รัฐต้องทำให้พื้นที่ชุมนุมปลอดภัย ไม่ใช่ต้อง ‘หนีเสือปะจระเข้’

  • รัฐมีหน้าที่ทำให้พื้นที่ชุมนุมปลอดภัยและทำให้เยาวชนมีโอกาสใช้สิทธิในการแสดงออกและมีส่วนร่วมทางการเมือง
  • “เขา(ตำรวจ) นั่นแหละที่จะต้องทำพื้นที่ให้ปลอดภัยให้คนมาใช้สิทธิได้ เจ้าหน้าที่รัฐเป็นตัวหลักในการทำให้พื้นที่ปลอดภัยคือเด็กควรจะเห็นตำรวจแล้วรู้สึกปลอดภัย แต่นี่คือเห็นตำรวจแล้วหนี มันใช่มั้ย แล้วมีบุคคลที่สามตำรวจคือคนที่ต้องพึ่งพาให้ได้มากที่สุด แต่ดันทำให้ยิ่งต้องหนีเข้าไปอีก กลายเป็นหนีเสือปะจระเข้อีก” ผอ.แอมเนสตี้กล่าวถึงสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐควรทำ แต่สิ่งที่เกิดกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม
  • จำนวนเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุมที่ทาง Child in Mob รวบรวมได้เฉพาะวันเสาร์ที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมาวันเดียวก็มีเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุมอย่างน้อย 125 คน แบ่งเป็นอายุตั้งแต่ 15-18 ปี 54 คน และต่ำกว่า 15 ปี 71 คน

22 มี.ค.2564 กลุ่ม “ในม็อบมีเด็ก” หรือ Child in Mob โปรเจคต์ของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) และภาคีองค์กรสิทธิเด็ก เปิดตัวเลขผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชนในการชุมนุมของ REDEM  บริเวณสนามราษฎร (สนามหลวง) เพื่อส่งสาสน์เรียกร้องให้มีการจำกัดอำนาจกษัตริย์และลงมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น

“ฟ้า” (สงวนชื่อนามสกุล) อาสาสมัครของ Child in Mob ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์ เล่าว่าวันนั้นพวกเธอเดินทางไปถึงบริเวณสนามหลวงตอนประมาณ 18.00 น. เมื่อไปถึงก็แบ่งทีมออกสำรวจพื้นที่เพื่อหาจุดปลอดภัยในบริเวณใกล้เคียงและแจกสายรัดข้อมือให้กับเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุม แต่ทีมอาสาปฏิบัติหน้าที่กันไปได้ไม่นานนัก ขณะที่เธออยู่ในสนามหลวงใกล้กับจุดที่มีช้างสามเศียรตรงแยกผ่านพิภพลีลากำลังมุ่งหน้าไปโรงแรมรัตนโกสินทร์ก็ได้ยินเสียงที่ตอนแรกคิดว่าเป็นเสียงระเบิดหรือปะทัดที่ตอนหลังก็รู้ว่าเป็นคอนเทนเนอร์หล่นลงมาแล้วก็มีคนวิ่งมาจากทางด้านศาลฎีกาบอกว่าตำรวจฉีดน้ำ แต่พวกเธอที่อยู่ห่างจากแนวออกมาไม่ได้ยินเสียงประกาศเตือนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นสถานการณ์ก็ชุลมุน ทำให้ต้องหยุดทำหน้าที่ของกลุ่ม

ฟ้าบอกว่าในทีมอาสามีเด็กๆ ด้วยก็เลยจะพากลุ่มนี้ออกไปจากพื้นที่ก่อน โดยออกไปทางมุ่งหน้าแยกคอกวัวซึ่งก็พบว่ามีแนวของตำรวจชุดควบคุมฝูงชนกำลังเดินหน้าเข้ามาทางสนามหลวงทำให้ต้องขอให้ตำรวจเปิดทางให้ซึ่งตำรวจก็ยอมเปิดทางให้พวกเธอและเด็กๆ และผู้ชุมนุมบางส่วนออกจากตรงนั้นไปทางถนนข้าวสารก็รอให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้วก็ส่งเด็กและอาสาสมัครกลับบ้านแล้วก็แยกย้ายกัน

ฟ้าให้ข้อมูลจำนวนเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุมที่ทาง Child in Mob รวบรวมได้เฉพาะวันเสาร์ที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมาวันเดียวก็มีเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุมอย่างน้อย 125 คน แบ่งเป็นอายุตั้งแต่ 15-18 ปี 54 คน และต่ำกว่า 15 ปี 71 คน ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีมากกว่านี้เพราะวันนั้นพวกเธอแจกสายรัดข้อมือได้แค่ก่อนได้ยินเสียงคอนเทนเนอร์หล่นและเกิดเหตุชุลมุน

