Skip to main content
sharethis

ศบค. แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 80 ราย สะสม 28,657 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย สะสม 93 ราย - สธ.แจงลดกักตัวเหลือ 10 วัน เริ่ม 1 เม.ย. เว้น 10 ประเทศแอฟริกา

27 มี.ค. 2564 ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่าศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย มียอดผู้ป่วยประจำวัน ดังนี้

ติดเชื้อในประเทศ 73 ราย
ติดเชื้อจากต่างประเทศ 7 ราย
รักษาหายเพิ่มขึ้น 104 ราย
กลับบ้านแล้ว 27,136 ราย
อยู่ระหว่างรักษาตัว 1,428 ราย
มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 93 ศพ
ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 28,657 ราย นับเป็นรายที่ 28,578 - 28,657
ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 116 ของโลก

ผู้ติดเชื้อ 80 รายใหม่ แบ่งเป็นดังนี้
ผู้ป่วยรายใหม่ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 41 ราย
ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 32 ราย
ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้า State Quarantine 7 ราย

สธ.แจงลดกักตัวเหลือ 10 วัน เริ่ม 1 เม.ย. เว้น 10 ประเทศแอฟริกา

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2564 สำนักข่าวไทย รายงานว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย ถือว่าควบคุมโรคได้ดี มีการปิดโรงพยาบาลสนามไปแล้วหลายพื้นที่ ขณะที่ทั่วโลกเริ่มพบการติดเชื้อมากขึ้น เช่นเดียวกับการรับวัคซีน คาดว่าสาเหตุมาจากการละเลยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และการหมั่นล้างมือ ส่วนในไทย ปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนสะสม ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-25 มี.ค.64 รวม 136,190 โดส แยกเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 121,392 คน และเข็มที่ 2 จำนวน 14,798 คน ในจำนวนนี้มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงที่ได้รับการยืนยันจากคณะผู้เชี่ยวชาญแล้ว 2 คน ว่าแพ้วัคซีน ได้แก่ รายที่ 1 เพศหญิง อายุ 26 ปี จ.สมุทรสาคร มีประวัติแพ้กุ้งและแพ้ไรฝุ่น หลังฉีดวัคซีนประมาณ 10 นาที มีผื่นแดงคันบริเวณที่ฉีด และศีรษะแดงร้อนบริเวณหูและใบหน้า หูและตาบวมเล็กน้อย ต่อมามีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อตัว เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ใจสั่น หายใจไม่สะดวก ได้รับยาเข้าทางหลอดเลือดดำ และพักสังเกตอาการที่ห้องฉุกเฉินประมาณ 4 ชั่วโมง อาการดีขึ้น กลับบ้านได้

ส่วนรายที่ 2 เพศหญิง อายุ 30 ปี จ.ราชบุรี ปฏิเสธประวัติโรคประจำตัวและประวัติแพ้ยาหรือแพ้อาหาร หลังฉีด 30 นาที มีผื่นนูนแดงขึ้นบริเวณคอ หลัง แขน หน้าอก คันทั้งตัว รู้สึกว่าหน้าบวม คลื่นไส้แต่ไม่อาเจียน จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ จุกแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อย ได้รับยาเข้าทางหลอดเลือดดำ รับไว้สังเกตอาการที่โรงพยาบาล 1 คืน อาการดีขึ้น กลับบ้านได้

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนแผนการกระจายและฉีดวัคซีน ระยะแรกเดือน มี.ค. ได้กระจายวัคซีนไปยัง 13 จังหวัด ฉีดได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ช่วงแรก กทม.อาจฉีดต่ำกว่าเป้าหมาย แต่หลังจากนี้จะดีขึ้น โดยดึงภาคเอกชนมาร่วมช่วยในการฉีด ซึ่งในเดือน มี.ค. มีวัคซีนประมาณ 300,000 โดส ซิโนแวค 200,000 โดส และแอสตราเซเนกา 100,000 โดส แต่เป้าหมายจริงๆ อยู่ที่ 200,000 โดส ตอนนี้เกือบครบ 200,000 โดสแล้ว ส่วนเดือน เม.ย. จะมีวัคซีนจำนวน 800,000 โดส แต่เป้าหมายเราจะฉีด 500,000 โดส เนื่องจากต้องกันไว้ครึ่งหนึ่งสำหรับฉีดอีกเข็มหนึ่ง ส่วนเดือน พ.ค. จะได้รับวัคซีนจากซิโนแวคอีก 1 ล้านโดส เดือน มิ.ย. จะมีวัคซีนทั้งของซิโนแวคและแอสตราฯ อีก 6 ล้านโดส สำหรับเดือน ก.ค. มีอีก 10 ล้านโดส

นพ.โอภาส กล่าวว่าสำหรับมาตรการลดวันกักตัว จาก 14 วัน เหลือ 10 วัน โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทย ตามประกาศ ศบค.ที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.64 มีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากบางพื้นที่ต้นทางที่มีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ (สายพันธุ์แอฟริกาใต้) และอาจมีผลกับการควบคุมโรค ยังคงต้องมีการกักตัว 14 วันเหมือนเดิม เช่น 10 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ได้แก่ สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ สาธารณรัฐซิมบับเว สาธารณรัฐโมซัมบิก สาธารณรัฐบอตสวานา สาธารณรัฐแซมเบีย สาธารณรัฐเคนยา สาธารณรัฐรวันดา สาธารณรัฐแคเมอรูน สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และสาธารณรัฐกานา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net