ภาคีนักเรียนสื่อประณามสมาคมวิชาชีพ ไม่ยืนหยัดเพื่อสิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยของสื่อ

ภาคีนักเรียนสื่อเข้าพบและยื่นแถลงการณ์ต่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยืนยันการชุมนุมเป็นเสรีภาพ ประณามสมาคมวิชาชีพปัดความรับผิดชอบให้สื่อภาคสนาม เรียกร้อง กสทช. ให้ดำเนินงานอย่างโปร่งใส ไม่ครอบงำสื่อ และให้รัฐแสดงความรับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุม ขณะที่ตัวแทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยชี้แจงว่าที่ไม่ได้ประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ เพราะเห็นไม่ชัดว่าใครยิง มีเจตนาหรือไม่

25 มี.ค. 2564 นิสิตรีคอเดอร์ - Nisit Recorder รายงานว่า เวลา 16.00 น. ภาคีนักเรียนสื่อ ประกอบด้วยตัวแทนนิสิตนักศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เข้ายื่นหนังสือแถลงการณ์ภาคีนักเรียนสื่อ เรื่อง เรียกร้องการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยของสื่อมวลชน ในการรายงานข่าวการชุมนุม ต่อสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

เบื้องต้นตัวแทนภาคีนักเรียนสื่ออ่านแถลงการณ์ตามลำดับ มีสาระสำคัญดังนี้

ข้อหนึ่ง เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองเพื่อแสดงออกอย่างสันติย่อมได้รับการรับรองในสังคมประชาธิปไตย การสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง ส่งผลให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ จึงขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว และยืนยันในหลักการข้างต้นให้ประชาชนรับทราบเสมอ

ข้อสอง ขอประณามองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน อันได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ที่ไม่ยืนหยัดเพื่อสิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยของสื่อมวลชนภาคสนาม

ข้อสาม ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ส่งเสริมให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวการชุมนุมทางการเมืองได้อย่างหลากหลาย ตรงไปตรงมา ทันต่อเหตุการณ์ และโดยปราศจากการครอบงำ

ข้อสี่ ขอเรียกร้องให้รัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แสดงความรับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุม และพึงปฏิบัติต่อสื่อมวลชนด้วยความเคารพในเสรีภาพในการรายงานข่าว

ภาคีนักเรียนสื่อยื่นแถลงการณ์แก่ตัวแทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ภาคีนักเรียนสื่อยื่นแถลงการณ์แก่ตัวแทนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

เวลา 16.38 น. ภายหลังตัวแทนภาคีอ่านแถลงการณ์เสร็จ ตัวแทนสมาคมนักข่าวฯ กล่าวตอบรับ ชื่นชม และเห็นด้วยกับหลักการในแถลงการณ์บางประการ เช่น การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้สื่อข่าว แต่ในแถลงการณ์ยังมีข้อมูลคลาดเคลื่อนอยู่ ซึ่งตัวแทนสมาคมนักข่าวได้อธิบายดังนี้

ในประเด็นการเปรียบเทียบการเสนอข่าวลุงพลที่องค์กรสื่อได้ออกแถลงการณ์ประณามและกรณีการใช้กระสุนยางเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ท่ีผ่านมานั้น ในกรณีของลุงพลเราสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่าใครเป็นผู้กระทำ-ผู้ถูกกระทำ แต่กรณีการยิงกระสุนยางในการชุมนุม เห็นได้ไม่ชัดว่าใครเป็นคนยิง เจ้าหน้าที่ตำรวจเจตนายิงผู้สื่อข่าวจริงหรือไม่

ส่วนในประเด็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้สื่อข่าวที่สืบเนื่องจากการใช้กระสุนยาง ตัวแทนจากสมาคมนักข่าวฯ ชี้แจงว่า ผู้ก่อเหตุฝ่ายตำรวจอาจไม่ได้มาจากฝ่ายนโยบาย แต่อาจมาจากตำรวจบางนาย เช่นเดียวกับผู้ก่อเหตุฝ่ายผู้ชุมนุมก็อาจมาจากผู้ชุมนุมเพียงบางรายหรือมือที่สาม ดังนั้น การนำเสนอข่าวจึงต้องพิจารณาถึงบริบทให้ครบถ้วนรอบด้าน

สำหรับการเสนอข่าวข้อเท็จจริง ตัวแทนจากสมาคมนักข่าวเห็นด้วยว่าสื่อมวลชนควรนำเสนอข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย อาจนำเสนอเท่ากันทั้งสองฝ่าย เพื่อปกป้องผู้ชุมนุมและให้ความเป็นธรรมกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ นอกจากนี้ ตัวแทนสมาคมนักข่าวฯ ยังให้ข้อสังเกตว่า การชุมนุมควรดำรงอยู่ในรูปแบบอารยะสันติวิธี ซึ่งจะเป็นเกราะกำบังมิให้ฝ่ายรัฐใช้กำลังความรุนแรง คำนึงถึงความปลอดภัย

ต่อมาเวลา 16.56 น. เลขาธิการสมาคมนักข่าวฯ และอุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ ชื่นชมภาคีนักเรียนสื่อในฐานะความหวังขององค์กรวิชาชีพที่มุ่งมั่นตรวจสอบวิชาชีพและสังคม และได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในกรณีการขอพื้นที่ปลอดภัยในการรายงานข่าว สมาคมนักข่าวฯ มีความพยายามหาทางออกกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลว่า แม้ตำรวจจะปฏิบัติหน้าที่ แต่สื่อมวลชนต้องสามารถทำงานได้ทุกสำนักและในทุกพื้นที่ และทางสมาคมจะไม่ขอรับปลอกแขนสื่อที่จัดทำโดยตำรวจให้ผู้สื่อข่าวโดยเฉพาะ

ตัวแทนจากสหภาพแรงงานผู้สื่อข่าวชี้แจงต่อว่า ในข้อสามของแถลงการณ์องค์กรวิชาชีพสื่อจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มี.ค. นั้น เป็นบรรทัดฐานปฏิบัติสากลอยู่แล้ว ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อไม่ปลอดภัยแล้วจะทำข่าวไม่ได้ แต่ทีมข่าวนั้นจะต้องวางแผนการทำข่าวในสนามนั้นล่วงหน้า ประเมินสถานการณ์ และบริหารความเสี่ยงให้ได้ องค์กรวิชาชีพทำได้แค่ส่งเสียงเตือนและเน้นย้ำมาตรฐานความปลอดภัยเท่านั้น

ในช่วงการพูดคุย ตัวแทนภาคีนักเรียนสื่อสอบถามเกี่ยวกับการใช้เสื้อเกราะป้องกันความปลอดภัย สมาคมนักข่าวฯ ชี้แจงว่า เสื้อเกราะถือเป็นยุทธภัณฑ์ที่ถูกห้ามมิให้ใช้ในราชอาณาจักร เว้นแต่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีความพยายามที่จะต่อรองกับหน่วยงานด้านความมั่นคงให้อนุโลมมาหลายครั้งหลายปี แต่ไม่เคยได้รับอนุญาต อย่างไรก็ดี ในตอนนี้ทางสมาคมก็ยังคงพยายามขออนุญาตอยู่ตลอด

ท้ายที่สุด ภาคีนักเรียนสื่อเน้นย้ำว่า อะไรที่ผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ต้องเสนอกันอย่างตรงไปตรงมา การออกมาเรียกร้องนี้ไม่ใช่สร้างความเกลียดชัง แต่เพื่อถ่วงดุลเพื่อให้เกิดการแก้ไขพัฒนา และทั้งภาคีนักเรียนสื่อและสมามคมนักข่าวฯ ก็จะติดต่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันต่อไปในอนาคตข้างหน้า พร้อมทั้งยืนยันถึงหลักการความปลอดภัยในความปลอดภัยของสื่อมวลชนร่วมกัน

แถลงการณ์ภาคีนักเรียนสื่อ

เรื่อง เรียกร้องการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยของสื่อมวลชน ในการรายงานข่าวการชุมนุม

สืบเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม Restart Democracy - ประชาชนสร้างตัว หรือ รีเด็ม (REDEM) ที่บริเวณท้องสนามหลวง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2564 โดยเป็นการชุมนุมอย่างสันติ และมีข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น ได้ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าตำรวจใช้กำลังอาวุธ เช่น กระบอง แก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำแรงดันสูง และกระสุนยาง เข้าสลายการชุมนุม ส่งผลให้ประชาชน สื่อมวลชน ผู้ประกาศข่าว ช่างภาพ รวมถึงบุคคลในบริเวณใกล้เคียงที่ไม่ได้เป็นผู้ร่วมชุมนุม ต่างได้รับความเสียหาย ทั้งทางร่างกายและทรัพย์สินจากการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 3 คน ที่อยู่ระหว่างการรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ชุมนุม ได้รับบาดเจ็บจากการยิงกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้แก่

1. ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ ผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกกระสุนยางจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้าที่บริเวณหลังขณะถ่ายทอดสด รายงานสถานการณ์ตำรวจใช้กําลังปราบปรามการชุมนุมที่ปากซอยข้าวสาร

2. พนิตนาฏ พรหมบังเกิด ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่องแปด ถูกกระสุนยางจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้าที่บริเวณ เหนือขมับด้านขวา ขณะกำลังยืนปฏิบัติหน้าที่บริเวณแยกคอกวัว

3. ธัญญลักษณ์ วรรณโคตร ผู้สื่อข่าว ข่าวสดออนไลน์ ถูกกระสุนยางจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ยิงแฉลบเข้าที่ขาอ่อนข้างซ้าย ขณะกำลังยืนปฏิบัติหน้าที่บริเวณแยกคอกวัว

แม้ว่าผู้สื่อข่าวเหล่านั้นจะมีสัญลักษณ์แสดงตนชัดเจนว่าเป็นสื่อมวลชนภาคสนามก็ตาม ทั้งนี้ยังไม่ปรากฏว่ามีสื่อมวลชนเข้าแทรกแซงหรือ ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าว จึงถือเป็นการคุกคามสิทธิ เสรีภาพเเละสวัสดิภาพของสื่อมวลชนโดยภาครัฐ ทั้งยังขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 35 ความว่า “บคุคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ”

ภาคีนักเรียนสื่อ อันประกอบด้วยสมาชิกจากสถาบันการศึกษา 5 แห่ง มีความกังวลใจอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ดังกล่าวและไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในการปิดกั้นและขัดขวางการทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงของสื่อมวลชน รวมถึงทำให้สื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บซึ่งเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง จึงขอเรียกร้องต่อภาครัฐและองค์กรสื่อสารมวลชนทุกแขนง ดังนี้

1. เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองเพื่อแสดงออกอย่างสันติย่อมได้รับการรับรองในสังคมประชาธิปไตย การสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง ส่งผลให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ ทั้งยังขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคี ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ด้วยเหตุนี้ จึงขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวและยืนยันในหลักการข้างต้นให้ประชาชนรับทราบเสมอ เพื่อรักษาสิทธิและสวัสดิภาพของผู้ชุมุนมทางการเมือง สื่อมวลชน และองค์กรสื่อเอง โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวภาคสนามที่จะต้องทำหน้าที่ภายใต้ความรุนแรงและเสี่ยงอันตรายจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ

เราต้องตั้งหลักกันที่ “เสรีภาพการชุมนุม เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน” ในขณะเดียวกันก็เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสื่อมวลชน ที่มีหน้าที่รายงานข่าวด้วยข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นไม่สามารถมาใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของผู้ชุมนุม จนก่อให้เกิดความเสียหายของประชาชน และสื่อมวลชน ถ้าหากจะอ้างว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้พลุระเบิด พกอาวุธ ใช้ความรุนแรงจริง เจ้าหน้าที่รัฐต้องจัดการเฉพาะบุคคล ไม่ใช่อ้างเหตุผลนี้ แล้วมาสลายการชุมนุม หรือไล่จับคนทั้งหมด รัฐต้องจัดการโดยคำนึงถึงสัดส่วน หรือเรียกว่า ‘Limited Government’ ซึ่งหมายถึง รัฐมีอำนาจอย่างจำกัด ประชาชนทั้งหลายมีสิทธิเหนือร่างกาย และทรัพย์สินของตัวเอง

หากแต่เราจะเห็นว่าเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2564 ผบช.น. อ้างว่า เหตุผลในการเข้าสลายการชุมนุม มีการแจ้งเตือนผู้ชุมนุมแล้ว แต่ผู้ชุมนุมไม่ฟังจึงเข้ากระชับพื้นที่ ซึ่งใช่ว่าจะใช้รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา กระสุนยางกับผู้ชุมนุมได้ตามอำเภอใจ ตามหลักสากลเราก็ต้องคํานึงถึง สิทธิเสรีภาพ และความปลอดภัยของผู้ชุมนุม และสื่อมวลชนภาคสนามเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ สื่อมวลชนแต่ละสำนักควรยืนอยู่บนหลักการเสรีภาพขั้นพื้นฐาน หากแต่สื่อกระแสหลักส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญที่จำนวนผู้ถูกจับ จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ เยาวชนที่โดนจับไปมีใครบ้าง สื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บมีเท่าไหร่ ซึ่งมันเป็นสิ่งสําคัญ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการรายงานจำนวนผู้ถูกใช้ความรุนแรง คือ สื่อต้องยืนยันในเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน แล้วยิ่งถ้าสมาคมนักข่าวฯ ออกแถลงการณ์มา ในข้อ 1 ที่ระบุว่า การชุมนุมของประชาชนกลุ่มต่างๆ หากเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากการยั่วยุ อาวุธ และการใช้ความรุนแรง ย่อมเป็น สิทธิที่สามารถกระทําได้ตามระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน และองค์กรสื่อมวลชนที่ต้องยืนยันในหลักนิติธรรม (The Rule of Law)

ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ เมื่อลองดูในแถลงการณ์ของสมาคมที่ออกไว้วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2564 ข้อ 2 ระบุ การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ ตำรวจควรดำเนินการเป็นขั้นตอน โดยก่อนปฏิบัติต้องแจ้งให้ผู้ชุมนุม รวมทั้งสื่อมวลชนทราบ เพื่อหลีกเลี่ยง แต่ทำไมทางสมาคมไม่มีท่าทีการประณามเรียกร้องเอาผิดเหมือนกรณีลุงพลทำร้ายนักข่าว หรือนี่กำลังสะท้อนภาพองค์กรสื่อมวลชนว่า ให้ความสำคัญกับกรณีลุงพลมากกว่าการที่เจ้าหน้าที่รัฐทำผิดหลักสิทธิมนุษยชนกับประชาชน

มันอาจจะทำให้เราต้องมานั่งย้อนคิดกันว่า อุดมการณ์การทํางานของสื่อมวลชนคืออะไร เราทำงานเพื่อใคร เชื่อว่านี่เป็นสิ่งที่ทุกคนในสมาคมนักข่าวฯ ล้วนรู้ดี เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทํางานเพื่อประชาชน คือเราต้องยืนยันในหลักการสิทธิเสรีภาพของประชาชน ที่ประชาชนควรรับรู้ เช่น ในสถานการณ์เปราะบางแบบนี้ สื่อต้องทํามากกว่าการรายงานข่าวเหตุการณ์ แต่ต้องมองไปถึงอะไรที่มันอยู่ข้างหลัง อะไรที่ประชาชนควรรับรู้ เช่น สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการชุมนุม หรือหลักการสากลต่าง ๆ ที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในตัวบุคคล

นอกจากนี้ จึงอยากให้สมาคมนักข่าวฯ ตรวจสอบการทำงานของหนังสือพิมพ์ กรณีมีการพาดหัวข่าวในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2564 อย่างเช่น หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ที่พาดหัวข่าวว่า “ม็อบ ‘ทอน’ เถื่อน” ซึ่งเป็นการพาดหัวข่าวที่เกินไปกว่าข้อเท็จจริง และภาพในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐหน้าหนึ่งที่ปรากฎภาพผู้ชุมนุมกระโดดถีบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งที่ในสถานการณ์จริงเป็นการช่วยเหลือผู้ชุมนุมอีกคนที่โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจรุมใช้ความรุนแรง ทั้งนี้อาจทำให้เกิดการสื่อสารคลาดเคลื่อน ถ้าหากนี่คือการรายงานข่าวสารที่ยึดโยงกับเสรีภาพของประชาชน เพราะฉะนั้นก็เป็นสิทธิของประชาชนที่จะได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง

หากเราจะอ้างอิง Code of conduct มาเพื่ออธิบายการพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ และรูปในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เราจะยกข้อ Accuracy & Truth คือ คุณสมบัติของการรายงานข่าวที่สําคัญ โดยเฉพาะการนำเสนอเฉพาะข้อเท็จจริง และนำเสนอจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือที่สุด ไม่มีอคติกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในกรณีนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการพาดหัวข่าวแบบนั้น อาจเป็นการใส่อคติกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเต็มกำลัง

ยังรวมถึง Accountability and Transparency ที่สื่อมวลชนจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านกฎหมาย และจริยธรรม พร้อมรับผิดในข้อผิดพลาด และแก้ไขอย่างรวดเร็วการดำเนินงานที่เปิดเผย ตรงไปตรงมา ประชาชนสามารถเข้าถึง และได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี เป็นธรรม ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ และหลัก Balance & Fairness คือเปิดให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในข่าวได้พูด ได้แสดงความเห็น เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะพูด มันคือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ส่วน Fairness คือสื่อมวลชนต้องเป็นธรรมต่อความเข้าใจ ของพลเมือง เป็นธรรมต่อการรับรู้ของประชาชน ข้อมูลถูกต้องไม่เอนเอียงไปตามความต้องการของผู้เขียนข่าวนี้

สุดท้ายนี้ ทางภาคีนักเรียนสื่อขอยืนยันว่า เราไม่ได้ต้องการสื่อที่เข้าข้างอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง เราไม่ได้ต้องการสื่อที่เป็นกลาง หากแต่เราต้องการสื่อที่รายงานตามข้อเท็จจริงอย่างเป็นธรรมและตามหลักการประชาธิปไตย

2. ขอประณามองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน อันได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่ าววิทยุและโทรทัศน์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าว ออนไลน์ และสหภาพ แรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ที่ไม่ยืนหยัดเพื่อสิทธิ เสรีภาพ และความปลอดภัยของสื่อมวลชนภาคสนาม

จากแถลงการณ์ขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกดังกล่าวข้างต้น เรื่อง “การปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ชุมนุม จนทุกฝ่ายได้รับบาดเจ็บ ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุม และสื่อมวลชนที่รายงานข่าว” ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2564 นั้น เบื้องต้นในแถลงการณ์ข้อ 1และ ข้อ 2 องค์กรวิชาชีพสื่อได้ยืนยันสิทธิในการเคลื่อนไหวของประชาชน และข้อควรปฎิบัติของเจ้าหน้าที่ในการสลายการชุมนุมตามขั้นตอนสากล ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรวิชาชีพสื่อพึงกระทำ แต่ในแถลงการณ์ข้อ 3 ใจความว่า ผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่ปฎิบัติงานต้องปฎิบัติตาม แนวปฎิบัติการายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤติโดยเคร่งครัด และข้อ 4 ใจความว่า สื่อมวลชนต้นสังกัดต้องร่วมประเมินสถานการณ์ให้ผู้สื่อข่าวและช่างภาพในพื้นที่ได้รับความปลอดภัย รวมถึงเน้นย้ำให้บุคลากรรับและใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวอยู่ตลอดเวลา

ทั้งสองข้อในแถลงการณ์ย่อมเป็นการปัดความรับผิดชอบให้แก่ผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่ลงพื้นที่ปฎิบัติหน้าที่สื่อ ดังนี้

จากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2564 มีผู้สื่อข่าวถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่หลัง ท้ายทอย และขาอ่อน ทั้งที่ผู้สื่อข่าวทั้งหมดสวมปลอกแขนสัญลักษณ์สื่อมวลชนชัดเจน ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางใส่สื่อที่สวมปลอกแขนสื่อแล้ว จึงเป็นสถานการณ์ที่ผู้สื่อข่าวในพื้นที่และองค์กรณ์สื่อไม่สามารถประเมินล่วงหน้าได้ในสถานการณ์จริง ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างทันท่วงที และอยู่เหนือการควบคุม

องค์กรวิชาชีพสื่อไม่ส่งเสียงประนามต่อการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ ที่ใช้ความรุนแรงต่อสื่อมวลชนแม้จะใส่ ปลอกแขนวิชาชีพอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนพึงกระทำ ทั้งที่ผู้ทำงานสื่อในพื้นที่จริงได้รับบาดเจ็บต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างร้ายแรง จึงขอให้องค์กรวิชาชีพสื่อฯ พึงตระหนักว่า การใส่ปลอกแขนแสดงสัญลักษณ์วิชาชีพไม่สามารถเป็นเครื่องมือป้องกันความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวได้อย่างที่เคยประกาศ สิ่งที่องค์กรวิชาชีพสื่อฯ ควรทำต้องเป็นการประนามเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงกับสื่อ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐออกมารับผิดชอบต่อผู้ประกอบวิชาชีพสื่อและมีมาตรการเยียวยาผู้สื่อข่าวที่ได้รับบาดเจ็บอย่างเหมาะสม

องค์กรวิชาชีพสื่อฯ ไม่สามารถประกาศให้ผู้สื่อข่าวและองค์กรสื่อระมัดระวังตัว หรือพก/ใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวได้ เพราะเป็นการผลักภาระไปยังผู้สื่อข่าว และปฎิเสธความรับผิดชอบในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อฯ ที่ควรปกป้องคุ้มครองสิทธิในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ทำงานสื่อ

องค์กรวิชาชีพสื่อฯ ไม่ควรเสนอวิธีแก้ไขปัญหาว่า ผู้สื่อข่าวและช่างภาพควรปฎิบัติตาม “แนวปฎิบัติการรายงานข่าว ช่วงสถานการณ์วิกฤติ” อย่างเคร่งครัด เพราะเป็นวิธีแก้ไขที่ไม่ตรงจุด นับเป็นการบีบพื้นที่สิทธิเสรีภาพของผู้สื่อข่าว ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 35 วรรค 1 ความว่า “บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพ ในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ” และพึงตระหนักว่าเสรีภาพของสื่อ ย่อมเท่ากับเสรีภาพในการรับรู้ของประชาชนด้วยเช่นกัน

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ควรส่งเสริมให้สื่อมีเสรีภาพ และสามารถทำหน้าที่ตามผลประโยชน์ของสาธารณชน ตามบัญทึกเจตนารมณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ โดยสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ หนึ่งในองค์กรสมาชิก ความว่า “สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ อันเป็นองค์กรอิสระ ขึ้นมาทำหน้าที่ควบคุมกันเองในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ เพื่อส่งเสริมเสรีภาพ ความรับผิดชอบ ยกระดับผู้ประกอบวิชาชีพและ กิจการหนังสือพิมพ์ และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย”

3. ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ส่งเสริมให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวการชุมนุมทางการเมืองได้อย่างหลากหลาย ตรงไปตรงมา ทันต่อเหตุการณ์ และโดยปราศจากการครอบงำ เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญและส่งผลต่อสวัสดิภาพของพลเมืองโดยตรง สื่อมวลชนจึงมีพันธกิจในการรายงานข้อเท็จจริง และให้พื้นที่แก่ข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมอย่างเพียงพอ จึงขอความร่วมมือให้บุคลากรของสำนักข่าวทุกแขนง รวมถึงประชาชน ร่วมกันตรวจสอบกวดขันว่าการดำเนินงานของ กสทช. เป็นไปอย่างโปร่งใสและเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่

ทางภาคีนักเรียนสื่อจะขอยกกรณีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญามีคำสั่งปิดช่องทางออนไลน์ของสำนักข่าว Voice TV นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยังยื่นคำร้องให้ศาลสั่งระงับช่องทางการเผยแพร่ข่าวของประชาไท, The reporter, The standard และเพจเยาวชนปลดแอก-Freeyouth แต่เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2563 ศาลได้ตัดสินยกฟ้อง เนื่องจากเจตนารมณ์ของกฎหมายคุ้มครองเรื่องการแสดงออก ความคิดเห็น มิใช่มุ่งประสงค์ปิดช่องทาง ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 35 และมาตรา 36 บัญญัติห้ามรัฐปิดสื่อมวลชนเพื่อลิดรอนเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และ กสทช. ยังเคยมีการหารือร่วมกันในประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสมผ่านอินเทอร์เน็ต หมิ่นสถาบัน ตาม ม.112 โดยการตีความการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ก็ต้องให้สอดคล้องกับบทรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วย เจตนารมณ์กฎหมายจึงย่อมมุ่งหมายให้ศาลห้ามเฉพาะข้อมูลและข้อความที่เป็นความผิดเท่านั้น และให้ยกเลิกคําสั่งเดิมของศาลที่เคยสั่งระงับช่องทางการเผยแพร่ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ในคดีนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ ผู้ร้องให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่แสดงให้ชัดเจนว่าเป็นการขอปิดสื่อทั้งช่องทาง ทำให้ศาลไม่รู้ข้อเท็จจริงอันถูกต้อง และเข้าใจว่าเป็นการปิดกั้นเฉพาะเนื้อหาบางส่วนที่คัดนำเสนอต่อศาล

ภาคีนักเรียนสื่อ ขอเน้นย้ำว่า กสทช. จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบและชี้แจงเมื่อการดำเนินการใดๆ จึงขอความร่วมมือให้บุคลากรของสำนักข่าวทุกแขนง รวมถึงประชาชน ร่วมกันตรวจสอบกวดขันว่าการดำเนินงานของ กสทช. เป็นไปอย่างโปร่งใสและเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่ บทบาทหน้าที่ของ กสทช. มีอำนาจและหน้าที่ในการหารือกับองค์กรที่ควบคุมและเกี่ยวข้องสื่อ อีกทั้งควรตระหนักถึงสิทธิ เสรีภาพในการนำเสนอและการรายงานข่าว

4. ขอเรียกร้องให้รัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แสดงความรับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุม และพึงปฏิบัติต่อสื่อมวลชนด้วยความเคารพในเสรีภาพการรายงานข่าว เนื่องจากสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนมีค่าเท่ากับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกคน สื่อมวลชนจึงต้องมีเสรีภาพในการทำหน้าที่นำเสนอข้อเท็จจริง และต้องได้รับความคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่รัฐในทุกกรณี กรณีผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมจึงเป็นเรื่องที่ต้องไม่เกิดขึ้นอีก

ทางภาคีนักเรียนสื่อ ขอยกตัวอย่างกรณีที่ผู้สื่อข่าวถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังในการควบคุมตัวและได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม ขณะปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน

หนึ่ง เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563 กลุ่มเคลื่อนไหวประชาธิปไตย “คณะราษฎร” นัดหมายชุมนุมที่แยกปทุมวัน นายกิตติ พันธภาค ผู้สื่อข่าวประชาไท เข้าปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนโดยมีป้ายห้อยคอเเละปลอกเเขนที่บ่งบอกว่าเป็นสื่อมวลชนอย่างชัดเจน ขณะที่นายกิตติเดินเข้าไปบริเวณเเนวกั้นระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับผู้ชุมนุม ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการจะรายงานว่าสถานการณ์การชุมนุม ณ ขณะนั้นเป็นอย่างไร เจ้าหน้าที่ก็เดินเท้าเคลื่อนเข้ามา เมื่อเห็นเจ้าหน้าที่เดินเข้ามาพร้อมกับบอกไม่ให้ถ่าย จึงถามว่า แล้วจะให้ไปถ่ายได้ตรงจุดไหนบ้าง แต่เจ้าหน้าที่ก็เข้ามาควบคุมตัวเลย และถูกจับขึ้นรถผู้ต้องขัง ก่อนที่จะพาตัวไปที่ สน.ปทุมวัน โดยภายในรถมีกลุ่มผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัวมาด้วยอีก 2 คน แต่ไม่ทราบว่าชื่ออะไร ก่อนจะถูกนำตัวมาที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ทำการสอบสวน แล้วแจ้งข้อกล่าวหาว่า ฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ม.368 ก่อนที่จะปรับเป็นเงินสดจำนวน 300 บาท ก่อนที่จะปล่อยตัวออกมา

สอง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 นายบัญชา จันทร์สมบูรณ์ นักข่าวหนังสือพิมพ์แนวหน้า ถูกควบคุมตัวขณะปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน รายงานข่าวการสลายการชุมนุมที่บริเวณใกล้ สน.ดินแดง ไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 โดยในเบื้องต้น ถูกแจ้งข้อหาเดียวกันกับผู้ชุมนุม เเต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน หลังจากการประสานงานว่าเป็นสื่อมวลชน เพื่อปล่อยตัวตามขั้นตอน

สาม เมื่อวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 3 คน ได้รับบาดเจ็บจากการยิงกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน การรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ชุมนุม ดังที่กล่าวไปเเล้วข้างต้น

ภาคีนักเรียนสื่อขอเน้นย้ำว่า การชุมนุมเป็นกิจกรรมที่กระทำได้และถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเสรีภาพในการชุมนุมนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และย่อมต้องได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สื่อจึงมีพันธกิจสำคัญในการรายงานข้อเท็จจริงเเละสาระสำคัญของการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน เพื่อเปิดพื้นที่ให้สังคมได้สร้างความเข้าใจ ลดการปะทะทางอารมณ์ซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนเเรง

การที่รัฐบาลเเละสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกมาตราการการสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนเเรง ส่งผลให้ประชาชนและสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีตั้งแต่ พ.ศ. 2540 นอกจากนี้ยังเป็นการพยายามขัดขวางพันธกิจสำคัญของสื่อมวลชนในการปกป้องเสรีภาพการเเสดงออกของประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและย่อมต้องได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ดังที่กล่าวไปข้างต้น

ภาคีนักเรียนสื่อขอแสดงความห่วงใยต่อผู้สื่อข่าวภาคสนาม ช่างภาพ และบุคลากรขององค์กรสื่อมวลชนทุกสำนักทุกแขนง ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรค แรงกดดัน และความอันตรายในการนำเสนอข่าวการชุมนุมทางการเมือง ขอแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียทั้งทางร่ายกาย จิตใจ และทรัพย์สินของสื่อมวลชนทุกคน อันเนื่องมาจากเหตุสลายการชุมนุม

ทั้งนี้ ภาคีนักเรียนสื่อหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จดหมายข้อเรียกร้องจากภาคีนักเรียนสื่อ สืบเนื่องมาจากแถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งเผยแพร่ทางช่องทางสื่อสารออนไลน์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2564 จะทำให้องค์กรวิชาชีพสื่อเเละสื่อมวลชนตระหนักถึงบทบาทสำคัญของสื่อ เพราะหากวันนี้เราเอาเเต่ติดอยู่กับข้อจำกัด เเล้วเราจะมองเห็นความเป็นไปได้ที่สื่อจะน้อมนำสังคมได้อย่างไร

เราหวังว่าสื่อมวลชนจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้ส่งต่อข้อเท็จจริงได้อย่างเป็นอิสระ ถูกต้องเหมาะสมตามกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรมและสาธารณประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ เพราะว่าข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วน รอบด้าน และเป็นธรรม คือพื้นฐานของกระบวนการสันติวิธีที่สื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการสร้างให้เกิดขึ้นได้

ภาคีนักเรียนสื่อ

ตัวแทนนิสิตนักศึกษา จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร นิเทศศาสตร์ วารสารคอนเวอร์เจนซ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร วิทยาการสื่อสาร นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท