Skip to main content
sharethis

24 มี.ค. 2564 ศรายุธ ตั้งประเสริฐ  พร้อมทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จากการสลายการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยการยิงกระสุนยาง ปิดกั้นการเดินทางโดยเฉพาะเส้นทางไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อสื่อมวลชนที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ พร้อมขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวการชุมนุมในช่วงเย็น

ประมาณ 10.30 น. ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเดินทางมายื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ในคดีที่ศรายุธ ตั้งประเสริฐ  ผู้สื่อข่าวประชาไท เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ฐานละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เป็นคดีที่ พ.1472/2564 จากเหตุใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของกลุ่มรีเด็ม (REDEM) เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 และใช้กระสุนยางกราดยิงประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชนจนได้รับบาดเจ็บ พร้อมยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวการชุมนุมสาธารณะ และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงทุกครั้งที่มีการชุมนุม

คำฟ้องโดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวประชาไทลงพื้นที่ถ่ายทอดสดการชุมนุมผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยแขวนบัตรผู้สื่อข่าว สวมปลอกแขนสื่อมวลชน และหมวกนิรภัยสีดำมีตัวอักษรภาษาอังกฤษสีขาวว่า PRESS ที่แปลว่าสื่อมวลชนอย่างชัดเจน

ขณะผู้สื่อข่าวถ่ายทดสด พบว่า ตำรวจฉีดน้ำแรงดันสูงใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ใช้แก๊สน้ำตา และยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนโดยไม่ระบุเป้าหมาย มีการไล่ทำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยการรุมกระทืบ ใช้กระบองตีทำร้ายตามร่างกาย โดยกลุ่มบุคคลที่ถูกทำร้ายไม่ได้มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงหรือต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานแต่อย่างใด แม้กระทั่งบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่แล้ว ก็ยังมีการถูกทำร้ายร่างกายด้วยการรุมกระทืบ โดยระหว่างปฏิบัติหน้าที่สื่อ ตำรวจได้กีดกันการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวในการนำเสนอข้อเท็จจริงต่อประชาชนด้วยการห้ามมิให้สื่อมวลชนถ่ายภาพความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อผู้ชุมนุม และพยายามกันสื่อมวลชนออกจากพื้นที่ชุมนุม

ประมาณ 22.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวต่อเนื่องมาถึงบริเวณ ถ.ข้าวสาร ถูกตำรวจควบคุมฝูงชนยิงกระสุนยางเข้าใส่จำนวน 2 นัดนัดแรกถูกบริเวณลำตัวด้านหลังของผู้สื่อข่าวจนเซถลาไปข้างหน้า แต่ไม่ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากลูกกระสุนยางถูกกระเป๋า ส่วนนัดที่ 2 กระสุนยางถูกบริเวณลำตัวด้านหลังขวา ทำให้ผู้สื่อข่าวบาดเจ็บเป็นแผลถลอกฟกช้ำ ขนาดกว้าง 7 ซม.ยาว 15 ซม. เมื่อมีพลเมืองดีพาผู้สื่อข่าวขึ้นรถยนต์ไปส่งส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดคือโรงพยาบาลวชิระ แต่ปรากฏว่าไม่สามารถเดินทางไปยังโรงพยาบาลดังกล่าวได้ เนื่องจากตำรวจปิดกั้นเส้นทาง

การกระทำของตำรวจควบคุมฝูงชนเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้สื่อข่าวได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย จิตใจ และกระทบต่อเสรีภาพสื่อมวลชน จึงขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ผบ.ตร. ปิดกั้นทางสัญจรหรือสถานที่ต่างๆ ด้วยตู้คอนเทรนเนอร์ ลวดหีบเพลง รถยนต์ รั้งเหล็ก หรือวัสดุเครื่องมืออื่นใดในทำนองเดียวกัน ในสถานที่ที่จะมีการชุมนุมสาธารณะ และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงทุกครั้งที่มีการชุมนุม

นอกจากนี้ ยังขอให้ศาลห้ามสลายการชุมนุม ห้ามใช้แก๊สน้ำตาหรือสารเคมี ห้ามฉีดน้ำและกระสุนยางในการควบคุมผู้ชุมนุม ห้ามข่มขู่คุกคามและใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชน ห้ามจำกัดพื้นที่หรือกีดกันสื่อมวลชนออกจากพื้นที่ที่สื่อมวลชนกำลังปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนห้ามจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน หรือเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ทุกครั้งที่มีการชุมนุม

พร้อมขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและ ผบ.ตร. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าพนักงานตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งระดับผู้บังคับบัญชาที่ทำหน้าที่สั่งการและในระดับปฏิบัติ เพื่อลงโทษทางวินัยและห้ามมิให้เจ้าพนักงานตำรวจที่ใช้ความรุนแรงปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนอีกจนกว่าจะได้รับการปรับปรุงพฤติกรรม เพื่อป้องกันมิให้มีการคุกคามการทำหน้าที่สื่อมวลชน รวมทั้งก่ออันตรายแก่เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน

จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังยื่นฟ้องว่า การยื่นขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินในวันนี้ เนื่องจากมีการชุมนุมในช่วงเย็นที่ผู้สื่อข่าวต้องทำหน้าที่ ถ้าตำรวจไม่เปลี่ยนแนวปฏิบัติก็จะมีความรุนแรงเกิดขึ้นอีก ตั้งแต่มีการชุมนุมมา ช่วงแรกเจ้าหน้าที่ก็จับกุมด้วยความรุนแรง และมีการทำร้ายร่างกายหลังจับกุม

จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ทนายความกล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการรุนแรงโดยไม่เลือกหรือแยกแยะเป้าหมาย มีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น การไต่สวนขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้ผู้สื่อข่าวปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ถูกผลักดันจากพื้นที่ และขอให้คุ้มครองผู้ชุมนุมด้วย เนื่องจากผู้สื่อข่าวอยู่ในสนามร่วมกับผู้ชุมนุม ถ้าเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงโดยไม่แยกแยะ ทั้งผู้ชุมนุมและผู้สื่อข่าวก็จะตกอยู่ในอันตราย จึงขอให้ศาลสั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎการใช้กำลัง ต้องระบุตัวผู้ก่อความวุ่นวายและจำกัดการใช้อาวุธ เพื่อความสงบเรียบร้อย และให้ผู้อื่นใช้เสรีภาพต่อได้

นอกจากนี้ ทนายความกล่าวว่า การปิดกั้นเส้นทางของตำรวจยังทำให้ผู้บาดเจ็บไม่สามารถไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ คือโรงพยาบาลวชิระ จึงขอให้ศาลสั่งห้ามปิดกั้นเส้นทางโดยเฉพาะเส้นทางไปโรงพยาบาล ในส่วนค่าเสียหาย โจทก์ยังไม่ประสงค์เรียกค่าเสียหาย เพื่อต้องการคุ้มครองเสรีภาพสื่อและการชุมนุม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net