Skip to main content
sharethis

กรณีทหารพม่าส่งเสบียงผ่านไทย จากชายแดนแม่สอดสู่จุดผ่อนปรนแม่สามแลบ พล.อ.ประยุทธ์ อ้างเป็นการค้าขายปกติยันทหารไม่เกี่ยวข้องกับการขนย้าย ด้านคนชายแดนตั้งคำถามชายแดนซีลปิดสนิทตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ไม่มีการค้าขายนานแล้ว ขณะที่ล่าสุดกลางดึกวันอังคารมีรถบรรทุกทยอยขนกองข้าวกลับฝั่งไทย

ข้าวจำนวน 700 กระสอบ พร้อมด้วยเสบียงต่าง ๆ ที่มีกลุ่มชายฉกรรจ์กว่า 10 มากองไว้ที่ท่าเรือแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นชายแดนไทย-พม่า

ข้าวจำนวน 700 กระสอบ พร้อมด้วยเสบียงต่าง ๆ ที่มีกลุ่มชายฉกรรจ์กว่า 10 คน มากองไว้ที่ท่าเรือแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นชายแดนไทย-พม่า 

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (23 มี.ค.) ระบุว่า กรณีที่มีกลุ่มชายฉกรรจ์กว่า 10 คนนำข้าว 700 กระสอบ พร้อมด้วยเสบียงต่าง ๆ มากองไว้ที่ท่าเรือแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นชายแดนไทย-พม่า ที่มีแม่น้ำสาละวิน คั่นกลาง ตั้งแต่เช้า 07.00 น.วันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ล่าสุด ข้าวและเสบียงเหล่านั้นยังคงกองอยู่ที่เดิม ทำให้ชาวบ้านแม่สามแลบต่างเป็นกังวล เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นชนวนการสู้รบระหว่างกองกำลัง 3 ฝ่าย คือ ทหารไทย ทหารพม่า และทหารกะเหรี่ยงของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ เคเอ็นยู เนื่องจากเชื่อว่าข้าวและเสบียงเหล่านี้เป็นของที่กำลังส่งให้ทหารพม่า โดยขนส่งผ่านดินแดนไทย ซึ่งเคเอ็นยูไม่เห็นด้วย และประกาศห้ามขนข้ามแม่น้ำสาละวิน

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 12.18 น. ระหว่างที่ชาวบ้านและสื่อมวลชนเดินไปสำรวจข้าวและเสบียงดังกล่าว ปรากฏว่าได้มีเสียงปืนดังขึ้นจากอีกฟากฝั่งของแม่น้ำสาละวินซึ่งเป็นฐานทหารพม่า ในลักษณะยิงปืนขึ้นฟ้า 5 นัด เหมือนกับการขู่ ทำให้ชาวบ้านแม่สามแลบต่างตกใจ บางส่วนได้ปิดร้านค้าทันที บางคนเก็บข้าวของย้ายไปอยู่กับญาติพี่น้องที่อำเภอแม่สะเรียง โดยชาวบ้านได้เรียกร้องต่อนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด และรัฐบาล ให้รีบเข้ามาแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน และขอให้นำข้าวและเสบียงดังกล่าวออกจากพื้นที่โดยเร็ว

