เปิดหนังสือ 'ก้าวไกล' โต้สำนักการประชุมสภา ยันแก้ ม.112 สอดคล้องประชาธิปไตย - คุ้มครองประมุขให้ได้สัดส่วน

‘พิธา’ โต้สำนักการประชุมสภา ยันก้าวไกลเสนอแก้ ม.112 สอดคล้องประชาธิปไตย- คุ้มครองประมุขให้ได้สัดส่วน “ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ”

 

27 มี.ค.2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟสบุ้คส่วนตัวระบุว่า หลังจากที่พรรคก้าวไกลเสนอชุดร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน 5 ฉบับเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ทางกลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ 1 สำนักการประชุม สภาผู้แทนราษฎร ได้ทำหนังสือบันทึกข้อความมายังพรรคก้าวไกลว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อให้มีการยกเว้นความผิดและการยกเว้นโทษต่อความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์นั้น “เป็นการขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา 6” ซึ่งบัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

“วันนี้ (25 มีนาคม 2564) พรรคก้าวไกลยืนยันยื่นร่าง พ.ร.บ ฉบับเดิมเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และได้ทำหนังสือตอบกลับความเห็นดังกล่าวเพื่อชี้แจงว่า การแก้ไขมาตรา 112 โดยบัญญัติให้มีการยกเว้นความผิดและการยกเว้นโทษว่า “ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิด” และ “ความผิดฐานในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามมิให้พิสูจน์ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว แล้วแต่กรณี และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน” นั้น ไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติในมาตรา 6 แต่อย่างใด ทั้งนี้ก็เพราะบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ” นั้น มีความมุ่งหมายเพียงเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติให้แก่องค์พระมหากษัตริย์  ส่วน “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” นั้น มิได้หมายถึงการห้ามแสดงความคิดเห็นต่อองค์พระมหากษัตริย์ แต่หมายความว่า พระมหากษัตริย์ไม่อาจถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องได้ ดังที่ได้ขยายความให้ชัดเจนไว้ในบทบัญญัติมาตราเดียวกันว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”  ฉะนั้น ความเห็นของกลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ 1 จึงเป็นการตีความเกินตัวบทและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญและกฎหมายของไทย รวมทั้งไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”

พิธา ยังอธิบายต่อไปว่า ฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะขององค์พระมหากษัตริย์ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องตีความภายใต้กรอบและหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการถวายพระเกียรติในฐานะที่เป็นประมุขของรัฐในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพระองค์ทรงเป็นกลางทางการเมือง ไม่ทรงกระทำการใดในทางการเมืองและในการปกครองด้วยพระองค์เอง ตามหลัก “พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้” (The King Can Do No Wrong) ซึ่งจะทำให้องค์พระมหากษัตริย์ปลอดพ้นจากการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน 

ในแง่พัฒนาการทางกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีต้นแบบมาจากกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 98 ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ทั้งนี้ บทบัญญัติตามมาตรา 98 ร่างขึ้นมาโดยอิงจากกฎหมายของอังกฤษ ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายลักษณะนี้ของอังกฤษและประเทศอื่นที่มีระบบกษัตริย์ได้ลดน้อยลงตามพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย จนปัจจุบันไม่มีการบังคับใช้แล้วในหลายประเทศ เพราะรัฐในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ต้องมุ่งประกันเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน แม้ว่าในรัฐธรรมนูญของหลายประเทศยังมีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกับมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญไทยอยู่ก็ตาม ดังนั้น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งสืบทอดมาจากกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 98 ตั้งแต่ก่อนที่สยามจะมีรัฐธรรมนูญ จึงไม่ได้บัญญัติขึ้นมาเพื่อทำให้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ มีสภาพบังคับแต่อย่างใด  การตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามความเห็นของกลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ 1 ให้เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 จะยิ่งส่งผลให้การบังคับใช้มาตรา 112 มีลักษณะคลุมเครือและขยายความกว้างขวางเกินกรอบของฐานความผิดในกฎหมายอาญาตามปกติ นําไปสู่ความไม่แน่นอนของฐานความผิดนี้ในกระบวนการยุติธรรม

นอกจากนี้ หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ทางกฎหมายของไทย ประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบันนั้น สืบทอดและปรับปรุงมาจากกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ซึ่งตราขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์  อย่างไรก็ดี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ยังคงบังคับใช้อยู่ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 ซึ่งในระหว่างนั้นก็มีการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย  ประเด็นหนึ่งที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ใน พ.ศ. 2478 ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย คือ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 104 ให้มีบทบัญญัติยกเว้นความผิดแม้จะเป็นฐานความผิดเกี่ยวกับการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ หากเป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าว เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 อันมีบทบัญญัติตามมาตรา 3 ความว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” แล้ว 

“เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาจากทั้งบทบัญญัติ เจตนารมณ์ และประวัติศาสตร์ของกฎหมายและรัฐธรรมนูญไทยแล้ว พรรคก้าวไกลจึงเห็นว่า การแก้ไขมาตรา 112 ให้มีบทบัญญัติยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ ไม่ได้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6  การตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพื่อรักษาพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ จะต้องสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ได้สัดส่วนระหว่างการคุ้มครองประมุขของรัฐกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุ

นอกจากนี้ทีมสื่อพรรคก้าวไกล ยังเผยแพร่เอกสารหนังสือตอบกลับสำนักการประชุม กรณีเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว โดยมีเนื้อความดังนี้

 

ที่สภาผู้แทนราษฎร

ถนนสามเสน เขตดุสิต กทม. ๑๐๓๐๐

วันที่ ๒๕  มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๖๔

เรื่อง      ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท)

เรียน      ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ ๑ สำนักการประชุม สภาผู้แทนราษฎร

อ้างถึง    หนังสือบันทึกข้อความ สำนักการประชุม กลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ ๑ สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) ลงวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

ตามที่กลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ ๑ สำนักการประชุม สภาผู้แทนราษฎร ได้กรุณาทำหนังสือบันทึกข้อความมาถึง ข้าพเจ้าและคณะ เพื่อแจ้งให้ทราบว่า เจ้าหน้าที่ของกลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ ๑ ได้ตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) ที่ข้าพเจ้าและคณะได้เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔ และเห็นว่ามีข้อบกพร่อง ๔ ประการ จึงเสนอให้พิจารณาถอนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อนำมาปรับปรุงนั้น

ข้าพเจ้าและคณะได้ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอถอนร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) ไปเมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔ และได้แก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ดังนี้

๑. ตามที่แจ้งว่าบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญฯ ในหน้า ๒ มีข้อความในบรรทัดที่ ๑-๖ ซ้ำกับข้อความในหน้า ๑ บรรทัดที่ ๓๐-๓๕ นั้น ข้าพเจ้าและคณะได้ตรวจสอบและแก้ไขแล้ว

๒. ตามที่แจ้งว่ามีหน้ากระดาษเกินมา จำนวน ๑ แผ่น ข้าพเจ้าและคณะได้ตรวจสอบและแก้ไขแล้ว

๓. ตามที่แจ้งว่าบันทึกหลักการและเหตุผล ในหน้าที่ ๑ (๔) ข้อความตอนท้ายหายไป ข้าพเจ้าและคณะได้ตรวจสอบและแก้ไขแล้ว

๔. อย่างไรก็ตาม ตามที่กลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ ๑ แจ้งความเห็นว่า มาตรา ๑๓๕/๗ และมาตรา ๑๓๕/๘ แห่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ซึ่งบัญญัติว่า

มาตรา ๑๓๕/๗     ผู้ใดติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา ๑๓๕/๕ และมาตรา ๑๓๕/๖

มาตรา ๑๓๕/๘     ความผิดฐานในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

แต่ห้ามมิให้พิสูจน์ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว แล้วแต่กรณี และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖ ซึ่งบัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” จึงทำให้บทบัญญัติในมาตรา ๑๓๕/๗ และมาตรา ๑๓๕/๘ เป็นอันใช้บังคับมิได้ในส่วนที่เกี่ยวกับการยกเว้นความผิด หรือการยกเว้นโทษ ในกรณีที่มีการกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์ (ไม่รวมถึงพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) เนื่องจากจะส่งผลให้การติชม การแสดงความคิดเห็น การแสดงข้อความ และการกระทำ ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ไม่มีความผิด หากเป็นการกระทำโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือหากผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ จึงเป็นบทบัญญัติที่ทำให้พระมหากษัตริย์อาจไม่ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ หรืออาจถูกละเมิดได้นั้น

ข้าพเจ้าและคณะมีความเห็นว่า แท้จริงแล้ว ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ” นั้น มีความมุ่งหมายเพียงเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติให้แก่องค์พระมหากษัตริย์  ส่วน “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” นั้น มิได้หมายถึงการห้ามแสดงความคิดเห็นต่อองค์พระมหากษัตริย์ แต่หมายความว่า พระมหากษัตริย์ไม่อาจถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องได้ ดังที่ได้ขยายความให้ชัดเจนไว้ในบทบัญญัติมาตราเดียวกันว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”  ฉะนั้น ความเห็นของกลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ ๑ จึงเป็นการตีความเกินตัวบทและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญและกฎหมายของไทย รวมทั้งไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนี้

(๑) บทบัญญัติในลักษณะเดียวกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖ ปัจจุบัน ปรากฎขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา ๓ ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” โดยพระยามานวราชเสรี หนึ่งในคณะอนุกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้อธิบายที่มาของบทบัญญัติมาตรานี้ไว้ว่า “ญี่ปุ่นให้เกียรติยศพระเจ้าแผ่นดิน บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ก็หมายความว่าเป็นที่เคารพนั่นเอง พระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่โบราณกาลก็ได้ช่วยชาติบ้านเมืองมาตลอด ผมจึงเอามาเขียนถวายพระเกียรติไว้ในรัฐธรรมนูญ”[1]  ขณะที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะอนุกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้อธิบายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ ๓๕/๒๔๗๕ เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ว่า “คำว่าผู้ใดจะละเมิดมิได้นี้ เราหมายความว่า ใครจะไปละเมิดฟ้องร้องว่ากล่าว [องค์พระมหากษัตริย์] ไม่ได้”[2]  สอดคล้องกับคำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญของ ศ.ดร. เดือน บุนนาค และ ศ. ไพโรจน์ ชัยนาม ที่ว่า “ในประเทศซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ย่อมมีหลักอยู่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญว่า ‘พระมหากษัตริย์ย่อมเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้’ การห้ามละเมิดนี้ย่อมเป็นสิทธิพิเศษที่พระมหากษัตริย์จะถูกฟ้องในทางอาชญาไม่ได้ สำหรับประเทศเราก็ได้มีบทบัญญัติเช่นนี้ไว้ในมาตรา ๓ แห่งรัฐธรรมนูญ [๒๔๗๕]”[3]

ต่อมารัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติขยายความ “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” (มาตรา ๕) ว่า “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” (มาตรา ๖) ซึ่งในขณะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญมาตรานี้ มีผู้คัดค้านหลายคนในที่ประชุมรัฐสภาว่าบทบัญญัติเดิมอย่างในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ มาตรา ๓ ชัดเจนอยู่แล้ว[4]  ขณะที่พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขณะนั้น อธิบายในที่ประชุมรัฐสภาระหว่างพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๙๒ ว่า “สภาร่างรัฐธรรมนูญได้นำมาบัญญัติไว้ให้ชัดเจนก็มีมาตราที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องพระมหากษัตริย์มิได้ ก็เพื่อจะให้ความชัดเจน และเพื่อที่จะให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้บัญญัติกฎหมายไว้”[5]

ภายหลังได้มีการรวมบทบัญญัติดังกล่าวมาอยู่ในมาตราเดียวกัน เริ่มจากธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๑๕ (มาตรา ๔ พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้) เช่นเดียวกับในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๖ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”  ทั้งนี้ในเอกสาร ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ซึ่งเขียนโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๖๐ และจัดพิมพ์โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้อธิบายความมุ่งหมายของมาตรา ๖ ไว้ว่า เพื่อ “สืบทอดหลักการรับรองพระราชสถานะขององค์พระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของชาติ ซึ่งผู้ใดจะกล่าวหาหรือละเมิดมิได้”[6]

ดังนั้น เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ในการตราบทบัญญัติลักษณะนี้ตั้งแต่มาตรา ๓ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึงมาตรา ๖ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะเห็นว่ามาตรา ๑๓๕/๗ และ มาตรา ๑๓๕/๘ ในร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) นั้นมิได้ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของมาตรา ๖ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ แต่อย่างใด

(๒) ข้าพเจ้าและคณะขออธิบายเพิ่มเติมว่า ฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะขององค์พระมหากษัตริย์ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องตีความภายใต้กรอบและหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่สามารถตีความบทบัญญัติให้พระมหากษัตริย์มีฐานะเหมือนในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้  ดังเช่นที่ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ได้ให้คำอธิบายรัฐธรรมนูญไว้ว่า ฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นการยกย่องพระมหากษัตริย์เพราะเป็นประมุขของปวงชนชาวไทย ซึ่งการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะนั้น ย่อมเป็นการกำหนดโดยปริยายว่าพระมหากษัตริย์จะต้องอยู่เหนือการเมือง พระมหากษัตริย์จะต้องทรงเป็นกลางทางการเมือง ไม่เข้าข้างพรรคการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และโดยนัยนี้จึงต้องถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกป้องรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ เมื่อมีการกระทำสำคัญของรัฐจึงต้องมีพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ และโดยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลาง ถ้าการกระทำเช่นว่านั้นไม่ถูกต้องตามวิธีทางแห่งรัฐธรรมนูญหรือขัดแย้งต่อกฎหมาย พระมหากษัตริย์ก็ย่อมไม่พระราชทานพระปรมาภิไธย และการกระทำนั้นก็เป็นอันใช้ไม่ได้[7] 

ที่สำคัญ เพื่อที่จะให้พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ จึงมีหลักว่า “พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้” (the King can do no wrong) ซึ่งสำหรับรัฐธรรมนูญไทย เราควรถือว่า การที่พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้นั้น เพราะมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญแทนพระมหากษัตริย์  ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัยได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การอ้างว่าพระมหากษัตริย์ทรงกระทำการใดในทางการเมืองโดยพระองค์เองก็ดี การอ้างว่าทรงแนะนำให้กระทำการนั้นๆ ก็ดี ย่อมไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และพระมหากษัตริย์ย่อมทรงงดเว้นการกระทำใด ๆ โดยเปิดเผยอันอาจทำให้ประชาชนนำไปวิพากษ์วิจารณ์ได้[8]

จะเห็นได้ว่า ฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการถวายพระเกียรติในฐานะที่เป็นประมุขของรัฐในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพระองค์ไม่สามารถกระทำการใดๆ ก็ได้ตามพระราชอัธยาศัยเหมือนในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ทว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นกลางทางการเมือง ไม่ทรงกระทำการใดในทางการเมืองและในการปกครองด้วยพระองค์เอง ตามหลัก “พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้” (the King can do no wrong) ซึ่งจะทำให้องค์พระมหากษัตริย์ปลอดพ้นจากการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน  

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” จึงไม่ได้ดำรงอยู่อย่างอิสระโดยตัวเอง แต่ยึดโยงกับหลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดไม่ได้ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และดังนั้น จึงไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อห้ามมิให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์โดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังที่ก็เคยปรากฏในการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทยในอดีต

(๓) ข้าพเจ้าและคณะเห็นว่า ความเห็นของกลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ ๑ เป็นการตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ให้เชื่อมโยงกับฐานะของพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะและผู้ใดจะละเมิดมิได้ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ในความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์กฎหมายไม่ได้เกี่ยวข้องกัน  

ในแง่พัฒนาการทางกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ มีต้นแบบมาจากกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๙๘ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (“ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฏมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหษีก็ดี มกุฎราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าเจ็ดปีแลให้ปรับไม่เกินกว่าห้าพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”) ทั้งนี้ กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิรูประบบกฎหมายสมัยรัชกาลที่ ๕ ถือเป็นประมวลกฎหมายแบบรัฐสมัยใหม่ฉบับแรกของสยามตามแบบอย่างของประเทศตะวันตก โดยบทบัญญัติตามมาตรา ๙๘ ในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ และในเวลาต่อมากลายเป็นมาตรา ๑๑๒ ในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙ นั้น ร่างขึ้นมาโดยอิงจากกฎหมายของอังกฤษ[9] ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายลักษณะนี้ของอังกฤษและประเทศอื่นที่มีระบบกษัตริย์ได้ลดน้อยลงตามพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตย จนปัจจุบันไม่มีการบังคับใช้แล้วในหลายประเทศ เพราะรัฐในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ต้องมุ่งประกันเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน แม้ว่าในรัฐธรรมนูญของหลายประเทศยังมีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกับมาตรา ๖ ของรัฐธรรมนูญไทยอยู่ก็ตาม

ดังนั้น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ซึ่งสืบทอดมาจากกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๙๘ ตั้งแต่ก่อนที่สยามจะมีรัฐธรรมนูญ จึงไม่ได้บัญญัติขึ้นมาเพื่อทำให้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ มีสภาพบังคับแต่อย่างใด เพียงแต่มุ่งคุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จากการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายเท่านั้น  การตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ตามความเห็นของกลุ่มงานพระราชบัญญัติและญัตติ ๑ ให้เชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญมาตรา ๖ จะยิ่งส่งผลให้การบังคับใช้มาตรา ๑๑๒ มีลักษณะคลุมเครือและขยายความกว้างขวางเกินกรอบของฐานความผิดในกฎหมายอาญาตามปกติ นําไปสู่ความไม่แน่นอนของฐานความผิดนี้ในกระบวนการยุติธรรม

(๔) หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ทางกฎหมายของประเทศไทยแล้ว ประมวลกฎหมายอาญาในปัจจุบันนั้น สืบทอดและปรับปรุงมาจากกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ซึ่งตราขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์  อย่างไรก็ดี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ยังคงบังคับใช้อยู่ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๔๙๙ ซึ่งในระหว่างนั้นก็มีการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย  ประเด็นหนึ่งที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย คือ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๐๔ ให้มีบทบัญญัติยกเว้นความผิดแม้จะเป็นฐานความผิดเกี่ยวกับการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ หากเป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ดังนี้

ผู้ใดกระทำการให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบายอย่างใดๆ ดังต่อไปนี้

ก) ให้เกิดความดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ หรือรัฐบาล หรือข้าราชการแผ่นดินในหมู่ประชาชนก็ดี

ข) ...

ค) ...

ง) ...

ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินกว่า ๗ ปี และให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสตหนึ่ง

แต่ถ้าวาจาหรือลายลักษณ์อักษรหรือเอกสารตีพิมพ์หรืออุบายอย่างใดๆ ที่ได้กระทําไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือเพื่อสาธารณประโยชน์หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตหรือเป็นเพียงการติชมตามปกติวิสัยในบรรดาการกระทําของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดินการกระทํานั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด[10]

การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา ๑๐๔ ดังกล่าว เกิดขึ้นในขณะที่ประเทศอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ อันมีบทบัญญัติตามมาตรา ๓ ความว่า “องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” แล้ว  นั่นแสดงให้เห็นว่า บทบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ย่อมไม่ได้ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้  บทบัญญัติยกเว้นความผิดในลักษณะดังกล่าวไม่ได้ทำให้พระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะหรือละเมิดมิได้ตามรัฐธรรมนูญ  และมาตรา ๓ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ ขณะนั้น ก็ไม่ได้ทำให้บทบัญญัติตามมาตรา ๑๐๔ ของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ ที่แก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นอันใช้บังคับมิได้

เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาจากทั้งบทบัญญัติ เจตนารมณ์ และประวัติศาสตร์ของกฎหมายและรัฐธรรมนูญไทยแล้ว ข้าพเจ้าและคณะจึงเห็นว่า มาตรา ๑๓๕/๗ และมาตรา ๑๓๕/๘ แห่งร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... (แก้ไขเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท) ซึ่งเป็นบทบัญญัติยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ ไม่ได้ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๖ และรัฐธรรมนูญมาตรา ๖ ปัจจุบันก็ไม่ได้ทำให้มาตรา ๑๓๕/๗ และมาตรา ๑๓๕/๘ ของร่างพระราชบัญญัติที่ข้าพเจ้าและคณะเสนอเป็นอันใช้บังคับมิได้  การตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพื่อรักษาพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ จะต้องสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ได้สัดส่วนระหว่างการคุ้มครองประมุขของรัฐกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

(นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์)


[1] พระยามานวราชเสรี, “สนทนากับนักกฎหมาย,” วารสารกฎหมาย ปีที่ ๒, ฉบับที่ ๒ (๒๕๑๙), หน้า ๑๘๘.

[2] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๓๕/๒๔๗๕ (สมัยสามัญ) วันศุกร์ที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕, หน้า ๓๗๕ – ๓๗๖.

[3] เดือน บุนนาค และไพโรจน์ ชัยนาม, คำอธิบายกฎหมายรัฐธรรมนูญ (รวมทั้งกฎหมายเลือกตั้งด้วย) : ภาค ๒ รัฐธรรมนูญสยาม (พระนคร: นิติสาส์น, ๒๔๗๗), หน้า ๘๘.

[4] วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ (กรุงเทพฯ: นิติบรรณการ, ๒๕๓๐), หน้า ๓๒๖.

[5] รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ ๑๓/๒๔๙๒ วันศุกร์ที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๒, หน้า ๑๒๐ – ๑๒๑.

[6] สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ (กรุงเทพฯ: สำนักการพิมพ์, สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ๒๕๖๒), หน้า ๑๘๔.

[7] หยุด แสงอุทัย, คำอธิบายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑ และ ธรรมนูญการปกครงราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๑๕ ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, ๒๕๕๑), หน้า ๑๔-๑๕.

[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๖-๑๗.

[9] จิตติ ติงศภัทิย์, “ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”, ปาจารยสาร ปีที่ ๑๔, ฉบับที่ ๖ (พฤศจิกายน – ธันวาคม, ๒๕๓๐), หน้า ๓๙ – ๔๐, และ จิตติ ติงศภัทิย์, คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๒ ตอนที่ ๑ (กรุงเทพฯ: สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, ๒๕๑๔), หน้า ๙๐๖ -๙๐๗.

[10] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พุทธศักราช ๒๔๗๘ (ฉะบับที่ ๗), ราชกิจจานุเบกษา (๑๙ เมษายน, ๒๔๗๙), เล่มที่ ๕๓ หน้า ๖๑.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท