Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

" ศาลที่เคารพ เราไม่ได้ขอให้ท่านเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ 
มันเปลี่ยนไปแล้ว โดยไม่ต้องขออนุญาตศาล 
แต่เราขอให้ท่านปกป้องสิทธิ์ที่ประเทศจะเปลี่ยนแปลง "

คำพูดอันทรงพลังข้างบนมาจากภาพยนตร์เรื่อง "On The Basis of Sex" ที่บอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีของรูธ เบเดอร์ กินเบิร์กส์ ผู้เริ่มท้าทายบรรทัดฐานชายเป็นใหญ่ด้วยการสอบเข้าเป็นนักศึกษากฎหมายหญิงท่ามกลางสายตาเย้ยหยันของบรรดานักศึกษาชาย ต่อสู้กับการกีดกันผู้หญิงจากอาชีพทนายความ จนกลายเป็นทนายความหญิงที่โดดเด่น และต่อมาได้เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกา  

อย่างที่เราทราบกันว่า คำประกาศอิสรภาพอเมริกา ปี 1776 ระบุชัดเจนว่า “เราทุกคนถูกสร้างมาให้มีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน” แต่ไม่ใช่ว่าสิ้นเสียงประกาศนี้ ชายกับหญิง ทาสกับนายทาส คนผิวขาว ผิวดำ ผิวสี คนหลากหลายทางเพศ นายทุนและคนใช้แรงงานจะมีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกันขึ้นมาได้โดยอัตโนมัติ คำประกาศเป็นเพียงการสถาปนาหลักการแห่งสิทธิและเสรีภาพที่กลายเป็นหลักอ้างอิงในการต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียมของคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการต่อสู้กับอำนาจผูกขาดทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ, วัฒนธรรมอคติทางศาสนา, การเหยียดเพศ, เหยียดสีผิว และอื่นๆ 

เรื่องราวในภาพยนตร์คือการตอกย้ำความจริงที่ว่า สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่ถูกประทานมาจากอำนาจเบื้องบนที่อ้างว่าทรงภูมิปัญญา คุณธรรม และมีบุญคุณอันล้นเหลือต่อประชาชน หากแต่ได้มาจากการที่ประชาชนลุกขึ้นสู้กับอำนาจเบื้องบน เพื่อยืนยันว่าอำนาจเบื้องบนใดๆ ไม่ว่าอำนาจกษัตริย์ ศาสนจักร หรือเผด็จการในรูปแบบใดๆ ไม่ได้ทรงปัญญา คุณธรรม และมีบุญคุณล้นเหลือดังที่พวกเขาหลอกลวง แต่เมื่อมองจากกรอบคิดประชาธิปไตยสมัยใหม่อำนาจเช่นนั้นทั้งกดขี่ อยุติธรรม และไร้ประโยชน์ ดังที่โธมัส เพน วิพากษ์ไว้อย่างถอนรากถอนโคนใน “สามัญสำนึก – Common Sense” หน้า 52 ว่า

“ ในองค์ประกอบของสถาบันกษัตริย์ มีบางอย่างน่าขันสิ้นดี แรกสุดมันแยกคนผู้หนึ่งออกจากหนทางแห่งการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร กระนั้นกลับให้อำนาจเขากระทำการในกรณีต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีวิจารณญาณสูงสุด สภาวะแห่งการเป็นกษัตริย์ปิดกั้นเขาจากโลก กระนั้นกิจธุระแห่งการเป็นกษัตริย์กลับเรียกร้องให้เขารู้จักโลกอย่างถ้วนถี่ ดังนั้น องค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นปฏิปักษ์กันเองและทำลายกันเองอย่างขัดต่อธรรมชาติ จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าลักษณะโดยรวมของสถาบันมีแต่ความไร้สาระและไร้ประโยชน์ ”  

เมื่อคำประกาศอิสรภาพยืนยันสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็ย่อมเท่ากับปฏิเสธอำนาจเผด็จการของระบบกษัตริย์และเผด็จการรูปแบบอื่นๆ การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของทาส เพื่อสิทธิเท่าเทียมของคนผิวดำ การต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมทางเพศและอื่นๆ จึงดำเนินไปบนการอ้างอิงและยึดถือกระบวนการเสรีประชาธิปไตยเป็นสำคัญ 

แม้ว่าสารพัดปัญหาจะซับซ้อน แต่โครงสร้างอำนาจของสถาบันการเมืองที่ชัดเจนในเรื่องการแบ่งแยกและถ่วงดุลระหว่างอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ประกอบกับไม่มีกองทัพหรืออำนาจนอกระบบอื่นใดแทรกแซงทางการเมืองได้ จึงทำให้การต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมด้านต่างๆ ของชาวอเมริกันเป็นไปได้และประสบผลสำเร็จ

ผิดจากบ้านเราที่มากด้วยความซับซ้อนและสับสนของระบบอำนาจแห่งสถาบันทางการเมือง ความไม่ชัดเจนของการแบ่งแยกและถ่วงดุลระหว่างอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยเฉพาะ “ความเป็นอิสระและเป็นกลาง” ของอำนาจตุลากาลอยู่ตรงไหน ในทางปฏิบัติดูเหมือนจะไม่แน่ชัด 

