ศิริศักดิ์ ไชยเทศ: ยกเลิกกฎหมายค้าประเวณี ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของอาชีพ ‘กะหรี่’

คุณคิดอย่างไรกับอาชีพ ‘กะหรี่’ เป็นอาชีพที่ไร้ศักดิ์ศรี? ทำให้ศีลธรรมเสื่อม? ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกพรากไปจากคนคนหนึ่งเมื่อก้าวเข้าสู่อาชีพพนักงานบริการหรือ? สังคมที่วางอยู่บนฐานคิดด้านศีลธรรมอย่างแน่นหนาย่อมไม่อยากมีที่ทางให้อาชีพนี้ เราจึงแกล้งปิดตาข้างหนึ่ง และปล่อยให้มีการละเมิดและแสวงหาประโยชน์ ถึงเวลายกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 แล้วหรือยัง?

  • พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ทำให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์จากพนักงานบริการโดยเจ้าหน้าที่รัฐ สถานบริการ และลูกค้า โดยที่พนักงานบริการไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้
  • ควรยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 โดยไม่ต้องมีกฎหมายใดเพิ่มเติมมากำกับตีตรา ทำให้อาชีพพนักงานบริการเป็นอาชีพที่ ‘ไม่ผิดกฎหมาย’ และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานทั่วไป
  • สังคมไทยไม่พร้อมกับเรื่องนี้เพราะยังมีความเชื่อ ความเข้าใจผิด และมายาคติต่ออาชีพพนักงานบริการ
  • ประเด็นอาชีพพนักงานบริการต้องคิดฐานของสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่บนฐานของศีลธรรม

คุณคิดอย่างไรกับอาชีพ ‘กะหรี่’

หากสังคมไทยกล้าที่จะยอมรับความจริง sex worker หรือพนักงานบริการ หรือพูดให้ครอบคลุมกว่านั้นว่า sex industry สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยหลายหมื่นล้านต่อปี ยังไม่นับส่วยสาอากรที่คนในอาชีพนี้ต้องจ่ายให้กับคนที่คุณก็รู้ว่าใครอีกไม่น้อย

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ผลักให้คนอาชีพนี้เป็นคนนอกกฎหมาย อยู่ในพื้นที่สีเทา ง่ายต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบ และไม่มีโอกาสได้รับสวัสดิการใดๆ ในฐานะคนทำงาน

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เครือข่ายคนทำงานด้านต่างๆ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันประเด็นของตน ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศและพนักงานบริการ กำลังเดินหน้ารวบรวมรายชื่อเพื่อยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 เพื่อให้อาชีพพนักงานบริการเป็นอาชีพหนึ่งที่มีศักดิ์ศรี สิทธิ และสวัสดิการเทียบเท่าอาชีพอื่นๆ ในสังคม

‘กะหรี่’ คำที่ศิริศักดิ์คิดว่าสื่อความหมายได้ดีที่สุดจะได้เป็นอาชีพที่ ‘ไม่ผิดกฎหมาย’ ขีดเส้นใต้ตรงนี้ไว้ดีๆ เพราะความหมายแตกต่างจากเป็นอาชีพที่ ‘ถูกกฎหมาย’

ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศและพนักงานบริการ

พนักงานบริการอาชีพถูกขูดรีดโดยที่กระบวนการยุติธรรมยื่นมือเข้าช่วยไม่ได้

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ทำให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์จากพนักงานบริการจากภาครัฐ สถานประกอบการ และผู้ซื้อบริการ

“ถ้า พ.ร.บ. นี้มีประโยชน์จริงอาชีพนี้ต้องไม่มีในประเทศไทยแล้ว ร้านคาราโอเกะ สถานบันเทิงต่างๆ ต้องไม่มีแล้ว เราก็เห็นอยู่ว่าอาชีพนี้ยังมีอยู่จริง ทำไมถึงมีอยู่จริงก็เพราะภาครัฐไปแสวงหาผลประโยชน์หรือการเก็บส่วย เจ้าของร้านต้องเป็นคนจ่าย พนักงานที่มีสังกัดหรือไร้สังกัดก็ต้องจ่ายทั้งหมด ซึ่งไม่ได้จ่ายแบบถูกต้อง แต่ทุกวันนี้ทุกคนยังทำงานได้อย่างมีความสุขเพราะว่าก็จับไปแบบไม่ต้องปรับ 1,000 เก็บร้อยสองร้อยสามร้อยซึ่งดีกว่า เพราะถ้าเก็บ 1,000 และโดนข้อหาค่าประเวณีคนนั้นก็ไม่ได้ทำงาน แต่ถ้าเก็บสองร้อยสามร้อยก็เก็บได้ทุกวันและพนักงานก็ยังทำงานได้อยู่”

เมื่อเป็นเช่นนี้นานเข้าความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานบริการกับเจ้าหน้าที่รัฐจึงเป็นความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอยู่ในที่ ศิริศักดิ์อธิบายว่า การจับพนักงานที่อยู่ข้างทางหรือในร้านกลายเป็นการจับแบบช่วยเหลือกันกับภาครัฐ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐต้องการผลงาน พนักงานบริการต้องการทำงาน จนเกิดเป็นความสนิทสนม ในบางครั้งที่เจ้าหน้าที่ต้องการผลานก็ใช้วิธีโทรหาพนักงานบริการมาเซ็นชื่อ โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้จ่ายค่าปรับให้

ถึงกระนั้นในช่วงที่มีการกวาดล้างหนัก พนักงานบริการจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะกะเทยถูกจับและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่นถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้าและนำไปปล่อยในสถานที่ไกลๆ ให้เดินกลับเอง หรือการล่อซื้อที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้และเรียกนักข่าวจำนวนมากมาทำข่าวในลักษณะที่พนักงานบริการมีเพียงผ้าขนหนูผืนเดียวพันกาย

ศิริศักดิ์ยกตัวอย่างมาตรา 6 ในกฎหมายว่าด้วยการมั่วสุมซึ่งหมายความว่าพนักงานบริการที่อยู่ในสถานบันเทิง ถ้ามีการชงเหล้า กินเหล้ากับลูกค้า ถือว่าเป็นการมั่วสุม ซึ่งคนที่ถูกจับคือพนักงานบริการ ไม่ใช่ลูกค้า ศิริศักดิ์ตั้งคำถามว่าเวลาคนไปเที่ยวต้องชงเหล้าไหม ต้องเฮฮากันในกลุ่มหรือไม่ ทำไมไม่โดนจับ แต่พนักงานบริการถือว่ามั่วสุม

“ในส่วนของสถานบริการ พอมันไม่ถูกกฎหมาย ไม่ถูกคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานเหมือนอาชีพอื่น ทำให้สถานบริการสามารถออกกฎแปลกประหลาดที่ละเมิดสิทธิพนักงานบริการได้ คืออาชีพนี้ไม่มีเงินเดือนอยู่แล้ว จะมีรายได้ได้จากการอ็อป จากการขายดริงค์ ทำให้สถานบริการออกกฎให้บังคับดื่มดริงค์ ถ้าดริงค์ไม่ถึง 60 ต่อคืนก็ไม่ได้เงิน ทำให้พนักงานต้องพยายามเชียร์ให้ได้ หรือน้ำหนักขึ้น น้ำหนักลดก็ถูกหักเงิน ไม่ใส่ส้นสูง เต้นไม่เตะขา 180 ก็โดนหักเงิน อย่างผู้ชายเวลาขึ้นฟลอร์แล้วไม่จิกลูกค้า ไม่ทำหน้ายั่วยวนลูกค้าก็โดน 50 บาทถ้าเขาเห็น หรือถ้าพนักงานอยากลาไปหาเพื่อน หาแฟน พนักงานต้องซื้ออ็อปตัวเองเทียบเท่ากับที่ลูกค้าจ่ายให้เราเพื่ออ็อปให้ร้าน ซึ่งแต่ละร้านไม่เท่ากัน ทั้งที่เราไม่มีเงินเดือน เรื่องวันหยุดวันลาไม่มีแน่นอน ทำงานเกินเวลาก็ไม่มีค่าชดเชยให้ ไม่มีสวัสดิการแน่นอน ถ้ามีกฎหมายคุ้มครองเรื่องแบบนี้ก็ไม่เกิดขึ้น

