Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมานับเป็นวันที่ทางการพม่าปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร โดยมีการสังหารประชาชนไปมากกว่า 100 คน ทั่วประเทศในช่วงที่พวกเขาเฉลิมฉลองวันกองทัพพม่าด้วยการสวนสนามที่กรุงเนปิดอว์ อีกทั้งยังมีเหตุการณ์ที่กองทัพพม่าใช้เครื่องบินเจ็ทโจมตีทางอากาศใส่หมู่บ้านทีสเวนี หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ใกล้กับชายแดนไทย โดยบริเวณดังกล่าวใกล้หมู่บ้านเดอปูนุ จังหวัดมูตรอ ซึ่งเป็นศูนย์กลางบริหารจังหวัดมูตรอ หรือที่พม่าเรียกว่าจังหวัดผาปูน ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นยู (KNU/KNLA) กองพลน้อยที่ 5

ทางกองทัพพม่าอ้างว่าทำไปเพื่อโต้ตอบ หลังทหารกะเหรี่ยง KNU กองพลน้อยที่ 5 บุกโจมตีฐานริมแม่น้ำสาละวิน "เซหมื่อท่า" ของกองทัพพม่า สังกัดกองพันทหารราบที่ 73 เลยบ้านแมนือท่า ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของ KNU/KNLA กองพลน้อยที่ 5 ไปประมาณ 2 กม โดยทหารกะเหรี่ยงสามารถยึดฐานดังกล่าว สังหารและจับกุมทหารพม่า รวมทั้งยึดอาวุธได้หลายรายการ

กองทัพพม่าโจมตีทางอากาศถล่มบ้านทีสเวนี ในเขตจังหวัดมูตรอ เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 64 (ที่มา: Thoolei News - KNU -Department Of Information)

แฟ้มภาพหมู่บ้านอิตูท่า ซึ่งถือเป็นค่ายผู้อพยพภายในประเทศ (IDPs) ริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ในรัฐกะเหรี่ยง ภาพถ่ายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561

มีรายงานด้วยว่าเมื่อวันที่ 28 มี.ค. มีผู้อพยพจากค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs) ที่ค่ายอิตูท่า ริมแม่น้ำสาละวิน อพยพมาพักพิงในพื้นที่ชายแดนไทยที่อยู่ฝั่งตรงข้าม หลังกองทัพพม่าโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่อง สำหรับค่ายดังกล่าวห่างจากบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ไปทางทิศเหนือราว 20 กม.

โฆษกของฝ่ายรัฐบาลต่อต้านรัฐประหารที่ชื่อว่า CRPH ระบุถึงการปราบปรามสังหารประชาชนของกองทัพพม่าว่าเป็น "วันแห่งความอัปยศ" สำหรับกองทัพพม่า จากการที่กองทัพพม่าเฉลิมฉลองวันกองทัพพม่าหลังจากที่สังหารประชาชนไปแแล้วรวมมากกว่า 300 คน นับตั้งแต่ที่มีการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร โดยที่สมาคมนักโทษการเมืองประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งหมดอย่างน้อย 328 รายแล้ว

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการก่อเหตุสังหารประชาชนของกองทัพเผด็จการพม่ายังรวมถึงการโจมตีทางอากาศต่อพื้นที่ชาวกะเหรี่ยง เช่น โดมินิก ราบ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษประณามว่าการปราบปรามผู้ชุนมุนของพม่าจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนในครั้งล่าสุดนี้ถือเป็น "ความต่ำตมเกินกว่าที่เคยเป็นมา" แดน ชักก์ ทูตอังกฤษประจำพม่ากล่าวว่ากองทัพพม่า "ทำให้ตัวเองเสื่อมเสียโดยการยิงประชาชนที่ไม่มีอาวุธ"

ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามล่าสุดนี้มีเยาวชนหญิงอายุ 13 รวมอยู่ด้วย เธอเสียชีวิตเพราะถูกยิงขณะอยู่ในบ้านในช่วงที่กองทัพเปิดฉากยิงใส่ผู้ชุมนุมที่เมืองเมะทิลา นอกจากนี้ยังมีกรณีเด็กชายอายุ 1 ขวบได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางเหตุเกิดในย่างกุ้ง

ราบยังแถลงอีกว่าพวกเขาจะทำงานร่วมกับพันธมิตรนานาชาติ "เพื่อหยุดยั้งความรุนแรงอย่างไร้เหตุผลนี้และจะนำตัวผู้ที่เกี่ยวข้องมารับผิดชอบต่อการกระทำ เพื่อเบิกทางกลับสู่ประชาธิปไตย

ผู้แทนสหภาพยุโรปประจำพม่าแถลงทางทวิตเตอร์ว่ากองกำลังทหารราบเบาที่ 76 ของพม่าจะถูกจารึกจดจำเอาไว้ในวันที่น่าหวาดผวาและแสนอุปยศนี้จากการที่พวกเขาสังหารประชาชนมือเปล่า รวมถึงเด็ก เป็นการกระทำที่ไม่อาจหาข้อแก้ตัวใดๆ ได้ พวกเขาระบุอีกว่า "ทางสหภาพยุโรปยืนหยัดอยู่ข้างประชาชนชาวพม่าและเรียกร้องให้หยุดยั้งความรุนแรงรวมถึงคืนประชาธิปไตยโดยทันที"

ทูตสหรัฐฯ โทมัส วัจดา แถลงประณามการสังหารประชาชนที่ปราศจากอาวุธว่า "นี่ไม่ใช่สิ่งที่กองทัพและกองตำรวจมืออาชีพจะปฏิบัติกัน ประชาชนชาวพม่าบอกให้ได้ยินอย่างชัดเจนว่าพวกเขาไม่ต้องการจะอยู่ภายใต้เผด็จการทหาร"

ผู้นำระดับสูงของทัตมะตอว์ซึ่งเป็นชื่อเรียกของกองทัพพม่าและผู้นำเผด็จการทหาร มินอ่องหล่าย กล่าวปราศรัยในการเดินสวนสนามวันกองทัพพม่าอ้างว่ากองทัพพม่าจะ "ปกป้องคุ้มครองประชาชน" และ "ทำเพื่อประชาธิปไตย" มีการสัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งแต่ก็ไม่ได้ระบุเวลาแต่อย่างใด โดยที่ในการรัฐประหาพม่าล่าสุดมีการกวาดต้อนจับกุมตัวนักการเมืองพรรคเอ็นแอลดีที่ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นในปีที่แล้วรวมถึงอองซานซูจี

มีการตั้งข้อสังเกตว่ามี 8 ประเทศที่ส่งทูตทหารเข้าร่วมวันกองทัพพม่า ได้แก่ รัสเซีย, จีน, ปากีสถาน, บังกลาเทศ, เวียดนาม, ลาว และไทย แต่มีรัสเซียเป็นประเทศเดียวที่ส่งรัฐมนตรีไปเข้าร่วมพิธีสวนสนามของพม่า ซึ่งมินอ่องหล่ายกล่าวว่า "รัสเซียเป็นเพื่อนแท้"

ตัวแทนสหประชาชาติ อลิซ ไวรินู เดอริตู ที่ปรึกษาพิเศษด้านการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และมิเชลล์ บาเคเลต์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งยูเอ็น ออกแถลงการณ์ร่วมกันประณามการปราบปรามผู้ชุมนุมโดยกองทัพพม่าที่เป็นไป "ในวงกว้าง, ร้ายแรง และมีการวางแผนโจมตีประชาชนผู้ประท้วงอย่างสันติมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงอื่นๆ นับตั้งแต่ที่ยึดอำนาจในวันที่ 1 ก.พ." พวกเขาเรียกร้องให้กองทัพพม่า "หยุดสังหารประชาชนที่พวกเขามีหน้าที่ต้องรับใช้และปกป้องโดยทันที"

ทั้งนี้สถานทูตสหรัฐฯ ประจำพม่ายังยืนยันว่ามีการยิงเข้ามาที่ศูนย์อเมริกันในนครย่างกุ้งเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา สถานทูตระบุว่าศูนย์อเมริกันเป็น "ตัวแทนพันธกิจทางการเงินที่ใหญ่ที่สุด" ในพม่า ศูนย์แห่งนี้มีห้องสมุดศิลปะที่มีหนังสืออยู่ 12,000 เล่ม จากข้อมูลปี 2561 มีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ที่ช่วยเหลือด้านการสอนภาษาอังกฤษและการฝึกอบรมอื่นๆ เหตุการณ์ที่เกิดนครั้งนี้พบว่ายังไม่มีผู้ใดในศูนย์อเมริกันได้รับบาดเจ็บ

การใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมทำให้มีการคว่ำมาตรเพิ่มโดยสหรัฐฯ และอังกฤษ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมาโดยเน้นการคว่ำบาตรกลุ่มบริษัทที่มีกองทัพพม่าเป็นเจ้าของ

มีการประเมินว่าการรัฐประหารรวมถึงผลพวงจาก COVID-19 จะส่งผลให้เศรษฐกิจของพม่าถดถอยลง โดยที่ธนาคารโลกเตือนว่าจีพีดีของพม่าในปี 2564 จะลดลงร้อยละ 10


เรียบเรียงจาก
Myanmar protests: More than 100 killed as Dominic Raab condemns ‘new low’ from military, The Independent, 28-03-2021
Shots Fired at American Center in Myanmar, U.S. Embassy Reports, Newsweek, 27-03-2021
‘Day of shame’: Dozens of anti-coup protesters killed in Myanmar, Aljazeera, 27-03-2021
UN officials condemn Myanmar junta after 100-plus civilians killed in one day, CNN, 28-03-2021

ทวิตเตอร์ของตัวแทนอียูประจำพม่า
https://twitter.com/EUMyanmar/status/1375749409439371266

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net