สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 19-25 มี.ค. 2564

ก.แรงงาน จับมือ กมธ.แรงงาน จัดรับฟังความเห็น แก้ร่าง ก.ม. เพื่อแรงงานนอกระบบ ก่อนชงเข้าครม.-สภา

25 มี.ค. 2564 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ร่วมรู้ ร่วมส่งเสริม “ร่างกฎหมายเพื่อแรงงานนอกระบบ” เพื่อสร้างการรับรู้ รับฟังข้อเสนอแนะและร่วมกันพิจารณาผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ...รองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบให้ดียิ่งขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมสัมมนา จำนวน 300 คน ทั้งภาพรัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่เกี่ยวข้องด้านแรงงานนอกระบบ และแรงงานนอกระบบ

นายสุชาติ กล่าวว่า ตนให้ความสำคัญกับแรงงานทุกกลุ่มรวมถึงแรงงานนอกระบบ โดยพร้อมให้การดูแลเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือเป็นส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้เร่งจัดทำร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ เพื่อให้เหมาะสมและทันต่อการสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งจากการระบาดของโรคโควิด-19 การเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่ส่งผลต่อการจ้างงานผ่านออนไลน์ ซึ่งสภาพการจ้างงานยังไม่มีความชัดเจน เป็นการจ้างงานรูปแบบใหม่ที่เราต้องศึกษา ควบคุม และดูแลต่อไป จากนี้จะมีการรวบรวมความเห็น ข้อเสนอแนะจากการสัมมนาวันนี้ ไปขับเคลื่อนกฎหมายก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการกฤษฎีกา และรัฐสภา เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ต่อไป

น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเชิงนโยบายและกฎหมายแรงงานและโฆษกคณะกรรมาธิการการแรงงาน กล่าวว่า โครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ร่วมรู้ ร่วมส่งเสริม “ร่างกฎหมายเพื่อแรงงานนอกระบบ” ในวันนี้ จัดขึ้นโดย คณะกรรมการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับกระทรวงแรงงาน เพื่อส่งเสริมการสร้างการรับรู้ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ... และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวร่วมกัน

ที่มา: เดลินิวส์, 25/3/2564

'ม.33 เรารักกัน' วันแรก เงินสะพัด 11,441 ล้านบาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงโครงการ ม.33 เรารักกัน หลังโอนเงินงวดแรก 1,000 บาท ว่ามีผู้กดเข้าร่วมโครงการ จำนวน 5,720,967 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของผู้ได้รับสิทธิ มีเงินเข้าสู่ระบบและเกิดประโยชน์แก่แรงงาน 5,720,967,000 บาท มีการซื้อขายสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจระยะสั้นคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 11,441 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นวันแรกในการโอนเงิน จึงได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมติดตามสถานการณ์และรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบ ภาพรวมยังไม่พบปัญหาใดๆ ส่วนงวดถัดไปจะโอนตามลำดับ คือ งวดที่ 2 วันที่ 29 มี.ค. งวดที่ 3 วันที่ 5 เม.ย. และงวดที่ 4 วันที่ 12 เม.ย. จนครบ 4,000 บาท ซึ่งผู้มีสิทธิสามารถใช้เงินซื้อสินค้าและบริการจนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2564

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับการตรวจสอบสถานะผู้ได้รับสิทธิผ่านทาง www.ม33เรารักกัน.com และกดยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" จนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2564 หากตรวจสอบแล้วไม่มีสิทธิ จะต้องรีบทบทวนสิทธิ ตั้งแต่วันที่ 15-28 มี.ค. 2564 กลุ่มแรก ผู้ยังไม่ได้ลงทะเบียนมาก่อน กับชื่อ นามสกุลผิด ให้ทบทวนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com กลุ่มที่ 2 ผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน ลงทะเบียนแล้วแต่ระบบแจ้งว่าไม่ได้อยู่ในมาตรา 33 ต้องไปทบทวนสิทธิที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศตั้งแต่เวลา 08.30-17.00 น.ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ โดยให้นำบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ดมาด้วย

นายสุชาติ กล่าวว่าโครงการ ม.33 เรารักกัน วงเงิน 4,000 บาท ดูเหมือนไม่มาก แต่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานได้ในการใช้จ่ายสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวันผ่านร้านค้าที่ร่วมรายการ รวมถึงช่วยพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย หาบเร่ แผงลอยได้ด้วย ก็จะเกิดเงินหมุนเวียนในหลายรอบและส่งผลทำให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวตามมา

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 22/3/2564

สวนดุสิตโพลเผยปัญหา 'ตกงาน' เป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยในวันนี้

21 มี.ค. 2564 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ตกงาน” ปัญหาใหญ่ของคนไทย ณ วันนี้ กลุ่มตัวอย่าง 1,155 คน สำรวจวันที่ 15-18 มีนาคม 2564 พบว่า ตั้งแต่มีโควิด-19 ประชาชนใช้จ่ายเรื่องสุขภาพเพิ่มขึ้น ร้อยละ 38.65 แต่เงินออมลดลง ร้อยละ 47.10 เมื่อต้องใช้เงินฉุกเฉินจะนำเงินเก็บส่วนตัวออกมาใช้ ร้อยละ 55.23 โดยมองว่าสถานการณ์ “ตกงาน” ณ วันนี้ ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ร้อยละ 65.94 จึงอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาโดยให้มีการฝึกอาชีพ สร้างอาชีพเสริมให้กับประชาชน ร้อยละ 56.66

ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังมีโควิด-19 ตัวเลขการตกงานของคนไทยก็ไม่ได้อยู่ในสภาวะที่สบายใจได้เท่าใดนัก เมื่อ โควิด-19 เข้ามาจึงเป็นเหมือนตัวเร่งให้ยอดคนตกงานพุ่งสูงขึ้น แรงงานอีกหลายส่วนก็ยังอยู่ในสถานะที่ไม่รู้ว่าจะยื้อไปได้อีกนานแค่ไหน ปัญหาตกงานจึงเป็นปัญหาใหญ่ของคนไทย ณ วันนี้ และควรจะต้องเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลด้วยเช่นกัน เพราะหากมุ่งแก้เฉพาะปัญหาการเมือง สุดท้ายแล้วเศรษฐกิจไทยจะหลับลึกและไม่ตื่นก็เป็นได้

นายประศาสน์ นิยม อาจารย์ประจำหลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า ในปี 2563 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยลดลงถึงร้อยละ 6.6 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบร้อยละ 0.9 เป็นผลมาจากการที่ประชาชนมีรายได้ ชั่วโมงการทำงาน และค่าล่วงเวลาลดลง จำเป็นต้องใช้เงินออมเพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์ป้องกันโรคระบาด มีการก่อหนี้บัตรเครดิตมากขึ้น จากข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐแสดงให้เห็นว่า คนไทยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14 ล้านคน มีรายได้ไม่เกิน 2,500 บาทต่อเดือน รวมทั้งคนไทยที่มียอดเงินฝาก ไม่เกิน 50,000 บาท สูงถึงร้อยละ 86.6 ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งหมด สิ่งเหล่านี้ล้วนบ่งชี้ให้เห็นถึงระดับรายได้และเงินออมของคนไทยส่วนใหญ่ต่ำมาก ปัจจุบันมีผู้ว่างงานจำนวน 650,000 คน คิดเป็นร้อยละ 1.69 ของกำลังแรงงานมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปีก่อน

ดังนั้น ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาชนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างงานและพัฒนาทักษะใหม่ เช่น การพัฒนาระบบ อี-คอมเมิร์ซ และระบบโลจิสติกส์ที่เป็นของคนไทย การส่งเสริมการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า มอเตอร์ และแบตเตอรี่ การเกษตรปลอดภัยและอาหารสุขภาพ โดรนทางการเกษตร การติดตั้งโซล่าเซลล์ทั้งภาคในเมืองและภาคการเกษตร เป็นต้น

ที่มา: ไทยโพสต์, 21/3/2564

ก.แรงงาน แจ้งคนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ หลังสวีเดนเก็บภาษีทำงานระยะสั้นแรงงานต่างชาติ เพิ่ม 25%

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่ากระทรวงแรงงานได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศ ว่า รัฐสภาสวีเดนมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2563 เรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการเก็บภาษีแรงงานต่างชาติ Special income tax (SINK tax) ส่งผลให้คนงานที่จะเดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในสวีเดน ฤดูกาลปี 2021 โดยผ่านการจ้างงานจากบริษัทนายจ้าง ต้องชำระภาษีประมาณร้อยละ 25 ของรายได้ตามกฎหมาย หากมีระยะเวลาทำงานไม่เกิน 183 วันต่อปี ซึ่งจากประมาณการรายได้ขั้นต่ำคงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายและหักภาษี สรุปได้ว่าคนงานจะมีรายได้คงเหลือประมาณ 13,237.50 – 31,156.50 บาท

"นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้นำรัฐบาล และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าตามฤดูกาลเป็นอย่างมาก และได้กำชับให้กระทรวงแรงงานเตรียมการรองรับต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการเก็บภาษีแรงงานต่างชาติของสวีเดน เนื่องจากที่ผ่านมาแรงงานกลุ่มดังกล่าว ถือว่าเป็นผู้ที่สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทย โดยปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าสวีเดน จำนวน 3,040 คน สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้ถึง 475,760,000 บาท" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน ขานรับข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น เร่งเตรียมการรองรับต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการเก็บภาษีแรงงานต่างชาติของสวีเดน เบื้องต้นได้สั่งการเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานทั้งในกรุงเทพมหานครและทุกจังหวัดทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงกฎหมายการเก็บภาษีแรงงานต่างชาติของสวีเดน พร้อมมีหนังสือถึงบริษัทนายจ้างที่จะพาลูกจ้างไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในสวีเดนเพื่อแจ้งข้อมูลการเปลี่ยนแปลง และกำหนดให้บริษัทนายจ้างแจ้งข้อมูลดังกล่าว แก่ลูกจ้างอย่างเคร่งครัด เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายของคนงานจะลดน้อยลงกว่าปีที่ผ่านมา โดยกรมการจัดหางานได้คำนวณรายได้ขั้นต่ำสำหรับฤดูกาลปี 2021 ว่าแรงงานไทยจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 23,500 โครนาสวีเดน ต่อเดือน คิดเป็นเงินไทยจำนวน 85,070 บาท หักค่าใช้จ่ายในสวีเดน ได้แก่ ค่าที่พัก ค่าอาหารวันละ 3 มื้อ และค่าเช่ารถ ประมาณ 195 – 250 โครนาสวีเดนต่อวัน รวมทั้งค่าน้ำมันรถ เฉลี่ย 500 โครนาสวีเดนต่อสัปดาห์ต่อคน ซึ่งหลังหักค่าใช้จ่ายและหักภาษีร้อยละ 25 แล้ว หากมีระยะเวลาทำงาน 3 เดือน สรุปได้ว่าคนงานจะมีรายได้คงเหลือประมาณ 13,237.50 – 31,156.50 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 8 มี.ค. 2564: 1 โครนาสวีเดน เท่ากับ 3.62 บาท)

“อย่างไรก็ดี นอกจากประเทศสวีเดนแล้ว กรมการจัดหางานยังมีการจัดส่งแรงงานไทยเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ด้วย หลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมผลไม้ป่าของฟินแลนด์ได้พึ่งพาแรงงานต่างชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะแรงงานไทย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 90 ของแรงงานต่างชาติทั้งหมด สำหรับปี 2564 บริษัทรับซื้อผลไม้ป่าฟินแลนด์ยังคงต้องการคนงานไทยเป็นจำนวนมาก” โดยลงทะเบียนแสดงความต้องการแรงงานไทยกับกระทรวงการจ้างงานฟินแลนด์ แล้วจำนวน 8,703 คน และขณะนี้สำนักงานภาษีฟินแลนด์ (Finnish Tax Authority) ให้ข้อมูลว่า ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบหรือกฎหมายการจัดเก็บภาษีต่อคนงานเก็บผลไม้ป่าหรือคนงานที่เป็นฝ่ายสนับสนุนในแคมป์ผลไม้ป่าในฤดูกาลปี 2564

แต่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยสถานะทางกฎหมายของชาวต่างชาติที่มาเก็บเกี่ยวผลผลิตทางธรรมชาติภายใต้หลัก Freedom to Roam ซึ่งหากมีพัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะแจ้งให้ทราบต่อไป ทั้งนี้กรมการจัดหางานจะพิจารณาโควตาในปี 2564 อย่างเหมาะสม เพื่อมิให้เกิดปัญหาการแย่งงานเก็บผลไม้ป่า คนหางานไทยมีโอกาสในการมีงานทำ และมีรายได้จากการเก็บผลไม้ป่าในอัตราที่พึงพอใจ รวมทั้งการดูแลแรงงานไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นไปอย่างปลอดภัยที่สุด” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวทั้งนี้หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ โทรศัพท์ 0 2245 6708 ในวันและเวลาราชการ หรือติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 20/3/2564

ก.แรงงาน-พม. ไม่เห็นด้วยปรับสูตรคำนวณค่าแรงจ้างคนพิการเข้าทำงาน ตามที่ ส.อ.ท.ยื่นเสนอ หวั่นลิดรอนสิทธิ

ในการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้านแรงงานครั้งที่ 1/2564 ที่ผ่านมานั้น ได้มีการหารือตามที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่เสนอให้ใช้จำนวนวันทำงานจริงที่ 313 วัน แทนที่จะใช้การคำนวณจากจำนวนวัน 365 วัน และในการคำนวณการส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งปรากฏว่าได้กลายเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงภาระค่าใช้จ่ายและความรับผิดชอบที่แท้จริงของผู้ประกอบการต่อการจ้างแรงงานคนพิการตามพระราชบัญญัตินี้

แต่ในการประชุมครั้งล่าสุดนั้นแม้จะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่มีตัวแทนจากหลายหน่วยงานที่แสดงความเห็น “ไม่เห็นด้วย” กับข้อเสนอของ ส.อ.ท. เนื่องจากมองว่าตามข้อเสนอนั้นถือเป็นการ “ลิดรอนสิทธิ” ของผู้พิการ และยังส่งผลต่อรายได้ที่หายไป โดยเงินที่มีการนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ไม่ได้นำเงินจ่ายให้กับผู้พิการโดยตรง แต่กองทุนนำเงินไปพัฒนาเรื่องชีวิตคนพิการ ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้จะต้องดำเนินการเพื่อศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้มีหนังสือไปยัง ส.อ.ท. โดยพิจารณาว่า ข้อเสนอของ ส.อ.ท.เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการ ต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นผู้ออกกฎ ที่สำคัญ ได้ส่งเรื่องนี้ให้กับกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว

“กฎกระทรวงได้กำหนดไว้ว่า หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการมิได้รับคนพิการเข้าทำงาน ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยคำนวณจากอัตราต่ำสุดของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ 313 บาท คูณด้วย 365 วัน และคูณจำนวนคนพิการที่ไม่ได้รับเข้าทำงาน จะอยู่ที่ประมาณ 114,245 บาทต่อคนต่อปี แต่ปัญหาคือ ปัจจุบันภาพรวมการจ้างคนพิการเข้ามาทำงานยังค่อนข้างน้อย รวมกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทำให้จำนวนจ้างงานคนพิการยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในที่ประชุมยังได้รายงานการจ้างงานคนพิการในปี 2563 ที่ผ่านมา นายจ้างที่ต้องจ้างคนพิการมีสถานประกอบการอยู่ที่ 14,911 แห่ง ต้องจ้างงานคนพิการอีกรวม 86,733 คน แบ่งเป็นการจ้างงานในมาตรา 33 อยู่ที่ 40,579 คน การส่งเงินเข้ากองทุนในมาตรา 34 รวม 13,368 คน และมาตรา 35 รวม 14,028 คน หรือรวมทั้งสิ้น 67,975 คน

ตามข้อมูลการจ้างงานคนพิการแล้วเรียบร้อยที่ 78.37% และต้องมีสถานประกอบการที่ต้องจ้างเพิ่มอีก 21.63%เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมามีการจ้างงานคนพิการในภาคเอกชน คิดเป็น 78% ในขณะที่ก่อนหน้านี้ เช่น ในปี 2562 มีการจ้างงานคนพิการที่ 98% และในปี 2561 มีการจ้างงานคนพิการสูงถึง 101%

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 19/3/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท