Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชื่อบทความเดิม: 'การนัดหยุดงาน' สิทธิของแรงงานที่ถูกลิดรอนถึงเวลาต้องทวงคืน มองสถานการณ์ 'การนัดหยุดงาน' อำนาจเชิงโครงสร้างในอุษาคเนย์

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  ผศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เสนอแนวทางรับลูกต่อจากการต่อต้านเผด็จการ และรัฐอำนาจนิยม เนื่องจากการใช้ความรุนแรงเมื่อคืนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กรณีที่ราษฎรจัดกิจกรรม นับ 1 ถึงล้าน คืนอำนาจให้ประชาชน ด้วยวิธีเรียบง่ายและใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดคือ การนัดหยุดงานทั่วประเทศ ซึ่งได้รับความสนใจและการขานรับจากผู้คนจำนวนไม่น้อย ประกอบกับการที่ขบวนการแรงงานในเมียนมาร์ได้เข้าร่วมต่อต้านการรัฐประหารของคณะทหารโดยใช้การหยุดงานเป็นเครื่องมือสำคัญที่ดูทรงพลังและเต็มไปด้วยความหวัง ทำให้ประเด็นการนัดหยุดงานถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอีกครั้ง

อำนาจของฝ่ายแรงงานอยู่ที่ไหน?

โดยทั่วไปคำว่า “อำนาจ” หมายถึงความสามารถของตัวแสดง A ในการทำให้ตัวแสดงอีกตัวคือ B ยอมทำบางสิ่งบางอย่างซึ่งปกติแล้ว B จะไม่ทำ สำหรับอำนาจของฝ่ายแรงงานหมายถึงการที่ผู้ใช้แรงงานหรือสหภาพแรงงานสามารถมีอิทธิพลต่อทุนและรัฐซึ่งมีผลประโยชน์ที่แตกต่างจากแรงงานให้ต้องยินยอมดำเนินการตามความต้องการของผ่ายแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นระดับโรงงาน สถานประกอบการ ไปจนถึงอุตสาหกรรมหรือประเทศ อำนาจของฝ่ายแรงงานในแต่ละช่วงเวลา แต่ละประเทศ แต่ละอุตสาหกรรมหรือแต่ละโรงงานหรือสถานประกอบการมีไม่เท่ากัน

ช่วงเวลาสองสามทศวรรษที่ผ่านมาขบวนการแรงงานและผู้ใช้แรงงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ มากมายหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบ วิธีและกระบวนการผลิต โครงสร้างของตลาดแรงงานและรูปแบบการจ้างงานที่เป็นผลมาจากกระแสโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ที่ได้บีบบังคับให้ตลาดแรงงานต้องมีความยืดหยุ่นมากเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้าและการลงทุนที่รุนแรงมากขึ้น มีความพยายามที่จะลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งเป้าหมายสำคัญในการลดต้นทุนคือมุ่งไปที่การควบคุมต้นทุนที่เกี่ยวกับแรงงานได้แก่ค่าจ้าง สวัสดิการ สภาพการจ้าง สหภาพแรงงานได้ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคของการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า การลงทุน บางครั้งก็ถูกมองเป็นภัยต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติเลยทีเดียว จึงมีความพยายามที่จะลดทอนอำนาจของฝ่ายแรงงานและขบวนการแรงงานลงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากกระแสโลกาภิวัตน์แล้วแรงงานในภูมิภาคยังต้องเผชิญกับความท้าทายทางการเมืองที่สำคัญคือประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยมที่อำนาจการตัดสินใจได้ถูกรวมศูนย์อยู่ในมือของชนชั้นนำส่วนน้อยที่เป็นคนกุมบังเหียนกำหนดชะตากรรมของประเทศ ประชาธิปไตยแบบที่ประชาชนมีส่วนร่วมมีสถานะลุ่ม ๆ ดอน ๆ ล้มลุกคลุกคลาน ภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยมสหภาพแรงงานจึงถูกแทรกแซงและควบคุมอย่างใกล้ชิด เหล่านี้ได้ทำให้อำนาจของฝ่ายแรงงานและขบวนการแรงงานในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอยู่ในสภาวะที่อ่อนแอ พบว่าในหลายประเทศจำนวนสมาชิกสภาพแรงงานได้ลดน้อยลง การจัดตั้งและการขยายสมาชิกเป็นไปอย่างยากลำบาก ส่งผลให้อิทธิพลและอำนาจของฝ่ายแรงงานลดน้อยลงในทุก ๆ พื้นที่และทุกระดับ ด้วยอำนาจของฝ่ายแรงงานถูกทำให้ลดน้อยลงไปได้ส่งผลทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ปราศจากการถ่วงดุลแห่งอำนาจอย่างเพียงพอจากชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ทุนและกลุ่มชนชั้นนำจำนวนน้อยในภูมิภาคจึงสามารถแสวงหาผลประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

ทรัพยากรอำนาจของสหภาพแรงงาน

Stefan Schmalz and Klaus Dörre นักวิชาการแรงงานได้เสนอแนวความคิดเรื่อง “ทรัพยากรอำนาจของสหภาพแรงงาน” หรือ “Union Power Resources Approach” [1] ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาของอำนาจของฝ่ายผู้ใช้แรงงานว่าแรงงานมีทรัพยากรอำนาจอยู่ตรงไหน มากน้อยเพียงใดและสามารถนำทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่เพียงใด เขาได้จำแนก “ทรัพยากรอำนาจของสหภาพแรงงาน” ออกเป็น 4 ด้าน คือ

1. อำนาจเชิงโครงสร้าง (Structural Power)  

2. อำนาจจากการรวมตัว (Association Power)

3. อำนาจเชิงสถาบัน (Institution Power)

4. อำนาจเชิงสังคม (Societal Power)

อำนาจทั้ง 4 ด้านที่คือที่มาของอำนาจของฝ่ายแรงงานโดยส่วนรวม ขบวนการแรงงานในแต่ละประเทศอาจมีอำนาจต่าง ๆ เหล่านี้แตกต่างกันออกไป อำนาจทั้ง 4 มีส่วนส่งเสริมซึ่งกันและกันและทดแทนกันได้ เช่นกรณีฝรั่งเศสมีอำนาจจากการวมตัวต่ำ แต่มีอำนาจเชิงโครงสร้างและอำนาจเชิงสังคมสูงทำให้ขบวนการแรงงานในฝรั่งเศสซึ่งแม้จะมีสมาชิกสหภาพแรงงานในสัดส่วนที่น้อยแต่กลับดูมีพลัง เพราะสามารถใช้สิทธิในการนัดหยุดงานซึ่งเป็นอำนาจเชิงโครงสร้างอย่างมีประสิทธิภาพมากเป็นต้น

การนัดหยุดงาน อำนาจเชิงโครงสร้าง (Structural Power)  

อำนาจเชิงโครงสร้างเป็นอำนาจที่เกี่ยวโยงกับตำแหน่งแห่งที่ในระบบเศรษฐกิจการเมืองของผู้ใช้แรงงาน อำนาจเชิงโครงสร้างนี้ถือเป็นแหล่งอำนาจเบื้องต้นของคนทำงานทั้งหลายโดยที่คนงานเหล่านั้นอาจไม่จำต้องมีองค์กรตัวแทน หรือเป็นสมาชิกองค์กรแรงงานใด ๆ ก็ได้ อำนาจชนิดนี้เป็นอำนาจที่เกิดจากการพึ่งพิงกันและกันระหว่างแรงงานกับนายจ้างและรัฐ อำนาจเชิงโครงสร้างนี้มีอยู่กับแรงงานทั้งในระดับโรงงาน/สถานที่ทำงานและในตลาดแรงงาน ถ้าแรงงานมีอำนาจเชิงโครงสร้างและใช้มันได้จะทำให้พวกเขาสามารถหยุดยั้งกระบวนการผลิตในโรงงาน การทำงานในสถานประกอบการ อุตสาหกรรม หรือระบบเศรษฐกิจหรือการบริหารประเทศได้ 

ในระดับสถานประกอบการหรือในโรงงาน คนงานหรือพนักงานมีตำแหน่งอยู่ในกระบวนการผลิตหรือการทำงานที่แตกต่างกันจะมีอำนาจเชิงโครงสร้างต่างกันไปด้วย การปลุกระดมให้ปฏิเสธที่จะทำงาน การประท้วงหยุดงาน การเฉื่อยงาน อำนาจต่อรองในที่ทำงานบางครั้งอาจจะถูกใช้อย่างอิสระของคนงานในที่ทำงานต่าง ๆ หรือเป็นไปโดยธรรมชาติโดยไม่ต้องมีการนำขององค์กรจัดตั้งของคนงานหรือสหภาพแรงงานที่เรียกว่าwildcat strike โดยการหยุดทำงานของคนงานอาจสร้างความเสียหายให้กับนายจ้างและกระบวนการผลิต ซึ่งส่งผลให้นายจ้างต้องยอมทำตามความต้องการของฝ่ายแรงงาน 
               
คนงานในอุตสาหกรรมที่มีผลิตภาพแรงงานสูง มีกระบวนการผลิตแบบครบวงจรหรือในภาคอุตสาหกรรมการส่งออกที่สำคัญ คนงานจะมีอำนาจต่อรองในระดับสูง ฝ่ายนายจ้างเองตระหนักถึงอำนาจต่อรองในที่ทำงานของคนงาน จึงพยายามจำกัด อำนาจต่อรองในที่ทำงานของฝ่ายแรงงานโดยการทำให้กระบวนการผลิตของตนมีความยืดหยุ่นสามารถโยกย้ายฐานการผลิตไปยังที่อื่น ๆ หรือประเทศอื่น ๆ ได้ บ้างก็ปรับเปลี่ยนการผลิตให้มีลักษณะที่กระจายการชิ้นส่วนการผลิตต่าง ๆ ออกไปยังโรงงานเหมาช่วงอื่น ๆ เพื่อลดอำนาจเชิงโครงสร้างของฝ่ายแรงงานลง 