ฟ้ายังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ายอดร่วมทั้งหมดตั้งแต่ 21 พ.ย.2563 - 20 มี.ค.2564 ที่ Child in Mob ได้แจกสายรัดข้อมือให้กับเยาวชนที่ร่วมชุมนุมไปทั้งสิ้น 6,242 เส้น ที่เธอบอกว่าต้องนับเป็นเส้นเพราะแต่ละครั้งที่มีการชุมนุมก็มีเยาวชนที่มาเข้าร่วมการชุมนุมที่ซ้ำกันด้วย จึงไม่สามารถระบุได้ว่าจำนวนเยาวชนที่มาชุมนุมรวมกันทั้งหมดเท่าไหร่

สติถิของปี 2563 อาสาของ child in mob ลงพื้นที่ 8 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคม ใช้ไปทั้งสิ้น 5,489 เส้น แต่ตอนนั้นระบบการเก็บข้อมูลยังไม่ได้ทำอย่างเป็นระบบจึงยังไม่สามารถแยกช่วงอายุได้

ส่วนปี 2564 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ child in mob ลงพื้นที่ 12 ครั้ง แจกสายรัดข้อมือไป 626 เส้น แบ่งได้เป็นสายรัดสำหรับเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี 316 เส้น สำหรับเยาวชนที่อายุมากกว่า 15 - 18 ปี 310 เส้น

หนีเสือปะจระเข้

ทางด้าน ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่าส่วนของสถิติเยาวชนในม็อบนี้ใช้การนับจากสายรัดข้อมือที่แจกให้กับเยาวชนที่มาร่วมการชุมนุม แต่เธอก็ยอมรับว่าไม่สามารถแจกให้กับเยาวชนทุกคนได้อย่างทั่วถึงที่มาร่วมได้เพราะจำนวนอาสาที่มีอยู่จำกัด แล้วกว่าจะได้เริ่มทำกันก็ถือว่าช้ามามากเพราะเริ่มในเดือนพฤศจิกายนซึ่งการชุมนุมก็เริ่มมาก่อนหน้านั้นนานมากแล้ว ซึ่งจำนวนของเยาวชนที่มาชุมนุมก็จะมีจำนวนสูงกว่าที่มีการบันทึกไว้

ปิยนุชบอกว่าเยาวชนที่มาชุมนุมก็มีทั้งคนที่ตั้งใจมาชุมนุม พ่อแม่ที่มาชุมนุมพามาด้วย หรือคนที่เดินผ่านไปผ่านมา รวมไปถึงลูกๆ ของ CIA (พ่อค้าแม่ค้าที่มาขายของในที่ชุมนุม) เธอบอกว่าที่อายุน้อยมาก 2-5 ขวบ คือน้อยที่สุดแล้ว แต่เด็กที่ตั้งใจมาก็ประมาณประถม 6 อายุก็ราวๆ 12 ปี

“แต่ที่พ่อแม่พามาก็มีอายุหลากหลายเลย แล้วเคสส่วนใหญ่ที่เจอก็จะพลัดหลงกับพ่อแม่เวลาเกิดเหตุชุลมุน และแม้ว่าเราจะมีเซฟโซนที่ก็ไปแท็กทีมร่วมกับแพทย์อาสา แต่พอสถานการณ์ที่ผ่านมาในเดือนกุมภาฯ เราก็หนาวๆ เหมือนกันเพราะแพทย์อาสายังโดน แล้วพวกเราจะรอดมั้ยจะปลอดภัยเหรอมันจะเป็นเซฟโซนได้มั้ย ก็ต้องดูสถานการณ์ต่อครั้งเหมือนกัน” ผอ.แอมเนสตี้เล่าสภาพปัญหาที่ Child in Mob ต้องเจอระหว่างปฏิบัติหน้าที่ แล้วก็ยังมีเด็กที่เดินผ่านหรือแวะดูการชุมนุมก็โดนลูกหลงหรือกรณีเด็กที่ได้รับบาดเจ็บจากมีบุคคลปาระเบิดใส่กิจกรรม “ย่างกุ้ง” เมื่อตอนวันสิ้นปี 63 เป็นต้น

เยาวชนที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีด้วยข้อหาม.112

ผอ.แอมเนสตี้ยังบอกอีกว่าที่แจกสายรัดข้อมือก็เพื่อให้ทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ได้เห็นว่ามีเยาวชนอยู่ในพื้นที่ชุมนุมด้วย แต่ก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเป็นเพียงการบรรเทาเท่าที่ทำได้เพราะสิ่งที่ต้องการจริงๆ คือทำให้เยาวชนปลอดภัยแล้วก็ไม่เสี่ยงเวลาใช้สิทธิของพวกเขา

“เจ้าหน้าที่ไม่ได้สนใจด้วยซ้ำไปว่าเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ที่น่ากลัวคือนอกจากผู้ชุมนุมโดยรวมแล้วก็ยังมีผู้ชุมนุมที่เป็นเด็กอย่างภาพวิดีโอของประชาไทก็เป็นเด็กมัธยม ปัญหาก็คือว่าแน่นอนมันมีความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว แต่ก็มีตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อมีบุคคลที่สามหรือกลุ่มที่เข้ามาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาทำร้ายคนอื่น ทำไมถึงเข้ามาได้ขนาดนั้น ขณะที่เยาวชนหรือผู้ชุมนุมกลับถูกใช้มาตรการอย่างเข้มงวด ถูกข่มขู่แล้วก็ใช้กำลัง”

เหตุการณ์วันที่ 20 มี.ค.64 ที่แยกคอกวัวที่เด็กมัธยมเดินเข้าหาตำรวจพร้อมแสดงตัวว่าไม่มีอาวุธ

ปิยนุชยังกล่าวถึงการจับกุมเยาวชนที่เป็นผู้หญิงสองคนที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ก็ยังดำเนินการด้วยเจ้าหน้าที่ผู้ชายที่สร้างความหวาดกลัวให้ และที่ศาลเยาวชนก็ไม่ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมมีการพูดจาข่มขู่ทั้งที่แค่อายุ 14 และ 15 ปีเท่านั้น

“จริงๆ แล้วเด็กมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกแล้วการมีส่วนร่วมเรื่องการเมืองอยู่แล้ว แล้วก็ตามมาตรฐานสากลรัฐต้องให้ความปลอดภัยของคนที่เข้าชุมนุมอยู่แล้วไม่ให้เกิดความไม่ปลอดภัย ยิ่งถ้าเป็นเด็กยิ่งต้องเอื้ออำนวยให้ ไม่ใช่ว่าห้ามไม่ให้เขาเข้า แต่ว่าเขาต้องมีพื้นที่ได้ใช้สิทธิของเขาแล้วก็ต้องปลอดภัยด้วย แล้วก็ต้องระลึกว่าเขาเป็นกลุ่มเยาวชนที่มีความเสี่ยงกลุ่มหนึ่งด้วย” ปิยนุชอธิบายถึงสิ่งที่รัฐควรจะทำ แต่เธอก็บอกว่าเจ้าหน้าที่ก็ต้องป้องกันหรือจัดการกับเฉพาะผู้ก่อเหตุชุลมุนได้โดยไม่หว่านแห และยังต้องใช้กำลังให้ได้สัดส่วน ไม่เกินกว่าเหตุและเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่ฉีดน้ำหรือใช้แก๊สน้ำตาเลย การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย

ผอ.แอมเนสตี้ระบุว่านอกจาก ข้อ 21 กติกา ICCPR ที่รับรองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและจะจำกัดการใช้สิทธินี้ไม่ได้แล้ว ยังมีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ขององค์การสหประชาชาติ ที่กำหนดสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบให้กับเด็กอย่างเท่าเทียมกับผู้ใหญ่ และเด็กในทุกกลุ่มต้องสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เด็กย่อมสามารถพัฒนาและแสดงความเห็นต่อประเด็นต่าง ๆ ที่กระทบต่อตนเอง อย่างสอดคล้องตามศักยภาพที่เจริญขึ้น ในเวลาเดียวกัน ความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับประโยชน์สูงสุดของเด็ก และประกันให้เกิดการคุ้มครองจากความรุนแรงในทุกรูปแบบ

ปิยนุชอธิบายว่า หมายถึงต้องมีการให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ ในแง่การเข้าถึงสิทธิดังกล่าวของเด็ก การทำให้เด็กบรรลุซึ่งสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ จึงต้องเกิดจากการยอมรับทั้งศักยภาพและความเปราะบางของเด็ก ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐจึงต้องอำนวยการให้พวกเขาใช้สิทธิของตน และใช้มาตรการพิเศษเพื่อคุ้มครองพวกเขา

“เขา(ตำรวจ) นั่นแหละที่จะต้องทำพื้นที่ให้ปลอดภัยให้คนมาใช้สิทธิได้ เจ้าหน้าที่รัฐเป็นตัวหลักในการทำให้พื้นที่ปลอดภัยคือเด็กควรจะเห็นตำรวจแล้วรู้สึกปลอดภัย แต่นี่คือเห็นตำรวจแล้วหนี มันใช่มั้ย แล้วมีบุคคลที่สามตำรวจคือคนที่ต้องพึ่งพาให้ได้มากที่สุด แต่ดันทำให้ยิ่งต้องหนีเข้าไปอีก กลายเป็นหนีเสือปะจระเข้อีก” ปิยนุชทิ้งท้าย

ทั้งนี้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามีผู้ถูกจับกุม 32 คน เป็นเยาวชนทั้งหมด 7 คน โดยมีเยาวชน 2 คนถูกแจ้งข้อหา 112 จากการแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์ฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท