Skip to main content
sharethis

เจอราร์ด แมคเดอมอตต์ นักศึกษาปริญญาเอก จากภาควิชาเอเชียและนานาชาติศึกษาของมหาวิทยาลัยซิตีแห่งฮ่องกง วิเคราะห์กรณีการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมพม่า และปัจจัยความขัดแย้งอื่นๆ ที่แวดล้อมอยู่ ว่ามีโอกาสที่ความรุนแรงจะบานปลายกลายเป็นการต่อสู้กันด้วยอาวุธแบบในหลายประเทศหรือไม่

หรือเผด็จการพม่าได้ 'เปิดประตูนรก' วิเคราะห์สถานการณ์รัฐประหารพม่าจะขยายตัวรุนแรงแค่ไหน

บทวิเคราะห์ในสื่อดิดิพโพลแมตระบุถึงความขัดแย้งในพม่าว่าแสดงให้เห็นถึงสัญญาณบางอย่างที่อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งแบบหยั่งรากลึกและสร้างความเสียหายอย่างหนักเทียบกับว่าราวกับเป็นการ "เปิดประตูขุมนรก"

ผู้ที่วิเคราะห์ในเรื่องนี้คือ เจอราร์ด แมคเดอมอตต์ นักศึกษาปริญญาเอก จากภาควิชาเอเชียและนานาชาติศึกษาของมหาวิทยาลัยซิตีแห่งฮ่องกง เขาเริ่มเปรียบเทียบพม่ากับความขัดแย้งรุนแรงอื่นๆ เมื่อไม่กี่สิบปีก่อนหน้านี้ เช่นในกรณีของบอสเนีย เคยมีนักการเมืองให้สัมภาษณ์ไว้ในปี 2535 ว่าการที่บอสเนียจะแยกตัวจากยูโกสลาเวียนั้นเสมือนเป็นการ "ดึงบอสเนียลงสู่ขุมนรก" และในบทสัมภาษณ์ก็บอกว่า "ผมรู้สึกราวกับว่าประตูนรกถูกเปิดออก" สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นในบอสเนียคือความขัดแย้งยาวนาน 3 ปี ครึ่ง ที่ทำลายบอสเนียและทำให้เกิดผู้ลี้ภัยหลายล้านคน รวมถึงมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 แสนคน

อีกกรณีหนึ่งที่แมคเดอมอตต์ยกตัวอย่างคือกรณีของซีเรีย ที่มีจุดเริ่มมาจากการที่ชายคนหนึ่งผู้พ่นสีสเปรย์ต่อต้านรัฐบาลถูกจับกุม ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอำนาจนิยม พอหลังจากที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้กำลังปราบปรามชุมนุมด้วยความโหดเหี้ยมก็ทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นเรื่องของกลุ่มติดอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล ซึ่งส่วนหนึ่งของกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจในรัฐบาลบาชาร์ อัลอัสซาด เอง

แมคเดอมอตต์ระบุว่าจากการที่เขาใช้เวลาตลอด 4 ปีที่ผ่านมาในการศึกษาเรื่องความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธ ทำให้เขาเล็งเห็นว่าเมื่อมีการล้ำเส้นมาจนถึงระดับที่ความเจ็บแค้นทั้งที่เพิ่งเกิดขึ้นและมีมานานแล้วปรากฏให้เห็น พลวัตทางการเมืองจะอาจจะเปลี่ยนตรรกะในตัวมันเองกลายเป็นความรุนแรงที่มีการใช้อาวุธต่อสู้กัน จนอาจจะส่งผลขยายไปเป็นการขาดเสถียรภาพในระดับภูมิภาคใกล้เคียงประเทศเหล่านั้นได้ และการต่อสู้ด้วยอาวุธอาจจะยาวนานไปเป็นทศวรรษ

แมคเคอมอตต์มองว่าการใช้กำลังปราบปราม จับกุมคุมขัง และสังหาร ประชาชนนับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารในวันที่ 1 ก.พ. จนถึงตอนนี้นั้นไม่ทำให้คนรุ่นใหม่ในพม่ายอมตกอยู่ภายใต้การปกครองโดยการนำของทหารได้ง่ายๆ อีกต่อไป พวกเขาเคยมีการเมืองที่ค่อนข้างมีเสรีภาพอยู่บ้างก่อนหน้านี้ การปราบปรามพวกเขาด้วยความรุนแรงอย่างหนักที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยเผชิญมาจะไม่ทำให้พวกเขายอมรับที่จะกลับไปอยู่ในสภาพดั้งเดิมแบบที่เคยเป็น

ในขณะที่นักวิเคราะห์ยังคงถกเถียงกันว่าสาเหตุใดกองทัพพม่าถึงยึดอำนาจในครั้งนี้ (หรือกระทั่งว่ากองทัพพม่ายึดอำนาจโดยไม่ได้มีเหตุผลใดๆ ทั้งนั้น) ทั้งที่กองทัพพม่าได้รับการรับรองว่าจะมีอำนาจอยู่ต่อไปอยู่แล้วจากรัฐธรรมนูญปี 2553 ที่ทหารเป็นผู้ร่าง และถึงแม้พรรคเอ็นแอลดีจะชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปีที่แล้วแต่ตำแหน่งการนำของกองทัพก็จะยังคงไม่สั่นคลอน ทั้งนี้อองซานซูจียังมักจะถูกวิจารณ์ว่าใกล้ชิดกับกองทัพพม่ามากเกินไปในช่วงสิบปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ กองทัพพม่ายังก่อเหตุโหดเหี้ยมต่อผู้ประท้วงและกลุ่มกบฏชนกลุ่มน้อยมาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งได้รับการบันทึกเอาไว้อย่างดี เช่นเดียวกับเผด็จการอำนาจนิยมแบบอื่นๆ กองทัพพม่ามองว่าตัวเองเป็นเสมือน "ผู้คุ้มครองประเทศชาติ" และมักจะใช้โวหารต่อต้านอาณานิคมที่พ้นสมัยไปแล้วมาใช้เพื่ออ้างความชอบธรรมให้กับการครอบงำประเทศของตนเอง

มีการตั้งข้อสังเกตว่าถึงแม้จะมีการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมที่ดูเหมือนจะได้ผล แต่ก็มีจำนวนของตำรวจและทหารพม่าที่เริ่มแปรพักตร์จากฝ่ายกองทัพ บางส่วนถึงขั้นเข้าร่วมกับขบวนการของผู้ประท้วง แมคเคอมอตต์ระบุว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ชวนให้นึกถึงตอนที่เจ้าหน้าที่ของซีเรียแปรพักตร์ไปเข้าร่วมกับฝ่ายผู้ชุมนุมต่อต้านอัสซาดในช่วงปี 2554-2555 ถึงแม้ว่าการแปรพักตร์นี้ยังไม่ถึงขั้นแพร่กระจายไปทั่วในพม่า แต่ถ้าหากมีการแปรพักตร์เช่นนี้เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางของวิกฤตการณ์นี้ได้

สิ่งที่ทำให้พม่าเหมือนกับยูโกสลาเวียในอดีตคือการที่พม่ามีกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพมาอย่างยาวนานในหลายพื้นที่ ในขณะที่กองทัพพม่าควบคุมการสู้รบของกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ได้หลายกลุ่มแต่ก็ไม่สามารถเอาชนะได้อย่างราบคาบ ในขณะที่กองทัพพม่ากำลังวุ่นอยู่กับการพยายามปราบปรามการประท้วงในพื้นที่ส่วนกลาง กลุ่มผู้นำกองกำลังกบฏในพื้นที่รอบนอกก็เล็งหาโอกาสในการรุกคืบต้านรัฐบาลกลาง รวมถึงหาโอกาสเข้าถึงประชาคมนานาชาติในช่วงที่ชื่อเสียงของรัฐบาลพม่ากำลังถดถอย อย่างไรก็ตามกลุ่มอย่างอาระกันอาร์มีกลับจะใช้โอกาสนี้ในการสร้างความเชื่อมั่นกับกองทัพพม่าเพื่อการเจรจาในอนาคต

ความขัดแย้งในครั้งนี้ยังดึงความสนใจจากประเทศอื่นๆ จากการที่มีเหจุการณ์โจมตีโรงงานที่มีจีนเป็นเจ้าของ ทำให้จีนหันมาสนใจความขัดแย้งนี้ ซึ่งมีโอกาสที่คู่แข่งของจีนอย่างสหรัฐฯ หรืออินเดีย จะหาอะไรมาคัดง้างถ้าหากจีนเข้ามามีส่วนร่วมในแบบที่มีนัยสำคัญ แต่เผด็จการทหารพม่าก็มีประวัติคอยสกัดกั้นการเข้ามามีส่วนของต่างชาติอยู่เสมอ แม้กระทั่งงานบรรเทาทุกข์จากองค์กรต่างประเทศในช่วงที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กิสปี 2551 นอกจากนี้ยังเคยปิดประเทศไปเกือบ 50 ปีก่อนหน้านี้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศชะงักงันและประเทศไม่พัฒนา

สิ่งที่เผด็จการพม่าคล้ายกับไทยคือการที่ชนชั้นนำพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ต่างชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตกการเข้ามามีส่วนร่วมเกี่ยวกับเรื่องภายในของประเทศ ทำให้เป็นการลดโอกาสที่จะมีการเจรจาหารือกันระหว่างสองฝ่าย ประเทศอาเซียนอื่นๆ ถ้าไม่เป็นประเทศอำนาจนิยมอยู่แล้วก็ไม่มีอำนาจมากพอจะส่งผลอะไรต่อการเมืองพม่าและคิดว่าตัวเองคงไม่ได้อะไรมากจากการเข้าไปยุ่งกับวิกฤตที่ซับซ้อน อีกทั้งกรณีกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนนี้มีเกิดขึ้นในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรัฐบาลประเทศสมาชิกอาเซียนไม่มีใครที่จะส่งเสริมกบฏเหล่านี้

แมคเดอมอตต์วิเคราะห์ว่าเมื่อไม่สามารถพึ่งพิงต่างชาติในการเข้ามาไกล่เกลี่ยสถานการณ์ก็ทำให้ไม่มีทางเลือกอื่นในการแก้วิกฤตที่ต้องเกิดขึ้นจากภายใต้พม่าเท่านั้น อองซานซูจีที่มีความคุ้นเคยกับคนระดับสูงในกองทัพและได้รับการยอมรับจากนานาชาติน่าจะเป็นคนที่เหมาะสมที่สุดในการเจรจาไกล่เกลี่ยยุติวิกฤต แต่ในวิกฤตครั้งหลังสุดนี้กองทัพมองว่าอองซานซูจีเป็นภัยต่อการใช้อำนาจครอบงำของพวกเขา จึงยากที่จะเห็นการปล่อยตัวอองซานซูจีเว้นแต่จะมีการกดดันจากจีน หรือจากขบวนการประท้วงที่มีโอกาสจะกลายเป็นการลุกฮือด้วยอาวุธในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

เมื่อพิจารณาจากประเทศที่เคยเป็นเผด็จการอย่างหนักแล้วสามารถจัดระบบที่มีการประนีประนอมระหว่างพรรคฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายทหารได้ชั่วคราว แต่การรัฐประหารก็ทำลายการประนีประนอมที่เคยมีหมดสิ้นเช่นนี้ จะกลายเป็นว่ากองทัพพม่าได้ "เปิดประตูนรก" เช่นเดียวกับบอสเนีย หรือซีเรียหรือไม่

แมคเดอมอตต์มองว่ามันอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะสรุปฟันธงในเรื่องนี้เพราะอาจจะมีกลุ่มคนที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิกฤตนี้ไปในอีกทิศทางหนึ่ง แต่เมื่อพิจารณาจากระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้วก็มีโอกาสที่วิกฤตจะขยายตัวในระดับบอสเนียหรือซีเรีย จากการที่ขบวนการประท้วงดำเนินแนวทางสุดโต่งมากขึ้นเพราะถูกปราบปรามด้วยความรุนแรงสูงขึ้นเรื่อยๆ ความขัดแย้งเช่นนี้อาจจะทำให้เกิดผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลหลายล้านคน รวมถึงผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ รวมถึงทำให้ประเทศพินาศย่อยยับทั้งเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

แมคเดอมอตต์บอกว่าความเป็นไปได้ที่จะลดระดับความตึงเครียดลงจากฝ่ายต่างๆ ในพม่า คือการปล่อยตัวอองซานซูจี หรือให้กองทัพพม่าใช่วิธีการเจรจาหารือกับผู้ประท้วงกรณีที่มีแรงกดดันมากพอจากภายนอก ถึงแม้ว่ากองทัพพม่าจะยังคงใช้กำลังต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งการประท้วงถูกบดขยี้ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถบดขยี้ความตั้งใจและการฟื้นคืนตัวเองของฝ่ายต่อต้านเผด็จการได้ ถ้าหากปล่อยให้วิกฤตนี้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะส่งผลเป็นการสู้รบระดับหายนะและกระทบต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด


เรียบเรียงจาก
Have the Gates of Hell Been Opened Upon Myanmar?, The Diplomat, 22-03-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net