อำนาจต่อรองในสถานประกอบการไม่ได้ถูกใช้เฉพาะในกระบวนการผลิตของโรงงานตนโดยตรง แต่ยังรวมไปถึงกรณีที่คนงานในที่อื่น ๆ สามารถร่วมมือกันหยุดยั้งวงจรการผลิตแบบทุนนิยมลงได้ อาทิเช่นคนงาน ในภาคการขนส่งมีอำนาจในการชะลอ การขนถ่ายสินค้าในโรงงานที่มีปัญหากับคนงาน ปิดช่องทางการเคลื่อนย้ายเงินทุนและแรงงาน การเข้าควบคุมเส้นทางการขนส่งหรือปิดช่องทางการกระจายสินค้า รวมไปถึงการสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายสินค้าหากสามารถทำได้ก็จะทำให้แรงงานมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างที่สูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคจึงพยายามออกกฎหมายเพื่อแยกไม่ให้คนงานสามารถรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรของตนแบบข้ามอุตสาหกรรม สหภาพแรงงานแบบสหภาพแรงงานทั่วไปที่เคยมีบทบาทสำคัญมากในประวัติศาสตร์ระยะแรกของขบวนการในภูมิภาคถูกกฎหมายห้าม 
               
อำนาจต่อรองในตลาดแรงงานเป็นรูปแบบที่สองของอำนาจเชิงโครงสร้าง เป็นผลมาจากสภาวะตลาดแรงงานตึงตัว  "สภาวะที่ฝ่ายแรงงานมีความสามารถเฉพาะ มีทักษะฝีมือสูงที่นายจ้างจำเป็นต้องพึ่งพิง ถ้าออกจากงานไปนายจ้างจะต้องลงทุนฝึกอบรมเพื่อหาแรงงานทดแทน สภาวะที่อัตราการว่างงานต่ำ ฝ่ายแรงงานจะมีอำนาจต่อรองที่สูง คนงานมีความสามารถในการถอนตัวออกจากตลาดแรงงานได้ โดยมีช่องทางที่จะหารายได้เลี้ยงตัวเองจากงานอื่น ๆ อำนาจการต่อรองในตลาดแรงงานในประเทศต่าง ๆ จะมีความแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของตลาดแรงงาน การแทรกแซงและการออกกฎระเบียบของรัฐบาล นโยบายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ก็มีส่วนลดอำนาจเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวกับตลาดแรงงาน ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาดและอำนาจต่อรองที่แท้จริงของฝ่ายแรงงาน โลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ได้ทำให้แรงงานในภูมิภาคกลายเป็นคู่แข่งขันช่วงชิงนักลงทุนและตำแหน่งงานเข้าสู่ประเทศตน แรงงานข้ามชาติที่ไหลบ่าเข้าหาแหล่งงานแบบข้ามพรมแดน ได้กลายเป็นปัจจัยทำลายอำนาจเชิงโครงสร้างของแรงงานด้วยกันเอง

อำนาจเชิงโครงสร้างมักถูกมองไปที่อำนาจทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่จริง ๆ แล้วอำนาจเชิงโครงสร้างทางการเมืองก็มีความสำคัญและมีพลังไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน กรณีของขบวนการแรงงานในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีฝรั่งเศสที่ขบวนการแรงงานสามารถใช้อำนาจเชิงโครงสร้างทางการเมือง ทำการนัดหยุดงานทางการเมืองและประสบความสำเร็จหลายครั้งหลายหน

อำนาจเชิงโครงสร้างของแรงงานถูกทำให้ลดลงเมื่อการผลิตแบบโลกาภิวัตน์ที่เป็นแบบกระจายการผลิตออกไปนอกโรงงาน (out-sourcing) มีการผลิตที่เป็นแบบเครือข่ายและรับเหมาช่วงการผลิตเป็นทอด ๆ (sub-contracking) ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในภูมิภาค ทำให้เกิดแรงงานนอกระบบและแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้านจำนวนมาก คนงานเหล่านี้คือผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างรุนแรงคือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิโดยไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายและระบบคุ้มครองที่มีอยู่ ทำให้เกิดการขยายตัวของรูปแบบการจ้างงานที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานNon-standard form of employment เพิ่มขึ้นในหลายในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN) การศึกษาของ Melisa R. Serranoพบว่าการแสวงหาความได้เปรียบในการแข่งขันที่เป็นไปอย่างเข้มข้นและรุนแรงในยุคโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ได้ทำให้เหล่าผู้ประกอบการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ ASEAN ต่างพากันปรับปรุงระบบการจ้างงานและกระบวนการผลิตให้มีความยืดหยุ่น ไม่เป็นไปมาตรฐาน(Nonstandard Employment)มากขึ้น การจ้างงานที่ไม่ใช่มาตรฐานก็คือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่เรียกกันว่า ฟอร์ด โมเดล (Fordism Model) ซึ่งถูกคิดค้นเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 และได้กลายเป็นมาตรฐานของการจ้างงานทั่วโลก ภายใต้ มาตรฐานของการทำงานแบบ Fordism ส่งผลให้มีการจ้างงานแบบถาวรและเต็มเวลา สหภาพแรงงานประสบความสำเร็จในการจัดตั้งแรงงานเข้าสู่สหภาพ ระบบการผลิตบนสายพานการผลิตในระบบ Fordism ก่อให้เกิดความมั่นคงในการจ้างงาน มีการจ้างงานที่ทำงานเต็มเวลา มีสัญญาจ้างงานที่มีข้อตกลงที่จะจ่ายค่าตอบแทนที่สม่ำเสมอ มีกรอบเวลาการทำงานที่ชัดเจน, คนงานสามารถคาดหวังถึงมาตรฐานการคลองชีพที่ดีซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการได้รับค่าจ้างที่สูง คนงานมีส่วนร่วมในสถานที่ทำงาน เมื่อเจ็บป่วยขาดงานก็ได้รับค่าตอบแทน เมื่อเกษียณอายุก็ได้รับค่าตอบแทนชราภาพ มีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง มีเสรีภาพในการเจรจาต่อรองมีระบบรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง ต่อมาระบบการผลิตแบบ Fordism ค่อยเสื่อมถอยลงนับแต่ทศวรรษที่ 1970s โลกได้เริ่มเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ กรอบคิดแบบเสรีนิยมใหม่ถูกพัฒนาขึ้นและค่อย ๆ ครอบงำทั่วทุกภูมิภาคของโลกรวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โลกไร้พรมแดนได้นำสู่การแข่งขันทางการค้าอย่างรุนแรง มีความพยายามที่จะลดต้นทุนการผลิตให้ได้มากที่สุด อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเติบโตขึ้น พร้อมกับการเติบโตของประเทศอุตสาหกรรมใหม่ซึ่งล้วนมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า และความคาดหวังของผู้บริโภคที่ต้องการได้สินค้าคุณภาพที่สูงและหลากหลาย[2]

เสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมนั้นหมายรวมไปถึงสิทธิในการนัดหยุดงานของฝ่ายแรงงาน เพราะถือว่าการนัดหยุดงานเป็นเครื่องมือและอำนาจต่อรองที่สำคัญของฝ่ายแรงงานในการทำการเจรจาต่อรองร่วม เพราะหากปราศจากซึ่งสิทธิในการนัดหยุดงานแล้ว “การเจรจาต่อรองร่วม” (collective bargaining)ก็จะกลายเป็นเพียง "การขอทานร่วม" (collective begging) เท่านั้น[3] เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่การนัดหยุดงานของแรงงานซึ่งเคยเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ที่สำคัญของขบวนการแรงงานในอดีต ปัจจุบันได้ถูกจำกัดและลิดรอนอย่างกว้างขวางทั่วทั้งภูมิภาค โดยรัฐและนายทุนอ้างว่าการนัดหยุดงานเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำลายบรรยากาศการลงทุน ทำให้นักลงทุนหนีไปลงทุนที่อื่น เป็นภัยต่อผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ ทำให้ภาพลักษณ์ที่ดีของบริษัทและของประเทศเสียหาย ทำลายการอยู่ร่วมกันและความร่วมมือระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ทำความเสียหายให้กับระบบแรงงานสัมพันธ์ สารพัดข้ออ้าง

ที่สิงคโปร์การนัดหยุดงานแทบจะไม่ปรากฏให้เห็นเลยเพราะมีข้อจำกัดมากมาย อีกทั้งแนวทางการทำงานของสหภาพแรงงานหลักที่นั่นเชื่อในกรอบคิดแบบ Corporatism ที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างความร่วมมือระหว่างนายจ้างและลูกจ้างมากกว่าการเผชิญหน้า อย่างไรก็ตามเดือนพฤศจิกายน 2012 มีการหยุดงานของคนขับรถบัส SMRT ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศจีนราว 171 คน พวกเขาหยุดงานประท้วงเรียกร้องให้มีการปรับปรุงสภาพการจ้าง และจัดการกับปัญหาการเลือกปฏิบัติเมื่อเปรียบเทียบกับคนขับรถรายอื่น ๆ ที่เป็นชาวสิงคโปร์และมาเลเซีย การนัดหยุดงานครั้งนี้ถูกตัดสินว่าไม่ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั่นคือไม่ได้แจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 14 วัน ผู้นำการนัดหยุดงาน 5 คนถูกดำเนินคดีและถูกตัดสินจำคุก 6 สัปดาห์ อีก 29 คนถูกส่งตัวกลับประเทศ ส่วนที่เหลือทั้งหมดถูกตักเตือน[4]

ขณะที่เวียตนามสหภาพแรงงานเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนาม ดังนั้นเมื่อยังมีระบบเศรษฐกิจที่เป็นการวางแผนจากส่วนกลาง กิจการส่วนใหญ่ดำเนินโดยรัฐจึงไม่มีการนัดหยุดงาน กระทั่งการหันกับมาใช้ระบบตลาดเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนการนัดหยุดงานเริ่มปรากฏขึ้นแต่เป็นการนัดหยุดงานที่เป็นไปเอง นำโดยคนงานโดยที่สหภาพแรงงานไม่ได้เข้ามาจัดการที่เรียกกันว่า “wild cat strike” ซึ่งมีสูงมากถึง 1,000 ครั้งในปี 2010 ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทำให้สภาแรงงานแห่งเวียตนามซึ่งเป็นสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งเดียวในเวียตนามต้องสูญเสียการยอมรับจากคนงาน โดยทั่วไป ซึ่งทำให้สหภาพแรงงานต้องเร่งไปจัดตั้งคนงานในภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นในแบบจากล่างขึ้นบนเพื่อให้องค์กรได้รับการยอมรับ และมีความเป็นอิสระจากพรรคคอมมิวนิสต์ระดับหนึ่ง ขณะเดียวกับก็ต้องรักษาบทบาทหน้าที่ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ต้องตอบสนองอุดมการณ์และนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนามไว้ด้วย[5]

ประเทศไทยหลังการรัฐประหารของคณะ รสช. ในปี 1991 ได้มีออกประกาศ รสช. ฉบับที่ 54 ที่ทำให้ขั้นตอนการนัดหยุดงานของแรงงานภาคเอกชนทำได้ยากขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันรัฐบาลขณะนั้นก็ได้ออกกฎหมายแยกพนักงานรัฐวิสาหกิจออกไปจากกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับปี 1975 เพื่อแยกสลายทำลายความเป็นเอกภาพของฝ่ายแรงงาน นอกจากนี้กฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ที่ออกมาบังคับใช้ในปี 2000 มาตรา 33 ได้ห้ามพนักงานรัฐวิสาหกิจทำการนัดหยุดงานในทุกกรณี ปี 2009 เกิดอุบัติเหตุรถไฟตกรางจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคนสาเหตุจากความไม่สมบูรณ์ของหัวรถจักร พนักงานรถไฟนำโดยสหภาพแรงงานจึงปฏิเสธที่จะปฏิบัติหน้าที่ กรณีนี้นำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี ท้ายสุดมีนาคม 2018 ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ผู้นำแรงงาน 7 คนต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเงิน 15 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย[6]

หลังการรัฐประหารของคณะ คสช. ได้มีการออกกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะออกมาบังคับใช้ในปี 2015 ซึ่งทำให้การนัดชุมนุมประท้วงของฝ่ายแรงงานทำได้ยากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าระหว่างสหภาพแรงงานทำการนัดหยุดงานฝ่ายนายจ้างมีการนำเอาทหาร นักศึกษาฝึกงาน หรือแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานแทน ตัวอย่างเช่นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2019 คนงานบริษัทบอดี้แฟชั่นประเทศไทยจำกัดหรือไทรอัมพ์ชุมนุมทวงความชัดเจนจากบริษัทที่ยังค้างจ่ายโบนัส ปรากฏว่าระหว่างตัวแทนสหภาพเข้าเจรจากับนายจ้าง มีรถทหารเข้ามาในบริเวณโรงงานและมีทั้งตำรวจและทหารเข้าไปในห้องเจรจาอ้างว่ามาดูแลความสงบ 

ประเทศไทยปี 2015 รัฐบาล คสช. ได้ตราพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ออกมาใช้ และยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558  เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ  ในข้อ 12 ที่ระบุไว้ว่า “ผู้ใดมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย”  ด้วยคำสั่งนี้เองที่ขโมยการชุมนุมการเมืองไปจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายชุมนุมสาธารณะ โดยใช้ ‘จำนวน’ เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าการชุมนุมใดก็ตามที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปถือว่าเข้าข่ายการชุมนุมการเมืองทั้งสิ้น  ซึ่งเป็นดุลพินิจที่คับแคบและขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายชุมนุมสาธารณะเพราะไม่ได้คำนึงถึงพฤติการณ์ของผู้ชุมนุมมาประกอบในการใช้ดุลพินิจ[7] ซึ่งทำให้การชุมนุมที่เป็นส่วนหนึ่งของการนัดหยุดงานทำได้ยากขึ้น จากข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานแสดงว่าตั้งแต่ปี 2015 ถึง ปี 2017 รวม 3 ปีมีการนัดหยุดงานเกิดขึ้นในระดับสถานประกอบการเพียง 5 ครั้ง มีลูกจ้างเกี่ยวข้อง 4,761 คน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พรก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ Covid-19 ซึ่งให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ทำให้รัฐฉวยโอกาสใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสกัดกั้นการรวมตัวกันของประชาชน

จะเห็นว่าแม้บางประเทศ กฎหมายให้สิทธิในการนัดหยุดงานแต่ในทางปฏิบัติการนัดหยุดงานทำได้ยากมากเพราะมีการสร้างอุปสรรคกีดขวาง กำหนดขั้นตอนที่ยุ่งยากจนทำให้การนัดหยุดงานทำไม่ได้ มีความพยายามสร้างช่องทางหรือกลไกอื่น ๆ ขึ้นมาดักหน้า ดักหลัง เพื่อไม่ให้แรงงานไปถึงการใช้สิทธิดังกล่าว เช่นกำหนดให้มีการแจ้งล่วงหน้าเป็นเวลานานมาก และต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ มากมายกว่าจะมาถึงจุดที่คนงานจะสามารถใช้สิทธิในการนัดหยุดงาน เช่นให้มีคณะกรรมการเพื่อไกล่เกลี่ย ให้มีผู้ชี้ขาด หรือมีคณะอนุญาโตตุลาการขึ้นมาชี้ขาด การจะหยุดงานจะต้องขอมติจากเสียงข้างมาก โดยต้องลงคะแนนเสียงแบบลับ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้การนัดหยุดงานทำได้ยากมาก บางประเทศจะพยายามส่งให้ข้อพิพาทแรงงานไปสู่การพิจารณาของศาล ซึ่งมีกระบวนการพิจารณาที่ยาวนานมาก ซึ่งส่งผลเสียกับอำนาจต่อรองของฝ่ายแรงงาน