ขณะที่นายธนดล สถาวรเวทย์ ปลัดอำเภอสบเมย ลงพื้นที่ตรวจสอบ บ้านแม่สามแลบ หลังมีเสียงปืนดังในฝั่งพม่า ลักษณะยิงปืนขึ้นฟ้า 5 นัด จึงมาสอบถามความเดือดร้อนของชาวบ้านโดยชาวบ้านต่างต้องการให้มีการขนข้าวและเสบียงออกไปอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่นายธนดล คุยอยู่กับชาวบ้าน โดยมีสื่อมวลชนหลายสำนักร่วมด้วยอยู่นั้น นายมิเต็ง ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นผู้ประสานงานทหารพม่า ได้เข้ามาร่วมให้ข้อมูล โดยระบุว่า ตนได้รับโทรศัพท์จาก พ.ท.เอเม็นสั่น ผบ.พัน 341 จ.ผาปูน ของกองทัพพม่า เพื่อขอให้มาแจ้งปลัดอำเภอและชาวบ้านว่า กองข้าวและเสบียงชุดนี้เป็นของทหารพม่า ที่ต้องการส่งมายังฐานทหารแม่หระท่า ซึ่งอยู่ตรงข้ามบ้านแม่สามแลบ และส่งต่อไปยัง 4 ฐานของทหารพม่าในรัฐกะเหรี่ยง เป็นการส่งเสบียงประจำปีในรอบ 6 เดือน โดยส่งมาจากเมืองเมียวดี และเสียภาษีถูกต้อง ซึ่งนำเข้ามาทางอำเภอแม่สอด จ.ตาก เพื่อขนมาออกทางจุดผ่อนปรนบ้านแม่สามแลบ 

 

นายมิเต็ง กล่าวว่า ทราบว่ามีการประสานของระดับบน ทางหน่วยแนวหน้าไม่รับทราบ หากมีปัญหา ทางพวกเขาก็ไม่อยากนำไปแล้ว ให้ทางไทยจัดการส่งกลับ หรือยึดไปได้เลย โดยยืนยันว่าพวกเขาเป็นเพียงทหารแนวหน้าที่ทำหน้าที่รักษาประเทศเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองในประเทศพม่า จึงขอทำความเข้าใจด้วย และหากมีปัญหาก็พร้อมจะยิงสู้กับทหารเคเอ็นยู

ส่วน พ.ท.เอเม็นสั่น ผบ.พัน 341 จ.ผาปูน ของเมียนมา ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า เสียงปืนที่ดังขึ้นไม่ใช่การยิงข่มขู่ แต่เป็นเสียงปืนปกติตามแนวชายแดน ขอให้ชาวบ้านสบายใจ และใช้ชีวิตตามปกติ ขอให้ชาวบ้านอย่ากังวล

ในวันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีกองข้าวสาร 700 กระสอบ ริมแม่น้ำสาละวิน อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ว่าต้องเข้าใจว่าเรื่องการค้าขายเป็นปกติ ซึ่งเราไม่ต้องการให้เขาเข้ามาซื้อในประเทศไทย ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการช่วยเหลือทางทหาร ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย แต่เป็นการสั่งซื้อพ่อค้าของไทยไปฝั่งพม่า เพราะมีประชาชนพม่าที่อยู่ตามสันเขาหรือตามชุมชนต่าง ๆ 100 กว่าจุด ซึ่งเป็นมาหลายปีที่ผ่านมา จึงต้องสร้างความเข้าใจด้วย ดังนั้น เรื่องนี้คงไม่ต้องแถลงชี้แจงอีก เพราะตนก็พูดแล้ว กระทรวงกลาโหมและกองทัพก็พูด จึงขออย่าไปเปิดประเด็น 

"อะไรที่ไม่เป็นปัญหา ทำไมต้องไปทำให้เป็นปัญหาก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ผมยืนยันความชัดเจนว่า ทหารไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการขนย้ายข้าวอะไรต่าง ๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นเรื่องของพ่อค้าขนไปส่ง แล้วเขาก็มารับไปเท่านั้นเอง ผมก็ได้พูดเรื่องมนุษยธรรมว่า เขาจะอยู่กันยังไงฝั่งโน้น สมัยก่อนอยู่กันสันเขาแล้วลงมาซื้อบ้านเรา ซึ่งเราก็ไม่อยากให้มีการข้ามแดนไปมาในลักษณะอย่างนี้ เป็นแบบนี้นานมาแล้วเป็น 10 ปี" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ‘Poy Chanakate’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า จากข่าวเรื่องข้าวสาร 700 กระสอบริมฝั่งสาละวินที่บ้านแม่สามแลบ ในฐานะคนแม่ฮ่องสอน ขอสรุปข้อมูลเรื่องด่านรอบ ๆ บ้านเราให้ทราบดังนี้ 1. แม่ฮ่องสอนมีด่านชายแดนทั้งหมด 5 แห่ง (ห้วยผึ้ง น้ำเพียงดิน ห้วยต้นนุ่น เสาหิน และแม่สามแลบ) ทุกแห่งเป็น "จุดผ่อนปรนทางการค้า" แม่ฮ่องสอนไม่มีด่านถาวร 

2. วันที่ 20 มีนาคม 2563 มีคำสั่งจังหวัดให้ปิดทั้ง 5 จุดผ่อนปรนการค้าของแม่ฮ่องสอน จากสถานการณ์ Covid-19 3. วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 มีคำสั่งให้ "เปิด" จุดผ่อนปรนทางการค้า 3 แห่ง คือ ห้วยผึ้ง ห้วยต้นนุ่น และแม่สามแลบ เพื่อการขนส่งสินค้าเท่านั้น (ขนถ่ายของแบบท้ายชนท้าย) ห้ามมีการเข้าออกของคนหรือยานพาหนะ และเปิดเฉพาะวันจันทร์ อังคาร และพุธ 4. วันที่ 1 กันยายน 2563 มีคำสั่งปิดจุดผ่อนปรนในข้อ 3 ทั้งหมด เพราะเกิดการระบาดระลอก 2 ในพม่า (คำสั่งนี้ให้ปิดช่วง 3-17 กันยายน 2563)

ในเฟซบุ๊กของ Poy Chanakate ระบุว่า 5. สถานการณ์ในพม่ายังไม่ดีขึ้น จึงมีคำสั่งให้ขยายการปิดทุกด่านถึง 30 กันยายน 2563 6. การระบาดในพม่ายังน่ากลัว มีคำสั่งขยายการปิดด่านออกไปอีกจนถึง 31 ตุลาคม 2563 7. จังหวัดมีคำสั่งขยายเวลาปิดด่านตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 63 ไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง อันนี้คือคำสั่งฉบับสุดท้ายที่ออกมา เรื่องการปิดด่านในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

“สรุปได้ว่าจนถึงปัจจุบัน (วันนี้ 21 มีนาคม 64) ทุกช่องทางค้าชายแดนของจังหวัดแม่ฮ่องสอนยังปิดสนิท ไม่มีการเข้าออกของคน-สัตว์-สินค้า-พาหนะ หรือใด ๆ ทั้งสิ้น แม่ฮ่องสอน seal ตะเข็บชายแดนไว้แน่นหนามาก (เราถึงเป็นพื้นที่สีขาวปลอดภัยจากโควิดด้วย) แต่ในช่วงบ่ายวันที่ 20 มีนาคม 2564 ก็มีข่าว-มีภาพ-มีคลิป-มีข้อมูลว่ามีข้าวสารจำนวน 700 กระสอบวางกองอยู่บนฝั่งสาละวินตรงจุดผ่อนปรนบ้านแม่สามแลบ เหมือนจะเตรียมส่งข้ามไปพม่า” ผู้ที่ใช้ชื่อ Poy Chanakate ระบุไว้ในเฟซบุ๊ก

ทั้งนี้ สำนักข่าว The Reporters รายงานเมื่อวันที่ 23 มี.ค.63 เวลา 23.30 น. ระบุว่า รถบรรทุกข้าวสาร 3 คัน มาถึงบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน แล้ว เพื่อขนข้าวสาร 700 กระสอบออกจากพื้นที่ตามที่ชาวบ้านเรียกร้อง และทางทหารพม่า กองพัน 341 ฝั่งตรงข้ามบ้านแม่สามแลบ ยอมรับว่าเป็นของพวกเขา ส่งมาจากเมียวดี เมื่อส่งไม่ได้ ก็ขอให้ส่งกลับ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net