Skip to main content
sharethis

พรรคเพื่อไทยจัดเสวนา 'วิกฤตเศรษฐกิจ หลังรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ ประเทศไทยจะไปต่ออย่างไร' เปิด 3 กับดัก ศก. หลังการแก้ รธน. 2560 ถูกคว่ำ ทำประเทศเสี่ยงล่มสลาย - ชำแหละ 3 เสาค้ำเผด็จการ ชี้เป้าเขย่าพรรคร่วมรัฐบาลจุดตายสืบทอดอำนาจ

'เพื่อไทย' เปิด 3 กับดัก ศก. หลังการแก้ รธน. 2560 ถูกคว่ำ ทำประเทศเสี่ยงล่มสลาย

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2564 พรรคเพื่อไทยจัดเสวนา “วิกฤตเศรษฐกิจ หลังรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ ประเทศไทยจะไปต่ออย่างไร ?” โดยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่ารู้สึกผิดหวังและสิ้นหวังกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก หลังกระบวนการที่นำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกคว่ำโดยรัฐบาล แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มองว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นปัญหาต่อประเทศ ทั้งที่ในความเป็นจริงการไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้ประเทศเสื่อมลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่วิกฤตอยู่แล้วยิ่งวิกฤตหนักขึ้น เพราะขาดผู้นำที่มีความรู้ความสามารถ

นายพิชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การที่ประเทศไทยยังต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 จะทำให้ประเทศไทยติดกับดักเศรษฐกิจ 3 ด้าน ได้แก่

1. คนไทยจะไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารประเทศ เพราะรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่แต่งตั้งโดย คสช.โหวตเลือกนายกฯได้ พลเอกประยุทธ์ มีหลักคิดการบริหารที่ผิดมาโดยตลอด กู้เงินมาใช้มากกว่าลงทุนและยังใช้จ่ายไม่คุ้มค่า ทั้งที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ออกมาเตือนแล้วว่าการจัดสรรงบประมาณปี 2565 ที่มีงบลงทุนต่ำกว่าเงินกู้ชดเชยงบประมาณแบบขาดดุล (เงินกู้) นั้นมีความเสี่ยงสูง หากการเงินรัฐบาลล้ม อาจทำให้ประเทศล่มสลายได้ นอกจากนี้เมื่อเปิดดูการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 พบว่าลดลงจากปี 2564 ที่ 5.66% (ลดลง 1.8 แสนล้านบาท) ซึ่งในความเป็นจริงการจัดทำงบประมาณต้องไม่ลดลงจากปีก่อนหน้า แต่รัฐบาลสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้แต่กลับไม่ดำเนินการ เช่น งบประมาณความมั่นคงที่ซ่อนอยู่ ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการเพียงรักษาความนิยมให้คงอยู่ด้วยการแจกเงิน แต่ไม่ลงทุนให้เกิดความเชื่อมั่น การลงทุนจึงน้อยลงและผลตอบแทนการลงทุนในประเทศลดลงตามไปด้วย ทำให้เงินทุนไหลออกไปยังต่างประเทศ ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า กระทบต่อผู้นำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักรซึ่งทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น

2. การมีอยู่ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้ประเทศไทยขาดบุคคลที่มีความรู้ความสามารถด้านเศรษฐกิจมาแก้ไขปัญหาปากท้องของคนไทย โดยหลังจากที่พลเอกประยุทธ์ ปลดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออก ได้แต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีความรู้ความสามารถด้านการเงินการคลังมารับตำแหน่งแทน ทั้งที่ขณะนี้โครงสร้างเงินออมของไทยกำลังมีปัญหา เพราะมีเพียงเศรษฐีที่มีเงินในโครงสร้างเงินออมสูง แต่ประชาชนส่วนใหญ่มีหนี้สินสูง ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาในอนาคต การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุดทำให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ทำไปเพื่อรักษาสมดุลในพรรคเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาประเทศ

3. ประเทศไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นจากต่างชาติกลับมาได้ นับตั้งแต่การที่พลเอกประยุทธ์ เข้าหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของเมียนมา หรือการส่งข้าวสารให้กับเมียนมาท่ามกลางสถานการณ์รัฐประหารที่มีความรุนแรงเข่นฆ่าประชาชนด้วยกระสุนจริง มีการเผยแพร่ข่าวไปทั่วโลก หลายประเทศทยอยคว่ำบาตรเมียนมา ส่วนอินโดนีเซียและมาเลเซียประณามการกระทำรุนแรงในเมียนมา แต่ผู้นำไทยกลับกระทำการที่สวนทางนานาชาติ จึงมีความกังวลว่าประเทศไทยอาจจะถูกคว่ำบาตรในอนาคตด้วย ประเทศไทยจะสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันทางการค้าลง จนในที่สุดจะทำการค้ากับต่างประเทศไม่ได้ จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในสังคมกดดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ต่อไป เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

ขณะที่นายวิโรจน์ อาลี นักวิชาการอิสระ กล่าวว่าเศรษฐกิจประเทศขณะนี้ จะเห็นว่าเจ้าสัวที่ใกล้ชิดรัฐบาลมีรายได้สูงขึ้นในขณะที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น จึงกังวลเรื่องทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว การส่งออกไม่ประสบความสำเร็จ การลงทุนไม่ได้รับการตอบสนองจากต่างชาติ ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการพัฒนาแรงงานมารองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปสินค้าต่างๆ ที่มีแนวโน้มเข้าสู่ระบบเทคโนโลยี หรือ ที่เรียกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ซึ่งหากยังทำเพื่อรักษาอำนาจให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เศรษฐกิจไม่สามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้แน่นอน

ชำแหละ 3 เสาค้ำเผด็จการ ชี้เป้าเขย่าพรรคร่วมรัฐบาลจุดตายสืบทอดอำนาจ

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี ชี้ให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญมีผลต่อทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคมทั้งหมด หากการเมืองมีปัญหา เมื่อรัฐบาลไม่เข้มแข็ง สังคมและเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ซึ่งรัฐธรรมนูญปัจจุบัน หลายคนก็บอกตรงกันว่าเขียนมาเพื่อสืบทอดอำนาจพลเอกประยุทธ์ แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือคนที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้สืบทอดอำนาจกลับไร้ความสามารถ เมื่อเราพิจารณาโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญจะเห็นได้ว่าเสาที่พยุงอำนาจคุณประยุทธ์ อยู่จะมีที่สำคัญ อยู่ 3 เสา คือ

1. ส.ว.250 คน ที่ คสช.เป็นผู้เลือกมาทั้งหมด ซึ่งเป็นตัวพยุงสำคัญของรัฐบาลนี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่เป็นกลางทางการเมือง แต่พลเอกประยุทธ์ ก็กระทำการขัดรัฐธรรมนูญด้วยการตั้งคนใกล้ชิดของตัวเอง คนในรัฐบาล คสช. ขณะนั้นมาเป็นกรรมการสรรหา ส.ว. ซึ่งไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง

2. องค์กรอิสระ กับ ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เห็นความสำคัญ ที่จะเป็นเสาหลักในการทำให้รัฐบาลอยู่หรือไป ดังนั้นจึงระบุในรัฐธรรมนูญว่า ที่มาขององค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องผ่านความเห็นชอบของ ส.ว.

3. พรรคร่วมรัฐบาล ที่เป็นเสาค้ำยันรัฐบาลประยุทธ์ที่สำคัญ หากพรรคร่วมรัฐบาลไม่อยู่ในรัฐบาลต่อไป พลเอกประยุทธ์ก็อยู่ไม่ได้

ขณะนี้ประชาชนรู้สึกว่า ถ้าพลเอกประยุทธ์อยู่ต่อไปประเทศไทยจะไม่มีอนาคต ดังนั้นจึงต้องทำให้เสาค้ำยันรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ต้องหลุดออกไป เพียงเสาใดเสาหนึ่งรัฐบาลก็แย่แล้ว โดยเฉพาะเสาค้ำยันที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งประชาชนสามารถบอกไปยังพรรคการเมืองเหล่านี้ได้ว่าอย่าอยู่ค้ำยันให้รัฐบาลนี้ต่อไป เพราะประชาชนทนไม่ไหวแล้ว ทั้งสองพรรคก็จะอยู่ค้ำยันให้รัฐบาลต่อไปได้ยาก พี่น้องประชาชนต้องบอกให้ชัดว่าพรรคการเมืองไหน ที่ คสช.ตั้งขึ้นมา พรรคไหนจะมาเป็นเสาค้ำยันให้ คสช. ประชาชนจะไม่เลือกพรรคการเมืองนั้น ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ ต่อให้มี 250 ส.ว.อยู่ พลเอกประยุทธ์ ก็ไม่มีทางกลับมาได้อีก


ที่มาเรียบเรียงจาก เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย [1] [2]
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net