“ในส่วนของลูกค้า ถ้าลูกค้าละเมิดสิทธิพนักงาน เช่น ทำร้ายร่างกาย ไม่เป็นไปตามข้อตกลง มีการบังคังใช้ยาเสพติด ใช้ความรุนแรง พนักงานบริการก็ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ เพราะถ้าเราไปแจ้งความบอกว่าโดนตบมา แต่ถ้าเขาถามว่าโดนตบเพราะอะไร ไปขายตัวมาค่ะ ก็ผิดกฎหมายตัวนี้อีกทำให้พนักงานบริการไม่อยากไปแจ้งความ เขาก็อยู่อย่างนี้ดีกว่า เจ็บป่วยอะไรมาก็หาเงินรักษาตัวเอง”

ยกเลิกกฎหมายและทำเหมือนเราเป็นอาชีพหนึ่งในสังคม

ศิริศักดิ์กล่าวว่าสิ่งที่เขาและเครือข่ายต้องการคือการยกเลิกกฎหมายฉบับนี้และให้พนักงานบริการทุกคนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานทั่วไปที่มีอยู่โดยไม่ต้องมีกฎหมายพิเศษใดเพิ่มเติม

“อาชีพนี้ไม่ได้แตกต่างหรือพิเศษอะไรจากคนอื่น ถ้าคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานแล้วพนักงานบริการกลายเป็นลูกจ้างเทียบเท่ากับอาชีพอื่น กฎหมายแรงงานก็ต้องคุ้มครองโดยอัตโนมัติ เพราะการเพิ่มกฎหมายอื่นเข้ามาไม่มีประโยชน์ สุดท้ายเป็นการตีตราทับ เราไม่ได้ใช้คำว่า ถูกกฎหมาย แต่เราใช้คำว่า ไม่ผิดกฎหมาย เพราะถ้าถูกกฎหมายแสดงว่ามันต้องมีกฎหมายใหม่ขึ้นมาเพื่อให้มีหนึ่งสองสามมาบังคับเรา แต่ถ้าไม่ผิดกฎหมายก็เหมือนเราเป็นแม่ค้าขายส้มตำข้างทาง เราต้องการแค่นี้ เพราะเราพิสูจน์แล้วว่าการลงทะเบียนหรือถูกกฎหมายมันตีตราจริง”

ขณะที่พนักงานบริการที่ไม่สังกัดหรือฟรีแลนซ์ก็เปรียบได้กับอาชีพดารา พริตตี้ แม่บ้าน หรือแรงงานอิสระ ซึ่งพนักงานบริการกลุ่มนี้มีข้อดีคือสามารถรับงานได้หลากหลาย แต่จะไม่ได้รับเสียสวัสดิการอื่นๆ ทำให้ต้องหาเอง เช่น การซื้อประกันสุขภาพ ศิริศักดิ์ระบุว่าเหตุนี้เขาและเครือข่ายจึงสนับสนุนให้มีรัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมทุกคนเพื่ออุดช่องว่างในจุดนี้

ความเข้าใจอันผิดเพี้ยน

ความพยายามยกเลิกกฎหมายกำลังเดินหน้า ภาครัฐหรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็ตระเตรียมออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองพนักงานบริการออกมาคู่ขนานกัน ซึ่งศิริศักดิ์ไม่เห็นด้วยตามคำอธิบายข้างต้น นอกจากนี้เนื้อหาของ พม. ยังมีลักษณะที่ไม่เข้าใจอาชีพพนักงานบริการ มองว่าเป็นอาชีพที่แตกต่างจากอาชีพอื่น และกดทับตีตราพนักงานบริการ

“เขากำลังทำประชาพิจารณ์ทุกภาค ดิฉันเขาร่วมตลอด ชื่อกฎหมายประมาณว่าคุ้มครองพนักงานบริการ แต่เนื้อหาแย่มาก เช่น ถ้าคุณอยากทำงานอาชีพนี้และมีสามี จดทะเบียนสมรส คุณต้องไปหย่าก่อน แสดงว่าเขาไม่ได้เข้าใจว่าอาชีพนี้ก็มีผัว มีเมีย มีลูกได้ เลี้ยงลูก เลี้ยงผัวได้ ทุกวันนี้แต่ละคนขี่มอร์เตอร์ไซค์มาส่งเมียสนุกสนานเฮฮา คุณไม่เข้าใจว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่เลี้ยงครอบครัว แต่เข้าใจว่าเป็นอาชีพที่อัปรีย์ คุณก็เลยมองว่าอาชีพนี้มีครอบครัวไม่ได้ ต้องหย่าก่อน

“หรือถ้าคุณจะทำอาชีพนี้ ถ้ามีลูกต้องรอให้ลูกอายุ 20 ถึงจะทำได้ ทุกวันนี้เขาก็ขายกันอายุ 20 เพื่อความสดใหม่ แล้วตรวจเลือดก็ไม่ต้องเพราะไม่ว่าจะเป็นอาชีพไหนเป็นการละเมิดสิทธิ์ ภาครัฐมีหน้าที่รณรงค์ให้ทุกคนไปตรวจเลือดโดยความสมัครใจ แต่ไม่ควรมีอาชีพไหนที่ถูกบังคับตรวจเลือดหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเป็นการสร้างเงื่อนไข ตีตรา และกดทับพนักงานบริการเอง”

ศิริศักดิ์เล่าอีกว่า มีการเสนอห้ามไม่ให้นักศึกษาเข้าสู่อาชีพนี้ แต่ศิริศักดิ์ก็แย้งเช่นกันว่านี่คืออาชีพเสริมที่สามารถส่งตัวเองเรียน ส่งเสียพ่อแม่

“ภาครัฐไม่เข้าใจ เขาก็บอกว่าโอเค ได้ค่ะ ถ้าอย่างนั้นตรงบัตรประชาชนขอใส่ดอกจันท์ได้ไหมคะ ฉะนั้นไม่ต้องมีกฎหมายใหม่เพราะถ้ามีใหม่ก็จะเป็นแบบนี้”

“สังคมไทยไม่พร้อมหรอก”

ไม่จำเป็นต้องถามเลยว่าสังคมไทยพร้อมหรือไม่ที่จะให้อาชีพนี้ไม่ผิดกฎหมาย ศิริศักดิ์กล่าวว่าส่วนหนึ่งเพราะฐานคิดมักโยงกับเรื่องศีลธรรม แต่ไม่ได้คิดจากฐานสิทธิมนุษยชน

“แต่เอาศีลธรรมที่พิสูจน์ไม่ได้มาพูดและยังคิดว่าการขายตัวคือการทำลายศักดิ์ศรี ข้อกังวลสามข้อที่สังคมชอบพูดคือถ้ายกเลิกแล้วให้คนเข้าสู่อาชีพนี้ได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย เด็กก็ต้องเข้ามาขายเยอะสิ เราบอกแล้วว่าเราไม่เห็นด้วยกับการให้เด็กเข้ามาสู่อาชีพนี้และถ้าเข้าสู่กระบวนการแรงงาน ทุกอาชีพก็ไม่ให้เด็กทำงาน และถ้าเด็กถูกละเมิดสิทธิก็มีกฎหมายคุ้มครองเด็ก อนุสัญญาคุ้มครองเด็กมาช่วยเหลือ

“เรื่องที่สองเรื่องศีลธรรม เป็นชู้ การทำลายสถาบันครอบครัว ทุกคนก็ทำผิดได้ ทำไมต้องโยนบาปให้ sex worker แต่ที่สังคมไทยรับไม่ได้เพราะมองว่าพวกนี้ผิดศีลธรรม เป็นคนที่จะทำให้ครอบครัวแตกแยก เป็นเมียน้อยชาวบ้าน คำถามนะ ทุกวันนี้เมียน้อย เมียหลวง เมียเก็บมาจาก sex worker เหรอ คุณจะมี sex worker เป็นเมียน้อยคุณต้องมีเงิน ต้องเดินทางไปหา แต่ส่วนใหญ่คนจะมีกิ๊กกันคืออยู่หอเดียวกัน พนักงานที่ใกล้ชิดกัน อยู่ในแชท ไม่ต้องโยนบาปให้ sex worker อีกอย่างพนักงานบริการทำจะเป็นเมียน้อยคนอื่นต้องคิดแล้วว่า ถ้ามีคนจะมาขอเป็นเมียเก็บ ไม่ต้องทำงานแล้ว จะถามเลยว่าได้ลูกค้าวันละ 5 คน วันละ 50,000 บาท ตัวเองจ่ายได้ไหม ถ้าจ่ายได้ โอเค เป็น พนักงานมาทำงานเพื่อหาเงิน เรื่องศีลธรรมตัดออกไปเลย ทุกคนมีโอกาสทำลายศีลธรรม ทำลายสถาบันครอบครัว ไม่เกี่ยวกับพนักงานบริการ พนักงานบริการเป็นเพียงแค่ตัวเลือกหนึ่งเท่านั้นเอง