ในหลายประเทศข้าราชการ ลูกจ้างรัฐ รัฐวิสาหกิจ ครู แรงงานนอกระบบ ถูกกันออกจากกฎหมายแรงงาน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธินัดหยุดงานได้ หลายประเทศได้พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือเขตเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกขึ้นมา แม้ส่วนใหญ่ไม่มีกฎหมายยกเว้นไม่บังคับใช้กฎหมายแรงงาน(ยกเว้นในสปป.ลาวที่เขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีการดูแลกันเองเป็นการเฉพาะ) แต่ในทางปฏิบัติแล้วในพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นมีข้อจำกัดมากมายที่ทำให้การจัดตั้งสหภาพและการดำเนินการของสหภาพเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนัดหยุดงาน เพราะเขตเศรษฐกิจพิเศษมีสภาพเป็นที่ส่วนบุคคลการจัดการชุมนุมของคนงานกลายเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้

ประธานาธิบดี Rodrigo Duterte ของฟิลิปปินส์ได้เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าการที่นักลงทุนต่างชาติถอนการลงทุนออกไปเหตุผลเพราะการนัดหยุดงานของคนงาน หากต้องการหิวก็จงนัดหยุดงานกันต่อไป[8] KMUองค์กรแรงงานระดับชาติในฟิลิปปินส์ได้จัดเดินขบวนและชุมนุมที่หน้ากรมแรงงานและการจ้างงานเพื่อประท้วงรัฐบาลที่พยายามจำกัดสิทธิในการนัดหยุดงานของคนงานฟิลิปปินส์ในวัน  Global Day of Action for the Right to Strike วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2015[9]

สมาพันธ์แรงงานของเวียดนาม (VGCL) เป็นองค์กรแรงงานระดับชาติเพียงแห่งเดียวที่ได้รับการรองรับโดยกฎหมาย อยู่ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนามซึ่งก็เป็นพรรคการเมืองเดียวที่มีอยู่ในประเทศ เวียตนามเริ่มเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจที่วางแผนจากส่วนกลางมาสู่การเปิดตลาดเสรีตั้งแต่รัฐบาลประกาศใช้นโยบายปฏิรูปที่เรียกว่า Doi Moi เปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น มีการแปรรูปกิจการที่เคยเป็นของรัฐให้เอกชนเข้ามาดำเนินการแทน มีการส่งเสริมการลงทุน ปัญหาความขัดแย้งระหว่างแรงงานกับนายจ้างก็เริ่มปรากฏขึ้น แต่เดิมการนัดหยุดงานเป็นสิ่งผิดกฎหมาย กระทั่งปี 1994 จึงมีการออกกฎหมายรับรองการนัดหยุดงานให้สามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย แต่เฉพาะโดยการนำของ VGCL เท่านั้น อย่างไรก็ตามได้มีการนัดหยุดงานเกิดขึ้นหลายร้อยครั้งในแต่ละปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2011 การนัดหยุดงานได้เพิ่มขึ้นถึง 1,000 ครั้ง  โดยการนัดหยุดงานที่เกิดขึ้นทั้งหมดเป็นการนัดหยุดงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเวียตนาม เพราะเกิดจากการดำเนินการกันเองของแรงงานโดย VGCL ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยแบบที่เรียกว่า “wildcat strike” ในอดีตบทบาทสำคัญของVGCL เกี่ยวกับการนัดหยุดงานก็คือคอยสกัดไม่ให้คนงานนัดหยุดงาน แต่จำนวนการนัดหยุดงานมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ VGCL ได้วางตัวเป็นกลางและด้วยความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนาม VGCL จึงเข้ามามีบทบาททำหน้าที่ช่วยเหลือไกล่เกลี่ยประสานงานกับพรรคคอมมิวนิสต์เวียตนามและรัฐบาล[10]  ระหว่างปี 2010และ 2012 VGCL ได้อาศัยอำนาจเชิงสถาบันที่ตนมีผลักดันให้มีการแก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายแรงงานและตรากฎหมายสหภาพแรงงานฉบับใหม่ออกใช้ ประมวลกฎหมายแรงงานได้หนดให้มีคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติขึ้นมาซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีที่ทำหน้าที่กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นประจำทุกปี กำหนดให้มีการทำสัญญาจ้างงานแบบที่มีลายลักษณ์อักษรและมีการจำกัดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา ขยายสิทธิลาคลอดจาก 4 เดือนเป็น 6 เดือน

ในมาเลเซียการนัดหยุดงานจะต้องขอมติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกสหภาพโดยลงคะแนนเสียงลับและต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จากนั้นจะต้องแจ้งให้รู้ล่วงหน้า 28 วัน และต้องแจ้งเหตุผลของการนัดหยุดงานด้วย การนัดหยุดงานจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีสหภาพแรงงาน โดยทั่วไปแล้วเมื่ออธิบดีสหภาพแรงงานได้รับแจ้งเพื่อขอนัดหยุดงานเขาจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จะหยุดยั้งการนัดหยุดงานไม่ให้เกิดขึ้น จะส่งเรื่องไปที่ศาลแรงงานสัมพันธ์เพื่อที่จะให้มีการไกล่เกลี่ย และเมื่อเข้าสู่กระบวนการศาลแล้วการนัดหยุดงานจะทำไม่ได้ การนัดหยุดงานที่ถูกต้องตามกฎหมายเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อราว 20 – 25 ปีทีเดียว จะเห็นว่ามีกฎหมายที่ให้สิทธิคนงานนัดหยุดงานได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วแทบจะไม่สามารถทำได้[11]

ในอินโดนิเชียประเทศที่มีผู้ใช้แรงงานมากที่สุดในภูมิภาค การเรียกร้องของขบวนการปฏิรูปในปี 2012 แล้วขบวนการแรงงานได้จัดให้มีการนัดหยุดงานทั่วไป ที่จัดขึ้นในหลายจังหวัดและมีคนงานจากหลากหลายภาคส่วนนับล้านคนเข้าร่วมอย่างเข็งขันเพื่อเรียกร้องให้รัฐปรับค่าจ้างขั้นต่ำและแก้ปัญหาการจ้างงานชั่วคราวในปี 2012, 2013และ2014และเพื่อต่อต้านการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบและสภาพการจ้างที่เลวร้ายในเขตอุตสาหกรรมNusantara Bonded เขตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (export processing zone) ในปี 2015 ในสปป.ลาว การนัดหยุดงานทำได้แต่ห้ามมีการชุมนุม คือหยุดอยู่กับบ้าน

การนัดหยุดงานทั่วไป

การนัดหยุดงานทั่วไป(general strike) หรือการนัดหยุดงานทางการเมือง(political strike) หรือการนัดหยุดงานเพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของแรงงานด้วยกันที่เรียกว่า sympathy strike นั้น ได้กลายเป็นสิ่งที่แทบจะทำไม่ได้แล้วในภูมิภาค ในกัมพูชามีการนัดหยุดงานทั่วไปครั้งใหญ่เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของคนงานในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าในปี 2013 มีคนงานจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมนับแสนคน ถือเป็นการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการแรงงานในประเทศกัมพูชา แต่จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายแรงงานเมื่อรัฐบาลได้เข้าปราบปรามสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงในวันที่ 3 มกราคม 2014 ส่งผลให้มีคนงานเสียชีวิตอย่างน้อย 5 คน บาดเจ็บและถูกจับกุมจำนวนมาก ผู้นำแรงงานหลายคนถูกดำเนินคดีโดยนายจ้างโรงงานสิ่งทอกว่า 100 แห่งได้ฉวยโอกาสรวมตัวกันเข้าแจ้งความแจ้งความว่าการนัดหยุดงานครั้งนี้ทำให้ธุรกิจของพวกเขาเสียหาย รัฐบาลกล่าวหาว่าการนัดหยุดงานครั้งนี้ถูกบงการโดยพรรคการเมืองฝ่ายค้าน Cambodia National Rescue Party (CNRP) ภายหลังการนัดหยุดงานทั่วไปครั้งนี้ได้ทำให้รัฐได้เข้าควบคุม ข่มขู่สหภาพแรงงานอย่างเข้มงวด เป้าหมายคือต้องการที่จะให้การนัดหยุดงานทั่วไปไม่สามารถทำได้อีกต่อไป [12] ทำให้อำนาจต่อรองของฝ่ายแรงงานลดลงไป การนัดหยุดงานทั่วไปกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในกัมพูชา ขณะเดียวกันจำนวนการนัดหยุดงานในสถานประกอบการในปี 2014 ได้ลดลงเหลือ 276 ครั้งจากที่เคยอยู่ที่ 418 ครั้งในปี 2013 หลังการปราบปรามการนัดหยุดงานด้วยวิธีที่รุนแรงทำให้รัฐบาลกัมพูชาถูกโจมตีและภาพพจน์ของอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าในสายตานานาชาติตกต่ำ จนถึงปัจจุบันผู้นำแรงงานสำคัญ 6 คนยังคงต้องต่อสู้คดีในศาลซึ่งดำเนินการอย่างเชื่องช้ามาก มีความพยายามจากรัฐบาลที่จะให้ผู้นำแรงงานกรอกแบบฟอร์มเพื่อให้การยอมรับว่าภายใต้การนำของรัฐบาลฮุนเซ็นแรงงานและสหภาพแรงงานได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นและให้ยอมรับว่าพวกเขาเป็นคนผิดและการดำเนินกิจกรรมของพวกเขาเป็นการละเมิดสิทธิของคนอื่น ๆ[13] และท้ายสุดได้นำไปสู่การออกกฎหมายสหภาพแรงงานที่ได้มีการยกร่างมาตั้งแต่ปี 2008 โดยILO ได้เข้ามาให้คำแนะนำ แต่สุดท้ายเมื่อกฎหมายประกาศใช้ในปี 2016 กลับมีเนื้อหาที่จำกัดสิทธิของแรงงานอย่างเข้มงวดสร้างความผิดหวังให้กับ ILO ที่ได้เข้าไปให้คำแนะนำ ร่วมจัดเวทีระดมความคิดเห็นนานต่อเนื่องหลายปี[14]

ในมาเลเชียการนัดหยุดงานทั่วไปครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นต้องย้อนไปถึงยุคที่ประเทศยังตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่เลย ประเทศไทยการนัดหยุดงานทั่วไปเกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบานหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 1973 แต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม และการรัฐประหารของทหารที่เรียกตัวเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครอง”ในปี 1976 การนัดหยุดงานทั่วไปก็ได้ถูกทำให้หายไปจากประเทศนี้

ที่น่าสนใจมากในขณะนี้ก็คือการเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารโดยทหารของขบวนการแรงงานในประเทศเมียนมาร์ โดยมีการประกาศนัดหยุดงานในหลายกิจการทั้งภาครัฐและเอกชน สมาพันธ์แรงงานแห่งเมียนมาร์หรือCTUM ซึ่งเป็นองค์กรระดับชาติได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการรัฐประหารอย่างแข็งขัน โดยได้รับการสนับสนุนจากขบวนการแรงงานสากลอย่างแข็งขัน มีการเรียกร้องให้สหภาพแรงงานในประเทศต่างร่วมประท้วงพร้อมกันทั่วโลกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การนัดหยุดงานทั่วไปของขบวนการแรงงานในเมียนมาร์ครั้งนี้ถือเป็นการหยุดงานครั้งประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานในภูมิภาคเลยทีเดียว

ILO supervisory body ได้ระบุว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอาชีพของคนงานนั้นไม่ใช่เพียงแค่ค่าจ้างและสภาพการจ้างเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการมีนโยบายทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองที่ดีอีกด้วย ดังนั้นการนัดหยุดงานทั่วไป การหยุดงานเพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของคนงาน และการนัดหยุดงานทางการเมืองเพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายหรือกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนงานย่อมเป็นสิทธิที่ทำได้

รัฐและนายจ้างพยายามทำให้การนัดหยุดงานทั่วไป การหยุดงานเพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของคนงาน และการนัดหยุดงานทางการเมืองเป็นสิ่งผิดกฎหมาย โดยพยายามตีกรอบการนัดหยุดงานให้อยู่เฉพาะข้อพิพาทระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง และบีบให้อยู่ในเรื่องเกี่ยวกับสถานประกอบการเดียวเท่านั้น ไม่ยอมรับการนัดหยุดงานที่นำโดยสหพันธ์แรงงาน หรือสมาพันธ์แรงงาน

โดยสรุปแล้วรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคพยายามจำกัดสิทธิในการนัดหยุดงานของแรงงานในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้

1. การนัดหยุดงานได้ถูกจำกัดไว้ที่ประเด็นสภาพการจ้างเท่านั้น การนัดหยุดงานทั่วไป การนัดหยุดงานทางการเมืองเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้

2. สร้างขั้นตอนในการนัดหยุดงานให้ยุ่งยากซับซ้อนมาก

3. การกีดกันแรงงานจำนวนมากออกจากการใช้สิทธิในการนัดหยุดงาน เช่นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ คนงานในกิจการที่เกี่ยวกับบริการสาธารณะ การศึกษา

4. ปราบปราม ดำเนินคดีทางกฎหมายเพื่อเกิดความหวาดกลัว

5. พยายามสร้างกลไกทางเลือกเพื่อสกัดไม่ให้ฝ่ายแรงงานใช้สิทธิในการนัดหยุดงาน

6. สร้างภาพพจน์ที่เลวร้ายต่อการนัดหยุดงาน

การใช้การนัดหยุดงานเป็นเครื่องมือของแรงงานในการต่อสู้คัดค้านการรัฐประหารในเมียนมาร์และการเริ่มเรียกร้องให้ใช้การนัดหยุดงานเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทยถือเป็นการสัญญาณสำคัญที่จะทำให้มีความพยายามที่จะหาหนทางทวงคืนสิทธิในการนัดหยุดงานให้กลับมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ของฝ่ายแรงงานอีกครั้งอย่างจริงจัง

 

[2] Melisa R. Serrano Between Flexibility and Security The rise of non-standard employment in selected ASEAN countries 2014, p 10-11

[4] BBC News, Singapore jails bus drivers for inciting strikes, 25 February 2013 https://www.bbc.com/news/world-asia-21571053

[5] Dong Xuan Hieu, Pham Tuan Phuc and Erwin Schweisshelm 2017 Enhancing and Mobilizing Structural and Organisational Power to Better Protect the Rights and Interests of Workers in Vietnam http://library.fes.de/pdf-files/iez/13642.pdf

[6] สัมภาษณ์ สาวิทย์ แก้วหวาน, เลขาธิการสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์, 10 พฤษภาคม 2019

[7] เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กฎหมายห้ามชุมนุมในรัฐทหาร ตอนที่ 2 https://www.tlhr2014.com/?p=6751

[10] Joe Buckley in The Worker and The Union No Union, No Problem: Anatomy of a Vietnamese Wildcat https://notesfrombelow.org/article/no-union-no-problem

[11] สัมภาษณ์ Gopal Kisham, อดีตเลขาธิการ MTUC, 12 มีนาคม 2019

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net