ในทางหลักการ อำนาจตุลาการต้องยึดโยงอยู่กับหลักนิติรัฐในระบอบประชาธิปไตยที่กำหนดให้อำนาจตุลาการเป็นอำนาจในนามตัวแทนประชาชนที่มีหน้าที่รักษา “ความยุติธรรม” บนฐานของการเคารพและปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ในทางปฏิบัติอำนาจตุลาการทำหน้ารักษาความยุติธรรมในความหมายใดกันแน่ ดังคำแถลงการของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชีวารักษ์ ต่อคณะผู้พิพากษา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ได้ตั้งคำถามสำคัญตอนหนึ่งว่า

“ ข้าพเจ้าขอตั้งคำถามต่อท่านผู้พิพากษาผู้ทรงเกียรติว่า ในเมื่อสถาบันตุลาการมีหน้าที่ระงับความขัดแย้งโดยการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน เพราะเหตุใด ท่านจึงสร้างความขัดแย้งโดยการร่วมกับเผด็จการปล้นความยุติธรรมไปจากมือประชาชน และในเมื่อศาลสถิตยุติธรรม เป็นสถานที่แห่งความจริงที่จะต้องนำความจริงมาพิสูจน์ เหตุใดท่านจึงจองจำความจริงไว้ ไม่ให้ความจริงได้ประกันตัวออกไปพิสูจน์ตนเอง หรือพวกท่านจะเกลียดชังและหวาดกลัวความจริงจนต้องรีบนำความจริงไปคุมขังไว้ให้เกิดความทรมาน และหวังว่าความทุกข์ทรมานนั้นจะสามารถบดขยี้ความจริงให้แหลกสลายไปได้ “ (ที่มา  https://prachatai.com/journal/2021/03/92126)

แน่นอนว่าศาลรู้ดีที่สุดว่า “ความจริง” ที่เพนกวินพูดถึงคืออะไร และรู้ด้วยว่าหน้าที่ในการรักษา “ความยุติธรรม” บนการเคารพและปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักนิติรัฐในระบอบประชาธิปไตยนั้นคืออะไร แต่ปัญหาอยู่ที่ศาลสามารถยืนยัน “ความเป็นอิสระและเป็นกลาง” ได้หรือไม่ นี่คือแก่นแกนสำคัญ การที่ศาลอเมริกาสามารถยืนยัน “ความเป็นอิสระและเป็นกลาง” ได้ จึงทำให้ข้อเรียกร้องของประชาชนต่อศาลที่ว่า “ศาลต้องปกป้องสิทธิ์ที่ประเทศจะเปลี่ยนแปลง” บรรลุผลได้จริง

คำแถลงของเพนกวินตรงไปตรงมา ชัดเจน และเจ็บปวดอย่างที่สุด มันคือคำประกาศสิทธิของประชาชนต่อศาลว่า ศาลต้องทำหน้าที่รักษาความยุติธรรมต่อประชาชนทุกคน โดยเฉพาะประชาชนที่ลุกขึ้นสู้กับเผด็จการเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยจะต้องไม่ถูกปฏิบัติอย่างอยุติธรรม ซึ่งความหมายสำคัญก็คือ “ศาลต้องปกป้องสิทธิ์ที่ประเทศจะเปลี่ยนแปลง” เนื่องจากประเทศเปลี่ยนไปแล้วจากประเทศของศักดินาเป็นประเทศของประชาชน ดังนั้น ประชาชนย่อมไม่ใช่ไพร่ ทาสของศักดินาอีกต่อไป ศาลจึงต้องเคารพสิทธิของประชาชนที่จะปฏิเสธการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

นี่คือท้าทายต่อความมีเหตุผลและมโนธรรมของศาลอย่างยิ่งว่า ศาลสามารถที่จะยืนยัน “ความเป็นอิสระและเป็นกลาง” ในการทำหน้าที่รักษาความยุติธรรมบนการเคารพและปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนสากลได้หรือไม่ หากได้ ก็ย่อมเป็นไปได้ที่ศาลจะสามารถปกป้องสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยอย่างสังคมอารยะได้

อย่างไรก็ตาม ประชาชนคือเจ้าของสิทธิและอำนาจในการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตย อำนาจเผด็จการใดๆ ก็ไม่อาจหยุดยั้งได้ ความพยายามใดๆ เพื่อหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลง นอกจากจะเปล่าประโยชน์และสร้างความอัปยศอดสูแก่เผด็จการและเครือข่ายในระยะยาว ยังจะสร้างความเสียหายแก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างมหาศาล เพราะมันคือการปิดกั้นอนาคตที่ดีกว่า เพื่อให้ประเทศนี้ดักดานอยู่กับอดีตที่ล้าหลัง ซึ่งผิดธรรมชาติของวิวัฒนาการทางสังคมและไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง

ความจริงวันนี้คือ ทั้งเพนกวิน, อานนท์และแกนนำคนอื่นๆ รวมทั้งนักสู้ทุกคนที่โดน 112 กำลังเผชิญความอยุติธรรม เพราะไม่ได้รับสิทธิ์ประกันตัวที่ต้องได้ และยังตกอยู่ในภาวะ “เสี่ยงอันตราย” หมายเอาชีวิตจาก “อำนาจมืด” ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นลุกขึ้นสู้ยืนยันสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยเพื่อประชาชนทุกคน ที่คือความจริงที่ฟ้องให้เห็นอันตรายและความไร้ประโยชน์ของอำนาจที่เป็นศัตรูของประชาชน!
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net