“สามคือสังคมมองว่าต่อไปคนจะไม่ทำการทำงาน มาขายตัวกันหมดเพราะได้เงินง่าย พนักงานบริการไม่ได้เป็นกันง่ายๆ ต้องมีทักษะ คุณจะดื่มดริงค์ได้เหรอ 60 ดริงค์ให้ไม่เมา คุณต้องใส่ส้นสูงเต้น 180 องศา เต้นโพลแดนซ์ ต้องชงเหล้า เวลานวดจะนวดลูกค้ายังไงให้ลูกค้ารู้สึกเคลิ้ม เวลาลูกค้าอ็อปไป ถ้าลูกค้าคุยเรื่องบอล เราต้องคุยเป็น ถ้าลูกค้าอยากแทงสนุ๊ก เราต้องนับแต้มเป็น อยากตีกอล์ฟ ต้องทำตัวเป็นแคดดี้ให้ได้ ถ้าลูกค้าชอบคุยการเมือง เราก็ต้องติดตามการเมือง นี่คือทักษะทั้งนั้น ไม่ใช่มาถึงก็ถ่างขา เป็นไปไม่ได้ แล้วทักษะประเมินลูกค้าก็ต้องเป็น ตอนนี้ลูกค้ารู้สึกยังไง อารมณ์แบบไหน เป็นลูกค้าประเภทไหน เมา ไม่เมา เกรดไหน มันใช้ทักษะการประเมินหมดเลย เพราะเราต้องเอาตัวรอดด้วย ไม่ได้เป็นกันง่ายนะคะ”

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ยังคงอยู่

‘ศักดิ์ศรี’ สูญหายไปทันทีสำหรับอาชีพพนักงานบริการ แต่จริงหรือ?

“คนจะบอกว่าไปทำอาชีพอื่นเถอะ มันไม่มีศักดิ์ศรี ทำไมต้องมาขายตัว พอเราบอกว่าเราไม่ได้ขายตัว แต่เราขายบริการก็ไม่เชื่ออีก เนื้อตัวร่างกายเรายังอยู่กับเรา ศักดิ์ศรีไม่ได้ลดทอนลงไปเลย เราไปนอนเป็นเพื่อน บีบนวดให้ ชงเหล้า เต้นให้ดู ร้องเพลงให้ฟัง อันนี้คือบริการที่เราทำให้ แต่สังคมมองว่าพนักงานบริการอย่างเข้าใจผิดว่าเราไปถึงก็ถ่างขาให้คนมามีเพศสัมพันธ์ ไม่ใช่ ทุกคนทำงาน 9-10 ชั่วโมงเหมือนคนอื่นทั่วไป ไปถึงร้านก็ตอกบัตรเหมือนกันแต่ไม่มีเงินเดือน ต้องเก็บถ้วย ล้างจาน ล้างแก้ว เตรียมบาร์ ซ้อมเต้น ซ้อมนวด เรียนภาษาอังกฤษ แต่เวลาเพียง 15 นาทีหรือครึ่งชั่วโมงในการมีเพศสัมพันธ์กลับกลายเป็นว่าเราผิดและจับเรา”

ความเข้าใจผิดอันมากมายต่ออาชีพพนักงานบริการยังรอการอธิบายให้ผู้คนที่ยอมเปิดใจได้รับฟัง การรณรงค์ของศิริศักดิ์ยังต้องทำต่อเนื่อง แต่นั่นแหละ สังคมที่คิดอยู่บนฐานของศีลธรรมอย่างฝังลึกและยาวนานคงยากที่ยอมรับได้ในเร็ววัน

“แต่ต่อให้สังคมไม่ยอมรับ เราก็ไม่แคร์ เพราะเราต้องอยู่บนฐานสิทธิมนุษยชน คุณไม่ยอมรับ แต่คุณต้องเคารพสิทธิมนุษยชน เราไม่อยู่บนฐานศีลธรรม เรามีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเรา”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท