Skip to main content
sharethis

ประมวลกิจกรรม #ม็อบ24มีนา 'เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร' จัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม บริเวณแยกราชประสงค์ พร้อมเปิดบทปราศรัยของ 'ปวิน' และ 'มายด์ ภัสราวลี' และพูดคุยกับประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้

24 มี.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (24 มี.ค. 2564) กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศจัดกิจกรรม 'เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร' โดยเริ่มต้นกิจกรรมอย่างเป็นทางการในเวลา 17.00 น. บริเวณแยกราชประสงค์ โดยกำหนดการไฮไลท์ ประกอบด้วย การปราศรัยจาก มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล จากกลุ่ม ROOT, เบนจา อะปัญ จากแนวร่วม มธ.ฯ และครูใหญ่ ขอนแก่น หรืออรรถพล บัวพัฒน์ จากพรรคก้าวล่วง (ราษฎรโขง ชี มูล) โดยทั้งสามเป็นผู้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จากกรณีอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเวลา 16.18 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีการปิดเส้นทางสกายวอล์ค ตั้งแต่สถานี BTS สยาม จนถึงหน้าตึก Amarin และเกษรพลาซ่า ส่งผลให้ประชาชนที่มาจากทาง BTS สถานีชิดลม ต้องใช้บันได บริเวณหน้า Amarin และบันไดข้างในอาคารโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ และเกษรพลาซ่า เพื่อลงด้านล่าง แต่ยังไม่มีการปิดการจราจรบริเวณแยกราชประสงค์แต่อย่างใด

ต่อมาเวลาประมาณ 16.40 น. บริเวณพื้นที่ชุมนุมแยกราชประสงค์ มีประชาชนมารออยู่ริมฟุตบาทหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตั้งแต่ตรงข้ามสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนถึงริมฟุตบาทหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ฝั่งตรงข้ามบิ๊กซี ราชประสงค์ นอกจากนี้ มีตำรวจตั้งจุดตรวจบนฟุตบาทหน้าตรงข้าม สตช. ก่อนเข้าพื้นที่ชุมนุม

เวลา 16.50 น. สมาชิกแนวร่วมฯ ประกาศชวนประชาชนให้ลงมาชุมนุมบนถนนบริเวณแยกราชประสงค์ และมีการปิดการจราจร บริเวณแยกราชประสงค์ ถ.ราชดำริ หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์-เกษรพลาซ่า โดยทางทีมแนวร่วมฯ เตรียมตั้งเวทีปราศรัยหลักที่แยกราชประสงค์ ต่อมาเวลา 16.59 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาแจ้งผู้ชุมนุมว่า กำลังละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังจากนั้น เวลาประมาณ 17.30 น. ผู้ปราศรัยจึงทยอยขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวทีตามกำหนดการ และเมื่อถึงเวลา 18.00 น. ธัชพงษ์ แกดำ พิธีกรเรียกผู้ชุมนุมร่วมชูสามนิ้วเคารพธงชาติ

ประชาชนร่วมชู 3 นิ้วระหว่างเคารพธงชาติเวลา 18.00 น.
 
กิจกรรมเขียนสีชอล์กระบายความในใจ
 

กลุ่มแนวร่วมฯ เน้นสร้างพื้นที่ปลอดภัย เรียกประชาชนกลับมาสู้อีกครั้ง

เบนจา อะปัญ จากแนวร่วม มธ. และการชุมนุม หนึ่งในสมาชิกผู้จัดงานฯ เธอระบุถึงเหตุผลที่จัดงาน #ม็อบ24มีนา โดยใช้ธีม 'เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร'

เบนจา อะปัญ จากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมุนุม

"ตั้งแต่หลังปีใหม่เป็นต้นมา ประชาชนออกมาชุมนุมกี่ครั้ง ก็ถูกสลายการชุมนุมตลอด การกลับมาครั้งนี้ เพื่อบอกว่าประเทศนี้เป็นของประชาชน มีสิทธิ์ที่จะได้ชุมนุมตามสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มันเป็นสิ่งที่สิทธิประชาชนพึงกระทำได้ เราไม่อยากให้ใครมาปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนทั้งนั้น และก็พื้นที่ตรงนี้ เรามาอย่างสันติ เราไม่ได้จะมาปะทะ เรามาเพื่อเรียกร้อง เรามาเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการชุมนุม"

เบนจา ระบุต่อว่า ตอนนี้ทางแนวร่วมฯ ยังยืนยันตามหลัก 3 ข้อเรียกร้อง ประกอบด้วย ประยุทธ์ต้องลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่เพิ่มอีกข้อขึ้นมา คือ ต้องปล่อยเพื่อนเรา

"กังวลมาก กังวลทุกวันที่เพื่อนอยู่ในนั้น เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเพื่อนบ้าง และก็กวิ้น (พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน) อดอาหารประท้วงอยู่ ร่างกายไม่แข็งแรง เราไม่อยากให้เพื่อนเป็นอะไรไปเลย" เบนจา กล่าว

สำหรับคำถาม กิจกรรมวันนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง เบนจา กล่าวว่า เราต้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัย เพื่อเรียกประชาชนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง อยากให้ทุกคนอุ่นใจ อยากให้ทุกคนเชื่อมั่น เราไม่ซีเรียสว่าใครจะมาตั้งเวที หรือไมค์มาปราศรัย เราเปิดพื้นที่ตรงนี้ให้ฟรีสไตล์ กลุ่มไหนจะเอากิจกรรมตัวเองมาทำ ทำได้เต็มที่ แค่อยากให้ช่วยคำนึงถึงความปลอดภัย ช่วยดูแลกัน ช่วยกันลดความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น และระวังความรุนแรงจากภาครัฐที่จะมาจำกัดเรา

นอกจากนี้ เบนจา ยังวิจารณ์ไปถึงตำรวจที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมว่า หน้าที่ของตำรวจคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัย รัฐคือคนที่ต้องดูแลความปลอดภัยของประชาชนทุกคน ให้พื้นที่ทุกคนได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ใช่มาทำลายพื้นที่ตรงนั้น และเป็นผู้ลงมือกระทำการรุนแรงงานต่อประชาชน

รวมเสียงปราศรัยจากราษฎร

การปราศรัยในกิจกรรมชุมนุม 'เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร' ที่แยกราชประสงค์ เริ่มต้นเวลาประมาณ 17.30 น. โดยมียิ่งชีพ อัชฌานนท์ หรือเป๋า iLaw เป็นผู้ปราศรัยคนแรก ตามด้วยชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบรท์, ธนพร วิจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, เบนจา อะปัญ จากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ ขอนแก่น ตามลำดับ

ก่อนเริ่มปราศรัย อรรถพลแนะนำตัวว่าเป็น ส.ส.พรรคก้าวล่วง เขตพระราชฐาน จ.ขอนแก่น พร้อมเอ่ยสโลกแกนพรรค “เผด็จการจงวายป่วง พรรคก้าวล่วงจงเจริญ” ก่อนจะกล่าวว่าตอนนี้คือเวลาที่ทุกคนต้องร่วมสู้ไปด้วยกันบนเส้นทางแห่งประชาธิปไตย เพราะการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มขึ้นแล้ว ผู้กุมอำนาจเผด็จการไม่อาจหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงได้ ทำได้เพียงชะลอการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น พร้อมถามย้อนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าหากไม่รู้ว่าทำผิดอะไร ตนจะเป็นบอกให้ฟัง หลังจากนั้นจึงคลี่กระดาษที่เตรียมมาและอ่านข้อผิดพลาดของ พล.อ.ประยุทธ์ บนเวที

ต่อมาเวลา 20.00 น. ได้มีการถ่ายทอดเสียงของ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการชาวไทยที่ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น สื่อสารผ่านโทรศัพท์มายังเวที #ม็อบ24มีนา ว่า ขณะนี้เรื่อง ม.112 มีการจับกุมกันยอะแยะ ซึ่งเหมือนว่าจะหยุดไปสักพักช่วงปลายปี 2560 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการไม่ใช้จะไม่มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เราก็รู้กันอยู่ว่ามีการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แทน

ปวินกล่าวว่า เมื่อมีการชุมนุมขึ้นมา และมีการพังเพดานเรื่องการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะสิ่งที่เราพูดออกไปก็เอาคืนไม่ได้แล้ว อยากเชื่อว่ากำแพงการพูดถึงสถาบันกษัตริย์มันพังไปแล้ว และการใช้ ม.112 ก็กลับมา เรื่องนี้น่ากลัวมาก น่ากลัวถึงขั้นว่าสหรัฐฯ ออกมาแสดงความกังวลใจของสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพเรื่องการแสดงออก เราทุกคนควรจะมีสิทธิในการแสดงความเห็น ส่วนการจะให้มีกฎหมายคุ้มครองประมุขนั้นจะให้มีก็มีไป แต่ ณ จุดนี้ต้องมีปฏิรูป ม.112 แต่ส่วนตัวอยากให้ยกเลิกไปเลย เพราะถ้าจะปฏิรูป ก็ต้องมีหน่วยงานที่จะมาดูแลการใช้ ม.112 แต่ถ้าทำแบบนั้นก็คงไม่พ้นหน่วยงานนั้นต้องตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง 

ปวินเสนอว่า สถาบันกษัตริย์ต้องตกเป็นการถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการขยายหน่วยงานส่วนพระองค์และถ่ายโอนทรัพย์สินเป็นของตัวเองภายใต้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อเราวิพากษ์วิจารณ์แล้วกลับถูกใส่ร้ายป้ายสี แต่แท้ที่จริงเราต้องการทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเท่านั้น ข้อเสนอของนักศึกษา ทั้ง 3 ข้อ หรือ 10 ข้อ ต่างก็มีความชอบธรรม เพราะว่าเป็นการทำให้สถาบันกษัตริย์คงอยู่กับระบอบประชาธิปไตย

“ที่เหลือก็เอาใจช่วยนะครับ น้องๆ ทุกคนที่ออกมา ประทับใจกับการกล้าออกมาของเยาวชนสมัยนี้ ก็ถือว่าส่งกำลังใจจากแดนไกล ที่หวังให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย และเชื่อว่าวันนั้นคงต้องมาถึงสักวัน”

ต่อมาเวลา 20.25 น. ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ ขึ้นเวทีปราศรัย โดยกล่าวบนว่าตนไม่มีความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย

“เราไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม หนูไม่มั่นใจว่าศาลจะให้ประกันตัวไหมถ้าอัยการสั่งฟ้อง” ภัสราวลี กล่าว

จากนั้น ภัสราวลี จึงกล่าวปราศรัยเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยกล่าวว่า “ในฐานะเราประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ การพูดถึงสถาบันกษัตริย์นั้น เราควรจะต้องพูดถึงได้ในแง่ของการสรรเสริญและวิพากษ์วิจารณ์ นี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทยตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ภาพโดยกันต์ แสงทอง

“หนูในนามประชาชนคนธรรมดา อยากจะขอถวายคำบังคมทูลถึงกษัตริย์ ในฐานะประมุข ท่านควรครองตนเพื่อเป็นภาพลักษณ์ที่ดี เหมาะสมกับการเป็นประมุขของประเทศ คนรอบตัวท่านอาจไม่มีความกล้าหาญพอที่จะตักเตือนท่านอย่างตรงไปตรงมา แต่ประชาชนที่เป็นกัลยาณมิตรคนสุดท้ายของท่านกำลังส่งเสียงถึงท่าน ว่าท่านทำลังนำสถาบันกษัตริย์ที่อยู่คู่สังคมไทยมาหลายร้อยปี มาเสี่ยงหมดหน้าตักเพราะต้องการขยายพระราชอำนาจอย่างนั้นหรือ ความโลภนี้เกินพอดีหรือเปล่า อยากให้ท่านลองคิด ความโลภที่เกินพอดีนั้น แน่นอนว่าย่อมมาด้วยความพินาศเช่นเดียวกัน ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ท่านกำลังสร้างขึ้นนั้น ท่านกำลังทวนเข็มนาฬิกา แม้การสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาจจะสร้างสำเร็จได้ในรัชกาลนี้ แต่ก็ย่อมจะพังลงได้ในรัชกาลต่อไป และเราเองก็ต่างรู้กันดีว่าการพังทลายลงนั้นน่าหวั่นใจเพียงใด ท่านต้องการปรับปรุงแก้ไขให้สถาบันกลับมาอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญจริงหรือเปล่า ท่านจงคิดดู ถ้าท่านยอมปรับตัว การกระทำนั้นจะส่งผลต่อความศรัทธาของประชาชนแน่นอน"

หลังจากนั้น ภัสราวลี ได้เสนอข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 3 ข้อ ได้แก่

1. การทหาร หนึ่งประเทศมีได้กองทัพเดียว จะแยกกองทัพแบบนี้ไม่ได้
2. การแทรกแซง หรืออยู่เบื้องหลังกลุ่มก้อนทางการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้น ในระยะยาวจะมีปัญหาต่อสถาบัน
3. ขอให้นำทรัพย์สมบัติที่เป็นของชาติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในนามของสถาบันกษัตริย์กลับคืนสู่ประชาชนเสียโดยไว

และอ่านบทกวีโคลงสี่สุภาพ ก่อนจบการปราศรัย

“มุ่งหมายตามล่าล้าง                ดุจมิ             ใช่คน

หมายมุ่งปราบมวลชน               ลูกหลาน

จบแล้วซึ่งอดทน                    กดขี่

ทวยราษฎร์เลิกหมอบกราบ        หมดสิ้น          ศรัทธา

เรียนทูลกระษัตริย์แก้ว             ตรับฟัง

หากยังอยากหยุดยั้ง                ก่อนช้า

มิให้ทุกสิ่งพัง                      พินาศ           ดับสูญ

พสกราษฏร์ทั่วหล้า                แซ่ซ้อง       ยินดี”

 

ภาพโดยกันต์ แสงทอง
 
นอกจากนี้ ยังมีประชาชนคนอื่นๆ ขึ้นมากล่าวปราศรัยบนเวที ได้แก่ ณัฏฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน พยาบาลอาสา, ชุมาพร แต่งเกลี้ยง หรือวาดดาว นักกิจกรรมเพื่อความเป็นธรรมทางเพศ, คณพศ แย้มสงวนศักดิ์ หรือคะน้า แกนนำกลุ่มนักเรียนไท และชายนิรนาม ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ
 
ต่อมาเวลา 20.55 น. เบนจา ได้กลับมาขึ้นเวทีปราศรัยเพื่ออ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนของกลุ่มแนวร่วมฯ และคณะราษฎร ก่อนจะประกาศยุติการชุมนุมในเวลา 21.04 น. พร้อมเปิดเพลงของวงสามัญชนเพื่อส่งประชาชนกลับบ้าน
 

คุยกับมนุษย์ม็อบ 24 มีนา

แนท ประชาชนที่มาทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ร่วมกับเพื่อน โดยการนอนบนพื้นผิวถนน แต่ละคนถือป้ายข้อความระบุว่า 'ประชาชน' และอื่นๆ

รอบๆ จุดที่นักแสดงนอนอยู่ เป็นกรอบเขียนว่า 112 เต็มไปหมด และปลายเท้าเขียนว่า เขตปลอด 112 และก่อนการแสดงสิ้นสุด ทั้งหมดร้องเพลงชื่อว่า เพื่อมวลชน

แนท ตัวแทนทำการแสดงเชิงสัญลักษณ์ ระบุถึงแนวคิดนี้ว่า "เราสื่อถึงว่า เขาพยายามจะตีกรอบให้ประชาชนอยู่ในกรอบของเขา มันควบคุมง่าย แต่การอยู่ในกรอบนาน ๆ มันก็เกิดการอัดอั้นตันใจ เป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งพวกเราคิดว่าการออกนอกกรอบ มันไม่ใช่เรื่องที่ผิด ร้ายแรงอย่างนั้น"

การแสดงเชิงสัญลักษณ์จากแนทและเพื่อน

แนท อธิบายเรื่องการใช้คำว่า 112 ในการแสดงเขาว่า "มาตรา 112 เป็นมาตราที่ใช้ควบคุมคนให้อยู่ในกรอบ การที่เรานอนก็เหมือนที่เราไม่ได้ต่อสู้ เหมือนกับเรายินยอมรับ 112 ส่วนเขตปลอด 112 คือการต่อต้านเพื่อให้เราออกนอกกรอบบ้าง"

แนท กล่าวเพิ่มว่า ปกติก็ไปทำการแสดงในบางที่แล้วแต่สถานการณ์ ไม่บ่อย แต่เลือกครั้งนี้ เพราะมองเห็นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับเพื่อนเรา

"เราคิดสิ่งที่เกิดขึ้นกับเพื่อนเรา (นักกิจกรรมที่ถูกฝากขัง) มันเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม ไม่ว่ากับเพื่อนเรา หรือใครก็ตามในประเทศนี้" แนททิ้งท้าย


ด้าน พลอย นักศึกษาที่มาร่วมกิจกรรมวันนี้ เธอใช้สีชอล์กเขียนข้อความบนพื้นผิวถนนว่า "ร่าง รธน." (ร่างรัฐธรรมนูญใหม่) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามข้อเรียกร้องของแนวร่วม มธ. ว่า "เพราะสำหรับเธอ ยกเลิก 112 มันไม่พอ มันยังมีมาตราอื่นๆ ที่มันยังไม่ได้ทำให้คนจริงๆ หรือสิทธิเสรีภาพยังถูกกดทับ มันยังมีช่องโหว่ของกฎหมายที่มีคนเอามาใช้หาผลประโยชน์ก็ตาม หรือความทับซ้อนของข้อกฎหมาย ดังนั้น การร่างกฎหมายต้องถูกแก้ไขทั้งหมด" พลอย กล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่าประชาชนควรมีสิทธิ์ได้ร่าง รธน. ด้วยหรือไม่ พลอย ตอบว่า แน่นอนคนทั้งหมดมาออกแบบร่วมกันทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ เพราะคนในไทยมันเยอะมาก และเธอมองว่าการถามความเห็นของประชาชน หรือการทำประชามติ เป็นสิ่งที่พึงควรกระทำ เพราะเธอมองว่ากฎหมายมันไม่ได้แค่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่กลับใช้กับทุกคนในประเทศ ดังนั้นทำไมประชาชนถึงไม่มีสิทธิเลือกกฎหมายที่จะออกมา 

"กฎหมายมันคือข้อตกลงร่วมการอยู่ร่วมกันในสังคม และประเทศคือสังคมอย่างหนึ่ง ทุกคนควรมีสิทธิ์ได้ร่วมกันออกแบบ ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง" พลอย กล่าว 

ถ้าถามถึงกฎหมายที่อยากเปลี่ยนมากที่สุดตอยนี้ พลอย กล่าวว่า "มาตรา 112 ค่ะ"

เธอเป็นกังวลเพื่อน ที่ถูกกฎหมายนี้เล่นงาน แล้วเธอมองว่ากฎหมายนี้มีปัญหาด้วย

พลอย นักศึกษาที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้

"มันกว้างมากๆ และใครจะใช้ก็ได้ ใครดูหมิ่นอาฆาตมาดร้าย เราจะมั่นใจได้ไหมว่า อะไรคืออาฆาต อะไรคือมาดร้าย แต่ว่าถ้ากลับกัน ถ้าเกิดยกเลิกข้อนี้ไปแล้ว และใช้หมิ่นประมาทเหมือนกันทั่วไป ก็ใช้ได้รึเปล่า?" พลอย ตั้งคำถาม 

"ถ้าไม่สะดวกลงมาใช้กฎหมายเอง เป็นผู้สำเร็จราชการฟ้องแทนได้ไหม เหมือนทนายฟ้องร้อง" 

สุดท้าย เธอฝากถึงประชาชนที่ยังไม่กล้า หรือลังเลที่จะออกมาว่า "สำหรับประชาชนที่ยังมองไม่เห็นปัญหา หรือว่าเห็นปัญหาแล้ว แต่ยังไม่กล้าออกมา มันถึงเวลาแล้วค่ะ มีคนที่เข้าไปในคุกและเสี่ยงชีวิต ว่าเขาจะโดนอะไรไหม เขาจะมีชีวิตขณะที่อยู่ในนั้นจริงๆ รึเปล่า 

ถ้าคุณเห็นความอยุติธรรมเกิดขึ้น แม้ว่าข้อเรียกร้องคุณจะไม่เห็นด้วย แต่คุณเห็นว่าชีวิตตอนนี้เศรษฐกิจมันแย่ มีความรุนแรงที่ไม่สมเหตุสมผล เราก็อยากให้ออกมาร่วมกันค่ะ" พลอย ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net