรรมดั้งเดิมดำรงอยู่มาก่อนที่จะมีการประกาศเขตเช่นในแก่งกระจาน และเป็นความผิดพลาดของฝ่ายรัฐเองที่มิได้กันเขตพื้นที่เหล่านั้นออกตั้งแต่ต้น มีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหารูปแบบการจัดการป่าอุทยานที่รักษาทั้งป่า รักษาทั้งวัฒนธรรม ไปด้วยกัน เพื่อหาทางออกจากความขัดแย้งที่เป็นอยู่ การบริหารจัดการป่ากับคนไปด้วยกันนอกโมเดลการอพยพ ว่าไปแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่กรมป่าไม้ไม่เคยทำมาก่อน เรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่กรมอุทยานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ไม่เพียงจากกรมป่าไม้ หากแต่จากภาคประชาชนด้วย

หมายเหตุ การกล่าวหาผู้ที่เห็นต่างในเรื่องบางกลอยและแก่งกระจานว่าเป็นเสื้อแดง และล้มเจ้านั้น ดิฉันขอเถอะนะคะ เลิกเสียเถอะ มันไม่สร้างสรรค์จริงๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท